สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมทำ PRTR แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คำพิพากษาศาลปกครองกลาง
ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รุนแรงต่อเนื่องยาวนานหลายปี ถึงแม้ว่าจะประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แต่การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเป็นไปอย่างล่าช้า (ภาพ : 123rf)

“คำตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้ ถือเป็นการวางมาตรฐานคดีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง ซึ่งเราจะติดตามตรวจสอบให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และจัดทำ PRTR ให้เป็นไปตามคำพิพากษา”

ช่วงสายของวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเกี่ยวกับการรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR ให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๖๐ วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด

Pollutant Release and Transfer Registers หรือ PRTR เป็นคำที่สื่อความหมายถึงการจัดทำทำเนียบ “การปลดปล่อย” และ “การเคลื่อนย้าย” มลพิษ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับทราบว่าภายในประเทศมีแหล่งกักเก็บมลพิษอยู่ที่ใด ปริมาณเท่าไหร่ กระบวนการใช้งานหรือเส้นทางเคลื่อนย้ายเป็นเช่นไร โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือตามแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีการนำเข้าหรือส่งออกสารเคมีอะไรบ้าง รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบเพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

PRTR เป็นข้อบังคับหรือระเบียบที่รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกประกาศบังคับใช้

แต่สำหรับประเทศไทย ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมลพิษยังไม่ถูกบังคับให้ต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

prtr pm02
ซากปรักหักพังหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ย่านกิ่งแก้ว เมื่อกลางปี ๒๕๖๔ ปลดปล่อยมลพิษจากการเผาสารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีความเดือดร้อนจากสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน หรือ PM2.5 ที่ศาลปกครองพิพากษารู้จักกันในชื่อว่าคดี “ฟ้องทะลุฝุ่น”

นี่ไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ไปแล้วมากกว่า ๕ คดี บ่งชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่มากพอ และยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้

ผู้ฟ้องคดีฟ้องทะลุฝุ่นประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชน ได้แก่ กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ และตัวแทนประชาชนที่ร่วมรณรงค์และเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง

ย้อนเวลากลับไวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ผู้ฟ้องทั้ง ๗ ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ๓ หน่วยงานต่อศาลปกครอง ประกอบด้วยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้เร่งรัดทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหน่วยงานทั้งสามเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นควัน PM2.5 ของประเทศไทย แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนต้องประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพพลานามัยมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๘ ปี

ทั้งๆ ที่ในปี ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีมีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ แต่การแก้ปัญหาฝุ่นมีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการ และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ตามเจตนารมณ์

prtr pm03
ผู้ฟ้องคดี ได้แก่ กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เดินทางมาฟังคำพิพากษา ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ (ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ / กรีนพีซ ประเทศไทย)

ย้อนเวลากลับไปในวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๗ ได้ร่วมกันยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐข้างต้นต่อศาลปกครอง คำฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 คดีนี้มีสาระสำคัญ ๔ ประเด็น ได้แก่ 

๑) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย ๒๔ ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ ๓๗ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

๒) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล

๓) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล

๔) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และกำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย 

หลังฟ้องคดีไม่นาน ก็มีการประกาศใช้ค่ามาตฐานฝุ่น PM2.5 ที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นความคืบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันคาดว่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนผ่านการฟ้องคดี อย่างไรก็ดี ยังมีข้อเรียกร้องอีกอย่างน้อย ๒ ข้อที่ล่าช้า และไม่มีความคืบหน้า นั่นคือ

๑) การประกาศค่ามาตรฐาน PM2.5 จาก “ปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อควบคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิด

๒) การออกกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) เพื่อสร้างฐานข้อมูลมลพิษ ที่จะช่วยทำให้เกิดการวางแผนจัดการมลพิษที่มีประสิทธิภาพ

๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีฝุ่น PM 2.5 ที่ยืดเยื้อมานาน

เพจ สำนักงานศาลปกครอง สรุปรายละเอียดคำวินิจฉัย ดังนี้

“คดีฟ้องขอให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิบัติหน้าที่โดยการออกประกาศ เรื่อง การรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบข้อ ๗ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ.๒๕๖๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก”

คำขออื่นที่พิพากษายกฟ้อง คือการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง

ในส่วนคำขอให้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานของ WHO ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากมีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ หลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีนี้เพียงประมาณ ๓ เดือน (ใช้เวลาเพียงไม่นานหลังการฟ้องคดีก็มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ) ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้ 

ทั้งนี้ ในส่วนของคำพิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเกี่ยวกับการรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR ให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๖๐ วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุดนั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ก็จะยังไม่มีผลบังคับ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็นถึงความสำคัญของกฎหมาย PRTR ในฐานะข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษว่า “PRTR คือกฎหมายหลักที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แก้ไขปัญหามลพิษ ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในภาพรวม แต่กฎหมาย PRTR จะใช้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยตรง ให้สามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้”

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของกฎหมาย PRTR ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือการให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของสารมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

“กฎหมายนี้จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมทุกประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณของมลพิษไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานและสาธารณะได้ใช้ประโยชน์ ประเทศไทยควรต้องมีการใช้กฎหมาย PRTR โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ปัญหามลพิษอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าว

กว่าหนึ่งปีหลังจากองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนร่วมกันฟ้อง สิทธิในโอกาสในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนขยับเข้าใกล้ความจริง

ผลการพิจารณคดีและการปฏิบัติตามผลการพิจารณาคดีจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐในการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม

อ่านรายละเอียดคำวินิจฉัย-คำพิพากษาศาลปกครองกลาง https://bit.ly/3Pe6Q4S

ติดตามการผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ผ่านทางเว็บไซต์ thaiprtr.com