ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก (International Day of World’s Indigenous Peoples) เนื่องจากวันดังกล่าว UNWGIP (United Nations Working Group on Indigenous Peoples) จัดการประชุมที่ถือเป็นก้าวแรกของการศึกษาและพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
เจตนารมย์สำคัญของการประกาศวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าและสิ่งดีงามที่ชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้สร้างสรรค์ขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สื่อสารให้ประชาคมโลกรับรู้และยอมรับถึงการมีตัวตน รวมทั้งตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองกำลังประสบ นอกจากนี้ยังถือโอกาสให้ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ ความสมานฉันท์ อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมในหมู่ชนเผ่าพื้นเมือง
.
นอกจากวันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปีจะเป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกแล้วยังถือเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
จากประชากรโลกที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านคน ประเมินว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองประมาณร้อยละ ๕ หรือคิดเป็นจำนวน ๓๗๐ ล้านคน มีภาษาพูดมากกว่า ๗,๖๐๐ ภาษา อาศัยอยู่ใน ๙๐ ประเทศ
สำหรับประเทศไทย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยสำรวจและขึ้นทะเบียนรับรองสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองโดยแบ่งออกเป็น ๔๖ กลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดจำนวน ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ และมีประชากร ๖.๑ ล้านคน
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ผู้แทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยร่วม ๕๐ คนจากกว่าสี่สิบกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้โอกาสเนื่องในวาระวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกซึ่งตรงกับวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เดินทางมาขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา แสดงเจตจำนงค์ให้สภานำร่าง “พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….” กลับมาบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ พร้อมเร่งผลักดันและพิจารณาตามกระบวนของรัฐสภาต่อ
ก่อนหน้านี้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน ๑๒,๘๘๘ คน เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และได้รับการบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ แล้วแต่ไม่ได้มีการอภิปรายและมีเหตุให้ต้องหยุดไปภายหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ เพื่อเลือกตั้งใหม่ ผู้แทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้นำร่างกฎหมายกลับมาบรรจุในวาระการประชุมอีกครั้ง
สัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้มารับเรื่องจากผู้แทนสภาชนเผ่าพื้นเมือง
ในวันเดียวกัน พริษฐ์ วัชรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างกฎหมายหลายฉบับในนาม “ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ” ให้กับตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา หนึ่งในนั้นคือ ร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …”
ร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในสภาชุดที่ผ่านมามีทั้งหมด ๕ ร่าง ได้แก่ ๑) ส่วนของรัฐสภา โดยพรรคก้าวไกล ๒) ส่วนของกรรมาธิการ ๓) และ ๔) ส่วนของภาคประชาชน โดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มพีมูฟ และ ๕) ส่วนของรัฐบาล โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ทั้งหมดยังไม่ถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุมของสภา
ทุกๆ ร่างถึงแม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ล้วนเกิดจากเจตนารมย์ที่ต้องการรับรองสถานะชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมคนทั่วไป
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ปฏิญญาสหประชาชาติประกาศรับรองสถานะและตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองที่จะเข้ามามีบทบาทพัฒนาและการมีตัวตน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ รัฐบาลไทยร่วมลงนาม และรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๐ ได้เขียนระบุชัดเจนเรื่องการคุ้มครองและส่งเสริมชาติพันธุ์ในประเทศไทย
มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พรรคก้าวไกล ซึ่งเดินทางมาร่วมยื่นร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …” ระบุว่าพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญเรื่องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง การผลักดันกฎหมายถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก ในสภาชุดก่อนทางพรรคเคยนำเสนอร่าง พ.ร.บ. แต่ถูกตีว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทำให้ถูกปัดตก ไม่ได้รับการพิจารณา ทางพรรคพยายามนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมและยื่นร่างกฎหมายให้เกิดความต่อเนื่อง
ทุกวันนี้ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ กลุ่มชาติพันธุ์ถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากข้อจำกัดทางกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายในระดับปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งอคติที่ฝังอยู่ในความคิดของผู้คนในสังคมไทย
ตัวอย่างปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณถูกทำลาย การถูกขุดรื้อสุสาน เป็นคนไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น
ขอขอบคุณ
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
- IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
- คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
- คุณพนม ทะโน