เรื่องและภาพ : นพรุจ สงวนจังวงศ์
ไม่สวยไม่เป็นไร ขอเพียงรู้จักศิลปะไทยให้มากขึ้นก็พอ
ช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ นิทรรศการ “แปลงไทย Tradi-Trendy” ผุดกระแสสีสันให้คนที่มาได้ความรู้และเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะไทยที่ถูกแปลงใหม่ให้ง่ายขึ้นและน่ารัก
“ปกติแล้วนิทรรศการทั่วไปมักจะให้แค่เข้าไปดูงาน เดินเสร็จแล้วก็ออก ตัวนิทรรศการนี้เลยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาดู ได้เรียนรู้กับมันจริงๆ โดยการลงมือทำ”
วนาลี ชาฌรังศรี นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าแนวคิดโครงการวิจัยที่เกิดจากความสนใจศิลปะไทย เห็นจุดบอดที่การเรียนการสอนในหลักสูตรมุ่งเน้นแต่ศิลปะไทยประเพณี ทำให้คนเรียนเพื่อรู้แต่ไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะเยาวชนที่มองงานศิลป์ไทยว่าเข้าถึงยาก จึงเกิดเป็นนิทรรศการที่ผลิตแนวคิดใหม่ว่าศิลปะไทยสนุกและไม่ไกลตัว
“โครงการนี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือตัวนิทรรศการส่วนแรก และเวิร์กช็อปในส่วนที่สอง เราต้องการให้คนที่เข้ามาได้เรียนรู้จากนิทรรศการก่อน ตั้งแต่ศิลปะไทยประเพณีว่าของดั้งเดิมเป็นอย่างไร ศิลปะไทยยุคร่วมสมัยที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยน และการนำศิลปะไทยไปประยุกต์ใช้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง แล้วจึงมาสู่กระบวนการเวิร์กช็อป เป็นการนำความรู้ทั้งดั้งเดิมและร่วมสมัยมาประยุกต์ใช้โดยสร้างชิ้นงานจริงๆ”
บรรยากาศในงานผู้คนพลุกพล่านกว่าที่คิด ป้ายความรู้ที่มาศิลปะไทยติดไว้ให้ยืนดู ข้อมูลเรียบเรียงเข้าใจง่ายให้ได้รู้ว่าต้นกำเนิดมาจากคติความเชื่อทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู รวมถึงแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แบ่งได้ สี่หมวดหมู่ คือ “กระหนก” ลายไทยที่ได้จากธรรมชาติ อย่างต้นไม้ หรือเปลวไฟ ฯลฯ “นารี” อันหมายถึงภาพคน เทวดา นางฟ้า “กระบี่” คือบรรดาอมนุษย์ เช่น ยักษ์ หรือวานร และ “คชะ” เป็นภาพสิงสาราสัตว์ ทั้งสัตว์สามัญที่มีอยู่จริงและสัตว์หิมพานต์ในจินตนาการ บ้างก็เรียกรวมสั้นๆ ว่า “กระหนก นาง ช้าง ลิง”
อ่านป้ายให้พอรู้ก่อนไปหยุดดูโต๊ะจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ที่ศิลปินไทยยุคโบราณใช้สรรค์สร้างงานวิจิตร หลายอย่างเป็นของธรรมชาติที่หาง่ายแต่หลายคนไม่รู้ว่ามีประโยชน์ทางศิลป์ ตั้งไว้ให้ลองมาหยิบจับได้ทุกชิ้น เช่น พู่กันจากขนหูวัวหรือหนวดหนู แปรงรากลำเจียกที่ใช้ทำภาพพุ่มไม้ หรือสีฝุ่นที่ได้จากธรรมชาติ เห็นภาพรวมศิลปะไทยยุคแรกเริ่ม
มาที่นี่ต้องไม่ได้แค่ยืนมอง มีให้ลองลงมือทำ งานศิลปะไทยชิ้นดังในอดีตถูกหยิบมาทำแบบจำลองให้คนได้ร่วมสร้างสรรค์ ทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี มีครบสมบูรณ์ทั้งภาพคน สัตว์ เทวดา หรืออาคารสถานที่ ถอดลายจากที่นั่นมาไว้ที่นี่บนแผ่นไม้ หลงเหลือเพียงลายเส้นดำเพื่อให้นำสีฝุ่นแบบโบราณที่วางอยู่มาแต่งแต้มได้ตามใจ ไม่หวังให้ต้องวิจิตรเหมือนต้นฉบับ เพราะสำหรับงานนี้การได้มีส่วนร่วมคือเป้าหมาย เหมือนได้ลองเล่นวาดภาพระบายสีที่ใช้กรรมวิธีศิลปะไทยโบราณ
ข้างๆ กันคือ “เช็ดรัก ปิดทอง ต่อลาย” กิจกรรมลองทำ “ลายรดน้ำ” ที่หลายคนให้ความสนใจ ถอดแบบลวดลายของตู้พระธรรมสกุลช่างวัดเซิงหวายที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดมาไว้บนแผ่นอะคริลิกสีดำ ทำให้ง่ายด้วยการตัดแบ่งเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายจิกซอว์ ทาแร่สีเหลืองชื่อ “หรดาล” และให้คนที่มาใช้ผ้าชุบสีเฟล็กซ์ถู แทนที่การใช้ “ยางรัก” ซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมที่หายาก ตามด้วยการติดผงทองแทนที่ “แผ่นทองคำเปลว” ซึ่งมีราคาสูงลงไปในผลงาน ปิดท้ายโดยใช้สำลีชุบน้ำเช็ดหรดาลออกอย่างเบามือ ก็จะได้ชิ้นงานลายรดน้ำที่ภูมิใจ นำไปประกอบรวมเป็นภาพใหญ่เหมือนต้นฉบับ
ยังมีตรายางมากมาย ความพิเศษคือประทับลงไปแล้วเกิดเป็นลวดลายที่ได้จาก “ลายคำล้านนา” ลักษณะคล้ายลายรดน้ำในภาคกลางแต่แตกต่างด้วยวิธีการทำที่พื้นหลังจะเป็นสีแดงแทนที่จะเป็นสีดำ ลายส่วนใหญ่เก็บมาจากวัดปงสนุกในจังหวัดลำปาง และผ่านการใช้เทคโนโลยีจนได้ภาพเวกเตอร์ที่สวยงาม นำไปทำเป็นตรายางหลายแบบมาให้ลองประทับเป็นโปสต์การ์ด เกิดเป็นผลงานศิลปะบนแผ่นกระดาษนำกลับบ้านได้
“ตอนแรกเราคิดว่าคนน่าจะสนใจในส่วนการประยุกต์ใช้ แต่กลับกลายเป็นว่าคนให้ความสนใจในส่วนที่เป็นศิลปะไทยประเพณีเยอะ เช่น การทำลายรดน้ำ หรือการเขียนสีฝุ่นแบบโบราณ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถจะเจอได้ในทุกวัน บางคนก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร อยู่ที่ไหน แต่ที่นี่มีให้เขาได้ลองทำ เลยทำให้พวกเขาสนใจกันมาก”
เจ้าของงานเล่าถึงความประหลาดใจที่คนทั่วไปจำนวนมากยังอยากเรียนรู้งานศิลป์ไทยแบบดั้งเดิม
ผ่านจากยุคศิลปะโบราณสู่การทำให้ร่วมสมัย งานศิลป์ไทยในยุคนี้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก มาปรับรูปแบบ แนวคิด หรือเนื้อหาที่สอดรับกับบริบทของไทย รวมถึงเปลี่ยนจุดมุ่งหมายจากเดิมที่มีไว้เพื่อรับใช้เพียงชนชั้นสูงและศาสนา เป็นการสร้างสรรค์มาเพื่อแสดงความรู้สึกแทน พบเห็นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ชื่อ “ศฤงคมัสยา” ปลาในตำนานที่กล่าวกันว่าเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ นำมาปั้นใหม่ให้ร่วมสมัย ตัดลายไทยมากมายออกไปคงไว้เพียงลักษณะเด่น เพราะอยากให้คนที่มาได้ลองเล่น “กระแหนะลาย” วิธีการแสนง่ายไม่ซับซ้อนโดยใช้ดินปั้นที่เตรียมไว้ให้กดลงในแม่พิมพ์ เกิดเป็นดินลวดลายไทยรูปร่างคล้ายเกล็ดปลา เอาไปติดที่ตัวศฤงคมัสยาจุดไหนก็ได้ตามจินตนาการ ข้างๆ ยังมีให้ลองประดับกระจก “ดอกพุดตาน” ลายไทยในหมวดพรรณพฤกษาที่ชินตากันในงานศิลปะไทย เอามาทำใหม่เป็นดอกไม้ขนาดใหญ่สีสันดูน่ารัก มีพื้นที่ว่างให้ได้ช่วยกันติดประดับกระจกแผ่นเล็กๆ เด็กๆ ชื่นชอบ
สุดท้ายคือการทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว จัดแสดงผลงานของศิลปินที่ประยุกต์ใช้ศิลปะไทยในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกระบอกตั๋วเก็บเงินที่กระเป๋ารถเมล์ชอบใช้ ตกแต่งด้วยลายไทยสวยจนไม่อาจละสายตา ลองคิดว่ากระเป๋ารถเมล์ไทยพร้อมใจกันใช้ลายแบบนี้ คงเป็นที่พูดถึงกันไม่ขาดปาก
อีกหนึ่งสิ่งในงานมาควบคู่นิทรรศการส่วนสุดท้ายคือกิจกรรมเวิร์กช็อป สงวนสิทธิ์ให้ผู้ที่ลงทะเบียน อาจเพราะต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ แต่ยังดีได้ยืนมองเหล่าคนยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นลองสร้างสรรค์ผลงาน ผ่านการนำศิลปะไทยมาประยุกต์ใหม่เป็นของใช้น่ารัก ทั้งประดิษฐ์สร้อยข้อมือจากลายประจำยาม ภาพวาดลงสีกระถางด้วยลวดลายตกแต่งพระปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม หรือจะเป็นการปักพรมบนกระเป๋าผ้าเป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ ชิ้นงานยังให้นำกลับบ้านเป็นที่ระลึก
“ชอบมาก เพราะแต่ก่อนเราจะมองว่าศิลปะไทยต้องอยู่แต่บนผนังวัด แต่พอเอามาทำให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น เรารู้สึกสนุกเพราะศิลปะไม่ควรมีกรอบว่าจะต้องอยู่ตรงไหน มันควรอยู่ได้ทุกที่”
ความคิดเห็นของ กริษฐา นาคะรังสุ ผู้เข้าร่วมงาน
“ก่อนหน้านี้หนูไม่เคยศึกษาเรื่องศิลปะไทยมาก่อนเพราะรู้สึกว่ามันยากและรายละเอียดเยอะ แต่พอมากิจกรรมนี้ เขาให้ทำในแบบของเราให้ดีที่สุดและรู้สึกสนุกไปกับมัน”
ณัฐธิดา สมัครอภิรักษ์ สะท้อนบรรยากาศงานที่ได้สัมผัส สอดรับกับ อสมา จุนพึ่งพระเกียรติ์
“รู้สึกว่านิทรรศการนี้มีประโยชน์มากที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้มาทดลองทำ เพราะบางที่คนแค่เข้าไปเดินวนๆ ดูป้ายแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่ที่นี่ให้คนได้มีส่วนร่วมลองทำ เพื่อนเราเรียนสายวิทย์ เป็นหมอมาทั้งชีวิต ไม่เคยทำงานศิลปะมาก่อน พอมาที่นี่เขาได้ลองทำโดยไม่จำเป็นต้องสวยก็ได้ แต่สิ่งที่เขาได้คือการเรียนรู้”
คำคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาเป็นสัญญาณที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ถ้านำวัฒนธรรมมาแปลงให้ง่ายและสบายต่อการเรียนรู้ การอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่จะไม่ขาดตอน
หากไม่ได้มาคงไม่มีโอกาสได้รู้ว่าศิลปะไทยไม่ยากเกินลอง
หมายเหตุ:
นิทรรศการแปลงไทย Tradi-Trendy
จัดแสดงวันที่ ๒๗ มิถุนายน – ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. (ปิดวันอาทิตย์)
สถานที่ Art4C, Gallery and Creative Learning Space (ใกล้ MRT สามย่าน ติดกับสามย่านมิตรทาวน์)
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม และไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านศิลปะมาก่อน