ทีมขุนเขา – เราทะเล
เรื่อง : พงศกร จงรักษ์
ภาพ : โชติพงษ์ บุญฤทธิ์

บ่ายคล้อยตรงแยกถนนนางงาม-ถนนรามัญ เด็กสาววัยรุ่นผมยาวยืดแขนชูสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดถ่ายเซลฟี่กับภาพวาดอาแปะบนผนังตึกร้านน้ำชาฟุเจาเดิม จุดเช็กอินยอดฮิตของย่านเมืองเก่าสงขลา โดยมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียกลุ่มใหญ่รอเก็บภาพอยู่เช่นกัน

บ่ายคล้อยตรงแยกถนนนางงาม-ถนนรามัญ เด็กสาววัยรุ่นผมยาวยืดแขนชูสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดถ่ายเซลฟี่กับภาพวาดอาแปะบนผนังตึกร้านน้ำชาฟุเจาเดิม จุดเช็กอินยอดฮิตของย่านเมืองเก่าสงขลา โดยมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียกลุ่มใหญ่รอเก็บภาพอยู่เช่นกัน

เมืองเก่าสงขลากำลังเปลี่ยนไป จากย่านตึกเก่าเงียบเหงาในทศวรรษก่อนเป็นเมืองใหม่ทางการท่องเที่ยวในทศวรรษนี้ เมืองเก่าถูกปักหมุดหมายใหม่สู่การเป็นเมืองมรดกโลก หลากหลายโครงการสร้างสรรค์ผลิดอกเบ่งบาน คนหน้าใหม่ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการต่างมุ่งสู่เมืองเก่าด้วยเป้าหมายที่แตกต่าง

หน้าจอมือถือขนาดไม่ใหญ่กว่าฝ่ามือ หากสืบค้นคำว่า “เมืองเก่า สงขลา” จะเจอผลการค้นหามากกว่า ๑๐ ล้านรายการในเวลา ๐.๖๘ วินาที มีหลากข้อมูลหลายจุดเช็กอินให้ผู้คนเข้ามาสำรวจ

เมื่อเราตั้งโจทย์จะเขียนถึงความสุข ผู้คน และเมืองเก่าสงขลา เราคิดถึงคนเก่าๆ ร้านรวงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสการท่องเที่ยว เรามีคำถามในใจถึงมุมมองต่อชีวิตการทำงานของพวกเขาและเมืองเก่าที่กำลังแปรเปลี่ยน

oldtownsongkla02
oldtownsongkla03

ความสุขของคนทำร้านรุ่นที่ ๓ ผ่านศตวรรษ : บริสุทธิ์ซักแห้ง และร้านยางี่เทียนถ่อง

ร้านบริสุทธิ์ซักแห้งตั้งอยู่ตรงถนนนางงาม ในบริบทปัจจุบันอาจดูแปลกแยกจากร้านรวงรอบข้าง เพราะเป็นร้านซักแห้งเพียงร้านเดียวบนถนนเส้นนี้ เราจึงเดินไปหาคุณสุวรรณเจ้าของร้านเพื่อชวนพูดคุยในประเด็นต่างๆ

“จริงๆ ร้านมีอายุเกือบร้อยปี เริ่มจากเถ้าแก่ของพ่อเปิด แล้วพ่อเป็นลูกจ้าง บริสุทธิ์ซักแห้งสาขา ๑ กับสาขา ๒ อยู่กรุงเทพฯ พอเถ้าแก่กลับกรุงเทพฯ พ่อจึงเซ้งร้านนี้ พอพ่อแก่ผมมาทำต่อ” สุวรรณบอกเล่าการรับช่วงสืบทอดในร้านซักแห้ง

“แล้วยุคนั้นทำงานกันอย่างไร?”

“เมื่อก่อนใช้เตารีดอังไฟจากเตาถ่าน แล้วพัฒนามาใช้ไฟฟ้า ตอนผมเล็กๆ ก็ยังเห็นเตาถ่านอยู่นะ ร้านซักแห้งยุคนั้นมีหลายร้าน ส่วนมากเป็นเสื้อผ้าสำหรับงานพิธี เช่น ชุดข้าราชการ ชุดไปงาน” สุวรรณเล่าด้วยสายตาภาคภูมิใจ มีเสื้อผ้าแขวนเรียงเต็มราวแน่นร้าน ปัจจุบันลูกค้าก็ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมเหนียวแน่น

เราถามถึงความสุขในงานปัจจุบันและอนาคตของร้าน

“อนาคตหาคนสืบทอดยาก เป็นงานละเอียด งานหนัก แต่ไม่ค่อยเหนื่อย ความยากคือพิถีพิถันในการซัก ใช้น้ำยาที่ซื้อเองหรือผสมเองด้วย” สุวรรณเอ่ยถึงการทำงานหนักแต่มีความสุขของแก

“แล้วมีมุมมองอย่างไรกับการพัฒนามาเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบนี้?” เราถามเพราะอยากฟังทัศนะของคนท้องถิ่นดั้งเดิม

“อดีตคือเก่าจริงๆ ตอนผมเด็กๆ ข้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ถนนวชิรา คือป่าเสม็ดทั้งนั้น แถวนี้ก็เป็นบ้านเก่า รูปทรงเดิมๆ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแบบที่เห็น ซึ่งตอนนี้ก็ดี แต่ร้านแบบผมไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวไง” สุวรรณทิ้งท้ายแฝงอารมณ์ขันอมเศร้าก่อนเราจะเดินจากกัน

“ชาวบ้านแถวนี้หน้าใหม่เยอะ คนดั้งเดิมหายกันไปหมดแล้ว”

เราเดินต่อบนถนนนางงาม จากร้านบริสุทธิ์ซักแห้ง สวนทางกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินออกจากศาลเจ้า ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลามีร้านยางี่เทียนถ่องตั้งอยู่

เรานั่งบนเก้าอี้ไม้กลมพูดคุยกับ สมชาย ตันรัตนพงศ์ อายุ ๖๗ ปี รับช่วงร้านขายยาเป็นรุ่นที่ ๓ นับเป็นร้านเก่าแก่ที่สุดในย่านเมืองเก่าสงขลา มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี

“ตอนนั้นมาสืบทอดทำร้านขายยาช่วงปี ๒๕๑๙-๒๕๒๐ สมัยก่อนคึกคัก เพราะร้านขายยามีไม่มาก” สมชายเล่าย้อนอดีต มีลิ้นชักตู้ไม้เก็บสมุนไพรเป็นฉากหลัง

เราถามต่อถึงธุรกิจร้านยาตอนนี้

“มันมีผสม ส่วนมากเป็นลูกค้าประจำ มีนักท่องเที่ยวบ้าง” คำตอบของเขาทำให้เรากวาดตาสังเกตสินค้าภายในร้าน เห็นตู้ไม้บานกระจกมีชั้นยาแผนโบราณวางเรียง มีแป้งโยคี ยาดมหงส์ไทยสีเขียว บรรจุภัณฑ์สินค้าเก่าวางโชว์ด้านหน้า พอนึกภาพตามได้ว่านี่คือการปรับตัวต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อาจแวะเวียนเข้ามา

“ความสุขในการทำร้าน ณ ปัจจุบันคืออะไร ?”

“เราก็อยู่แบบนี้ ไม่มีใครสืบทอดแล้ว…ความสุขของการทำร้าน ทำเท่าที่ทำได้” สมชายตอบเรียบง่ายแต่แฝงนัยชวนคิด

oldtownsongkla04
oldtownsongkla05
oldtownsongkla06

ความสุขกับงานที่รัก : โรงพิมพ์ทวีศักดิ์ ร้านซ่อมหนังสือ และร้านขายเครื่องจักสานของป้าราตรี

หลังประตูเมืองสงขลา ถนนนครใน โรงพิมพ์ทวีศักดิ์เปิดมายาวนานเกือบ ๓ ทศวรรษ ผ่านยุคงานพิมพ์ตั้งแต่งานเรียงพิมพ์รุ่นเก่า สู่งานออฟเซ็ต และห้วงปัจจุบันที่เริ่มถูกแทนที่ด้วยดิจิทัลไฟล์

เราตั้งใจไปคุยกับ ต่อศักดิ์ จตุรพร เจ้าของโรงพิมพ์ ในยุคเมืองเก่าสงขลาเปลี่ยนสู่เมืองท่องเที่ยว และโรงพิมพ์ไม่ได้อยู่ในกระแสนี้

“จริงๆ แล้วผมไม่มีความรู้ด้านโรงพิมพ์เลย ตอนนั้นมีเพื่อนทำโรงพิมพ์อยู่หลายปี เลยมีความคิดจะเปิดโรงพิมพ์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงปี ๒๕๓๙ ช่างมาส่งเครื่องสอนแค่ชั่วโมงเดียว ที่เหลือคือลองผิดลองถูกเอง” ต่อศักดิ์บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการเปิดโรงพิมพ์ มีแท่นพิมพ์ออฟเซ็ตและเครื่องตัดกระดาษวางเรียงด้านหลัง

เขาอธิบายต่อถึงเทคนิคการเรียงพิมพ์ยุคดั้งเดิม “เมื่อก่อนเป็นเครื่องพิมพ์ตัวเรียงอักษรตะกั่ว เหมือนตัวพิมพ์ดีดมีตัว ๑๖ ตัว ๒๔ ตัว ตอนนั้นงานเยอะมาก เป็นใบส่งของ ใบเสร็จรับเงินของร้านต่างๆ สั่งกันร้อยๆ เล่ม”

“จนถึงตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะไหม?”

“เมื่อก่อนในเมืองเก่ามีโรงพิมพ์อยู่หกเจ็ดโรง แต่ตอนนี้เหลือไม่กี่โรง ช่างพิมพ์ที่รับงานก็น้อยเวียนมารับจ็อบ หลายโรงไม่มีช่างประจำ มีแต่เถ้าแก่” เรามองออกไปนอกร้าน รถราบนถนนนครในวิ่งไม่ขาดสายในช่วงเย็น

แล้วมุมมองต่อการพัฒนาของเมืองเก่าในฐานะคนอยู่ที่นี่

“ค่าเช่ามีแนวโน้มแพงขึ้น แต่ไม่ใช่จะขายดีทุกร้าน” เขาตอบ และเล่ากรณีตัวอย่างในย่านนี้ประกอบ

เมื่อถามถึงความสุขในการทำโรงพิมพ์ ต่อศักดิ์ให้ทัศนะทิ้งท้ายน่าสนใจว่า

“ความสุขในการทำงาน คือได้ซ่อมเครื่อง นั่งทำแบบ ทำงานพิมพ์เอง เครื่องพิมพ์มันสัมพันธ์กันหมดทั้งกระดาษและงานพิมพ์”

จากถนนนครใน เราเดินเลี้ยวมาถนนยะลา ก่อนถึงแยกตัดถนนนางงามมีร้านซ่อมหนังสือเล็กๆ เปิดอยู่ เป็นร้านเดียวในย่านเมืองเก่าสงขลา งานซ่อมหนังสือดูเป็นงานที่มีตลาดเฉพาะตัวสูง และเจ้าของร้านก็เลือกมาเปิดย่านนี้ เราจึงมาคุยกับ “หมั่น” -ชาญชัย ยงรัตติกุล ผู้ใช้นามปากกาในงานเขียนบทกวี “หินสีครีม” หมั่นชงกาแฟดริปให้ชิมก่อนเริ่มบทสนทนา

“งานซ่อมหนังสือมาทำจริงๆ หลังงานหนังสือทำมือ ช่วงปี ๒๕๕๐ ออกบูทหนังสือทำมือในงานสัปดาห์หนังสือ มอ. วันหนึ่งเพื่อนไปซื้อหนังสือเก่า มันขาดจึงแวะมาคุย ก็เลยรื้อแล้วเข้าเล่มใหม่ มีมาแบบนี้เรื่อยๆ จนขยายไปถึงคนที่เราไม่รู้จัก มันงอกมาจากงานวรรณกรรมและหนังสือมือทำ” เขาเล่าจุดเริ่มต้นของร้าน

“ทำไมเลือกเปิดร้านที่เมืองเก่า?”

“จริงๆ ผมไม่ได้เลือกนะ คนที่ได้บ้านหลังนี้เป็นรุ่นพี่ เค้าเช่ามา ๑๐ ปีแล้ว เมื่อก่อนไม่อยู่ในลิสต์ที่จะมาอยู่เลย แต่รุ่นพี่บอกผมว่า บ้านหลังนี้เหมาะกับผมมาก…จังหวะเวลามันได้พอดี ตอนนี้เป็นร้านเต็มรูปแบบแล้ว” หมั่นเล่าเคล้ากลิ่นกาแฟในบรรยากาศร้านซ่อมหนังสือที่ตกแต่งร้านไม่ต่างจากร้านกาแฟชั้นดี

เราถามความเห็นเรื่องการพัฒนาเมืองเก่าจากมุมมองคนเขียนหนังสือ

“ที่น่าตั้งคำถามคือ เมืองนี้โตจริงหรือเปล่า พูดให้ชัดคือ มันโตด้วยภาพในโซเชียลฯ ทุกมุมสวย แต่ถามว่าตัวเลขที่กระจายสู่ชุมชนกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้สิน่าตั้งคำถามหรือทำวิจัย” เขาวิเคราะห์จากมุมมองส่วนตัว และเล่าผลกระทบต่อผู้เช่าหน้าใหม่ที่ทะยอยย้ายเข้ามา

“โตแล้วมีผลกระทบด้วย ในมิติของค่าเช่ามันขึ้น เจ้าของบ้านอยู่ต่างจังหวัด อยู่เมืองนอก ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริงเหมือนคนเช่า” ความเห็นนี้มีส่วนพ้องกับต่อศักดิ์ เจ้าของโรงพิมพ์

ส่วนความสุขในการทำงาน

“พยายามไม่สุข ไม่ทุกข์ อะไรที่มาก็ยอมรับมัน ชีวิตจะดีขึ้นเอง เรายืนอยู่จุดไหนก็โฟกัสจุดนั้น หาความสุขเท่าที่เราไขว่คว้าได้”

บนถนนนางงามเราเดินต่อไปยังร้านขายสินค้าจักสาน งานหัตถกรรมร้านเดียวบนถนนนางงาม แม้เปลี่ยนที่ตั้งจากตำแหน่งเดิม แต่ยังเป็นที่จดจำ เพราะร้านของป้าราตรี วรรณวิไล เปิดมายาวนานกว่า ๔๐ ปี (ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐) เราเริ่มถามจุดเริ่มต้นของการทำร้าน

“เมื่อก่อนป้าออกพื้นที่ เห็นชาวบ้านทำงาน ตอนนั้นป้ายังไม่เกษียณ อยากส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีงานทำจากวัสดุพื้นถิ่น” ป้าราตรีเล่าความหลังครั้งรับราชการกรมสรรพสามิต และทำงานเสริมด้วยการขายสินค้าหัตถกรรม

“จากค่าเช่าเดือนละ ๖๐๐ บาท เป็น ๑,๒๐๐ บาท ตอนนี้ ๔,๐๐๐ บาท” ป้าราตรีบอกเรตราคาค่าเช่าที่เปลี่ยนตามยุคสมัย และเมื่อเราถามถึงความสุขในการทำงาน ป้าราตรีให้ทัศนะว่า

“ความสุขในการทำงานอย่างหนึ่งคือได้พูดคุยกับผู้คน ถ้าไม่มีงานทำอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียง เราไม่ต้องการร่ำรวย ให้พออยู่พอกิน”

oldtownsongkla07

ความสุขของลุงแจ้ว : ชายชราผู้ปั่นสามล้อรับจ้างในย่านเมืองเก่ามา ๔๐ ปี

ลุงแจ้วจอดสามล้ออยู่ประจำหน้าอาคารบ้านเขียนเจริญ (ร้านน้ำชาฟุเจาเก่า) ใกล้ภาพวาดสตรีตอาร์ตอาแปะตรงแยกตัดถนนนางงาม-ถนนรามัญ

ภาพถ่ายของลุงแจ้วปรากฏตามสื่อมากมาย ตั้งแต่ปกนิตยสารสารคดี หนังสือรวมภาพถ่ายเมืองเก่า จนถึงภาพจากผู้คนบนโซเชียลมีเดีย ในการสนทนาก่อนสัมภาษณ์ เราจึงทราบว่าลุงแจ้วอายุ ๗๖ ปี พำนักในย่านเมืองเก่า ออกมารอกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อปั่นพาชมเมือง โดยลุงจะมาตอนเที่ยงและกลับ ๖ โมงเย็น หนึ่งในคำถามแรกๆ ของเรา ลุงปั่นจักรยานมานานแค่ไหน?

“ผมเขรถถีบ*มา ๔๐ ปีแล้ว”ลุงแจ้วตอบพร้อมโชว์สี่นิ้วด้วยความภูมิใจ (*ปั่นรถจักรยาน)

ลุงแจ้วเล่าย้อนอดีตเมื่อครั้งสามล้อถีบพ่วงข้างเป็นพาหนะคู่เมืองสงขลา และมีสถานีรถไฟสงขลา-หาดใหญ่ “ตอนนั้นผมจอดอยู่หน้าสถานีรถไฟครับ สมัยก่อนเก็บเริ่ม ๕๐ สตางค์ สองคน ๓ บาท คนเดียว ๒ บาท”

เราถามถึงจำนวนสามล้อถีบพ่วงข้างที่ยังมีคนปั่นอยู่ในปัจจุบัน

“เหลือห้าคันครับ แต่วิ่งประจำสองคัน อีกคันรับเฉพาะลูกค้าประจำแล้วกลับ ส่วนผมมารอนักท่องเที่ยวเข (ขี่) ชมเมือง” ขณะลุงแจ้วเล่ามีนักท่องเที่ยวยกกล้องกดชัตเตอร์ถ่ายภาพพวกเราอยู่

เมื่อถามจำนวนลูกค้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน

“ตอนนี้ลูกค้าไม่มากเหมือนก่อน เรื่อยๆ ครับ ได้มั่งไม่ได้มั่ง แต่วา *ไม่ได้เลย” ลุงแจ้วบอก (*เมื่อวาน)

“แต่ก่อนผมเก็บ ๕๐ สตางค์ดีหวาครับ แต่แรก วัน ๕-๖ บาท ก็อยู่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ของแพง ได้วันละร้อยยังไม่พอ”

แม้ลุงจะบ่น แต่เมื่อเราแกล้งถามว่าทำไมลุงยังทำงานนี้อยู่

“ผมชอบอาชีพนี้มากครับ ได้ออกกำลังกาย ถ้าไม่เข (ขี่) อยู่ไม่ได้ครับ เจ็บเลย เส้นนี่ยึดหมด”

นี่คือทัศนะความสุขของลุงแจ้วที่ยังรักและทำงานนี้มาตลอด ๔๐ ปี

หลังสัมภาษณ์ เราเดินชมเมืองเก่าสงขลา ความคิดมากมายผุดขึ้นในหัว ทั้งการพัฒนาของเมือง และมุมมองของคนเก่าๆ จากบทสนทนาทั้งหมด ตอบข้อสงสัยของเราตั้งแต่ต้นว่า ทำไมพวกเขายังทำงานเหล่านี้อยู่ ?

คำตอบของแต่ละคนอาจต่างรูปแบบ แต่มีจุดร่วมคือ “ได้ทำงานที่รัก” เป็นความสุข ณ ปัจจุบันของทุกคนที่พ้องกันโดยมิได้นัดหมาย

สงขลา #เมืองเก่า # #สามล้อ #โรงพิมพ์ #ร้านซ่อมหนังสือ #ร้านขายยา #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส