สุเจน กรรพฤทธิ์ รายงานและถ่ายภาพ
25-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา หากใครอยู่ในกรุงเทพฯ ไปเลือกซื้อสินค้าวินเทจที่ ตึกแดงวินเทจ ใกล้ตลาดจตุจักร ขึ้นไปที่ชั้น 3 ที่มุมหนึ่งของชั้น จะพบว่าคล้ายกับหลงเข้าไปในงานเลี้ยงกองทัพที่ไหนสักแห่ง
ด้วยผู้คนจำนวนมากอยู่ในชุดทหารหลากแบบ หลายชาติ หลากยุค ทั้งสมัยสงครามโลกสองครั้ง กระทั่งยุคที่สยามทำสงครามอินโดจีน นอกจากนี้ยังมีการออกร้านแสดงอาวุธจำลอง เครื่องหมาย เหรียญตรา และอวดของสะสมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
สำหรับผู้สนใจศึกษาสะสมสิ่งของทางทหาร งานนี้ถือเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของแอดมินเฟซบุ๊กเพจทางทหารหลายเพจ อาทิ โคตรทหารกัมปะนี, 2483 Reenacment Group, Wartime Asia เอเชียยามสงคราม ฯลฯ
ส่วนที่น่าสนใจในงาน นอกจากบรรยากาศ คือการเสวนาวิชาการวันแรกในช่วง เสวนาโคตรทหารจิบชา “ร้อยปีกองทัพสมัยใหม่” ที่พูดคุยเรื่องพัฒนาการเครื่องแบบกองทัพไทย แขกรับเชิญบนเวที คือ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารเสนาธิการอาวุโสและคอลัมนิสต์ชื่อดัง นพ.ศุภณัฏฐ์ วงศ์ศิริธร (2483 Reenacment Group) ดำเนินรายการโดย วันใหม่ นิยม (Wartime Asia…)
สารคดี เก็บความส่วนหนึ่งมาฝากท่านผู้อ่าน
“กองทัพสมัยเก่า” พัฒนาการสู่ 2475
มุมมอง พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์
“ เมื่อมีคำว่า ‘กองทัพสมัยใหม่’ ก็ต้องมีคำว่า ‘กองทัพสมัยเก่า’ มีประโยคที่ว่า ‘ชายไทยต้องเป็นทหาร’ มาแต่โบราณ สะท้อนว่าในอดีตเวลามีศึกสงครามผู้ชายที่ยังมีเรี่ยวแรงจะถูกเกณฑ์ไปรบ ยุคโบราณเมื่อถูกเกณฑ์ต้องหาอาวุธ เตรียมเสบียงเอง ไม่มีโรงเรียนทหารสอนการต่อสู้ บางคนอาจไปเรียนวิชามาจากวัด
“ผมเคยสงสัยว่าในสมัยอยุธยาทัพสยามรบกับพม่าระบุตัวศัตรูกันยังไง เวลาตะลุมบอนคงยุ่งเพราะหน้าตาก็คล้ายกัน นึกออกที่หลังว่าน่าจะแยกจากการนุ่งโสร่ง สยามก็น่าจะนุ่งโจงที่มาจากกการใส่ผ้าขาวม้า เวลาจะไปรบก็ตวัดชายผ้าเหน็บไว้ เดาว่าเจอกันก็มองช่วงล่าง (หัวเราะ) ว่าพวกเดียวกันหรือศัตรู
“ผมมองว่าหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 ชนชั้นนำสยามตื่นตัวเรื่องต้องมีทหารประจำการแบบฝรั่ง มีเงินเดือน นี่คือจุดเริ่มต้นกองทหารแบบใหม่ ผมถือว่าเรื่องนี้เกิดในปี 2435 (ทั้งนี้ ยังมีการเสนอว่าเกิดกองทหารสยามสมัยใหม่ครั้งแรกในสมัย ร.4 และก่อนปี 2435 ขึ้นกับมุมมองของผู้ศึกษาแต่ละท่าน -ผู้รายงาน) เพราะมีการปฏิรูประบบราชการ ตอนนั้นเครื่องแบบก็จะดูแปลก เปรียบได้กับเป็นช่วงเปิดร้านใหม่
“ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ผมสังเกตจากภาพเก่าว่าทหารสยามที่ไปรบก็มีเครื่องแบบแล้ว เดินสวนสนามได้แบบไม่อายใคร ไม่ได้นุ่งโจงแล้ว ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ถ้าเราดูภาพยนตร์ที่อิงยุคนั้นจะเห็นว่าทหารยุโรปมีเครื่องแบบสีสันฉูดฉาด เวลารบจะตั้งแถวห่างกับทัพศัตรูราว 50 เมตร แถวหน้ายิงแล้วนั่ง แถวหลังยิงต่อ ผมเคยคิดว่าทำไมไม่หลบกัน เครื่องแบบก็สีเล็งง่ายมาก เราไม่รู้วิธีคิดเขา แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เครื่องแบบทหารในยุโรปจะมีสีที่กลืนกับภูมิประเทศมากขึ้น อาจเพราะปลายสงครามเยอรมันรบแบบสนามเพลาะ การเผชิญหน้าด้วยความองอาจมันก็พ้นสมัยไป
“ช่วงที่สยามส่งทหารไปรบในยุโรป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระโอรสรัชกาลที่ 5 ท่านมีภรรยาเป็นฝรั่ง จบด้านการทหารจากรัสเซีย คุณูปการหนึ่งที่ท่านทำคือสร้างโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ท่านสอนให้ทหารคิดเป็น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกกว่าโรงเรียนนายร้อยยุค ร.6 เป็นสถานศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดในสยาม ต่อมาเป็นดาบสองคม ท่านไม่ได้สอนนายทหารให้ปฏิวัติอะไรหรอกครับ แต่เพราะสร้างนายทหารที่ฉลาด รู้จักคิด นำไปสู่เหตุการณ์ 2475 จอมพล ป. นี่ก็ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่าน”
“กองทัพสมัยใหม่”
ความพยายามของคณะราษฎร
มุมมอง พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์
“หลังปี ๒๔๗๕ มีการปฏิวัติเครื่องแบบ คณะราษฎรต้องการสร้างสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทางทหาร ปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ ไม่ให้มีนายพล ยศสูงสุดคือพันเอก บางคนก็มองว่านี่คือแผนปลดพวกนายพล (ในระบอบเก่า) ให้ทหารเด็กมีอำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่พระยาทรงสุรเดช ผู้วางโครการทำคือ ให้โครงสร้างกองทัพชัดเจนขึ้น แยกเหล่า เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ให้มีแค่ขนาดกองพัน ไม่มีระดับกองพล ลดขนาดกองทัพ เรื่องนี้กลายเป็นเหตุของกบฏบวรเดชในปี 2476 เรื่องเครื่องแบบผมจำได้ว่าลดต้นทุน เปลี่ยนแปลงให้ประหยัด นักเรียนนายร้อยยุคนั้นท่านหนึ่งคือ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร บอกว่าท่านผิดหวังมาก เพราะเครื่องแบบไม่เท่เลย กระดุมจากโลหะกลายเป็นกำหนดให้ใช้วัสดุอื่นได้ เกิดกระดุมทำจากกะลามะพร้าวขึ้นมา
“ในยุคนั้นนายทหารดาวรุ่งคือ พันตรีหลวงพิบูลสงคราม หลังปี 2476 สถานการณ์ในโลกตึงเครียดมากขึ้น เค้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัดเจน หลวงพิบูลสงครามเมื่อเป็นนายกฯ จึงพยายามสร้างกองทัพให้เข้มแข็งและผมมองว่าทำสำเร็จ เช่น ในปี 2478 สั่งต่อเรือรบ เรือดำน้ำ 21 ลำ จากญี่ปุ่น อิตาลี สั่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์คือ Martin Bomber ตอนนั้นอเมริกันยังไม่ทันสั่งจากผู้ผลิตด้วยซ้ำมาใช้งาน การรบกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน (2483) ในทางหนึ่งยิ่งใหญ่มากเพราะรบสามมิติ ทั้งบก น้ำ อากาศ เพราะกองทัพสยามก่อตั้งมาแค่ 48 ปี เครื่องแบบในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คงใช้มาจนถึงตอนนี้ด้วย
“ปี 2492 โลกแบ่งเป็นสองค่าย ไทยเลือกโลกเสรี อเมริกันมีบทบาทในการปรับปรุงกองทัพไทย ซึ่งรวมถึงตำรา เครื่องแบบ เมื่อเราส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี (2493) มีการใช้ชุดทหารอเมริกัน ต่อมาการเผชิญหน้าของสองค่ายนำไปสู่สงครามเวียดนาม ตอนนั้นผมเป็นนักเรียนนายร้อยปี 1 (2508) สงครามเวียดนามทำให้ได้รู้จักเครื่องแบบทหารอเมริกันที่เรียกว่า Westmorland เรียกกันว่าชุดเวสต์ ว่ากันว่า พล.อ.เวสต์มอร์แลนด์ (William Westmoreland) ผบ.ทหารอเมริกันในเวียดนามออกแบบ หรือกองทัพสหรัฐฯ ออกแบบผมไม่แน่ใจ แต่จะเห็นว่าชุดเวสต์ปล่อยชายเสื้อ ออกแบบกระเป๋าเสื้อให้มือขวาล้วงสะดวก ผมเคยอ่านเหตุผลการออกแบบพบว่าฝรั่งคิดกันเยอะ ไม่ใช่ทำแบบไม่คิด ชุดเวสต์มีการปรับปรุง ๔ ครั้ง เวอร์ชันแรกต่างกับเวอร์ชันสุดท้ายตรงที่ตัดอินทรธนูและบางอย่างออก เปลี่ยนชนิดผ้าให้ระบายอากาศได้ดีเหมาะกับเขตร้อน สมัยก่อนเวลาไปรบในเวียดนามทหารไทยจะมี 2 ชุด คือชุดเวสต์ กับชุดฝึก ชุดเวสสต์ผมไม่ชอบที่เอาเข็มขัดใส่คาดไว้ข้างนอก ผมเลยใส่ไว้ข้างใน เราก็มีการปรับในแบบของเราเหมือนกัน”
เมื่อทหารไทยประยุกต์เครื่องแบบ
มุมมอง พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
“ทหารไทยจะต่างกับทหารชาติอื่น เวลาเข้าแถวนี่สีเขียวมีหลายเฉดสี มองแง่ร้ายเขาบอกว่าแล้วแต่เจ้าของร้านที่ตัดจะเลือกผ้าให้ บ้างก็บอกเพราะเจ้านายไปจ้างเอกชนแล้วคุมสีไม่ได้ สมัยผมรับราชการ พวกทหารม้าเสื้อกับกางเกงมีสีต่างกัน เราเป็นทหารปืนใหญ่ก็ชอบนินทาเขา เสื้อทหารม้าสีอ่อน กางเกงสีเข้ม ตอนนั้นยังใส่หมวกแบบหม้อตาล หมวกก็ต้องบุบบี้แบบนายพลรอมเมล ไม่งั้นไม่เก๋า ผมหาคำอธิบายได้แต่ไม่แน่ใจ ทฤษฎีคือเพราะเขาต้องขี่ม้า กางเกงสีกับอานม้าจะขาดไว จึต้องตัดกางเกง 2 ตัว เวลาซักต้องซักสามตัวรวมเสื้อ เสื้อเลยจะสีซีดไว้กว่าเพื่อน อีกทฤษฎีคือเวลาตัดเครื่องแบบต้องสั่งสองชุด เพราะสั่งแยกสีเสื้อกับกางกางไม่มีใครทำให้ ทีนี้พอได้สองชุดก็เอามาไขว้กัน นี่คือเรื่องราวในปี 2512 ยังมีเรื่องขำๆ ว่าเวลาทหารม้ากินเหล้าต้องขว้างแก้ว ใส่นาฬิกาต้องมือขวา เรื่องนี้ทหารม้าเขาไม่ยอมรับครับ (หัวเราะ)
“เรื่องเครื่องแบบผมขอจบแค่สงครามเวียดนาม เพราะหลังจากนั้นมันมีความแปลกประหลาดอีกหลายเรื่อง แต่เรื่องเครื่องแบบกับความเปลี่ยนแปลง เรียนว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ต่างกับแฟชั่นของประชาชน ใส่แล้วก็เบื่อ เวียนไปวนกลับมา ตอนจบมัธยมผมก็ไม่ได้อยากเป็นทหาร จะไปสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปรากฏว่าไปเดินลานพระบรมรูปทรงม้า เห็นเครื่องแบบนักเรียนเตรียมทหารเลยเปลี่ยนใจ ไม่ได้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์อะไรหรอกครับ อยากแต่งเครื่องแบบ ดังนั้นเครื่องแบบก็เป็นสิ่งจูงใจสำคัญแบบหนึ่ง
“ผมมองว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบต้องทำอย่างเป็นระบบ กองทัพบกต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ฝรั่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องผ่านการคิดเยอะ ไม่ใช่ว่าอยากเปลี่ยนเพราะไปเห็นที่อื่นก็เปลี่ยน ต้องมีกฎหมายรองรับ คนที่ดูภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 จะชอบเครื่องแบบนาซีเยอรมัน ใส่แล้วดูสง่า สวย เพราะคนที่ออกแบบคือ ฮูโก บอส (Hugo Boss) แบรนด์นี้ได้รับการยอมรับมาก กรณีของกองทัพไทยผมไม่แน่ใจว่า ทบ. ของผมแต่งตัวเสร็จหรือยัง เรื่องสีเขียวหลายเฉดตอนนี้แก้ได้หรือยังก็ไม่แน่ใจ”
พัฒนาการเครื่องแบบทหารไทย
นพ.ศุภณัฏฐ์ วงศ์ศิริธร
แอดมินเพจ2483 Reenacment Group
“สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อสยามมีกองทัพประจำการครั้งแรก ก็มีเครื่องแบบ ช่วงเริ่มต้นแต่ละกรมกอง เจ้านายจะเป็นผู้จัดให้ แต่ละหน่วยจะต่างกัน ผมมองว่าเป็นแบบผสมผสาน คือช่วงนั้นมีกองทัพที่ฝึกแบบยุโรปกับกองทัพที่เกณฑ์มาจากท้องถิ่น ในสงครามปราบฮ่อ ทหารจากในเมืองจะยิงปืนแบบฝรั่ง ใส่เครื่องแบบออกสีดำ สีน้ำเงินเข้ม ปัญหาที่เจอคือความร้อน พอปฏิรูประบบราชการก็กำหนดให้เสื้อทูนิคสีเทา ทรงกระสอบ รายละเอียดอื่นเช่น หมวกก็เปลี่ยนมาใช้หมวกทรงหม้อตาล ติดสัญลักษณ์ปทุมอุณาโลมที่หน้าหมวก แสดงสถานะทหารประจำการ
“กองทหารอาสาในพระราชสงครามทวีปยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ 1) ของสยามมีการปรับเครื่องแบบหลายช่วงขาไปยุโรปใส่เครื่องแบบเป็นสีกากี อาจเพราะสีเทาพรางได้ไม่ดีนัก เราเปลี่ยนตามหลังทหารอังกฤษที่ใช้สีกากีมาตั้งแต่ราว ค.ศ.1800 กว่าๆ ส่วนฝรั่งเศสเปลี่ยเป็นสี Horizon blue มาพักหนึ่งแล้ว ทหารไทยพอถึงยุโรปทนหนาวไม่ไหว เพราะผ้าชุดเป็นผ้าฝ้าย ต้องใช้เครื่องแบบที่ฝรั่งเศสจัดให้ จะคล้ายทหารแคนาดา จึงกลายเป็นชุดฤดูหนาว ใช้ผ้าขนสัตว์ (wool)
“ปี 2475 มีการกำหนดเครื่องแบบใหม่ในเดือนสิงหาคม พระยาทรงสุรเดชบอกเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจึงอยากให้ประหยัด เหมาะสมกับภูมิประเทศ สง่างาม จึงเปลี่ยนจากหมวกทรงหม้อตาลที่มีต้นทุนสูงมาใช้หมวกกะโล่ วัตถุดิบจากในประเทศ กระดุมทองเปลี่ยนเป็นกระดุมทำจากวัสดุสีน้ำตาล เลยเกิดกระดุมกะลามะพร้าว เท่หน่อยก็ใช้เบคะไลท์ (พลาสติกในยุคแรก) มี 7 เม็ด เพราะดูดีกว่าเวลานั่ง ในกรณีทหารอ้วน คนออกแบบคือหลวงนฤมิตรเลขการ นี่เป็นยุคที่เกิดคำขวัญ ‘สละชีพเพื่อชาติ’ ‘รักชาติยิ่งชีพ’ ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน สัญลักษณ์ปทุมอุณาโลมยังอยู่ แต่มีคำว่า ‘สละชีพเพื่อชาติ’ ตามความเห็นผม หลัง 2475 เน้นชาติ เน้นความสำคัญของหน่วยทหาร ลดความสำคัญของระบอบเก่าลง
“เครื่องแบบทหารที่ผมใส่มาวันนี้ คือชุดทหารบกสยามปี 2462 ปรับปรุงจากคราวสงครามโลกครั้งที่ 1 กางเกงสีกากีเขียวแบบทางการ เสื้อที่ผมใส่ (ดูภาพ) ถือเป็นเครื่องแบบปรกติเรียกว่าเสื้อแบบหลวงสีกากีแกมเขียว มีกระดุม 5 เม็ด มีกระเป๋าด้านล่างเสื้อเรียกกระเป๋าย่าม มีเข็มขัดสายโยง (เข็มขัดมั่นคง) สวมหมวกหม้อตาล ใช้สีแสดงเหล่า เช่น ทหารราบสีแดงชาด ทหารปืนใหญ่สีเหลือง เป็นต้น มีกงจักรบอกชั้นยศ มีเลข อย่างของผมคือกรมทหารบกที่ 3…ชุดแบบนี้จะเลิกไปหลังปี 2475
“เครื่องแบบทหารคือภาพสะท้อนของวิวัฒนาการกองทัพ เกิดจากการแก้ปัญหาในราชการสนาม ถ้ามองย้อนไปหนึ่งศตวรรษก็ถือว่าพัฒนา แม้ว่าจะชอบบ้างหรือไม่ชอบบ้าง มองย้อนไปก็เจ๋งมาก แต่บางช่วงก็ไม่รู้จะชมอย่างไร มันทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์ครบ เป็นส่วนเสริม ไม่ใช่ส่วนหลัก”