เรื่อง : “สายอักษร”, สุพิเศษ ศศิวิมล
ภาพ : วริศ โสภณพิศ

La Scala ‘สกาลา’ ที่คิดถึง

มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตเกิดมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ หลายครั้งที่เราดีใจ เสียใจ ล้วนมาจากความสัมพันธ์ทั้งสิ้น เพราะเรา ‘ผูก’ และ ‘พัน’ ตัวเองกับสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สิ่งของ หรือสถานที่ ความผูกพัน นำมาซึ่งความรัก เมื่อเรารักใครหรือรักสิ่งใดไปแล้ว จะให้เลิกก็คงยาก ห้ามยังไงก็คงไม่ฟัง

‘สกาลา’ ปิดม่านอำลาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563

สกาลา เป็นโรงหนัง stand alone โรงสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร ที่ยืนยงมาถึง 50 ปี และยังเป็นโรงหนังที่สวยงามเกินโรงหนังทั่วไป

ทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง จนได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

แต่น่าเสียดายที่เจ้าของรางวัลอนุรักษ์นี้ จะไม่ได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ต่อไปอีกแล้ว

เพราะเจ้าของที่ คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ มีโครงการเปิดประมูลพื้นที่ชิ้นนี้เป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่

หลายปีก่อนก็มีข่าวว่าจุฬาฯ จะไม่ต่อสัญญาให้สกาลาแล้ว

ในครั้งนั้นมีคนออกมาแสดงความคิดเห็น และคัดค้านมากมายจนจุฬาฯยอมต่อสัญญาให้ และนั่นคงเป็นช่วงเวลาที่สร้างหนังเรื่อง The Scala ที่เราได้เข้าชมวันนี้

เมื่อก้าวเข้าไปในบริเวณโรงหนัง แชนดาเลีย โคมเก่ายังห้อยระย้าทักทายผู้คน

แต่วันนี้ที่เพิ่มขึ้นมา คือโปสเตอร์รูปโคมไฟอันเป็นเอกลักษณ์ ให้คนได้ถ่ายรูปด้วย

กระดานกล่าวคำอำลา มีกระดาษ post it หลากสีบอกความในใจของแฟนสกาลาแปะอยู่เต็มกระดาน

โต๊ะที่ตั้งไว้ให้เขียนไม่เคยร้างลาผู้คน

คนหลายรุ่นมากหน้าหลายตาต่างพากันมาเก็บความทรงจำครั้งสุดท้ายในฐานะ “โรงหนัง”

เราอดอมยิ้มไม่ได้เมื่อเห็นหลายคนนั่งตามขั้นบันไดที่ทอดขึ้นไปชั้นสอง

เป็นภาพเก่าๆ ที่เจนตาสมัยโรงหนังเฟื่องฟู ที่คนซื้อตั๋วแล้วไม่รู้จะไปไหน ก็จะนั่งตามบันไดเพื่อรอหนังฉาย

สกาลายังคงรูปแบบโรงหนังแบบเดิมไว้จนรอบสุดท้าย

หนังฉายตามรอบเวลาชัดเจน และใครอยากดูก็ต้องมาซื้อตั๋วหน้าโรง ไม่มีจองออนไลน์

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่หลายคนซื้อบัตรไม่ได้

ราคาบัตรก็ยังเป็นราคาที่ใครๆ ก็เข้าถึง

เนื่องจากเป็นยุคโควิด ที่นั่งในโรงจึงถูกจำกัดเพียง 400 ที่ จากความจุจริงประมาณ 700 ที่นั่ง

ปลอกผ้าสีขาวคลุมหัวเก้าอี้เฉพาะตัวที่ให้นั่งเท่านั้น

ผู้ชมที่เข้ามาก่อนพากันถ่ายรูปทุกเหลี่ยมทุกมุมเก็บไว้

คนเดินตั๋วในชุดสูทสีเหลืองกลายเป็นดาราโดยไม่ทันตั้งตัว

มีคนเข้าคิวขอถ่ายรูปด้วยจนไม่เป็นอันเดินตั๋ว

lascala02
lascala03

The Scala และ นิรันดร์ ราตรี เป็นหนังสารคดีสองเรื่องที่บอกเล่าถึงผู้อยู่เบื้องหลังสถานที่เพื่อความบันเทิงของผู้คน

เป็นสองเรื่องที่เหมือนภาพสีมีชีวิตกับภาพขาวดำที่หม่นมัว ความอบอุ่นกับความเดียวดาย ความเป็นครอบครัวและความแปลกแยกต่อสังคม

แม้แต่คนที่ทำหน้าที่เดียวกัน คือผู้คุมเครื่องฉายหนัง หน้าที่ซึ่งต้องนั่งอยู่ในห้องเล็กๆ หลังเครื่องฉาย ลุกไปไหนไม่ได้ แทบไม่ได้เจอใคร ก็มีความแตกต่าง

ใน นิรันดร์ราตรี ชีวิตผู้คุมเครื่องอยู่กับงานเกือบตลอด 20 ปี กลับบ้านเพียงปีละไม่กี่วัน กินอยู่ที่โรงหนังเมื่อโรงหนังเลิกกิจการ

เขากลับบ้านไปเพื่อพบว่าตัวเองเป็นคนแปลกหน้าสำหรับทุกอย่าง ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักต้นไม้สักต้นที่เคยคุ้นเมื่อก่อนเข้ากรุงเทพฯ

เป็นโศกนาฏกรรม

แต่ใน The Scala เจ้าหน้าที่ตำแหน่งเดียวกันนี้ยังมีกิจกรรมขี่จักรยานที่สร้างสีสันให้ชีวิต ยังมีส่วนร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ และแม้โรงหนังจะเลิกไป

เขาก็น่าจะยังมีชีวิตที่มีพลังไปต่อ นั่นอาจเพราะเขาสองคนอยู่ในครอบครัวที่ต่างกัน

เมื่อไฟเปิดอีกครั้ง เรามองหลายอย่างเปลี่ยนไป

ผ้าคลุมเก้าอี้สีขาวเหล่านี้สะอาดขาวอยู่ได้ด้วยความเอาใจใส่ของ “พนักงาน”

นอกจากการนำไปซักตามระยะเวลาแล้ว หากพบว่ามีผืนสกปรกเพราะลูกค้าเอาเท้าไปเหยียบ หรือเอาไปเช็ดมือ จะรีบถอดเก็บไปซักด้วย

ผ้าทุกผืนซักด้วยมือและตากอยู่ที่ดาดฟ้าโรงหนัง โดยไม่คิดเรื่อง outsource เพราะพนักงาน “สงสารเจ้าของ ไม่มีเงิน”

โคมแชนดาเลีย เอกลักษณ์ของโรง ไม่ได้เป็นแค่โคมไฟหรูอลังการแต่เป็นจุดรวมพลังของพนักงานทุกคนของบริษัทไว้ด้วยกันอีกด้วย

หนัง The Scala นำเสนอตอนทำความสะอาดโคมไฟ ทางโรงไม่ได้จ้างคนนอกแต่บรรจุวันล้างโคมไฟ ไว้ในตารางงานของทุกแผนก

วันนั้น นั่งร้านไม้ไผ่ถูกผูกขึ้น “คนหนุ่ม” ที่สุดเท่าที่มี ซึ่งอายุก็น่าจะเกือบ 50 แล้วจะปีนขึ้นไปปลดสลิงที่ร้อยโคมแก้วกลมๆ ลงมาทีละสายแล้วค่อยๆ หย่อนลงมาให้คนข้างล่างรับนำไปวางบนผ้าห่มเพื่อแกะโคมแก้วออกจากสลิง

จากนั้นโคมแก้วใหญ่เล็กจะถูกนำไปให้สาวๆ จากทุกแผนกไม่ว่าจะเป็นถึงผู้จัดการ แผนกบุคคล พนักงานบัญชี แม่บ้าน ต่างมาร่วมช่วยกันล้าง และเช็ดให้แห้ง ก่อนจะนำมาร้อยใหม่เพื่อนำกลับไปประกอบอีกครั้ง

มหกรรมล้างโคมไฟต้องใช้เวลาถึงสองวัน จึงต้องปิดโรงหนังในช่วงนั้น โคมแก้วที่ถูกปลดลงมามีแตกบ้าง

เมื่อออกจากโรงมาดูโคมระย้าอีกครั้ง เราได้เห็นร่องรอยที่แหว่งหายไปของโคมบางลูก

แต่ก็ถูกเติมเต็มด้วยความรู้สึกว่า โคมไฟนี้สว่างสะอาดอยู่ได้เพราะการ “ร่วมใจ” ของพนักงานทุกคน

เป็นการสานสัมพันธ์พนักงานด้วยงาน ไม่ต้องเสียเงินทำอีเวนท์กระชับสัมพันธ์

จากหนัง เราจะเห็นความสัมพันธ์และความใส่ใจพนักงานที่ดูแล “บ้าน” หลังนี้ให้สะอาด สะดวกสบายพร้อมรับแขกทุกคนและในวันนี้ พวกเขาก็มาพร้อมกันอีกครั้ง เพื่อขอบคุณ และส่งแขกทุกคน ก่อนปิดบ้าน

หนึ่งในคนที่ยืนเข้าแถวส่งแขกกลับบ้าน คือคุณนันทา ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังแห่งนี้

เรามีโอกาสได้บอกเธอว่า น่าเสียดาย สถานที่มีคุณค่าเช่นนี้จะถูกรื้อไป

เธอบอกว่าสำหรับเธอแล้วมันมากกว่าเสียดาย มันใจสลายเลยทีเดียว

และเมื่อรอมาแล้วพบว่า ปาฏิหารย์ไม่มีจริงที่จะทำให้ที่แห่งนี้ยืนยาวอยู่ต่อไปได้

เธอก็ขอจบตำนานเสียตรงนี้ แต่จะให้ปิดโรงหนังไปเฉยๆ เงียบๆ ก็ไม่ใช่

เธอต้องการเห็นรอยยิ้มของผู้คนที่กลับมา อยากให้คนมาชมความงามของโรงหนัง อยากให้ไฟสว่างไสว

จะมีใครปิดโรงหนังแบบนี้กันบ้าง ไม่มีหรอก

เราฟังแล้วอยากจะบอกเธอว่า ใช่ สิ่งที่เธอคิดนั้นฉายชัดอยู่ในโปสเตอร์งานและหนังที่เลือกนำมาฉายทั้งสี่เรื่อง

ทุกสิ่งอย่างประกาศชัดเจนว่า ดาราใหญ่จะลาโรง ก็ขอโบกมืออำลาอย่างสง่างาม

เมื่อไม่นานนี้ มีบ้านเก่าแก่ที่แพร่ถูกทุบทำลาย โดยคนสั่งอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์

สังคมก็รุมตำหนิจนเจ้ากระทรวงต้องออกมาขอโทษ

แต่ตึกที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นแห่งนี้ กำลังจะถูกรื้อถอน โดยการอนุมัติของสถาบันการศึกษาที่ถือว่าเป็น “หลัก” ของประเทศ เราควรจะกล่าวคำว่าอะไรดีกับวิสัยทัศน์เช่นนี้

lascala04
lascala05

เราลาสกาลาเมื่อใกล้ค่ำแล้ว

ดาวทุกดวงบนเพดานโรงหนังต่างส่องแสง แชนดาเลียดวงสวยเปิดสว่าง ผู้คนหนาตามากขึ้นกว่าตอนบ่าย

ตากล้องจำนวนมากตั้งกล้องถ่ายดาราคนสำคัญ

ป้ายหน้าโรงเปิดไฟแล้ว “FINAL TOUCH OF MEMORY”

คำว่า “เสียดายนะ” ล่องลอยอยู่ในอากาศ

แต่คนมีหน้าที่ตัดสินใจเหมือนจะไม่ได้ยิน และไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่ตัวเองมีอย่างที่คนอื่นเห็น