เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช และหนังสือศิลปะ “วาร์ป ป็อบ”

ไทยยุค 70s กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง

หลังซีรีส์เรื่องดังปลุกประเด็นตอบปัญหาทางเพศโดยดัดแปลงจากคอลัมน์ “เสพสมบ่มิสม” ที่เคยได้ความนิยมสูงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยุคนั้น นอกจากดูเอาสนุกยังได้เสพฉากสังคมไทยทั้งสถาปัตยกรรม การตกแต่งที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ แฟชั่น ฯลฯ ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐ (พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๒๒)

พลอยนึกถึงหนังสือศิลปะ “วาร์ป ป็อบ” (WARP POP) เคยรับจาก ตะวัน วัตุยา ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร ปี ๒๕๖๖ สาขาทัศนศิลป์ หลังได้ชมนิทรรศการ “๑๙๗๓” ชื่อเดียวกับปีเกิดของเขาที่เซ็นทรัล : ดิ ออริจินัล สโตร์ เมื่อปี ๒๕๖๔ ครั้นจัดงานในพื้นที่เคยเป็น “ห้างเซ็นทรัล” ซึ่งศิลปินผูกพันในวัยเด็กจึงเขียนรูป-เล่าสังคมให้ผู้ชมเสมือนได้วาร์ปไปเดินเล่นตามแผนกต่างๆ เสพกลิ่น 70s อีกครั้ง

น้อยนักที่ใครเห็นแล้วจะไม่รัก-ระลึกนึกยิ้ม

Warp Pop วาร์ปสู่ห้างสรรพศิลป์ค้าในจินตนากาล 70s

:: ปกิณกะในแผนกหนังสือ ::

เวลานั้นในกรุงเทพฯ เริ่มมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

หนึ่งในนั้นคือห้าง “เซ็นทรัล” หน้าตรอกกัปตันบุชย่านสี่พระยา (ปัจจุบันคือ เซ็นทรัล : ดิ ออริจินัล สโตร์) จำหน่ายสินค้าทันสมัยจำพวกหนังสือ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องสำอาง หลายห้างเริ่มคัดร้านที่ขายสินค้ากลุ่มเดียวกันมาอยู่ร่วมเป็น “แผนก” เซ็นทรัลจึงขยายกิจการเป็นห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบที่ย่านวังบูรพา ก่อนเพิ่มสาขาย่านราชประสงค์ แล้วปี ๒๕๑๑ ก็เปิดสาขาสีลม…นั่นล่ะ จุดเริ่มเรื่องราวนิทรรศการ

“พ่อกับแม่ของผมเคยเป็นพนักงานที่ห้างเซ็นทรัลสาขาสีลม พ่ออยู่แผนกขายหนังสือผมจึงชอบอ่านหนังสือ หลังเลิกเรียนแม่จะรับจากโรงเรียนมาวิ่งเล่นที่ห้างรอเลิกงาน พอจะจัดนิทรรศการที่เซ็นทรัล : ดิ ออริจินัล สโตร์ ผมก็มาดูแกลเลอรี ที่นี่เคยเป็นห้างเซ็นทรัลแห่งแรก ตอนนั้นเขาจัดนิทรรศการเล่าอดีตของห้างตัวเอง นำของสะสมที่เคยใช้ในห้างมาแสดง ผมได้เห็นโลโกเซ็นทรัลในอดีต เห็นข้าวของ มันก็เกิดความรู้สึกนอสตาเจีย เป็นแรงบันดาลใจให้กลับบ้านมาคิดต่อว่าเราก็น่าจะทำเรื่องที่มันเกี่ยวกับตัวเองบ้าง”

warppop02

ที่ผ่านมางานศิลปะแต่ละชุดแม้เป็นประเด็นที่ตะวันสนใจ อย่างผู้คน สังคม ข่าว การเมือง แต่ก็ไม่ใช่การดึงชีวิตส่วนตัวออกมาเล่า ครั้งนี้คงถึงเวลา และเขาเลือกฉายภาพวัยเด็ก

“ผมออกแบบให้เป็นการรวมสิ่งต่างๆ ที่ห้างมีขาย ทั้งแมกกาซีน แผ่นเสียง ของเล่น เกม ถ่ายทอดความหลงใหลของผู้คนช่วงยุค 70s อย่างการ์ตูนญี่ปุ่น หรือวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ผมทันได้เห็นตอนเป็นเด็ก”

ถึงเวลาที่สังคมอดีตจะได้สื่อสารผ่านรูปวาดอะคริลิกสีสดบนแคนวาส สนุกตรงเป็นการระบายสิ่งใกล้ตัวตามวิถีคนเมืองที่ทันร่วมประสบการณ์ การเดินชมรูป แบบไม่สนลำดับตามที่คิวเรเตอร์จัดแขวนเรียงรายบนผนังก็สนุก ให้บรรยากาศเหมือนเดินเล่นในห้างแบบไม่มีแผนในใจ อยากดูอะไรก่อนก็ไปแผนกนั้น แล้วอาจวนจนทั่วห้างไม่รู้กี่ครั้งเพื่อวกกลับมาดูของที่สนใจเป็นพิเศษ…การเล่าเรื่องถัดจากนี้ก็มีลักษณะนั้น

ที่แผงหนังสือชวนสะดุดตา “นิตยสาร โลกดารา” ปิยะมาศ โมนยะกุล นางเอกจากภาพยนตร์เรื่อง “ขัง ๘” ขึ้นปกเคียงสรพงศ์ ชาตรี พระเอกที่มีชื่อเสียงช่วงต้นยุค 70s และตอนหนังเรื่องนี้เข้าฉายปี ๒๕๑๗ ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยม (เคยอยู่แยกยมราช ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว) ก็กวาดรายได้ไปถึง ๓ ล้านบาท

เจ้าของงานแนวป็อบคัลเจอร์นำนิตยสาร โลกดารา กับ “โดราเอมอนและโนบิตะ” ของปกนิตยสารข่าวบันเทิงอื่นในปี ๒๕๑๖ มาผสมแล้วให้ชื่อผลงานว่า TOUCH ME IN THE MORNING

แง่สะท้อนสังคม นิตยสารคือการผสานเสน่ห์สิ่งพิมพ์กับความก้าวไกลของการเล่าเรื่องยุคที่มีเทคโนโลยีให้สร้างสาระแบบไม่เหมือนสื่อประเภทอื่น และการเติบโตของนิตยสารบันเทิงไทยที่นำเสนอข่าวแวดวงจอเงิน (ภาพยนตร์) และจอแก้ว (โทรทัศน์) แนะนำ-บทสัมภาษณ์ดารา นิยาย เรื่องย่อละคร วิจารณ์ภาพยนตร์ ฯลฯ ยังฉายรสนิยมผู้คนในสังคมหลากวัย-อาชีพที่มักมีดาราเป็นแบบอย่างแฟชั่นแห่งยุค

warppop03 4

“แล้วผมก็ไม่อยากแค่วาดตามให้เหมือน มันซื่อเกิน จึงใส่ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นขาวดำที่ผมชอบเข้าไปคอลลาจกับรูปสี ผมนึกถึงช่วงเวลาที่นั่งดูการ์ตูนจากทีวีขาวดำยุคนั้น งานเพนติงชุดนี้จึงไม่ใช่แค่เทคนิคคอลลาจแต่คือการปะติดปะต่อเหตุการณ์สำคัญในอดีตกับความทรงจำจากตัวตนของผม”

เช่นเดียวกับที่อยู่บนรูป SUPERSTITION” ตะวันพา “หน้ากากเสือ” นักมวยปล้ำผู้สวมหน้ากากปกปิดตัวตนและครองใจเด็กชายทุกยุคสมัยที่วาดแบบรูปสีมาพบกับ “คินนิคุแมน” ยอดมนุษย์ที่วาดแบบขาวดำ ปรากฏบนปก “นิตยสาร Chick” ที่เคยตีพิมพ์การ์ตูนชุดนี้ในช่วงปลายยุค 60s ถึงต้นยุค 70s

warppop05

:: หนังละครสะท้อนสังคม ::

แม้ยุค 70s เป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน

เป็นยุคทองของหนัง-ละครให้ได้แสดงฐานะกระจกสะท้อนปัญหาโดยเฉพาะเหตุการณ์ทั้งหลายแหล่เดือน “ตุลา” แม้บางเรื่องจะเน้นความบันเทิงก็มักแฝงบันดาลใจให้ผู้คนวิพากษ์สังคม แต่คนไทยไม่ได้เสพแต่ดรามาไทย ศิลปะบนผนังของตะวันปรากฏโปสเตอร์ที่สะท้อนการเปิดรับรสบันเทิงหลากหลาย

“ผมนึกถึงสมัยตัวเองเป็นเด็กว่าโตมากับการที่พอถึงวันหยุดพ่อกับแม่จะพาไปดูหนังแถววงเวียนใหญ่ซึ่งยังเป็นแบบสแตนด์อะโลน เลยอยากเอาบรรยากาศของโรงหนังชั้นสองยุค 70s มาผสม เสน่ห์ของโรงหนังชั้นสองมันให้อารมณ์แบบเดียวกับ VDO art นั่นล่ะ คือจะดูเมื่อไรก็ได้ไม่ต้องรอให้มันจบ เริ่มกลางเรื่องก็ไม่เป็นไร นั่งดูไปก่อน เดี๋ยวก็วนกลับมาถึงตอนต้นเรื่องที่ดูค้างไว้ อย่างไรก็ได้ดูเต็มเรื่อง บางทีพ่อก็พาออกมากินข้าวก่อนแล้วกลับเข้าไปดูอีกเรื่อง ซึ่งเป็นคนละแนวกับเรื่องก่อน เช่นเดียวกับหนังบางเรื่องที่เราเคยดูแต่ไม่ได้ดูนานแล้วมันก็จะมีความทรงจำแบบปะติดปะต่อ เลยเป็นไอเดียของนิทรรศการนี้ที่นำสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกันมาปะติดปะต่อผสมบนรูปเดียวกัน หรือจัดแสดงในชุดเดียวกัน”

อย่างปกนิตยสาร โลกดารา เป็นดาราจากภาพยนตร์ไทยจ๋าอยู่ดีๆ พอมาถึงเนื้อหาภาพยนต์ตะวันกลับเลือกเล่นกับรูป ENTER THE DRAGON” เป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์แปลไทยว่า “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง มังกรประจัญบาน” นำแอ็กชันโดย “บรูซ ลี” ดาราฮ่องกงผู้โด่งดังในฮอลลีวูด เก่งศิลปะต่อสู้ทั้งกังฟู คาราเต้ และจีทคุนโด้ ในไทยยุค 70s “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” ดังมากเพราะเป็นหนังฟอร์มใหญ่เรื่องแรกของบรูซ ลี ซึ่งถ่ายทำในไทยตลอดเรื่องตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ จนเป็นขวัญใจคนไทยก่อนเสียชีวิตในปี ๒๕๑๖ ตรงกับปีเกิดของตะวัน-เป็นเหตุผลของการปรากฏตนบนโปสเตอร์หนังในนิทรรศการ ๑๙๗๓

warppop06

“ถึงเขาจะจากไปในปีที่ผมเพิ่งเกิดแต่ผลงานยังได้รับการเผยแพร่ ในยุคของผมภาพยนตร์มันมีผลกับผู้คนมาก ผมเลยเลือกวาดจากโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาแสดงก่อนเสียชีวิต”

จิตรกรยังชวนให้คอหนังยุค 70s ขนลุกนิดๆ เมื่อเดินไปเห็นรอยพับกลางรูป WESTWORLD” หนัง sci-fi ที่พาผู้ชมเปิดแนวคิดเกี่ยวกับไวรัสคอมพิวเตอร์ที่คนยุคนั้นยังไม่ค่อยรู้จัก เป็นหนังที่เริ่มบุกเบิกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งถือเป็นความรู้เชิงจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำมากต่อคนไทย

warppop07

ยังมีโปสเตอร์ละครญี่ปุ่นขวัญใจเด็กน้อยเรื่อง KARMEN RIDER V3” ที่ศิลปินตั้งชื่อรูปตามชื่อละคร ช่างเหมือนใครเอาโปสเตอร์ที่อาจฉีกจากหน้าโฆษณาในนิตยสารหรือรับแจกช่วงมีการโปรโมท แล้วผ่านการพับหลายทบ ซึ่งสะสมไว้หลายสิบปีจนปรากฏรอยแยกสีบนเนื้อกระดาษ มาแปะบนผนังอีกครั้ง

“ในแง่เพนติงงานชุดนี้เป็นเทคนิคที่ผมไม่เคยทำมาก่อน หลายรูปมีลักษณะคล้ายรอยพับ พวกนี้คือการวาดเลียนแบบร่องรอย ต่างกับงานคอลลาจทั่วไปที่นำภาพต้นฉบับกับการเพนติงไปจัดองค์ประกอบให้เรียบร้อยด้วยโฟโต้ช้อปค่อยเอามาเพนท์ไปตามสเกตช์ หรืออาจปรินท์ inkjet มาเพนท์ทับ แต่ถ้าทำแบบนั้นงานจะแห้งแล้ง ผมจึงเลือกวิธีวาดแบบด้นสด ไม่มีสเก็ตช์ เอาต้นแบบมาดูฟอร์มของมันแล้ววาดใหม่ด้วยลายมือเราให้สุดฝีมือ ตัวหนังสือก็เขียนให้เหมือนต้นฉบับที่สุด มันเป็นวิธีที่จะทำให้ได้งานที่สด-มีชีวิตชีวา”

warppop08

:: นัดพบในร้านแผ่นเสียง::

หลายอย่างที่มีในกรุงเทพฯ ยุคนั้นยังไม่ทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก

หนังบางเรื่องผ่านไปหลายปีกว่าคนไทยจะได้ดู เช่นเดียวกับเพลงฝรั่งกว่าจะได้ฟังก็ดีเลย์เป็นปี

ตะวันเลือกเล่าผ่านวง “เดอะบีเทิลส์” (The Beatles) ในรูป I WANT TO HOLD YOUR HAND” และ REVOLUTION” ใช้ปกอัลบั้มรวมเพลงฮิตตั้งแต่ปี ๒๕๐๕-๒๕๐๙ (ปกสีแดง) และปี ๒๕๑๐-๒๕๑๓ (ปกสีฟ้า) ซึ่งปกสีฟ้าติดอันดับ ๑ บนชาร์ทบิลบอร์ดหมวดอัลบั้มของอเมริกาในยุค 70s (ปี ๒๕๑๖)

warppop09

“เขาเป็นร็อกแอนด์โรลที่ทรงพลังสุดในช่วงเวลานั้น มีอิทธิพลต่อดนตรีร็อกมาก ดนตรีสมัยใหม่ในปัจจุบันก็อาจเกิดจากไลน์ที่เดอะบีเทิลส์สร้างไว้ เป็นวงที่มีอะไรให้ผู้คนค้นหาตลอด อัลบั้มพวกเขาเป็นหนึ่งในแผ่นเสียงที่ผมชอบเปิดฟังขณะเพนท์รูป ผมชอบเสียงบางอย่างที่มันไม่เหมือนเวลาฟังซีดีหรือสตรีมมิ่ง เป็นรสสัมผัสที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ฟังจบหน้าหนึ่งก็วาดเสร็จรูปหนึ่งพอดี”

ความรักที่ปรากฏในรูปของการฟังเพลงไม่เพียงแปรเป็นอาหารเลี้ยงชีวิต บ่อยครั้งสุนทรียภาพในอดีตยังช่วยลบความหยาบกระด้างออกจากงานของศิลปินที่ถนัดสะท้อนสังคมด้านมืด กล่อมเกลาเส้นสายที่หยาบให้เรียบขึ้น เติมความรู้สึกที่ขาดไป ซึ่งมันจำเป็นต่อชุดงานที่ต้องการบรรยากาศวันวาน

“คนเราใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งบันเทิงเหล่านี้เยอะกว่าเรื่องงาน ทำให้เวลาพูดถึงอะไรที่เป็นนอสตาเจียเราจะนึกถึงความทรงจำที่มีสีสันเหล่านั้นมากกว่าข่าวสถานการณ์สังคมที่มันซีเรียส เพราะคนที่ไม่ได้สูญเสียโดยตรงเขาก็คงไม่อิน แต่สิ่งบันเทิงต่างๆ มันเป็นประสบการณ์ที่ส่งผลกับชีวิตของทุกคน อย่างได้ยินเพลงบางเพลงก็คิดถึงแฟนเก่า แล้วไม่ใช่แค่ดูหนังฟังเพลงหรอก มันรวมไปถึงการซื้อของเล่นของใช้ต่างๆ ด้วย”

warppop10

:: แผนกของเล่น ::

ในห้าง-แผนกที่มากมายไปด้วยตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่

ไม่เพียงปนเปสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับข่าวสารบ้านเมือง ยังโยงเหตุการณ์โลกมาแตะประวัติศาสตร์ไทยนิดๆ เช่นถ้าไปตรงสินค้านำเข้าจะเห็นรูป KUNG FU FIGHTING” เป็น “ยอดมนุษย์อุลตร้าแมนทาโร” กับ “ไดโนเสาร์” ที่โด่งดังจากทีวีซีรีส์ชุดที่ ๖ ฉายในญี่ปุ่นปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ ก่อนเป็นโมเดลที่เด็กชายเอเชียต่างหลงใหล แต่แทนที่จะมีแค่นั้น ตะวันก็นำฉากโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือมาผสมผสาน

warppop11

ยังมีรูป LIVE AND LET DIE” ปืนโซเวียตของเล่นสีชมพูจากปี ๒๕๑๖ ไขว้กับมือปืนของซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายหนัง DC กับรูป STIR IT UP” ปืนโซเวียตของเล่นสีน้ำเงินไขว้กับปืนตำรวจในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรืออย่างรูป LITTLE GREEN BAG” ตะวันก็หยิบ “ตัวต่อเลโก้ชุดสงครามเวียดนาม” มาอยู่ร่วมกับ “แขนของฮัลค์” ยอดมนุษย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการทดลองจนถูกรังสีแกมมาส่งให้ร่างกายเป็นมนุษย์ตัวสีเขียวจอมพลังที่ดังมาตั้งแต่ยุค 60s ใครพอมีพื้นข่าวเรื่องสงครามเวียดนามคงมีภาพจำเกี่ยวกับสารเคมีนั้น ซึ่งปี ๒๕๑๖ คือปีที่อเมริกาถอนทหารทั้งหมดออกจากเวียดนามอย่างเป็นทางการ

แล้วก็ปีเดียวกันอีกนั่นล่ะที่อเมริกาปล่อยข่าวใหญ่อวดชาวโลก บนรูป THE GREAT GIG IN THE SKY” จิตรกรจับฉาก “สถานีอวกาศสกายแล็บ” สถานีอวกาศแห่งแรกของอเมริกาที่องค์การนาซ่าส่งขึ้นอวกาศโดยมีนักบินประจำการสามชุดผลัดเปลี่ยนกันปฏิบัติหน้าที่ในปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ มาอยู่กับ “เจ้าหนูปรมาณู” ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่ตั้งต้นจากหนังสือการ์ตูนก่อนเป็นแอนิเมะฉายทางโทรทัศน์และได้รับความนิยมสูงจนได้ฉายในอเมริกาถึง ๒ ครั้ง โดยมีท่อโลหะ “Tubular Bells” ร่วมฉากกับ “เครื่องบินคองคอร์ด”

warppop12

“บางคนอาจคิดว่ามันแทรกเรื่องอ่อนไหวแต่ความจริงมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้สุ่มเสี่ยงต่อการเซ็นเซอร์เพราะผมตั้งใจให้มันเป็น boy dream จึงไม่ได้เล่าความรุนแรงแบบตรงๆ ใช้วิธีเล่าผ่านการ์ตูน ซูเปอร์ฮีโร่ ของเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครก็เล่นกัน หรือแม้แต่รูปผู้หญิงโป๊มันก็สมเหตุสมผลต่อการผสมผสานได้”

warppop13

ถึงจะอธิบายเช่นนั้น แต่สำหรับเราหรือใครที่ติดตามผลงานแบบเสียดสีสังคม-การเมืองของตะวันมาย่อมเหลือพื้นที่ในใจไว้เชื่อตนเอง ว่าทุกอย่างผ่านการซ่อนมาอย่างรอบคอบแล้ว ศิลปินไม่ได้เพียงเขียนรูปคน สัตว์ ทิวทัศน์ เขาอ่านประวัติศาสตร์ด้วยแล้วแปลงอารมณ์รุนแรงมาถ่ายทอดในทางที่มีประโยชน์

นั่นทำให้หลากรูป-สินค้าหลายอย่างเหมือนมีเสียงออกจากผนังด้วย

อยากเล่ามากกว่านี้ แต่ ตึ่ง ตึง ตึ๊ง

เสียงตามสายแจ้งแก่ลูกค้าว่า “ห้างสรรพศิลป์ค้าในจินตนากาล 70s” จวนปิดให้บริการ

พ่อกับแม่ของตะวันใกล้เลิกงานเตรียมพาเด็กชายกลับบ้าน และส่งเราวาร์ปสู่ยุคปัจจุบัน

.

ความจริงต่อให้ไทยยุค 70s ไม่ได้กลับมาอยู่ในกระแส ก็ยังอยากย้อนถึงงานชิ้นนี้

เพราะศิลปะ-ห้างสรรพสินค้าก็ดั่งกระจกสะท้อนบ้านเมืองที่ส่งอิทธิพลถึงยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ไม่มีวันหมดอายุ เล่าเมื่อไรก็ยังอบอุ่นกับความทรงจำร่วมกันได้ นั่นทำให้ตลอดปี ๒๕๖๕ นิทรรศการ ๑๙๗๓ ที่มีจุดเริ่มจากกรุงเทพฯ ได้เดินทางสู่โตเกียว-ญี่ปุ่น, ไทเป-ไต้หวัน, กัวลาลัมเปอร์-มาเลเซีย และนิวยอร์ก-สหรัฐอเมริกา โดยวาดรูปใหม่ตามรอยทรงจำแต่ละชนชาติ จวบปี ๒๕๖๖ จึงปรากฏหนังสือ “วาร์ป ป็อบ” (WARP POP) รวมทุกการจัดแสดงมาอยู่ในนี้ ประหนึ่งเป็นบันทึกวัฒนธรรมป็อบนานาชาติ

warppop14

ความขี้เล่นแบบใจถึงส่งให้หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาหลายปกปั่นป่วนหัวใจนักสะสมที่ถ้าเลือกไม่ได้การเหมาอาจเป็นเรื่องง่ายกว่า เจ้าของผลงานในวัยต้น ๕๐ เสริมคุณค่าที่คนรักการสะสมยิ่งว้าว

“ผมตั้งใจให้ออกมาเป็นมู้ดหนังสือการ์ตูน เพราะคิดว่ามันเริ่มต้นจากความทรงจำวัยเด็กซึ่งเด็กทุกคนก็คงชอบอ่านหนังสือการ์ตูน ทางสำนักพิมพ์ช่วยเสนอว่าน่าจะทำอาร์ตเวิร์กด้วยวิธีโบราณแบบที่ยังทำมือด้วยจะได้เหมือนสมัยยุค 70s ที่ยังไม่มีนวัตกรรมอะไรนัก กระทั่งกระดาษก็ใช้แบบหนังสือการ์ตูนยุคนั้น แต่พิมพ์ด้วยระบบอ็อบเซ็ตสมัยใหม่ รวมรูปทั้งหมดที่มีน่าจะกว่า ๕๐ ชิ้น”

ในจำนวนนั้นมีทั้งหน้าที่สามารถฉีกตามรอยปรุ (ถ้ากล้าพอ) ให้เอาไปใส่กรอบ และหน้าพับหลายทบที่กางออกมาเป็นโปสเตอร์ขนาดเบิ้ม! เหมือนที่นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ยุคก่อนนิยม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เพจเฟซบุ๊ก TAWAN Wattuya 2009-2019 Book

warppop15