อุณหภูมิผิวโลกที่พุ่งสูง ธารน้ำแข็งที่หดหาย พายุฝนและความร้อนรุนแรง สิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำการสำคัญ มนุษย์วันนี้ยังห่างเหินกับธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน จนอาจ “ไม่รู้จักธรรมชาติ” อีกแล้ว
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Sarakadee & MunMun Artspace #2 จัด Live Talk เรื่อง “Back to Nature เมื่อเราต่างโอบกอด” เพื่อเชื้อเชิญให้มนุษย์กลับไปคืนดีกับธรรมชาติอีกครั้ง ผ่านตะกอนความคิดของผู้ร่วมเสวนา และผู้เข้าร่วมงานทุกคน เพื่อให้สรรพสัตว์ ป่าไม้ และธารน้ำเป็นพยาน ว่าเรากำลังจะหวนคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
“มันเป็นอะไรที่ตอบยากมากจริงๆ เหมือนถามว่าความดีคืออะไร หรือถามว่าอะไรถูกอะไรผิด” ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาตอบพลางหัวเราะ เพราะเขาไม่แน่ใจว่าจะ “นิยามธรรมชาติ” ว่าคืออะไร
เจ้าของใบหน้าคือ โน้ต–วัชรบูล ลี้สุวรรณ หลายคนอาจคุ้นหน้าค่าตาเขาจากการเป็นนักแสดงให้ช่องหลากสี ทว่าหมวกอีกใบที่เขาใส่ไม่เคยถอดคือ ช่างภาพสัตว์ป่าและนักสื่อสารสิ่งแวดล้อม
ความสนใจของโน้ตที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นเมื่อราว 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐอย่างมหากาพย์เขื่อนแม่วงก์
ซึ่งอาจสร้างผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้กับธรรมชาติ จึงเกิดการต่อสู้และต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย
โน้ตเองก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการ เขาเล่าว่าเขาเป็นคนที่ชื่นชอบการถ่ายรูปสัตว์ป่าอย่างมาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง ผืนป่าแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตกที่มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นหัวใจและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ความกังวลว่าเสือโคร่งจะสูญพันธุ์ไปจากผืนป่า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาก้าวเท้าเข้าสู่การต่อสู้ในครั้งนั้น
“ตอนนั้นเราก็ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน เราก็ไม่ได้มีปัญหากับรัฐบาล แต่โครงการพัฒนามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งที่เราต้องการให้ทุกคนตระหนักคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือจะทำให้สูญเสียธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่ามากกว่าที่จะได้รับ” โน้ตบอกความในใจ
แต่อย่างไรก็ดี ธรรมชาติไม่ได้เป็นเรื่องราวระหว่างรัฐและผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเพียงเท่านั้น
แต่ยังมีประชาชนในสังคมวงกว้างที่ต่างได้รับผลกระทบ และต้องการมีส่วนแสดงความคิดเห็นด้วย
ซึ่ง ใบตอง–จรีรัตน์ เพชรโสม ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ก่อนที่ใบตองจะก้าวเท้าขึ้นเวทีคว้าตำแหน่ง Miss Earth Thailand 2021
และกลายมาเป็น Young Ambassador of Worldview International Foundation อย่างในปัจจุบัน
เธอเกิดและเติบโตขึ้นในชนบทของจังหวัดชุมพร แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เคยอยู่ในสารบบของเธอตอนเด็กๆ นัก
ทว่ากลับมีเรื่องบังเอิญที่เธอเล่าติดตลกว่า ช่วงเป็นนักเรียนเธอต้องการเข้าชมรมคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน แต่เข้าไม่ได้เพราะเด็กกว่า 800 คนก็คิดเหมือนเธอ ต้องจับพลัดจับผลูไปเข้าชมรมอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งมีครูสุภาพเป็นครูประจำชมรมและกลายมาเป็นคุณพ่อคนที่ 2 ที่พาเธอก้าวเท้าสู่ธรรมชาติ “ตอนนั้นเราไม่เข้าใจคำว่าอนุรักษ์ธรรมชาติเลยด้วยซ้ำ”
แรงบันดาลใจแรกของใบตองเกิดขึ้นเมื่อครูสุภาพพาชมรมไปเกาะไข่
นอกจากน้ำทะเลและคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่ง สิ่งที่เตะตาเธออย่างมากคือ หาดสีขาวโพลนที่สวยมากๆ
ทว่าเธอได้รับรู้ว่านี่ไม่ใช่เม็ดทรายทั่วไป แต่เป็นเศษซากของปะการังที่พายุเกย์พัดขึ้นมาทับถม
“ด้วยความที่ชมรมก็เป็นศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประจำจังหวัดด้วย ทำให้ได้ติดต่อกับเครือข่ายอนุรักษ์ในหลายจังหวัด ได้ทั้งลงพื้นที่จริง พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นว่าเรามีสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่และซ้ำซ้อนมาก และทำให้เราเข้าใจอีกว่าเรากำลังอยู่จุดไหนของโลกใบนี้”
ใบตองอธิบาย
โน้ตเห็นด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเปลี่ยนไปมากจากเมื่อก่อน ซึ่งตัวเขาเองก็กำลังเผชิญกับสภาวะนั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวตนบนโลกโซเชียลมีเดีย และการดำรงอยู่ในลัทธิบริโภคนิยม ที่ทำให้ทั้งเขาและภรรยาต้องหาทางที่จะไม่ทำลายธรรมชาติมากจนเกินไป เช่น การซื้อเสื้อเพียงห้าตัวต่อปี
ใบตองเสริมว่าสังคมกำลังเผชิญกับภาวะ Overconsumption หรือการบริโภคเกินความจำเป็น แม้จะเป็นสิ่งที่คนในแวดวงสิ่งแวดล้อมพยายามต่อสู้กับมันมากเพียงใด แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะต่อกร
โจทย์สำคัญของโลกขณะนี้ คือหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของเศรษฐกิจและผลกระทบของสิ่งแวดล้อม
ในการหวนคืนสู่ธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่สุดในมุมของโน้ต คือ การยอมรับธรรมชาติ
เขาเล่าว่า กิจกรรมที่เขาทำอยู่บ่อยๆ คือ การเข้าป่า
ทว่าสิ่งที่ได้จากการเข้าป่าหาใช่ความสนุกจากการไปกางเต็นท์ หรือเปลี่ยนสถานที่หาความบันเทิง หากแต่เป็นความสันโดษและการได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรายอมรับว่าตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆ ของโลกใบนี้เท่านั้นเอง
“ถ้าเราอยู่ในป่า เวลาเราร้อน เราจะไม่บ่นนะ แปลกมากเลย เราจะรู้สึกจำยอมกับธรรมชาติ
รับรู้ไว้ว่าแดดมันร้อนนะ นั่นคือการได้ระลึก การได้มีสติ
ทุกสิ่งทุกอย่างเราควบคุมไม่ได้ ธรรมชาติเป็นคนกำหนด
สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องปรับตัว ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ ก็แค่ยอมรับมัน
มันทำให้เราหมุนไปตามเข็มนาฬิกาของธรรมชาติ และยอมรับว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโลกใบนี้”
เช่นเดียวกับใบตอง เธอเล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งเธอยังเด็ก ตาของเธอเป็นปราชญ์ชุมชน ซึ่งเคยสอนว่าเวลาเข้าป่าต้องดูดีๆ
อย่าเผลอคว้ากิ่งไม้สะเปะสะปะ เพราะอาจจับโดน “บองหลา” หรืองูจงอางได้
คำสอนดังกล่าวตกตะกอนเป็นความคิดของเธอว่า ก่อนจะ Back to Nature เราจำเป็นต้อง Back to Basic เสียก่อน
เพราะหากเราไม่เข้าใจว่าธรรมชาติของบองหลาเป็นอย่างไร เราก็คงโดนบองหลาฉกไปแล้ว
เฉกเช่นการเข้าใจในธรรมชาติ ถ้าหากเราไม่เข้าใจว่าการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าคืออะไร ควรใช้ทรัพยากรแบบใด หรือต้องอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ แบบใด เราก็คงไม่สามารถ Back to Nature ได้อย่างแท้จริง
“เราจะ Back to Nature ยังไงได้บ้าง เราก็ต้อง Back to Basic ก่อน ต้องเข้าใจตัวเองว่าต้องการอะไร มันไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนพี่โน้ตหรือใบตอง สิ่งที่ใบตองเลือกและยึดถือคือ สนับสนุนท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เพราะมันจะคืนกลับไปสู่เขาได้จริงๆ…สุดท้ายสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่แค่ความยั่งยืน แต่เศรษฐกิจก็จะเติบโต ถ้าหากเราโฟกัสเรื่องการพัฒนาอย่างถูกจุด เราก็จะเห็นอนาคตของประเทศไทยได้”
วงสนทนาเรื่อง Back to Nature จบลงด้วยข้อเสนอหลายข้อที่ยังอยู่ในเครื่องหมายคำถาม โดยเฉพาะข้อต่อสำคัญที่ขาดไป คือกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งทำให้การฟื้นฟูธรรมชาติไม่เป็นระบบ และยังอาจเกิดโครงการที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นโจทย์สำคัญอาจไม่ใช่เพียงการหวนคืนสู่ธรรมชาติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไรให้ทั้งประเทศ Back to Nature ได้ด้วยกัน?
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และ มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์