เรื่องและภาพ : ปณิชา ปานกลาง

สุราพื้นบ้าน: ความฝันและความหวังของคนท้องถิ่น
สวาทอยู่ในครอบครัวชาวนา มองว่านอกจากจะนำข้าวไปขายแล้ว ยังนำมาทำเป็นสุราได้ด้วย

“พูดง่ายๆ ว่าเสียดายข้าว พอทำนาอินทรีย์แล้ว ไม่อยากเอาข้าวไปขายให้โรงสี เลยคิดว่าเอามาทำเหล้าดีกว่า”

สวาท อุปฮาด วัย 63 ปี ทำนาอินทรีย์มา 16 ปีแล้ว ผืนนาประมาณ 27 ไร่ เป็นนาอินทรีย์ทั้งหมด เขาแบ่งพื้นที่ทำบ้านพักหลังเล็กและโรงบ่มเหล้าไว้ตรงกลาง

อาณาบริเวณโดยรอบคือทุ่งนา ทำคันนาป้องกันการปนเปื้อน ขุดบ่อน้ำรอบนา เลี้ยงปลาและเก็บน้ำไว้ใช้เมื่อหมดฤดูกาลทำนา ไม่เพียงแต่ปลูกข้าว นาผืนนั้นยังปลูกพืชผักอย่างอื่นอีกด้วย

จากข้าวอินทรีย์มาเป็น “สุรา” ด้วยความที่ในวัยเด็กเขาเติบโตมากับการเห็นพ่อแม่ต้มสุรา พอจะซึมซับองค์ความรู้นั้นมาบ้าง นำมาสู่การเป็นการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกิดโรงกลั่นสุราชุมชนขนาดเล็ก มีสมาชิกในกลุ่มเฉพาะคนที่ทำสุรา 27 คน

แต่เงื่อนไขหลักคือสมาชิกที่ทำสุราต้องมีข้าวอินทรีย์ จึงมีเพียง 3 คนที่ทำนาอินทรีย์เท่านั้นที่ผลิตสุราได้

แนวคิดนี้นอกจากจะสร้างกรอบ เงื่อนไขแล้ว ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้กลุ่มมีเอกลักษณ์และมีเรื่องราว แต่การทำวิสาหกิจชุมชนและจดแจ้งอย่างถูกต้องไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเริ่มจดทะเบียนเมื่อปี 2560 จนกระทั่งต้นปี 2562 ถึงได้ผลิตจริง

“ก่อนหน้านี้ก็ทำมาตลอด แต่ไม่ได้ทำเพื่อการค้าการขาย มันมีเรื่องของกฎหมายเข้ามา ก็จ่ายภาษี 2-3 ปีมานี้เสียภาษีไป 5-6 หมื่นบาท ที่เราทำตอนนี้คือไม่ได้เน้นทำเพื่อการค้าเต็มรูปแบบ ก่อนหน้านี้บรรจุขวดขายรายได้อยู่ประมาณ 6-7 หมื่นบาท”

แม้จะมีตลาดรองรับที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารในโรงแรม มีกลุ่มผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งสวาทยังต่อสู้เรื่องกฎหมายไปด้วย หากมีระเบียบกติกาที่ไม่เป็นธรรม เขาและเครือข่ายพร้อมลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

sura03
สวาท อุปฮาด ชาวบ้านอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ผู้พัฒนาสุราพื้นถิ่นและนักสู้เพื่อปากท้องของชาวบ้าน

.

ถึงโรงเหล้า เตากลั่น ควันโขมง

เมื่อย่างเท้าก้าวเข้าไปในบริเวณโรงกลั่น พลันนึกถึงบทประพันธ์วรรคหนึ่งในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ ซึ่งเคยท่องจำเมื่อยังเด็ก

ภาพจริงเป็นเช่นนั้น เพราะควันไฟจากเตาฟืนตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ นำโชค เครางาม หรือ “ต้อง” วัย 31 ปี ลูกเขยของสวาท พร้อมกับผู้ช่วยอีกหนึ่งคนมาสาธิตการกลั่นสุราให้ดูในวันนี้

ที่นี่กลั่นสุราด้วยการใช้เตาฟืน เป็นวิธีการทำแบบพื้นบ้าน

สวาทอธิบายว่า “เขาอนุญาตให้ใช้เครื่องกลั่นได้ แต่เรายังพอใจกับการทำแบบพื้นบ้านอยู่ ใช้เครื่องกลั่นหรือหอกลั่น สีเหล้าจะสวย มาตรฐานดีกรีจัดการง่าย แต่เราชอบแบบพื้นบ้าน คนที่มาชิมเขาก็ชอบแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าเขาหลอกชมเพื่อจะชิมหรือเปล่า” ผู้คนที่ยืนอยู่หน้าเตากลั่นหัวเราะลั่นด้วยความชอบใจ

วัตถุดิบหลักของการทำสุรา คือ “ลูกแป้ง” ทำจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า ผสมกับสมุนไพร เช่น กระเทียม พริก ตะไคร้ ข่า และมีเครื่องโกฐ กลุ่มสมุนไพรในตำรับยาแผนโบราณ ผู้ผลิตลูกแป้งแต่ละรายก็ใส่สมุนไพรแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตร

ก่อนจะได้ลูกแป้งมา สวาทศึกษาเรื่องสูตรแป้งราว 80 สูตร ทำเป็นงานวิจัยแจกจ่ายให้ชาวบ้าน แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะบอกสูตรลูกแป้ง เพราะถือเป็นความลับของตระกูล มักจะไม่ถ่ายทอดให้คนอื่น

สวาทศึกษาเรื่องสูตรลูกแป้งมาจากหลายที่ แต่ลูกแป้งที่นำมาใช้ในปัจจุบันได้มาจากเครือข่ายจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากนำมาทำสุราแล้วได้รสชาติตามที่ชอบ

วิธีการทำ ใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก 4 กิโลกรัม ต่อแป้ง 1-2 ก้อน นำมาคลุกให้เข้ากัน หมักในถังหรือโอ่ง ปริมาณการหมักอยู่ที่ 8 กิโลกรัมโดยประมาณต่อภาชนะหนึ่งใบ น้อยเกินไปไม่ดี มากไปก็ไม่ดี เพราะมีผลต่อการเดินของเชื้อและการทำหน้าที่ของยีสต์ในแป้งเหล้าอาจจะไม่สมบูรณ์เพียงพอ

หลังจากหมักได้ 3-5 วันก็เติมน้ำ น้ำที่ใช้คือน้ำบ่อหรือน้ำฝนค้างปีจะดีที่สุด แต่น้ำต้องมีค่าเป็นกลาง

เมื่อถามไปว่าใช้วิธีการวัดคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้หรือไม่ เขาบอกว่าไม่ได้วัดคุณภาพจริงจัง เพียงแต่อาศัยประสบการณ์การชิมน้ำเท่านั้น

การทำสุราในแต่ละที่มีองค์ประกอบแตกต่างกัน น้ำถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ให้รสชาติและกลิ่นเฉพาะ รวมไปถึงสภาพอากาศก็มีผล เขาไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์ในการทำสุรา ส่วนมากอาศัยประสบการณ์จากการทำบ่อยๆ

ได้ลิ้มลองสาโทที่หมักได้ที่แล้ว มีรสชาติเปรี้ยว หอมข้าวอ่อนๆ เมื่อนำไปแช่เย็นสักหน่อย รสชาติละมุนขึ้น หวานปลาย รับประทานง่าย

สวาทบอกว่า “สาโทจะมีรสชาติเข้ม เปรี้ยว ไม่หวาน นี่คือเอกลักษณ์ของที่นี่ รสชาติหวานทำไม่ยาก แต่ไม่ชอบ”

ต่อมาวิธีการกลั่นให้เป็นสุรากลั่นหรือสุราขาว ก่อนนำไปกลั่นต้องมีขั้นตอนการกรองกากหรือขี้เหล้าออกครึ่งหนึ่งก่อน เพราะสาโทที่นำมาสาธิตให้ดูนั้นเป็นสาโทน้ำสอง หากคนที่จัดการไม่เป็น กากของสาโทอาจกองอยู่ที่ก้นหม้อ ทำให้ไหม้ได้

กากที่กรองแล้วมีประโยชน์ นำไปให้ปลากินหรือเลี้ยงหมู ส่วนน้ำสาโทก็เทลงในหม้อกลั่นขนาดกลางที่ตั้งอยู่บนเตาฟืนที่กำลังลุกโชน

ผู้ช่วยสองคนของสวาทนำผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดๆ พันรอบปากหม้อ แล้ววางกระทะใบใหญ่ลงไป พร้อมกับเติมน้ำให้พอดีกับขอบกระทะ วิธีการนี้เรียกว่าการหล่อเย็น คือปรับอุณหภูมิจากร้อนให้เย็น ไอน้ำจะลอยขึ้นมาปะทะความเย็นของน้ำ และระเหยออกมาเป็นสุรา ไหลผ่านท่อที่ต่อกับหม้อกลั่นลงสู่โหลแก้ว สุราที่ไหลผ่านท่อจะค่อยๆ ไหลอย่างพอดีและต่อเนื่อง สวาทบอกว่าเป็นอุณหภูมิที่พอดี ไม่เดือดมาก เพราะใช้เตาฟืน

การควบคุมอุณหภูมิต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต ส่วนค่าเฉลี่ยของดีกรีนั้น หัวสุราจะอยู่ประมาณ 60-70 กรี ส่วนปลายสุราจะเหลือ 50 ดีกรีโดยประมาณ

เมื่อลองชิมสุราจากเตากลั่นใหม่ๆ รสสัมผัสอุ่น รสชาติละมุนซ่านในคอ ไม่เข้มมาก เพราะกลั่นจากสาโทน้ำสอง

สวาทบอกว่าปรกติทำสุราเข้ม ไม่หวานนัก รสชาติซ่า ขม และแรง

sura05
รสชาติของสุราขึ้นอยู่กับเชื้อแป้งเป็นหลัก สวาทใช้แป้งจากมหาสารคามที่มาจากนาเกษตรอินทรีย์ มีการผสมสมุนไพรต่างๆ ลงไปด้วย
sura06
สวาทออกแบบอุปกรณ์ทำสุราร่วมกับชาวบ้านให้เหมาะสมและใช้งานได้ง่าย ทำให้การทำสุราไม่ใช่เรื่องของโรงกลั่นขนาดใหญ่หรือธุรกิจค้ากำไรใหญ่โตสำหรับชาวบ้าน แต่เป็นของที่หาได้ง่าย ทำกินกันได้เอง
sura07
จากสาโทนำไปกลั่นต่อให้กลายเป็นสุราสดใหม่ไหลออกมาจากหม้อต้มอย่างละเมียดละไม มีรสชาตินุ่มลึกและกลมกล่อมสมเป็นของดีแถบลุ่มแม่น้ำพอง

๒.

ไม่เพียงแต่สุรากลั่นและสาโทเท่านั้น ในบริเวณพื้นที่เล็กๆ ติดกับบ้านพักกลางทุ่งนา สวาทยังทำโรงบ่มสุรา ลักษณะเป็นห้องสามเหลี่ยมไม่ใหญ่มาก มุงหลังคาด้วยหญ้าคาสองชั้น ด้านในเป็นชั้นวางโหลสุราแช่ผลไม้กว่าสิบชนิด หลากหลายสีสันและรสชาติ

ผลไม้ที่นำมาแช่ได้จากในท้องถิ่น ต่างถิ่น และผลไม้ป่า เพื่อให้ได้ลิ้มลองความหลากหลาย เช่น สาโทกล้วย สุรากลั่นแช่กล้วย สาโทมะไฟ สาโทมะม่วงหาวมะนาวโห่ สุรากลั่นแช่มะนาว บ๊วย สับปะรด หมากเม่า ลูกหว้า ลูกหม่อน ผลไม้เหล่านี้จะหมุนเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล

รวมถึงสมุนไพรต่างๆ สามารถนำมาแช่กับสุราได้เช่นกัน ทั้งแก่นไม้ รากไม้ ที่มีสรรพคุณทางยา จากตำรับตำรายาพื้นบ้านโบราณ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดจากการทดลองทำ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองทั้งนั้น

“เหล้ากำเนิดมาจากธรรมชาติ อยู่ในตำรับยา ในแป้งเหล้าก็มีสมุนไพร ดื่มไปก็เหมือนได้กินสมุนไพรไปด้วย”

พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงทางทิศตะวันตก ท้องฟ้าสีครามตัดกับเฉดสีส้มอมเหลืองที่ขอบฟ้า ราว ๑ ทุ่ม เจ้าบ้านตั้งโต๊ะท่ามกลางความมืด มีเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟนีออนดวงเล็กในครัว สวาทพร้อมกับลูกมือทั้งสองคนทำอาหารต้อนรับเราด้วยเมนูยอดฮิตที่มาอีสานก็ต้องได้ลิ้มลองอย่าง “ซอยจุ๊”

นำโชค ผู้เป็นลูกเขย บอกกับเราอย่างภูมิใจว่าพ่อตาของเขาไม่ได้เก่งแค่เรื่องทำสุราหรือทำงานเท่านั้น แต่ฝีมือทำอาหารก็สุดยอดเช่นเดียวกัน

ได้ลิ้มลองเนื้อวัวสด รสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น จุ๊ลงบนน้ำจิ้มแจ่วใส่ดีวัวรสขม กินคู่กับใบมะแขว่นกลิ่นหอมรสเผ็ดซ่า และใบมะตูมซาอุ มีเครื่องเคียงเป็นมะนาวหั่นชิ้นเล็กๆ พริกสด และผักชี เรียกว่าเป็นประสบการณ์การกินของดิบครั้งแรกในชีวิต ตามด้วยสาโทจากข้าวอินทรีย์แช่เย็นดีกรีไม่แรงมาก เทลงในจอกเล็กๆ กระดกตามหลัง ได้ยินเสียงร้อง “อ่า” ลากยาวของทุกคนในวงอย่างต่อเนื่อง

สาโทในค่ำคืนนี้รสชาติหวานละมุนชุ่มคอกำลังดี

สวาทเปิดวงสนทนาอย่างเป็นกันเอง แม้อายุที่ห่างแต่ไม่ใช่ปัญหา “สุรา” พอจะเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์และทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ชายผู้นี้มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา เมื่อเริ่มสนทนากันด้วยภาษาถิ่นบ้านเกิด จึงทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่ายและไหลลื่น

หลายคนเรียกขานเขาว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักพัฒนา เอ็นจีโอ ปราชญ์ชาวบ้าน และอีกหลายตำแหน่งที่ผู้คนเคารพนับถือ แต่เขาบอกกับเราว่า เขาเป็นเพียง “ไทบ้าน” คนหนึ่งเท่านั้น

สวาทเป็นคนอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 เขามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลที่ว่าชอบทรัพยากร ดินดี น้ำดี และมีปลาเยอะ

“รื้อบ้านถอนเรือนมาอยู่ที่นี่ถาวรเลย”

เขาบอกเช่นนั้นพร้อมกับเล่าถึงบริบทของชุมชนแห่งนี้ในยุคสมัยที่เข้ามาอยู่ใหม่ บ้านโนนหนองลาดเป็นเพียงคุ้มหรือหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านโนนเชือก ปกครองกันเอง ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ชาวบ้านถูกดำเนินคดีสารพัด หลังจากมีการเรียกร้องเจรจาจนเกิดการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา สุดท้ายก็แบ่งที่ดิน ระหว่างที่ดินทำกินของชาวบ้านและที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งที่เป็นหมู่บ้านหลังเขื่อนและมักจะประสบปัญหาน้ำท่วม แต่สวาทบอกว่าฐานทรัพยากรของพื้นที่นี้ดี ภายหลังชาวบ้านเริ่มพัฒนาฐานการผลิต ปรับปรุงพื้นที่ให้ทำการผลิตได้ตลอดทั้งปี

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังฉายภาพการต่อสู้เรื่องสุราพื้นบ้านในอดีตให้ฟังอย่างออกรส ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวออกไปประท้วง การรวมกลุ่มผลิตสุราและแห่ขายในตัวเมือง เขาเล่าว่า ปี 2545-2547 นั้นอยู่ในช่วงแก้ไขพระราชบัญญัติสุรา 2493 รัฐบาลจึงให้ชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน ในปีนั้นสวาทมีตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านอีสานตอนบน 10 จังหวัด

“ม่วนคัก เพราะพี่น้องได้เอาความคิดตัวเอง ความต้องการของตัวเองนำเสนอผ่านสาธารณะ”

ความสุขเมื่อหวนนึกถึงอดีตฉายชัดทางแววตา เราแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำวัยเยาว์เช่นเดียวกัน อีสานบ้านเราในช่วงปี 2545 ทำสาโทกันคึกคัก พ่อค้าแม่ค้าหาบแป้งเหล้ามาขายในช่วงเทศกาลงานบุญ โดยเฉพาะบุญบั้งไฟ ชาวบ้านต้องหลบหนีตำรวจที่เข้ามาปราบปรามอยู่เป็นประจำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับดื่มในเทศกาลงานบุญหรือแก้เหนื่อยจากการทำงานของคนชนบทในช่วงเวลาถัดมาคือสุราขาว 40 ดีกรีที่มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อในท้องตลาด

ในมุมมองของสวาท สุราเกี่ยวข้องกับชีวิตคน ชุมชน เขาไม่ได้ทำให้สุราเป็นสินค้าเพื่อที่จะหารายได้ แต่ทำเพื่อรักษาภูมิปัญญาตรงนี้ให้ได้รับการถ่ายทอดกันต่อไป

สุรายังเป็นองค์ประกอบในพิธีกรรม ตามวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละพื้นที่ อยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย

การตีความเกี่ยวกับสุรา อาจแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม ในอีกแง่มุม สังคมชนบทมองเรื่องของการดื่มสุราคือสุนทรียะอย่างหนึ่ง ดื่มเพื่อผ่อนคลาย สังสรรค์ในเทศกาลงานบุญ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร

sura08
สุราที่กลั่นด้วยอุณหภูมิร้อนพอดี จะไหลจากท่อที่ยื่นจากหม้อต้ม สุราที่ถูกกลั่นสดๆ มีรสชาติที่นุ่มลึกและยังมีความกลมกล่อมของรสชาติอีกด้วย
sura09
มัลเบอร์รี่อินทรีย์เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่สวาทนำมาหมักในสุรา ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้รสชาติเป็นธรรมชาติและปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด จึงเลือกใช้ผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ รสชาติของสุราที่หมักด้วยมัลเบอร์รี่จะเปรี้ยวและหวาน ดื่มง่าย

๓.

“เหล้ามันก็เป็นธรรมชาติ เป็นความคิดพื้นฐานของชาวบ้านนั่นแหละ พัฒนาได้อีกเยอะ หลายคนเขาก็ทำสำเร็จตามความคิดภูมิปัญญาของเขา”

ผศ. ดร.สมพร เกษแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจในประเด็นของสุราพื้นบ้านและมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สวาท อุปฮาด มาก่อน

ในฐานะนักวิชาการ เขาให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการผลิตสุรา มีกระบวนการต่างๆ มากมายที่จะเกิดขึ้นตามมาหากรัฐบาลสนับสนุนและเปิดเสรีให้กับการผลิตสุราพื้นบ้าน

การจะทำให้เป็นสินค้าเพื่อบริโภคต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง เช่น การนำสมุนไพร ผลไม้ มาใช้ร่วมกับสุรากลั่นหรือสาโทจะต้องควบคุมคุณภาพ ต้องทราบว่าสารหรือตัวยาในสมุนไพรนั้นมีอะไรบ้าง ชาวบ้านอาจจะไม่ทราบว่าควรเตรียมอย่างไร ต้องใช้ปริมาณเท่าไร มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนหรือไม่ ต้องมีนักวิชาการ นักวิจัยเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยเฉพาะลูกแป้งซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตสุราพื้นบ้าน

ผศ. ดร. สมพร อธิบายต่อว่า

“ลูกแป้งก็ต้องรอการวิจัยอีก ว่าดีและเหมาะสม ไม่ทิ้งสารปนเปื้อน พวกสารประกอบอัลดีไฮด์ในกระบวนการหมัก กินแล้วไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ไม่เกิดการเมาค้าง กินแล้วปลอดภัย ถ้าเป็นแบบนี้มีโอกาสเกิดตัวแทนจำหน่ายลูกแป้งที่มีคุณภาพมากมาย ซึ่งตอบสนองความต้องการของสังคมอยู่แล้ว”

การจะเกิดความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยให้ชุมชนและผู้บริโภคได้นั้น กฎหมายควรเปิดให้ทำได้ เพราะมีนักวิชาการ นักวิจัยหลายคนที่พร้อมเข้าไปศึกษาและช่วยเหลือชุมชน องค์ความรู้ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

ผศ. ดร. สมพร บอกว่าเขามองเห็นศักยภาพของผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ และมีโอกาสที่จะทำให้ข้าวเกิดมูลค่าสูงขึ้นนอกจากการนำไปขาย เป็นการสร้างทางเลือกให้กับข้าวด้วยการนำมาทำสุรา ก็ดูจะสอดคล้องกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยไม่น้อย

แต่กฎหมายของไทยยังคงผูกขาดอยู่ที่ทุนใหญ่ นั่นทำให้ชุมชนไม่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้เต็มที่ และเขายังมองไปถึงการเป็นเครือข่ายระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย กับชุมชน เป็นสิ่งที่เขาวาดหวังว่าจะมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปศึกษาวิจัย

sura10
สวาทนำผลไม้และพืชสมุนไพรต่างๆ แช่ในสุราเพื่อหมักให้ได้รสชาติใหม่ๆ
sura11
ในมุมมองของสวาท สุราพื้นถิ่นไม่ใช่ของมึนเมา แต่คือสิ่งที่กลั่นจากภูมิปัญญาการเรียนรู้และแสดงถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น สวาทยินดีต้อนรับผู้เดินทางมาศึกษาหรือผู้ที่ต้องการลองลิ้มรสสุราพื้นถิ่นเสมอ ด้วยถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้สร้างมิตรภาพ
ตามคำกล่าวที่ว่า “เพื่อนคู่คิด มิตรคือสุรา”

๔.

การขับเคลื่อนเรื่องสุราพื้นบ้านยังคงดำเนินต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ร่างพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ที่มีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกสุราเสรี ให้บุคคลประกอบอาชีพผลิตสุราได้โดยเสรีตามเงื่อนไขที่เหมาะสมและที่สำคัญลดการผูกขาดของทุนใหญ่ ได้ผ่านวาระแรกแล้ว นี่จึงเป็นความหวังของใครหลายคนที่จะมีโอกาสฟื้นฟูภูมิปัญญาของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง

“ผมใช้คำว่าสุราก้าวหน้าแล้วกัน ถ้าใช้คำว่าสุราเสรีคนอาจจะเข้าใจว่าส่งเสริมให้บริโภคมากขึ้น ซึ่งจริงๆ มันเป็นเพียงแค่การให้โอกาสคนเล็กคนน้อยในสังคม ในการเอาทรัพยากรของตนเองที่มีอยู่มาทำให้มันเกิดมูลค่าเท่านั้นเอง”

คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี ที่หมดวาระลงเมื่อยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566 แสดงความคิดเห็นต่อทิศทางของ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ว่าจะทำให้เกิดผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นสั่นสะเทือนผู้ผลิตรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ แต่เกิดการแข่งขัน เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย

ในขณะที่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร เป็นอีกคนที่มีโอกาสแวะเวียนไปพูดคุยกับ สวาท อุปฮาด ถึงจังหวัดขอนแก่น แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการการผลิตที่จะเกิดขึ้นว่า

“ภายใน 5 ปี ถ้าเราทำได้สัก 5% ของเจ้าใหญ่ที่ทำอยู่ในตลาด ก็เก่งแล้วครับ”

ในส่วนของผู้ผลิตอย่างสวาท เขาก็มีความหวังกับเรื่องนี้เช่นกัน และได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อกฎหมายที่สามารถออกใบอนุญาตให้ประกอบการได้ โดยผู้ขออนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติเป็นสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร นิติบุคคล และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ทำสุราเท่านั้น

เขามองว่าการจะเกิดกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้มีการส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการ ถ้ารัฐไม่เข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนกลุ่ม ก็ไม่ควรให้จดทะเบียนเป็นกลุ่ม ควรให้เป็นเสรี ใครก็ทำได้ แต่ต้องกำหนดชัดเจนว่าทำแบบไหน ทำเท่าไร

ส่วนการเรียกเก็บภาษีนั้น ผู้ผลิตรายย่อยต้องแบกรับภาษีที่มาก ทั้งที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่ารายใหญ่ ทั้งนี้สุรามีมูลค่าทางภาษีค่อนข้างมาก ไม่ควรเอาภาษีไปรวมที่รัฐบาลเพียงที่เดียว ควรให้อำนาจแก่ท้องถิ่น

เช่นเดียวกับคำพองที่อธิบายต่อประเด็นกำแพงภาษีที่ปิดกั้นโอกาสการเติบโตของสุราพื้นบ้าน ว่าควรมีข้อกำหนดเป็นรูปธรรมชัดเจน สมเหตุสมผล และเป็นธรรมกับประชาชน

นอกจากนี้สิ่งที่รัฐควรพิจารณา ในเมื่อเป็น “สุราชุมชน” คือรัฐก็ไม่ควรที่จะมีรายได้จากภาษีเพียงอย่างเดียว ควรเข้ามาส่งเสริมชุมชนด้วย เช่น ส่งเสริมระบบการผลิต คุณภาพการผลิต สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้ผลผลิตจากชุมชนไปถึงระดับสากลให้ได้

สวาทวาดฝันว่าต้องการให้มีพื้นที่ทดลองการหมักบ่มเหล้าพื้นบ้านอีสาน เป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนที่สนใจ ในประเทศไทยทุกภูมิภาค หลายชุมชน ยังมีองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น หากกฎหมายเปิดโอกาสให้ผลิตสุราได้อย่างเสรี สุราสามารถเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้

แม้ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ได้เอื้อต่อการผลิตสุรา แต่ความสามารถของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

สุราบางยี่ห้อใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยแต่ถูกนำไปผลิตในต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าของดีในบ้านเรายังไปได้อีกไกล และคงเป็นที่น่าเสียดายในความสามารถของคนในชาติหากไม่ได้รับการสนับสนุนในอนาคต ไม่ได้รับโอกาสในการประชาสัมพันธ์ และไม่สามารถเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้

“เรื่องเหล้ามันคือภูมิปัญญา คือความรู้ ถ้าพัฒนาดีก็จะเป็นสินค้าส่งออกได้ ไม่ใช่โอกาสของคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถือว่าทำลายองค์ความรู้ของคนทั้งชาติ

“เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือประชาชน”