ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรียบเรียง
มูลนิธิบูรณนิเวศ และอิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี : ถ่ายภาพ
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ศาลจังหวัดระยองนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ สวพ ๑/๒๕๖๔ ที่ประชาชนบ้านหนองพะวา หมู่ที่ ๔ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ยื่นฟ้องบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ผู้ประกอบกิจการรีไซเคิลพลาสติก เคมีภัณฑ์ เศษโลหะ บำบัดและกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และพวกฐานก่อมลพิษ สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรและที่ทำกิน โดยมีประชาชนผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๕ ราย ทนายความ รวมถึงตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เข้าร่วมฟังคำพิพากษา นอกจากนี้ยังมีประชาชนจากบ้านหนองพะวา ประชาชนจากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดระยอง เครือข่ายภาคประชาชนจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เดินทางมาร่วมให้กำลังใจแก่ผู้ฟ้องคดี
ผลการพิพากษาสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของผู้ครองครองวัตถุอันตราย มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจึงสั่งให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหายรวม ๒๐,๘๒๓,๗๑๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะได้ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้ง ๑๕ ราย เสร็จสิ้น
ศาลยังพิพากษาให้จำเลยควบคุมมิให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของโจทก์ทั้ง ๑๕ ราย รวมถึง “หนองพะวา” แหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่เชื่อมโยงต่างๆ ให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่ได้รับยกเว้นต่อศาล โดยก่อนหน้านี้ ศาลระยองได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ทั้ง ๑๕ เพราะพิจารณาว่าโจทก์ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียม และจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หากต้องเสียค่าธรรมเนียม
หลังเข้าฟังคำพิพากษา เทียบ สมานมิตร เจ้าของสวนยางพาราที่สูญเสียต้นยางไปนับหลักพันต้นจากปัญหามลพิษ ผู้อยู่ในฐานะโจทย์ที่ ๑ กล่าวขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมและขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเรื่องการฟ้องคดีของประชาชนบ้านหนองพะวา เทียบกล่าวกับตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ว่า “จากที่เจ็บปวดมาเกือบสิบปี วันนี้รู้สึกดีใจ รู้สึกมีกำลังใจ กราบขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วย ทั้งทนายความ หน่วยงานที่เข้ามา มูลนิธิฯ ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษา รวมถึงสื่อมวลชนทุกสำนัก กราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง”
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าความฝ่ายโจทก์ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดระยองครั้งนี้มีแนวทางที่น่าสนใจ กล่าวคือศาลวินิจฉัยในส่วนของ “หลักการเป็นเจ้าของ” มากกว่า “หลักการเป็นผู้แทนนิติบุคคล” เนื่องจากคดีนี้ผู้แทนนิติบุคคลเดิมได้เปลี่ยนตัวและเอาตัวเองออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ปล่อยให้มีกรรมการบริษัทที่เป็นเหมือนนอมินีเข้ามานั่งเก้าอี้แทน เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดทางกฎหมาย แต่ศาลพิจารณาว่า จำเลยที่สาม ซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการในชุดปัจจุบัน หากแต่เป็นกรรมการในขณะที่มีเหตุละเมิด เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและมีส่วนร่วมรู้เห็นในการดำเนินงานต่างๆ ศาลจึงวินิจฉัยว่าเป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ถือเป็นการขยายหลักการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีนัยยะสำคัญที่น่าสนใจ
ทางด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามประเด็นปัญหาของบ้านหนองพะวามาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “การตัดสินในวันนี้สร้างกำลังใจให้กับชาวบ้านที่ได้เรียกร้องปัญหามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นความก้าวหน้าในกระบวนการความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ก็อาศัยการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย ทั้งหน่วยงานอย่างกรมควบคุมมลพิษที่เข้ามาตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านที่ตัดสินใจด้วยความเด็ดขาดว่าจะปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังต่อไปไม่ได้ หลังจากที่ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้ว ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม และในกรณีนี้บทบาทที่สำคัญมากคือ สื่อมวลชนที่เข้ามาช่วยถ่ายทอดเรื่องราวไปยังสังคมวงกว้าง จนหน่วยงานระดับนโยบายเข้ามา”
เพ็ญโฉม ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งหลังศาลมีคำพิพากษา คือการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร สวนทุเรียน แหล่งน้ำสาธารณะหนองพะวา แหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ที่ประชาชนเคยใช้อุปโภคบริโภค เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินและแหล่งน้ำในการทำมาหากินได้ดังเดิม
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของเสียอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานแต่งแร่ปล่อยน้ำหางแร่ตะกั่วความเข้มข้นสูงลงสู่ลำห้วย หรือในกรณีการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จากการปนเปื้อนโลหะหนักจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ
คดีหนองพะวาจึงเป็นคดีที่ต้องติดตามเรื่องการฟื้นฟู ว่าจะมีการดำเนินการตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัดหรือไม่ จะบรรลุผลหรือไม่ อย่างไร
ในประเด็นนี้ ชำนัญ ศิริรักษ์ ในฐานะทนายความให้ความเห็นว่า “คำพิพากษาในคดีนี้แสดงให้เห็นโดยชัดแล้วว่า ศาลพิพากษาให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นคำพิพากษาในส่วนนี้สามารถแสดงต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ว่า มีหลักความรับผิดที่ชัดเจน จำเลยเป็นผู้ก่อแล้ว เมื่อจำเลยไม่กระทำการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องออกคำสั่งให้กระทำการ หากยังไม่กระทำการอีก หน่วยงานก็สามารถเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูได้ แล้วค่อยเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในการฟื้นฟูจากทางจำเลยอีกทีหนึ่ง”
นับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาล และให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษ ประชาชนบ้านหนองพะวาพยายามปรับตัวกับเพื่อสู้กับปัญหา และพยายามกอบกู้วิถีชีวิตของตนเองมาโดยตลอด เทียบ สมานมิตร พยายามปลูกพืชในที่ดินของตนในส่วนที่การปนเปื้อนยังลามไปไม่ถึง ซึ่งปัจจุบันก็หลงเหลืออยู่มากนัก ขณะที่การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายังมีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการตรวจพบสารโลหะหนักในน้ำใต้ดินแถววัดหนองพะวา โรงเรียนวัดหนองพะวา ส่วนในเชิงกายภาพ น้ำในสวนของเทียบ และในสระหนองพะวาก็ยังคงเป็นสีส้มผิดเพี้ยนจากสีของน้ำตามธรรมชาติ บางวันน้ำเปลี่ยนเป็นสีดำอย่างไม่ทราบสาเหตุ
แม้ผลการตัดสินของศาลจะเป็นชัยชนะยกแรกของบ้านหนองพะวา แต่ปัญหามลพิษในพื้นที่ก็ยังไม่สิ้นสุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังมีของเสียตกค้างอยู่ภายในโรงงาน การปนเปื้อนในพื้นที่รอบนอกยังคงอยู่ไม่สูญสลายไปไหน โดยเฉพาะสารโลหะหนักที่เคยมีการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมทั้งควรเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนของสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) ซึ่งเคยตรวจพบในพื้นที่ลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมและตามโรงงานรีไซเคิลแห่งอื่นๆ มาแล้ว
ขอขอบคุณ
- คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง คุณดาวัลย์ จันทรหัสดี มูลนิธิบูรณะนิเวศ