ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่างหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ด้วยความตั้งใจว่าหนังสือราชการฉบับนี้จะระงับยับยั้งโครงการสร้าง “เขื่อน” และ “อุโมงค์” ผันน้ำยวมได้

“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” หรือ “โครงการผันน้ำยวม” เป็นโครงการเก่าอายุร่วมสามสิบปี ในยุคแรกๆ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาศึกษาโครงการนี้คือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แต่ล่าสุดเจ้าของโครงการเปลี่ยนมือเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ทุกครั้งที่มีข่าวการศึกษา ความพยายามผลักดันโครงการผันน้ำยวม ก็มักจะมีเสียงดังคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและผู้คนจำนวนมาก

ล่าสุดคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ “กมธ.ที่ดินฯ” ได้ร่างหนังสือที่มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดจนขั้นตอนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการไม่สอดคล้องและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง…คณะกรรมาธิการจึงมีข้อเสนอให้ท่านพิจารณาดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้…”

ย้อนกลับไปวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่ประชุม กมธ.ที่ดินฯ ครั้งที่ ๑๑๐ ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวม

ในเบื้องต้น กรมชลประทานสนับสนุนโครงการนี้โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยวิธีดึงน้ำจากแม่น้ำยวมช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใกล้ชายแดนไทย-พม่า มาใส่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลทางตอนกลางของประเทศ

สันเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมจะตั้งอยู่บริเวณบ้านสบเงา ตัวอุโมงค์ทอดผ่านแนวป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ มาลงขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ปลายอุโมงค์จะอยู่บริเวณบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

เขื่อนภูมิพลเป็นแหล่งน้ำของคนภาคกลาง หน่วยงานผู้ผลักดันโครงการอ้างว่าจะทำให้ผู้ใช้น้ำประปา รวมทั้งเกษตรกรภาคกลางมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตาม กมธ.ที่ดิน พิจารณาเห็นว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) ไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่สอดคล้องและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อีกทั้งพบว่าพื้นที่ก่อสร้างโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว และมีทรัพยากรธรณีกลุ่มโลหะหนักที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

หลังพิจารณาแล้วพบว่าการผลักดันโครงการผันน้ำยวมอาจทำให้เกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึงตามมา กมธ.ที่ดินฯ จึงมีข้อเสนอเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
๑) ระงับการพิจารณารายงานอีไอเอของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล และเร่งรัดให้มีการตรวจสอบการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีข้อร้องเรียนที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าอาจมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง
๒) ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฯ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด หากมีการดำเนินโครงการนี้ นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการลงทุนก่อสร้างแล้วยังเป็นการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเสี่ยงหากมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนต่างชาติ (PPP)
เอกสารราชการที่รายงานข้อเสนอ ๒ ข้อข้างต้นนี้ ถูกประทับตรา “ด่วนที่สุด” หัวเรื่องระบุ “ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล” ลงชื่อ อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

nyuamproject05
nyuamproject11

เอกสารด่วนจากคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้แก้ไขปัญหาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือรู้จักกันในชื่อ “โครงการผันน้ำยวม”

เนื้อหาในหนังสือราชการที่ กมธ.ที่ดินฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลที่ ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง น่าจะสอดคล้องกับท่าทีของกรมชลประทาน ภายหลังการประชุมหารือเมื่อวันพุธที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ มีข้อเสนอแนะให้ที่ปรึกษาโครงการพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด พร้อมทั้งระบุว่าปัจจุบันโครงการผันน้ำยวมอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ที่ประชุมยังสอบถาม และมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้แทนหน่วยงานภายนอก เห็นควรหารือเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจ
ต่อมาวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ มีการประชุมภายในกรมชลประทานอีกครั้ง เพจรอบรั้วชลประทานรายงานว่า ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังการชี้แจง ข้อสังเกต ในประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความยายามหาทางขับเคลื่อนโครงการผันน้ำยวมต่อ

โครงการผันน้ำยวมเป็น “เมกกะโปรเจค” ที่รัฐบาล หน่วยงานราชการ ตลอดจนกลุ่มทุนจากต่างประเทศ หมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้

แม้จะเรียกกันทั่วไปว่า “โครงการผันน้ำยวม” แต่โครงสร้างหรือองค์ประกอบหลักไม่ได้มีเพียงอุโมงค์ผันน้ำ หากแต่ประกอบด้วยเขื่อน สถานีสูบน้ำ อาคารดักตะกอน พื้นที่กองเก็บวัสดุ ถนนกลางป่า ต้องปรับสภาพพื้นที่หัวงาน ขุดเจาะภูเขา รวมถึงเดินสายไฟฟ้าแรงสูงและติดตั้งเสาเพื่อนำเข้าพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการสูบน้ำขึ้นสู่พื้นที่สูงเพื่อปล่อยน้ำลงมาตามอุโมงค์ และมีโครงสร้างยิบย่อยอื่นๆ อีกมาก

เพียรพร ดีเทศน์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่พวกเรากังวล คือโครงการดังกล่าวจะกระทบพื้นที่ป่ารอยต่อ ๓ จังหวัดภาคเหนือ คือรอยต่อจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นป่าที่มีความเปราะบาง อุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจำนวนมาก แต่เมื่อมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ กลับบอกว่ากระทบแค่ ๒๙ ครัวเรือนเท่านั้น

“มากไปกว่านั้น นักการเมืองที่โปรโมตโครงการนี้บอกอยู่ตลอดว่านี่เป็นแค่เฟส ๑ เมื่อถึงเฟส ๒ จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินแล้วก็จะนำน้ำไปใช้ คำถามคือแล้วใครจะมาสร้าง กลายเป็นว่าจะมีบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนเข้ามาสร้าง ยิ่งทำให้ประชาชนกังวลไปกันใหญ่”



ในปี ๒๕๔๘ โครงการผันน้ำยวมเคยมีมูลค่าประมาณ ๓๙,๘๖๘ ล้านบาท ด้วยงบประมาณมหาศาล ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคลี่คลาย จึงไม่ได้ดำเนินโครงการต่อ กระทั่งปี ๒๕๕๙ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาอีกครั้ง มีการจัดสรรงบประมาณกลางอย่างเร่งด่วนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น ๗๑,๐๐๐ ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มูลค่ามหาศาลกว่าเจ็ดหมื่นล้านอาจยังไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย

เดือนมีนาคม ๒๕๖๕ มีการประชุมสรุปผลการศึกษา โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผู้แทนกรมชลประทานนำเสนอผลการศึกษา นำเสนอว่าการพัฒนาร่วมทุนจะเป็นรูปแบบ Public Private People Partnership (4Ps) ให้เกิดการร่วมมือกันระหว่าง ๓ ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ เอกสารประกอบการประชุมยังระบุว่ามูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายโครงการ การดำเนินงาน และบำรุงรักษา จะอยู่ที่ ๑๗๒,๒๐๐.๓๔ ล้านบาท ถึง ๑๗๐,๖๒๐.๓๖ ล้านบาท

เป็น “ตัวเลข” และ “เส้นทาง” ตามแนวอุโมงค์ผันน้ำที่เต็มไปด้วยคำถามและข้อถกเถียงมากมาย

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’s Earth Journalist Network

ขอขอบคุณ : สำนักข่าวชายขอบ , คุณพนม ทะโน เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง IMN , ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

nyuamproject07

“ตอนสร้างเขื่อนภูมิพล ชุมชนก็ถูกบังคับให้ต้องอพยพหนีน้ำมาครั้งหนึ่งแล้ว”

สิริณภัทร จ่อแผ่
บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ตอนสร้างเขื่อนภูมิพล ชุมชนก็ถูกบังคับให้ต้องอพยพหนีน้ำมาครั้งหนึ่งแล้ว วันนี้จะให้อพยพอีก แล้วจะให้เราไปอยู่ที่ไหน

ในเวลานั้นเรายังไม่เกิด แต่คนเฒ่าคนแก่กับพ่อแม่เล่าให้ฟังว่า น้ำในเขื่อนค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นมาจนท่วมที่ทำมาหากินและหมู่บ้านของเรา ชุมชนของพวกเราเมื่อก่อนอยู่ในที่ลุ่ม ตอนนี้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล ทั้งชุมชนต้องจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด พ่อแม่ของพวกเราถึงต้องอพยพมาอยู่ที่นี่

เอาจริงๆ ในตอนนี้ ที่ทำกินของหลายคนก็มีน้ำจากเขื่อนเอ่อท่วมอยู่ ท่วมมาเกือบจะสองเดือนแล้วยังไม่ลด ก็ไม่เห็นมีใครเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ถ้าเกิดสร้างอุโมงค์ผันน้ำขึ้นมา บ้านแม่งูดจะเป็นปลายอุโมงค์ น้ำในลำห้วยแม่งูดจะเพิ่มสูงขึ้น ท่วมอย่างถาวร ที่ทำกินจะถูกน้ำท่วม เราก็จะต้องอพยพอีก นี่จะเป็นเหตุการณ์ซ้ำซ้อน

หมู่บ้านที่เราอยู่จะโดนส่วนที่เขาขุดอุโมงค์ด้วย จริงๆ อุโมงค์อยู่ตรงไหนมันก็ไม่แน่ชัด เพราะเขาไม่เคยมีรูปอย่างละเอียดมาให้ดู

nyuamproject08

“พ่อแม่พูดอยู่ค่ะว่าโดนหลอกให้ยกมือ”

ฑิฆัมพร หล้าจ่อ
บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะว่ามันจะส่งผลกระทบกับหมู่บ้านของเรา ถ้าเกิดน้ำท่วมลำห้วยแม่งูดแล้วเราเสียที่ดิน เสียที่ทำกิน ไม่มีที่ทำมาหากินแล้วจะทำยังไง พวกเรายังเป็นเด็ก ต้องเติบโตอยู่ที่นี่ ถ้าเกิดน้ำสูงขึ้นแล้วไม่ลด แล้วยังจะมีกองดินถูกขุดขึ้นมาวางตรงนี้อีก จะให้อาศัยอยู่ที่ไหน

ทุกปีในช่วงฤดูฝน น้ำในลำห้วยแม่งูดจะเพิ่มขึ้นมาก หลังฝนตกน้ำที่เคยท่วมก็จะลดลง แต่ถ้าเกิดโครงการนี้ ระดับน้ำอาจจะเพิ่มขึ้นจนท่วมหมู่บ้านของเรา ท่วมแบบนี้น้ำไม่ลดนะ เราคงจะต้องอพยพอีกครั้ง

พ่อแม่เราพูดภาษากะเหรี่ยง เป็นกะเหรี่ยงโปว์ เราเป็นรุ่นลูกแล้ว สื่อสารภาษาไทยได้ พ่อแม่ก็พูดได้บ้างแต่ไม่มาก มีวันที่คนข้างนอกเข้ามารับฟังความคิดเห็น บอกว่าเป็นเหมือนการอบรม พ่อแม่พูดอยู่ค่ะว่าโดนหลอกให้ยกมือ ให้เซ็นใบอะไรก็ไม่รู้ เอาเงินให้ แล้วก็ถ่ายรูป วันนั้นเขาไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะมาทำอะไร แค่บอกว่าจะมาทำให้หมู่บ้านของเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จะมีเงินใช้ พอออกข่าวกลายเป็นกลับกัน ไปบอกว่าเรายอมรับสนับสนุนโครงการผันน้ำ ทั้งที่ไม่ใช่เลย

nyuamproject09

“ไม่มีน้ำหยดไหนที่ไหลลงทะเลไปเปล่าๆ”

เพียรพร ดีเทศน์
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

ลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินถูกวางแผนว่าจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ปัจจุบันคือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่เรารู้จักกันว่าโครงการผันน้ำยวม ซึ่งจะปิดกั้นแม่น้ำยวม ขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ ๖๐ กว่ากิโลเมตร เพื่อดึงน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จริงๆ เป็นโครงการที่เสนอมาอย่างน้อย ๓๐ ปีแล้ว

สิ่งที่พวกเรากังวล คือโครงการดังกล่าวจะกระทบพื้นที่ป่ารอยต่อ ๓ จังหวัดภาคเหนือ คือรอยต่อจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ซึ่งป็นป่าที่มีความเปราะบาง อุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจำนวนมาก แต่เมื่อมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ กลับบอกว่ากระทบแค่ ๒๙ ครัวเรือน

โครงการผันน้ำยวมถูกอธิบายว่า น้ำไหลออกจากประเทศไทยไปเปล่าๆ ลงทะเลไปฟรีๆ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามองในแง่นิเวศ ไม่มีน้ำหยดไหนที่ไหลลงทะเลไปเปล่าๆ ทุกหยดหล่อเลี้ยงแผ่นดิน ทุกหยดหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อม แล้วก็พัดพาตะกอนลงสู่ทะเล ไม่ได้เป็นแค่น้ำเปล่าๆ จากขวดที่ไหลทิ้ง มันเป็นการหล่อเลี้ยงทรัพยากรจำนวนมาก

มากไปกว่านั้น นักการเมืองที่โปรโมตโครงการนี้เขาก็บอกอยู่ตลอดว่านี่เป็นแค่เฟส ๑ เมื่อถึงเฟส ๒ จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน แล้วนำน้ำไปใช้ คำถามคือแล้วใครจะมาสร้าง กลายเป็นว่าจะมีบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนเข้ามา ยิ่งทำให้ประชาชนกังวลไปกันใหญ่

nyuamproject10

“ชะตากรรมคงไม่ต่างกัน ชาวบ้านในเขตป่า ๓ จังหวัด จะเจอปัญหาแบบเดียวกันอีก”

ปิยะธิดา ต๋าฝั้น
บ้านตีนตก ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ไม่เคยเข้าร่วม ไม่เคยเลย ไม่เคยรู้ว่าเขามีนัดหมายอะไรกันเลย หมู่บ้านของเราอยู่ถัดจากบ้านแม่งูดขึ้นไปบนดอย บนเนินเขา ห่างกันประมาณสิบกิโลเมตร เขาอยู่ลุ่มเขา เราอยู่เนิน โครงการนี้น่าจะทำให้เราได้รับผลกระทบพอๆ กับเพื่อน ชะตากรรมคงไม่ต่างกัน ชาวบ้านในเขตป่า ๓ จังหวัด กำลังจะเจอปัญหาแบบเดียวกันอีก

เห็นเขาบอกว่าพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นจุดวางกองดินที่ถูกขุดขึ้นมา แล้วก็เป็นทางออกของน้ำ พื้นที่บางส่วน ภูเขา จะเปลี่ยนสภาพ ที่ดินบางจุดอาจจะโดนถมไป ที่ทำกินเป็นสิ่งสำคัญ ชาวบ้านที่นี่ทำสวนลำไย ปลูกข้าว แล้วก็มีเลี้ยงวัวด้วย ส่วนมากปล่อยวัวไว้บนดอย เลี้ยงกันอยู่ข้างบน ช่วงกลางๆ ฤดูหนาวก็จะเอาลงมา ถ้าน้ำจากอุโมงค์ผันน้ำถูกปล่อยออกมาแล้วพวกมันจะยังกลับลงมาได้มั๊ย หรือจะต้องอยู่ข้างบนไปตลอด

[s_stat style=”format”]