เรื่อง : นลินา ควรประดิษฐ์
ภาพ : ปฏิภาณ จินดาประเสริฐ

โรงพยาบาลใต้ร่มยางนา มากกว่าการรักษา คือชุมชน
ท้องทุ่งเขียวขจี ทิวทัศน์งดงาม เป็นสัมผัสแรกเมื่อเข้ามาในอําเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา

แสงตะวันยามเช้าส่องสว่างให้พื้นที่ที่ถูกความมืดบดบังได้เผยโฉม ถนนคอนกรีตขนาดหนึ่งเลนเลี้ยวเข้าสู่ท้องทุ่ง ไม่ไกลออกไปมีอาคารสีขาวขนาดย่อมตั้งอยู่

ภาพวาดลูกยางสีน้ำตาลขนาดยักษ์บนกำแพงอาคารเป็นสัญลักษณ์สะดุดตา ก่อนที่เท้าจะสะดุดลูกยางนาที่ร่วงหล่น เราแหงนมองต้นยางนาใหญ่ที่แตกกิ่งก้านพุ่มใบราวกับเป็นหลังคาให้กับโรงพยาบาลแห่งนี้ จนอดคิดไม่ได้ว่า ที่นี่คือโรงพยาบาลใต้ร่มยางนา

เช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ โรงพยาบาลยังคงเปิดให้บริการชาวบ้านในชุมชนเมืองยาง

ลมวูบหนึ่งพัดมา พายางนาร่วงพรูลงหลังคาอาคารหลังเก่าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ 82 ไร่ ของหมู่บ้านโนนตาสุดและหมู่บ้านยางน้อย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขก่อเกิดเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ในชื่อโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี เมืองยาง หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “โรงพยาบาลเมืองยาง”

เมื่อมองสถานที่แห่งนี้ผ่านเลนส์กล้อง ไม่ต้องเดินถอยออกไปไกล ก็เก็บภาพทั้งหมดของโรงพยาบาลได้ไม่ยาก เพราะที่นี่เล็กมาก

ภายในอาคารไม่ต่างจากอากาศข้างนอก ผิดกับโรงพยาบาลในเมืองที่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้ป่วยไม่ใช่ชนชั้นกลางแต่เป็นหญิงสูงวัยเสื้อคอกระเช้า นุ่งผ้าถุง จูงมือเด็กเล็กเสื้อผ้ามอมแมม สวมรองเท้าแตะเปื้อนดินสีน้ำตาล

โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่คู่กับชาวบ้านเมืองยางกว่า 20 ปี พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบสุขภาพของชุมชนเมืองยาง

yangnahospital02
ท่ามกลางทุ่งนาที่รายล้อม มีอาคารสีขาวขนาดเล็ก มีอักษรเขียนว่า “โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนของอําเภอเล็ก ๆ ที่ห่างไกลแห่งนี้
yangnahospital03
เสียงนกร้อง แสงไฟสลัว ลมที่พัดผ่านอาคารขนาดเล็กซึ่งสร้างในลักษณะเปิด ผู้ป่วยที่นั่งรอการรักษาอยู่บนม้านั่งซึ่งมีเพียงไม่กี่แถว เป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากโรงพยาบาลในเมืองอย่างสิ้นเชิง

ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

“ถ้าเราจะใช้ความสามารถที่เรียนจบมาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ก็ควรเอาวิชาที่เรียนมาช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ห่างไกล”

คำกล่าวด้วยเสียงหนักแน่นจากชายหนุ่มวัย 34 ปี ผู้นั่งอยู่หลังโต๊ะทำงานและหน้าตู้บรรจุแฟ้มเอกสารเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ มีที่ว่างให้สังเกตเห็นแท่นไม้สลักชื่อพร้อมตำแหน่งวางอยู่ นายแพทย์ธีรศักดิ์อุ่นเจริญนายแพทย์ชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองยาง

นพ. ธีรศักดิ์จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคนชอบทำงานใกล้ชิดชุมชนและครอบครัวตัวเอง จึงกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด

หากโรงพยาบาลเป็นเรือและเจ้าหน้าที่ต่างๆ เป็นเหมือนฝีพาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็เปรียบเสมือนต้นหน ผู้คอยกำหนดทิศทางของเรือ

“โรงพยาบาลเราให้การรักษาตามมาตรฐาน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เน้น ก็คือการดูแลสุขภาพชุมชน”

นพ. ธีรศักดิ์ขยายความวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล คือการยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง พยายามเข้าใจบริบทของคนไข้ร่วมกับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา พร้อมยกตัวอย่างที่ทำจริง เช่น การที่แพทย์คนเดียวไปตรวจชาวบ้านในชุมชน ประหยัดกว่าการที่ผู้ป่วย 50-100 คน นั่งรถคนละคันมาหาแพทย์คนเดียวที่โรงพยาบาล

“ชาวบ้านที่เมืองยางส่วนใหญ่ทำนา อาชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ไม่เคยลืมตาอ้าปากได้ ทำงานมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ถามว่าเคยมีใครรวยไหม ก็ไม่มี เมื่อมีความยากจนก็มีความเจ็บป่วยตามมา”

ในมุมมองของ นพ. ธีรศักดิ์ ความยากจนสัมพันธ์โดยตรงกับความเจ็บป่วย

“คนไข้ที่นี่ไม่มีเวลามาดูแลตัวเองหรอก ถ้าบอกว่าลุงอย่าไปทำนา ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีอะไรกิน หรือบอกลุงว่าอย่าไปกินหวาน ก็เลือกไม่ได้ ลุงมีกินอยู่แค่นี้”

เขาเล่าว่าแพทย์จบใหม่บางคนตำหนิคนไข้ เพราะเมื่อให้คำแนะนำตามที่ร่ำเรียนมา แต่คนไข้ทำตามไม่ได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบของชีวิตหลายอย่างที่นอกเหนือจากภาวะสุขภาพที่แพทย์เข้าใจ

การออกตรวจและเยี่ยมบ้านคนไข้จึงสำคัญ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อคนไข้โดยตรงแล้วยังทำให้แพทย์มองผู้ป่วยเป็นองค์รวมมากขึ้น

“กลับมาก็ไม่ว่าคนไข้แล้ว เพราะเขาได้เห็นว่าบ้านยายอยู่แบบนี้ ทั้งโกดังมีแต่ข้าวเหนียว ก็บอกยายให้ลดหน่อยแล้วกันจากสองปั้นเป็นหนึ่งปั้น”

นพ. ธีรศักดิ์เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้าซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านต้องอาศัยระยะเวลาหลายปี

“ผมอยู่ที่นี่ 2-3 ปี เปลี่ยนอะไรมากไม่ได้หรอก เขาอยู่กับอาหารแบบนี้มา 10 ปี กว่าจะดีขึ้นต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าทุกวันนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

นพ. ธีรศักดิ์กล่าวพร้อมให้ข้อมูลค่าน้ำตาลสะสมในเลือดของคนไข้มีแนวโน้มดีขึ้น และจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของโรคเบาหวานกับความดันลดลง เมื่อเทียบกับวันแรกที่โรงพยาบาลก่อตั้ง และแม้โรงพยาบาลเมืองยางจะได้มาตรฐานการรักษา แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่ได้มีพร้อมแบบโรงพยาบาลใหญ่

เขาทิ้งท้ายก่อนต้องรีบไปช่วยเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ว่า

“เป็นโรงพยาบาลที่ไกลจากเมือง ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่เขาก็ไม่มาทำงานอยู่ที่นี่หรอก หรืออยู่ไม่นานก็ไป คนในโรงพยาบาลคุยกันง่าย และเราก็คุยกับคนในชุมชนง่าย”

เราเงยหน้าขึ้นมองนาฬิกาบนผนังห้อง เหลืออีก 10 นาที เข็มสั้นจะเข้าใกล้เลข 12

บรรยากาศของโรงพยาบาลเวลานี้มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าตอนเช้า หญิงวัยกลางคนเข็นรถผู้ป่วยออกมาจากอาคารเยี่ยมญาติ ถัดไปไม่ไกลเห็นภาพแม่หยิบผ้าขนหนูสีขาวขึ้นมาห่มลูกสาวที่กำลังนั่งตัวสั่นอยู่ใต้ร่มไม้ เมื่อเดินมาถึงแผนกผู้ป่วยนอก มีเด็กชายคนหนึ่งนั่งเจ็บแผลที่โดนงูกัดเพราะไปวิ่งเล่นในทุ่งนา

เก้าอี้หน้าห้องเภสัชกรรมเรียงรายไปด้วยกลุ่มคนไข้นั่งรอเรียกชื่อเพื่อรับยาและชำระเงิน ขณะที่เภสัชกรสาวกำลังอธิบายการใช้ยาด้วยเสียงที่ดังฟังชัด

หญิงชราเดินจูงมือเด็กหญิงผมสั้นออกจากโรงพยาบาลพร้อมถุงยาสีขาวในมือแกว่งไปมา เป็นเวลาเดียวกับที่รถซาเล้งคันหนึ่งบรรจุคนสี่คนจอดหน้าทางเข้าแผนกฉุกเฉิน บุรุษพยาบาลรีบเข้ามาช่วยพยุงผู้ป่วยที่ขาเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ไม่กี่นาทีต่อมา รถฉุกเฉินก็เข้ามาจอดแทนที่ เจ้าหน้าที่สวมชุดสีเขียวสองคนเข็นเตียงที่มีชายชรานอนอยู่เข้าไปในห้อง ก่อนที่ประตูบานเลื่อนของห้องฉุกเฉินจะปิดลง

ในเวลาเที่ยงตรงที่หลายคนกำลังจะไปพักกลางวัน แต่หลายแผนกในโรงพยาบาลยังคงทำหน้าที่ของตนเอง

yangnahospital04
นายแพทย์ธีรศักดิ์ อุ่นเจริญ อายุ 34 ปี นายแพทย์ชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองยาง กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลในจังหวัดบ้านเกิด หลังเรียนจบแพทย์เฉพาะทาง
yangnahospital05
โรงพยาบาลชุมชน นอกจากจะเป็นสถานที่รักษาแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังมีบทบาทในการเข้าถึงชาวบ้านเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในชุมชน

จำนวนแพทย์ชนบทสมการที่แก้ไม่ตก

คลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เราเดินตามป้ายบอกทาง ก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไปในห้องตรวจคนไข้ขนาดไม่กว้าง ภายในมีเตียงผู้ป่วยเบาะสีกรมท่าขนาดแคบหนึ่งเตียง ข้างบนมีหมอนอิงวางไว้อย่างโดดเดี่ยว มีแพทย์เพียงหนึ่งเดียวของโรงพยาบาลเมืองยางที่อยู่เวรทำงานในวันเสาร์ ใส่ชุดสครับสีเขียวอ่อน สวมหน้ากาก N95 กำลังนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์

“ตอบแบบสวย ๆ คือ ได้ช่วยคน แต่ตอนนั้นก็มองว่าอาชีพไหนก็ช่วยคนได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอเลย บัญชีก็ได้ช่วยคนในแง่อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ใช่เป็นหมอแล้วจะช่วยคนได้อาชีพเดียว”

แพทย์หญิงวราสิริอภัยพงษ์ วัย 26 ปี แพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทท (CPIRD) จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตอบคำถามว่าทำไมจึงเลือกเรียนแพทย์ และการได้มาใช้ทุนที่โรงพยาบาลเมืองยางเข้าปีที่ 2 ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิต

“พอได้มาใช้ทุนที่นี่ทำให้เห็นว่าต่างจากตอนเรียน ตอนอยู่โรงเรียนแพทย์มีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และชนิดยาที่เยอะกว่าและเราไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด แต่พอมาอยู่นี่เราต้องทำทุกอย่าง”

พญ. วราสิริอธิบายว่าที่โรงเรียนแพทย์จะแบ่งหน้าที่ทำงานกันตามสาขาหลัก (major ward) แต่ที่โรงพยาบาลเมืองยางมีหน้าที่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นทำคลอด ดัดกระดูก ประเมินก้อนเนื้อและอัลตราซาวด์เบื้องต้น รวมถึงดูแลห้องฉุกเฉินและห้องคลอด

หากมีเคสฉุกเฉินมาพร้อมกันมากกว่าจำนวนแพทย์ที่มี ก็ต้องจัดลำดับการให้การรักษาคนไข้ตามความเร่งด่วน

“สุดท้ายแล้วด้วยทรัพยากรที่จำกัด ถ้าเราพยายามทำจนถึงที่สุดแล้วสามารถช่วยคนไข้ได้ มันรู้สึกมีความสุขขึ้น แต่ถ้าอยากช่วยแล้วช่วยไม่ได้ มันก็มีท้ออยู่บ้าง บางทีก็รู้สึกว่าเหมือนเราทำได้มากกว่านี้ แต่เราทำไม่ได้”

ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข กรอบของโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียง มีแพทย์ได้ 4 คน ไม่รวมผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่ ณ ปัจจุบัน (สิงหาคม 2565) โรงพยาบาลเมืองยางมีแพทย์เพียง 3 คน ต้องอยู่เวร 10 ครั้งต่อเดือน รวมถึงมีการตรวจเยี่ยมคนไข้ควบแผนกผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินด้วย

บางครั้งคนไข้มารอตั้งแต่เช้า แต่แพทย์ติดเคสคนไข้ฉุกเฉิน ส่งผลให้คนไข้แทบไม่ได้รับการตรวจ หากมีแพทย์เพิ่มอีกสักคนจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นผลดีกับคนไข้ที่ไม่ต้องรอนาน

“อย่างเช่นเคสที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง บางทีผลตรวจไม่ได้ออกทันที มะเร็งเป็นโรคที่ขึ้นกับเวลา ถ้าตรวจเจอเร็วก็รักษาได้ไว”

ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เธอเคยตรวจคนไข้ที่มาด้วยอาการปวดหัว แต่สังเกตว่าคนไข้ซีดผิดปรกติ จึงส่งไปตรวจเลือดและผลออกมาเป็นมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) หากเธอไม่ได้สนใจเรื่องซีดในวันนั้นก็ไม่ทราบว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เพราะหากมีอาการซีดเยอะ สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ปัจจุบันคนไข้เคสนี้ได้รับการรักษาคีโมบำบัดแล้ว อาการเริ่มดีขึ้น

“อยากทำให้เขามีความสุขในช่วงชีวิตสุดท้ายมากกว่า ทำให้เขาไปแบบไม่เจ็บปวด”

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ในฐานะแพทย์ บางครั้งก็เป็นเรื่องตัดสินใจยาก เมื่อคนไข้ที่เป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Cancer) ไม่สามารถเปิดปากได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหลอดลม ในเวลานั้นญาติคนไข้ไม่พร้อมจะปล่อยคนไข้ไป แต่คนไข้ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วเนื่องจากทรมาน สุดท้ายทุกฝ่ายรวมถึง พญ.วราสิริก็ต้องเคารพการตัดสินใจของคนไข้

“คนไข้แถวนี้เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันกันเยอะ สิ่งที่อาจตามมาได้คือโรคหลอดเลือดสมอง ถามว่าคนไข้รู้จักหรือยังว่าคืออะไร มีอาการอะไรบ้างที่ถ้าเป็นแล้วต้องรีบมาโรงพยาบาล ทั้งที่แนะนำไปทุกรอบแต่ก็ไม่เข้าใจ”

หนึ่งในโรคที่พบบ่อยในเมืองยางคือโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนคือการเกิดแผลที่เท้า มีสาเหตุมาจากปลายประสาทเสื่อมและหลอดเลือดแดงผิดปรกติ แต่จากประสบการณ์ของเธอพบว่าคนไข้บางคนเพิ่งจะมาพบแพทย์ตอนที่เป็นแผลเนื้อตายจนต้องกรีดทิ้ง

การมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลเมืองยางสอนเธอว่า อย่ารีบตัดสินและต่อว่าคนไข้ที่ทำสิ่งที่แพทย์อยากให้ทำไม่ได้ ให้สงสัยก่อนว่าเพราะอะไรเขาถึงทำไม่ได้ และพยายามมองปัญหาให้กว้างขึ้น เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาควบคู่กับวิถีชีวิต เธอยกตัวอย่างว่าเคยมีคนบอกให้คนไข้โทรฯ 1669 เพื่อแก้ปัญหาความลำบากในการมาโรงพยาบาล แต่ชาวบ้านบางคนก็ไม่มีโทรศัพท์ใช้

“บางทีก็สงสัยว่านัดแล้วทำไมไม่มา ไม่ใช่เขาไม่อยากมา แต่เขาไม่รู้จะมายังไง และไม่มีเงินมา ค่าเหมารถมาก็ 200-300 บาท มันมากสำหรับเขา สมมติเขามีกันอยู่แค่สองคน ต้องเสียเวลามาหาหมอทั้งวัน แล้วจะเอาเงินจากไหนไปกิน เราจะกลับไปเลี้ยงดูเขาไหม มันไม่ได้จบแค่ที่รักษาโรคแล้วหาย แต่มองถึงเขาจะใช้ชีวิตยังไง เขาต้องขายที่นา วัว ควาย เพื่อมารักษาโรค แล้วสุดท้ายเขาไม่เหลืออะไรเลย ไม่เอาดีกว่า”

เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในชนบท อำเภอเมืองยางก็มีเรื่องราวของหมอเป่าและยาผีบอก ซึ่งเป็นความเชื่อ ความสบายใจ และความสะดวกของชาวบ้าน

ครั้งหนึ่ง พญ.วราสิริเคยมีคนไข้กระดูกหักและแจ้งว่าไปหาหมอเป่ามาก่อนแล้ว พร้อมปฏิเสธการรักษาด้วยการใส่เฝือก จึงได้พยายามปรับความเข้าใจกับคนไข้ สุดท้ายใส่เฝือกให้และบอกคนไข้ให้ไปหาหมอเป่าได้ เพียงแต่อย่าเอาเฝือกออก เหมือนเจอกันคนละครึ่งทาง ทำให้คนไข้มีความสุขด้านจิตใจมากขึ้น

“สุดท้ายแล้วผลเสียอยู่ที่คนไข้ ไม่อยู่ที่เรา หลับตาปล่อยไปก็ได้ ถ้าสื่อสารให้เข้าใจกันได้ว่าทำไมเราไม่อยากให้ทำ และเขาไปทำเพราะอะไร เขาจะฟังเรามากขึ้น”

การทำงานดูแลคลินิกโรคติดต่อไม่เรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันเป็นระบบตั้งแต่ช่วยกันวางแผน ทั้งการป้องกัน แนวทางการรักษา การส่งต่อ และการเยี่ยมบ้าน หากคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้นต้องประเมินซ้ำว่าทำไมถึงมีปัญหานี้อยู่

ในอนาคต เธอคิดทำโครงการให้ความรู้การช่วยชีวิตเบื้องต้น (first aid) แก่ชาวบ้าน เพราะบางคนกว่าจะติดต่อโรงพยาบาลได้นั้นใช้เวลานาน ถ้าได้รับการช่วยชีวิตเบื้องต้นช้าไปหรือไม่ทราบว่ามีอาการอะไรที่เป็นแล้วเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต โอกาสกลับมาเป็นปรกติก็จะมีน้อย

“ใช้ชีวิตวนลูปเดิมก็มีหมดไฟบ้าง แต่ด้วยความที่เป็นองค์กรไม่ใหญ่ทำให้คุยกันง่าย มีปัญหาอะไรก็บอกได้ตลอดเวลา ทุกคนเป็นเหมือนครอบครัวมากกว่าเพื่อนร่วมงาน ถ้าไม่ติดเรื่องสัญญาใช้ทุนหรืออยู่ไกล คิดว่าเราสามารถอยู่ต่อได้”

เราได้แต่สงสัยว่า ณ สถานที่อันห่างไกลความเจริญ เต็มไปด้วยข้อจำกัด ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทุ่งนาแห่งนี้ ใช้ฟันเฟืองตัวไหนที่ทำให้ พญ. วราสิริถึงกับเอ่ยว่าโรงพยาบาลเมืองยางสามารถเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้เธอได้

yangnahospital06
แพทย์หญิงวราสิริ อภัยพงษ์ อายุ 26 ปี แพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หนึ่งในแพทย์ประจําโรงพยาบาลเมืองยาง ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อตนเองในฐานะแพทย์ จากการทํางานที่โรงพยาบาลแห่งนี้
yangnahospital07
“เพราะสภาวะทางสุขภาพสัมพันธ์กับความยากจน ในการรักษาคนไข้ นอกเหนือความรู้ทางทฤษฎีแล้วต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบในชีวิตของเขา” บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการทํางานในพื้นที่ชนบท

มากกว่าคำว่าหมอและพยาบาล

ประตูบานเลื่อนสแตนเลสมีป้ายสีแดงติดคำว่า “แผนกฉุกเฉิน” เปิดออก เผยให้เห็นเสาน้ำเกลือ เตียงผู้ป่วย และจอมอนิเตอร์แสดงผลค่าสัญญาณชีพ

หญิงสาวในชุดทำงานสีน้ำเงิน ข้างหลังเสื้อติดสัญลักษณ์โรงพยาบาลเมืองยาง สละเวลามาเล่าเรื่องราวที่ฟังแล้วเรียกรอยยิ้ม

“วันนั้นเดินอยู่ข้างนอกเห็นแม่จูงเด็กมา แล้วบอกลูกว่า นี่ไงคุณหมอคนนี้เป็นคนทำคลอดให้หนูนะ เราก็รู้สึกดีใจที่เห็นเขาเติบโตขึ้นมามีสุขภาพแข็งแรง”

มาลินี สงวนทอง วัย 32 ปี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ เล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจ หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนครราชสีมา ได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลเมืองยางกว่า 10 ปี

“โรงพยาบาลเมืองยางเปรียบเสมือนบ้าน อยู่ที่นี่มาจนโต ตอนเด็กๆ พอได้ยินข่าวว่าเขาจะมาล้างป่าช้าเพื่อใช้พื้นที่สร้างโรงพยาบาล เราก็รู้สึกตื่นเต้น จำได้ว่ามาแอบยืนดูเขาสร้างโรงพยาบาล”

มาลินีเป็นคนพื้นที่อำเภอเมืองยาง บ้านอยู่ห่างจากโรงพยาบาลเพียง 2 กิโลเมตร ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตั้งแต่สร้างโรงพยาบาลในช่วง 20 ปีที่แล้ว ช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการต้องไปโรงพยาบาลชุมพวงซึ่งห่างจากเมืองยาง 30 กิโลเมตร ประกอบกับสภาพถนนลูกรังสมัยนั้น และไม่มีรถประจำทาง

“ช่วงไหนคนไข้เยอะขึ้น แต่อัตรากำลังคนเท่าเดิม ไม่สามารถดึงแพทย์และพยาบาลมาใช้ได้พอ หากมีคนไข้รอเยอะ ก็ตามแพทย์ที่ขึ้นประชุมอยู่นั่นแหละลงมาดูคนไข้”

เธอเล่าเพิ่มเติมว่าในช่วงวันหยุดหรือช่วงนอกเวลาราชการ พยาบาลต้องมาช่วยตรวจคนไข้เบื้องต้นในกรณีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ลงเวชระเบียนเอาไว้แล้วให้แพทย์มาตรวจสอบทีหลัง แต่หากเคสคนไข้ซับซ้อนก็จำเป็นต้องส่งปรึกษาแพทย์

“เราไม่สามารถขาดคนใดคนหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลคนไข้หรือทำกิจกรรม เราต้องช่วยเหลือกัน”

ในมุมมองของมาลินีคำว่า “บุคลากรทางการแพทย์” หมายถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ในออฟฟิศ แม้กระทั่งคนสวน ฝ่ายช่างและสถานที่ก็ช่วยจัดการอยู่ข้างหลัง แม้ไม่ได้มาดูแลคนไข้

ยกตัวอย่างช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุสามารถแบ่งเบาภาระงานเรื่องการจัดเตรียมอุปกรณ์ ส่วนการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล ก็ต้องอาศัยพนักงานออฟฟิศช่วย

“มีบ้างที่เหนื่อยและท้อ แต่พอผ่านไป เราก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อน จะพยายามพาโรงพยาบาลไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพดีขึ้น”

เธอเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเคยโดนร้องเรียนเรื่องอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือเรื่องนัดคนไข้มาตรวจรักษาค่อนข้างถี่ เพราะคนไข้ไม่มีรถส่วนตัว ต้องเหมารถกันมา ทางโรงพยาบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการให้คนไข้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนัดตรงกับคนไข้อีกคนได้ นอกจากนี้คนไข้ยังมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าต้องการรับยาที่ไหน ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่วนตำบลใกล้บ้าน เพื่อไม่ต้องเหมารถมาถึงโรงพยาบาลเมืองยาง

ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่โรงพยาบาลจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า เพื่อสร้างโดมอเนกประสงค์ ห้องประชุมที่จุคนได้เพียงพอ พัฒนาแผนกผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังและจัดหาโซฟากั้นเตียงคนไข้ให้ญาตินอนพัก มาลินีเล่าว่า “มีคุณยายคนหนึ่งขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท หอบเงินเก็บมาบริจาคให้โรงพยาบาล 1 แสนบาท” พร้อมเปิดรูปจากโทรศัพท์ให้ดูภาพหญิงสูงวัยหิ้วถุงพลาสติกขนาดใหญ่สองใบ ภายในบรรจุธนบัตรสีแดงและเทาจำนวนไม่น้อย

“เรารู้สึกดีใจเวลาเห็นคนไปทำบุญที่วัด ก็ถามตัวเองในใจว่าทำไมเขาไม่มาทำบุญที่โรงพยาบาล แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าชาวบ้านพร้อมจะช่วยเราตลอดเวลา ถามเราว่าให้ช่วยตรงไหนไหม มีโรงทานหรือยัง”

ในอนาคต มาลินีอยากให้ในชุมชนมีศูนย์ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (caregiver) เพื่อแก้ปัญหาคนไข้ที่ลูกหลานอยู่ไกลและต้องการคนดูแลที่บ้าน

มาลินีเล่าว่าแม้เพื่อนบางคนที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนจะบอกว่างานไม่หนักและรายได้เยอะ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่เธอก็ยังเลือกอยู่ที่โรงพยาบาลเมืองยาง

“ทำเอกชนต้องไปอยู่ในเมือง เราไม่ชอบ แต่อยู่เมืองยางเราได้อยู่กับพ่อแม่ บ้านเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง เราเอาทุกอย่างมาทิ้งที่บ้านได้ ไม่ว่าเราจะมีความสุขหรือทุกข์ สุดท้ายเราก็ต้องกลับบ้าน” มาลินีกล่าวพร้อมน้ำใสๆ ในแววตา

“คำว่าชนบทนี่แหละคือเสน่ห์ของเมืองยาง เราก็อยู่กันแบบครอบครัว แบบพี่น้อง ถึงแม้มีเทคโนโลยีเข้ามา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความเป็นชุมชนของเราหายไป ถึงแม้ถนนหนทางสะดวกสบายมากขึ้น แต่เราก็ยังมีความเป็นชนบทเล็กๆ อยู่นี่แหละ”

yangnahospital08
มาลินี สงวนทอง อายุ 32 ปี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ทําหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่ตลอดเวลา 10 ปี และภูมิใจที่ได้เห็นโรงพยาบาลในบ้านเกิดของตนเติบโต
yangnahospital09
“ไม่ได้ป่วยอะไร ออกมานั่งรับลมที่โรงพยาบาลเล่นเฉยๆ วันนี้อากาศดี” คําตอบพร้อมรอยยิ้มจากยายจวน อายุ 62 ปี ชาวบ้านเมืองยางที่มีโรงพยาบาลแห่งนี้คอยดูแลสุขภาพร่างกาย

เรื่องเล่าจากห้องทำฟันเมืองยาง

หลังอาคารแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาล มีทางเดินแยกไปสู่ห้องหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าคุ้นเคยที่สุดในโรงพยาบาลแห่งนี้

“แผนกคลินิกทันตกรรม” ทันตาภิบาลและผู้ช่วยทันตกรรมสวมชุดแขนยาวสีเขียวเปิดประตูทักทายและต้อนรับให้เข้าไปพบกับบรรยากาศห้องทำฟันที่แตกต่างจากคณะทันตแพทยศาสตร์ที่เราไปเรียนทุกวัน

เมื่อเห็นเพียงเตียงทำฟันสามเตียงและลิ้นชักเก็บเครื่องมือที่ไม่ได้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เลือกใช้หลากหลาย อย่างเช่น สีวัสดุอุดฟันที่มีให้เลือกใช้เพียงหนึ่งสี วัสดุพิมพ์ปากที่มีให้เลือกไม่กี่ชนิด

“คนไข้ที่นี่ส่วนใหญ่ถ้าอาการไม่เร่งด่วนก็ไม่มา น้อยมากที่จะมาตรวจฟันเฉยๆ” ประนอม ภิญโญ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองยาง บอกเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เรียนจบมาแล้วทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลเมืองยางจนเข้าปีที่ 15

ข้อจำกัดเรื่องการเดินทางทำให้การมาทำฟันนั้นยาก และยังมีปัญหาให้การรักษาไม่สำเร็จ เช่น เพื่อจะเก็บฟันไว้คนไข้ควรได้รับการรักษารากฟันและทำครอบฟันซึ่งต้องมารับการรักษามากกว่าหนึ่งครั้ง ทำให้คนไข้บางรายเลือกที่จะถอนฟันเพื่อจบปัญหา

“เคยเจอหินปูนเป็นก้อนใหญ่เท่านิ้วก้อย เหลืองติดกับฟัน เหงือกแดงทั้งปาก”

ในฐานะนักศึกษาทันตแพทย์ที่รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ เรายังไม่เคยเห็นก้อนหินปูนขนาดใหญ่แบบนั้นมาก่อน

เด็กในชุมชนจำนวนมากยังฟันผุ เพราะพ่อแม่ไม่พามาตรวจและบางคนไม่ค่อยแปรงฟัน ทุกวันนี้ทางโรงพยาบาลจึงมีนโยบายออกตรวจและรับเด็กมาเคลือบหลุมร่องฟัน โดยจัดตารางให้ครูเตรียมเด็กแล้วให้รถโรงพยาบาลไปรับ

เรานึกถึงคำพูดของรุ่นพี่ ทันตแพทย์หญิง พิชญาณี ตั้งจาตุรโสภณ ซึ่งเคยมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลเมืองยาง

“การใช้ทุนบ้านนอกจะได้ทำอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ เพราะมันไม่มีใครทำแล้ว มันไม่ใช่โรแมนติกดรามา แต่มันคือชีวิตจริง บทบาททันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนจะโฟกัสมากกว่าแค่คนไข้มาเพราะปวดฟันซี่ไหน” เช่นออกตรวจฟันชาวบ้านในชุมชน ประสานงานครูอนามัยร่วมกับจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กในโรงเรียน และรณรงค์เรื่องการแปรงฟันที่ถูกวิธี

“คนปวดฟันจะมีสมาธิทำอย่างอื่นเหรอ มันจะดีเหรอ จะกินข้าวอร่อยไหม เด็กก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นพัฒนาการอย่างอื่นก็สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ถ้าเด็กถูกปลูกฝังว่าต้องแปรงให้ฟันสะอาด โตขึ้นก็เป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพช่องปากที่ดี”

จากประสบการณ์การทำฟันเด็กโรงเรียนรัฐบาลกับเอกชน เธอพบว่าสุขภาพฟันนั้นต่างกัน ถ้าเติมเต็มความรู้ให้ประชาชนได้ก็ลดความเหลื่อมล้ำได้โดยอัตโนมัติ

ระหว่างใช้ทุน เธอรู้สึกเคว้งคว้าง แต่มีวันหนึ่งทันตาภิบาลที่อยู่ห้องทำฟันเมืองยางเล่าเรื่องคุณยายที่เป็นมะเร็งไปหาทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วกราบที่ประตู บอกว่าหากไม่ได้หมอช่วยป่านนี้ยายตายไปแล้ว

เรื่องเล่าถึงคุณค่าของการได้ช่วยเหลือคน เป็นแรงผลักดันให้เธอเลือกเรียนต่อในภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก ซึ่งเป็นสาขาเกี่ยวกับการให้วินิจฉัยโรคทางช่องปากร่วมกับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา จนกระทั่งวันหนึ่งเธอมีเคสคุณยายเป็นเนื้องอกบริเวณกระดูกขากรรไกรชนิดไม่ร้ายแรง (Ameloblastoma) ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยเห็นในตำรา คุณยายเสียเลือดมากและรับประทานอาหารแทบไม่ได้ เธอใช้เวลากล่อมคนไข้อยู่นานเพื่อให้ไปผ่าตัด จนสุดท้ายคนไข้ยินยอมรับการรักษา

เธอเข้าไปเป็นผู้ช่วยผ่าตัด ใช้เวลาทั้งหมด 11 ชั่วโมง

เมื่อผ่านไปหลายวัน คุณยายให้หลานพามาที่โรงพยาบาลพร้อมเอาขนมที่ทำเองมาให้และบอกกับเธอว่าถ้าไม่มีหมอ ป่านนี้ยายตายไปแล้ว

“เรารู้สึกขนลุกมาก รู้สึกตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนต่อเวชศาสตร์ช่องปาก และได้ช่วยชีวิตคน บางคนบอกว่าคำตอบฟังดูเหมือนนางฟ้า น้ำเน่าไปไหม แต่มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ชีวิตจริงก็คงจะน้ำเน่าแหละมั้ง”

เธอกล่าวพร้อมอมยิ้มเล็กน้อย และขอบคุณโชคชะตาที่เธอได้ฟังเรื่องเล่าจากทันตาภิบาลที่ห้องฟันเมืองยางสมัยมาใช้ทุน

“เมืองยางเป็นสังคมชนบทในอุดมคติที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีจริงๆ เป็นสังคมที่ตอนเด็กๆ คุณครูปลูกฝัง”

เธอบอกว่าการที่โรงพยาบาลเมืองยางอยู่ได้เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ สุดท้ายแล้วทุกคนต้องกลับบ้าน

yangnahospital10
ความสําเร็จของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน คือการได้เห็นคนไข้หายจากการป่วย และกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ระหว่างทางกลับบ้าน

เรานั่งรถตู้มุ่งสู่มหานครกรุงเทพฯ กลับไปพบโลกแห่งความจริง กลับไปสวมบทบาทนักศึกษาทันตแพทย์ที่บางครั้งก็เคยเหนื่อยและท้อจากการเรียน ทบทวนประสบการณ์ที่ได้สัมผัส ณ เมืองยาง รู้สึกเข้าใจประโยคที่อาจารย์ที่คณะฯ เคยพูดมากขึ้น

“อย่ามองผู้ป่วยเป็นแค่คะแนนที่ต้องเก็บให้ครบแล้วจะเรียนจบ แต่ให้มองผู้ป่วยเป็นคน”

พร้อมกับคำถามหนึ่งเกิดขึ้นกับเราในฐานะนักศึกษาทันตแพทย์ที่ใกล้จะสำเร็จการศึกษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“หากมีโอกาสมาใช้ทุน ไม่ว่าโชคชะตาจะพาเราไปอยู่ในจังหวัดบ้านเกิดตัวเอง หรืออำเภอไหนสักแห่งในแผนที่ประเทศไทย คนอย่างเราจะสามารถทำอะไรให้ชุมชนได้บ้าง”

อ้างอิง

  • ข้อมูล จปฐ. อำเภอเมืองยาง http://www.koratcf.or.th/pdf/distircts/15.เมืองยาง%20p%20491-513.pdf
  • รายงานข้อมูลตำบลเมืองยาง https://3doctor.hss.moph.go.th/main/export5?tbi=MzAyNzAx
  • จำนวนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จำแนกตามภาคและจังหวัด พ.ศ. 2560-2564 http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_05_24_TH_.xlsx
  • ประวัติและข้อมูลทั่วไป โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี http://myhospital.go.th/newweb/about.html 
  • วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 ม.ค. – เม.ย. 2550
    https://dt.mahidol.ac.th/en/wp-content/uploads/2019/07/Mahidol-Dental-Journal-2007-1-2.pdf
  • สุพัตรา ศรีวณิชชากร. สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน .สาธารณสุขมูลฐานระบบบริการปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัว นิยาม ความหมาย และความเชื่อมโยง
    https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/2671/p011-015.pdf?sequence=2&isAllowed=y
  • ยุคลธร สุภิมารส. การดูแลแผลเบาหวานที่เท้า
    https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/download/2380/2278/5442

*CPIRD (Collaborating Project to Increase Production of Rural Doctor) คือ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท