เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : กัปตัน จิรธรรมานุวัตร์

“บาส”-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา อยู่ในอิริยาบถสบายๆ หน้าตาแจ่มใส ราวกับธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัวเขาได้มอบความรื่นรมย์ให้

“เราจะเลือกอะไร ระหว่างหายใจแล้วสบายใจ กับหายใจแล้วหวั่นวิตกหวาดกลัว”

จริงๆ แล้ว “บาส” พูดข้อความหลังอย่างง่ายๆ เป็นกันเองว่า “หายใจแล้วกลัวขี้หดตดหาย” ซึ่งทำให้หลายคนในวงสนทนาที่สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ในวันนั้นเข้าใจได้ชัดเจน

บาส”ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา อยู่ในอิริยาบถสบายๆ หน้าตาแจ่มใส ราวกับธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัวเขาได้มอบความรื่นรมย์ให้

สวนสาธารณะแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนละแวกนี้ ละแวกที่หาพื้นที่สีเขียวได้ยากแล้ว ยังเป็นสถานที่ยอดฮิตของนักดูนกด้วย…

“มันยากมากที่เราจะได้ยินเสียงน้ำหรือเสียงนก ผมจึงไม่แปลกใจที่คนเมืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกห่างเหินกับธรรมชาติ” บาสซึ่งเรียกตัวเองว่านักธรรมชาติวิทยา พูดคุยกับเรา

เขาเป็นเจ้าของโครงการ “Ari Ecowalk” โครงการหนึ่งในแพลตฟอร์ม Ari Around โครงการของบาสชวนคนมาเดินสำรวจธรรมชาติย่านซอยอารีย์ เพื่อให้ผู้คนมีพื้นที่มีช่วงเวลาสำหรับครุ่นคิดถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้อย่างลงตัว

poramin02
poramin03
poramin04

บาสเห็นว่า กระแสทุนนิยมทำให้มนุษย์ตัดขาดจากธรรมชาติ เพราะตั้งแต่ก้าวขาออกจากบ้าน ความเป็นเมืองก็ไม่ค่อยเอื้อให้คนอยู่ใกล้กับธรรมชาติเท่าที่ควรแล้ว อีกทั้งคนเมืองจำนวนไม่น้อยเริ่มมองข้ามหรือละเลยธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เห็นได้จากคลองในกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้เลยสักแห่ง หรือถ้ามองลงไปในน้ำ เราก็จะเห็นแต่ปลาต่างถิ่นอย่างปลาซักเกอร์และปลาหางนกยูง ชวนให้คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือไม่ หรือมนุษย์มีส่วนทำให้สัตว์ต่างถิ่นเข้ามาเบียดเบียนจนสัตว์ท้องถิ่นลดจำนวนลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ตามสวนสาธารณะ พืชพรรณที่พบส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่พืชท้องถิ่น แถมยังมีทั้งลู่วิ่งและสนามเด็กเล่น แต่พื้นที่สำหรับคนที่ต้องการความเงียบสงบหรืออยากเดินเล่นพักผ่อนกลับมีน้อยมาก

“สิ่งเดียวที่คนเมืองจำนวนมากทำได้คือการเดินทางออกไปหาธรรมชาติที่ต่างจังหวัด”

poramin05

บาสเสนอว่า เมืองควรจะเป็นเมืองแห่งตัวเลือก หรือ city of choice ที่ผู้คนสามารถเลือกออกแบบวิถีชีวิตของตัวเองได้ โดยยึดแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ทำอย่างไรให้ถนนมีรูพรุนจนน้ำไหลซึมลงไปได้ หรือทำอย่างไรให้คลองกลับมาใสสะอาดลงเล่นน้ำได้เหมือนในอดีต ซึ่งสิ่งนี้อาจช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย มลพิษ หรือตลิ่งถูกกัดเซาะ และการมีคลองที่สะอาดยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์จะกลับคืนมาด้วย

ดังนั้นบาสจึงจัดทำโครงการ “Ari Ecowalk” ขึ้น เพื่อให้คนเมืองมีพื้นที่ในการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว และตระหนักได้ว่าเมืองไม่ได้มีแค่ตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงๆ หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่โตเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ธรรมชาติแอบซ่อนอยู่ ยังมีเสียงนกนานาชนิดดังมาจากระเบียงบ้านแข่งกับเสียงรถยนต์บนท้องถนน

แม้โครงการนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ใหญ่ แต่บาสบอกว่า Ari Ecowalk เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เพราะเขามุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการสนุกไปกับเครื่องมือหรือกิจกรรมที่เขาสร้างขึ้น ผ่านประสาทสัมผัส ความคิด และความรู้สึก เพื่อจะค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ซึ่งบาสเชื่อว่า ศักยภาพที่แต่ละคนค้นพบนี้จะทำให้สามารถลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ได้อย่างสบายใจได้

poramin07

การเฝ้ามองธรรมชาติซึ่งเป็นกิจกรรมที่บาสชักชวนสมาชิกในโครงการไปร่วมทำ นอกจากจะช่วยให้ค้นพบคุณค่าของพื้นที่นั้นๆ แล้ว พวกเขายังจะค้นพบคุณค่าในจิตใจตัวเองด้วย

“ผมว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามองเห็นคุณค่าของธรรมชาติในเมือง ซึ่งต้องเกิดจากใจของเขาเอง”

ในฐานะผู้ดูแลโครงการ ตัวบาสเองก็ได้ค้นพบความสุขจากมิตรภาพระหว่างเขากับธรรมชาติที่บรรยายได้ไม่หมด…

เขาเห็นการเติบโตของพืชพรรณรอบตัว ขณะเดียวกันความคิดจิตใจของเขาก็เติบโตไปด้วย

เขามีความสุขที่ได้สำรวจดูสัตว์ต่างๆ บนต้นไม้ พร้อมตั้งคำถามว่าต้นไม้ต้นหนึ่งก่อให้เกิดสรรพชีวิตได้มากเพียงไหน และเมื่อมีคำถาม เขาก็จะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากธรรมชาติตอบกลับมาเสมอ

ในความคิดของบาส การสำรวจธรรมชาติเปรียบได้กับการเฝ้ามองดูหัวใจตัวเอง ทำให้เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองมากขึ้น…

“ผมว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราสัมผัสกับธรรมชาติคือความใส่ใจ เราจะค้นพบว่าเราแคร์คนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่สนใจแต่ตัวเอง สิ่งนี้คือความมหัศจรรย์ของการสังเกตธรรมชาติ”

บาสพบข้อสรุปด้วยตนเองว่า ธรรมชาติมีคุณค่าต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก หากพื้นที่ในเมืองทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่เบียดเบียนกัน เมืองก็จะเป็นพื้นที่แห่งความสุขและน่าอยู่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย และเราก็จะหายใจกันได้อย่างสบายใจ สูดหายใจได้เต็มปอด ไม่ต้องหวั่นวิตกกับมลพิษแบบที่เป็นกันอยู่

สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง