เรื่อง: นพรุจ สงวนจังวงศ์ และ พรภิชา ขาวนวล
ภาพ: นพรุจ สงวนจังวงศ์ และ นิตยสาร สารคดี

ฤดูจบการศึกษาใกล้เข้ามา ถึงเวลาค้นหาชีวิตใหม่ไปกับการ “ฝึกงาน”

แนะนำตัวเองหน่อย 

proofreader01

เจ็ท : สวัสดีครับ ชื่อ นพรุจ สงวนจังวงศ์ ชื่อเล่น เจ็ท เรียนอยู่ชั้นปีที่ ๔ สาขาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝึกงาน ๒ เดือน ตำแหน่งนักเขียนครับ

proofreader02

แตงกวา : สวัสดีค่ะ พรภิชา ขาวนวล แตงกวาค่ะ ตอนนี้เป็นนักศึกษาปีที่ ๔ สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาฝึกงาน ๑ เดือนครึ่ง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรค่ะ

รู้จัก สารคดี ได้อย่างไร แล้วทำไมตัดสินใจมาฝึกที่นี่?

เจ็ท : ไม่เคยรู้จัก สารคดี มาก่อนเลยครับ แต่เป็นคนชอบสื่อสารผ่านตัวอักษร จึงอยากลองงานสายนักเขียน ประกอบกับเรียนด้านการจัดการวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ งานที่ทำเลยอยากให้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

ปี ๒๕๖๕ ตอนนั้นอยู่ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เดินผ่านบูธของสำนักพิมพ์สารคดี-เมืองโบราณ ไปสะดุดตากับหน้าปกนิตยสารชื่อ สารคดี ภาพและสีสันแต่ละเล่มสวยมากเลยหยิบมาเปิดดู พออ่านแล้วสนุกมาก เป็นนิตยสารที่ให้ความรู้คู่บันเทิง เนื้อหามีหลากหลายในแต่ละเล่ม ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รู้สึกสนใจที่นี่มาก พอถึงช่วงที่หลักสูตรให้หาที่ฝึกงานเลยยื่นเอกสารขอมาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ในตำแหน่งนักเขียน

proofreader03

แตงกวา : จริงๆ รู้จัก สารคดี มาตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นประถมเลยค่ะ เป็นนิตยสารที่เห็นอยู่บนชั้นหนังสือที่โรงเรียน แล้วก็ยังคงเห็นตามร้านหนังสือมาเรื่อยๆ ได้เปิดอ่านบ้างเป็นครั้งคราว แต่ทุกครั้งที่เปิดอ่านก็รู้สึกว่าน่าสนใจทุกครั้ง ตัดสินใจมาฝึกที่นี่เพราะว่าชอบเนื้อหาที่หลากหลายและน่าสนใจของ สารคดี ยิ่งเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรที่จะได้อ่านบทความในนิตยสารด้วยแล้วก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากเลยค่ะ

ก่อนมามีแอบคิดไว้บ้างมั้ย ว่าฝึกงานที่นี่จะเป็นแบบไหน?

เจ็ท : แอบทำใจไว้บ้างว่าคงไม่มีอะไรให้ทำมากเท่าไร ด้วยเวลาฝึกงานมีแค่ ๒ เดือนถือว่าน้อย แถมงานเขียนสารคดีดูต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง นักศึกษาฝึกงานคงไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมากขนาดนั้น

แตงกวา : ตอนแรกคิดว่าน่าจะมีงานมาให้ทำตลอดเพราะเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรมีแค่คนเดียวแล้วนิตยสารหนึ่งเล่มก็มีตั้ง ๑๐๐ กว่าหน้า น่าจะมีงานเยอะ

แล้วพอฝึกจริงเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนที่คิดไว้หรือป่าว

เจ็ท : ผิดคาดครับ งานแรกที่ได้ทำคือการเขียนลงในคอลัมน์ “hidden (in) museum” ของนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๖ ที่กำลังจะตีพิมพ์ เป็นอะไรที่พิเศษและเหนือความคาดหมายมากกับการที่นักศึกษาคนหนึ่งจะได้มีชื่อเป็นนักเขียนจริงๆ ในนิตยสาร

proofreader07

นอกเหนือจากงานนี้ก็ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์ www.sarakadee.com งานที่ว่ามักจะมาในรูปของหมายข่าว จะมีเข้ามาเรื่อยๆ มากน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา ผู้จัดงานต่างๆ จะส่งเข้ามา เชิญไปเยี่ยมชมและให้เราช่วยเขียนประชาสัมพันธ์ให้ หมายข่าวแรกที่เลือกไป คือ “นิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ได้กลับมาเขียนเป็นงาน “ล่องธารพุทธศิลป์”

proofreader08

ด้วยเวลาฝึกงานอันน้อยนิดแค่ ๒ เดือน ทำให้ต้องถือคติ “ไม่เลือกงาน ไม่ว่างงาน” (ฮ่าๆ) มีอะไรเข้ามาก็พร้อมทำ ข้อดีคือได้เจองานที่สนุกหลากหลาย ทั้งไปเข้าค่าย ร่วมงานเสวนา เดินดูนิทรรศการ หรือแม้แต่ไปชมละครเวที แทบทุกที่ได้กลับมาเขียนเป็นบทความลงใน เว็บไซต์ มีพี่นักเขียนคอยช่วยดูแลแนะนำวิธีการเขียนอยู่ตลอด แต่เขาจะพยายามให้เราคงสำนวนภาษาที่คิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของเราไว้ อันนี้ดีมากๆ

แตงกวา : สนุกมากค่ะ ได้เรียนรู้แล้วก็ลองทำอะไรใหม่ๆ เยอะเลย ทั้งการพิสูจน์อักษรของบทความนิตยสารและบทความออนไลน์ การออกไปเก็บข้อมูลนอกสถานที่จากงานนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ และการเขียนบทความออนไลน์ค่ะ

proofreader10

การฝึกงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรที่ตอนแรกคิดว่างานเยอะ แต่จริงๆ แล้วจะมีช่วงระยะเวลาที่งานเยอะอยู่เพราะว่าจะต้องรอนักเขียนเขียนให้เสร็จแล้วถึงจะเป็นหน้าที่ของพิสูจน์อักษร จากนั้นก็ตรวจสอบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปิดเล่ม แล้วก็จะเป็นช่วงที่รองานของเล่มถัดไป วนไปเรื่อย ๆ ส่วนการทำงานค่อนข้างตรงกับที่คิดไว้ในตอนแรก อ่านบทความ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และแก้ไขคำผิด หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วต้องใช้ความรอบคอบและใส่ใจมากๆ การแก้ไขก็ต้องทำให้ตรงกับหลักการที่ สารคดี ใช้ แต่ก็ถือเป็นความท้าทายและความสนุกอย่างหนึ่งของตำแหน่งนี้ค่ะ ถึงแม้ว่าจะมาฝึกตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรแต่ก็ได้ลองเขียนบทความออนไลน์ของตัวเองด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเลยค่ะ

proofreader25

แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากที่คิดไว้มากๆ คือการเข้าออฟฟิศค่ะ เพราะว่าที่ สารคดี สามารถทำงานแบบ work from home ได้ ทำให้บางครั้งที่ออฟฟิศจะเงียบเหงา “มากเป็นพิเศษ” ค่ะ (ฮ่าฮ่า)

proofreader11

ตอนฝึกงานเจอปัญหาอะไรไหม แล้วผ่านมาได้อย่างไร?

เจ็ท : ช่วงแรกรู้สึกกดดันพอสมควร ส่งงานเขียนชิ้นแรกแล้วยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะลงเผยแพร่ได้ จำเป็นต้องเอากลับมาแก้ไข กังวลมากว่า ๒ เดือนจะอยู่รอดไหม (แหะๆ) แต่ด้วยความที่งานนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธรูป ซึ่งเราชอบและสนใจเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วบวกกับคำแนะนำของพี่นักเขียนที่คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง ทำให้มีแรงสู้ใหม่กลับไปแก้ไขจนผ่านในการส่งครั้งที่สองพร้อมเผยแพร่ เลยมีกำลังใจมากขึ้น

จุดนี้จึงขอแนะนำว่างานเขียนชิ้นแรกมีความสำคัญ พยายามหาหรือเลือกไปงานที่ชอบและสนใจที่สุด เมื่อต้องแก้ไขจะทำให้มีกำลังใจไม่ย่อท้อ และพอทำได้มันจะรู้สึกดีสุดๆ อยากเขียนชิ้นต่อไป

แตงกวา : เพราะว่าไม่ได้เรียนเกี่ยวกับหลักการพิสูจน์อักษรมาก่อนทำให้มีปัญหาตั้งแต่วันแรกในการฝึกงานเลย ก่อนมาฝึกงานก็ค่อนข้างกังวลว่าจะทำได้ไหม แต่พี่เลี้ยงก็ใจดีมากช่วยสอนพื้นฐาน เช่น สัญลักษณ์และหลักการต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิสูจน์อักษรให้ ถึงแม้หลังจากนั้นจะยังคงมีคำถามคอยถามพี่เลี้ยงอยู่เสมอ แต่พี่เลี้ยงก็อธิบายให้ฟังอย่างใจดี ส่วนใหญ่ปัญหาที่มักเจอในการพิสูจน์อักษร คือ การใช้ตัวเลขหรือตัวอักษร และคำทับศัพท์ ดังนั้นจึงต้องพยายามความเข้าใจหลักการพิสูจน์อักษรตามที่ สารคดี ใช้ นอกจากนี้การอ่านนิตยสารฉบับเก่าๆ ควบคู่ไปด้วยก็ช่วยทำให้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

proofreader12

ปัญหาเรื่องการพิสูจน์อักษรไม่เท่าไร ปัญหาเรื่องการเขียนบทความออนไลน์หนักใจกว่า (ฮ่าฮ่า) เพราะว่าไม่เคยเขียนมาก่อน ตอนเขียนก็เลยรู้สึกกดดันแล้วก็กังวลมาก เครียดอยู่หลายวันว่าจะเขียนอย่างไรดี เขียนไปเครียดไป เพราะกลัวจะเขียนออกมาได้ไม่ดี แต่เพราะได้รับคำแนะนำ กำลังใจ และความช่วยเหลือจากพี่ๆ เพื่อนๆ จากทั้งที่ สารคดี และมหาวิทยาลัย สุดท้ายก็เลยได้บทความ “ตำราสมุนไพร ไม่ใช่ตำรับยา?!?” ออกมาชื่นชม

proofreader16

นอกจากปัญหาในการทำงานแล้วอีกปัญหาที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เพราะว่าที่ฝึกงานอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัย (ศูนย์รังสิต) เลยทำให้ไม่สะดวกที่จะต้องเดินทางจึงต้องเช่าหอพักใกล้ที่ฝึกงานแทน ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายจากการเช่าหอพักที่มหาวิทยาลัยและที่ฝึกงาน ดังนั้นสำหรับคนที่จะต้องฝึกงานไม่ว่าจะไปฝึกที่ไหนก็ตามต้องคำนึงถึงปัญหาในการทำงานและการดำรงชีวิตด้วย

สิ่งที่ประทับใจกับที่นี่ล่ะ?

เจ็ท :  ที่นี่เปิดรับความหลากหลายและให้อิสระในการเรียนรู้ ความตั้งใจแรกที่มาคือการฝึกเป็นนักเขียน แต่มีโอกาสได้ลองถ่ายภาพตอนที่ไปงานหมายข่าวชิ้นแรก ก็เริ่มติดใจและอยากลองทำงานสายนี้ดูบ้าง พี่นักเขียนเห็นดังนั้นก็ยินดีที่จะให้ฝึกการถ่ายภาพกับฝ่ายช่างภาพของนิตยสารควบคู่ไปกับเรียนรู้การเขียน ทำให้งานส่วนใหญ่ที่ได้ลงในเว็บไซต์ สารคดี ภาพประกอบมาจากฝีมือการถ่ายด้วยตนเอง จากคนที่ไร้พื้นฐานสู่การเป็นทั้งนักเขียนและช่างภาพฝึกหัด กลายเป็นได้เรียนถึงสองแม้จะสมัครมาแค่หนึ่ง

อีกอย่างที่ประทับใจมากคือนิตยสาร สารคดี ไม่เคยปิดกั้นความคิดเห็น พร้อมรับฟังทุกประเด็นจากเด็กฝึกงาน มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกองบรรณาธิการ เขาให้เสนอแนะแนวทางพัฒนานิตยสารให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่จริงๆ หรือหากไปค้นพบสิ่งน่าสนใจ ก็สามารถกลับมานำเสนอเพื่อเขียนงานของตนเองได้ ภูมิใจที่สุดคือผลงานชื่อ “แปลงไทย ให้ เป็นเทรนด์” เล่าเรื่องของนิทรรศการแห่งหนึ่งที่นำศิลปะไทยมาทำใหม่ให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น งานนี้ไม่มีหมายข่าวเข้ามาแต่ค้นหาเจอด้วยตนเอง พอไปแล้วรู้สึกชอบมาก พี่นักเขียนก็พร้อมให้ลองเขียน งานชิ้นนี้ใช้ทักษะทุกอย่างที่ฝึกมา ตั้งแต่การสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลด้วยตนเอง การถ่ายภาพที่ไม่ใช่แค่สวยงามแต่ต้องสื่อถึงเรื่องราว ที่สำคัญคือการเขียนที่ต้องให้ความรู้คู่บันเทิงกับผู้อ่านตามมาตรฐานของสารคดี

แตงกวา : มีหลายอย่างเลยค่ะ ความประทับใจแรกคือพี่ๆ ใน สารคดี ทุกคนใจดีและเป็นกันเองมาก คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจน้องๆ ตลอดการฝึกงาน เป็นที่ฝึกงานที่รู้สึกดีต่อใจมากค่ะ ต่อมาคือเรื่องการแต่งกาย ที่นี่อนุญาตให้ใส่ชุดไพรเวตมาทำงานได้ ไม่ได้บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาฝึกงานที่มีชุดนักศึกษาเพียง ๒ ชุดไปได้เยอะ

proofreader15

การไปนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกเรื่องที่ประทับใจ เพราะว่าปกติเป็นคนติดที่ ไม่ค่อยไปไหน แต่พอมา สารคดี ก็ได้ลองออกไปนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายที่ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ กลับมาเยอะมาก และอีกหนึ่งความประทับใจที่ถ้าไม่มาฝึกงานที่ สารคดี คงไม่ได้สัมผัสแน่ๆ คือการเขียนบทความเชิงสารคดี ส่วนตัวไม่เคยเขียนบทความเชิงสารคดีมาก่อนและก็คงไม่กล้าที่จะเขียนเพราะรู้สึกว่าตัวเองเขียนไม่เก่ง แต่พี่ๆ และเพื่อนๆ ก็คอยให้กำลังใจอยู่เสมอให้ลองเขียนบทความออนไลน์ดูสักครั้ง สุดท้ายก็มีบทความออนไลน์เป็นของตัวเองหนึ่งชิ้นซึ่งเป็นหนึ่งในประสบการณ์อันล้ำค่าที่ได้รับจาก สารคดี

proofreader17

สุดท้าย อยากบอกอะไรกับเด็กฝึกงานรุ่นต่อไป

เจ็ท : ช่วงเวลาที่ได้อยู่ที่นี่ ทั้งสนุกและมีประสบการณ์ที่หลากหลายมาก เจอมิตรภาพดีๆ จากนักศึกษาฝึกงานด้วยกัน พี่ๆ ชาวสารคดีก็เฮฮาใจดีทุกคน  เป็น ๒ เดือนที่คุ้มค่าและเหนือความคาดหมายมาก หากมีโอกาสอยากให้ลองเข้ามาเรียนรู้ ท้าทาย และค้นหาตัวเอง จะได้รู้ว่าฝึกงานที่ สารคดี มัน “ดี” อย่างไร

แตงกวา :  ระยะเวลา ๑ เดือนครึ่งผ่านไปเร็วมากๆ แต่ก็ได้รับอะไรดีๆ กลับมามากมายเช่นกัน ทั้งความรู้ ประสบการณ์ มิตรภาพ และความสนุก ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง แอบกระซิบว่า ถึงปรกติ สารคดี จะไม่ได้ประกาศรับนักศึกษาฝึกงาน แต่ก็สามารถลองยื่นขอฝึกงานมากันก่อนได้ คุณเองก็สามารถเป็นชาว สารคดี ได้นะ!

ฝึกงานผ่านพ้นแต่ละคนต่างแยกย้าย แต่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะพัดพาชีวิตไปในทิศทางใดต่อ คงต้องรอติดตาม

proofreader18