ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
๑
ช่วงวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง กรณีผลกระทบที่กังวลว่าจะได้รับจากโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน
เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนเชียงรายเข้าไปในแผ่นดินลาวประมาณ ๙๒ กิโลเมตร สันเขื่อนความสูงประมาณ ๓๔๐ เมตรจะถูกสร้างกั้นแม่น้ำโขงตรงจุดที่เรียกว่า “ดอนเทด” ติดตั้งมอเตอร์ผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต ๙๓๐ เมกกะวัตต์
ชาวบ้านในพื้นบ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน, พื้นที่เกษตรปากแม่น้ำอิง อำเภอเชียงของ และบริเวณแก่งผาได ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น ต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่สำคัญคือภาวะ “น้ำเท้อ” อาการของนํ้าที่ยกระดับขึ้นแล้วไม่ลดลง หากเกิดการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเมืองปากแบงที่อยู่ทางท้ายน้ำ
ในคราวเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย ศยามาล ไกรยูรวงศ์ และคณะ ได้จัดเวทีตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และให้หลายฝ่ายร่วมชี้แจงรายละเอียดความคืบหน้าโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งใหม่ มีผู้เข้าร่วมหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
ตัวแทนหน่วยงานระดับท้องถิ่น อาทิ นายอำเภอเวียงแก่น นายอำเภอเชียงของ ผู้นำหมู่บ้านต่างๆ
ภาคประชาสังคมและประชาชน ได้แก่ กลุ่มรักษ์เชียงของประมาณ ๖๐ คน เครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) รวมทั้งยังมี กอ.รมน.เชียงราย อันเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าร่วมเวที
เมื่อเวทีดำเนินมาถึงช่วงท้ายๆ ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบงกับผู้พัฒนาโครงการแล้ว เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ หรือก่อนหน้าจัดเวที ๒ วัน ระบุว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงมีอายุ ๒๙ ปี เริ่มรับซื้อไฟฟ้าปี พ.ศ.๒๕๗๖ ด้วยราคารับซื้อหน่วยละ ๒.๗๙ บาท
สร้างความตระหนกและผิดหวังให้กับผู้เข้าร่วมเวที เนื่องจากไม่มีโอกาสรับรู้เรื่องการลงนามรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้มาก่อน
๒
เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนปากแบง เป็นสามเขื่อนล่าสุดที่ถูกผลักดันให้สร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งสามเขื่อนตั้งอยู่ใน สปป.ลาว ช่วงที่แม่น้ำโขงไหลวกออกจากชายแดนจังหวัดเชียงรายลับหายเข้าไปในลาว ก่อนวกออกมาเป็นเส้นพรมแดน ไทย-สปป.ลาว อีกครั้ง ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
เขื่อนหลวงพระบาง ตั้งอยู่ในเมืองหลวงพระบาง ท้ายน้ำลงมาจากเขื่อนปากแบง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างเขื่อนปากแบงกับเขื่อนไซยะบุรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
เขื่อนปากลาย ตั้งอยู่ในเมืองปากลาย ห่างจากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยของไทยขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าช่วงที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ถือหุ้นโดย บริษัทซิโนไฮโดร ฮ่องกง โฮลดิ้ง (SHK) จำกัด ร้อยละ ๖๐ ที่เหลือ บริษัท กัลฟ์เอเนอยี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ ๔๐
ส่วนเขื่อนปากแบง มีผู้ลงทุนคือบริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ร่วมกับบริษัท กัลฟ์เอเนอยี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนการถือหุ้น ๕๑ และ ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายขายไฟฟ้า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ทั้ง ๓ โครงการต่างก็เป็นการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ที่มีรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย คือ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า
ทั้ง ๓ โครงการถูกผลักดันหลังเขื่อนไซยะบุรีปักหมุดสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนดินแดนแม่น้ำโขงตอนล่างสำเร็จ เป็นเขื่อนแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและส่งเข้ามาขายในประเทศไทยเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อปี ๒๕๖๒
ท่ามกลางเสียงก่นร้องของประชาชนผู้ที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟแพง
หลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยทุกคน คือการลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ถือเป็นเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนระยะยาว
ขณะที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองบางช่วงมากเกินกว่า ๔๕-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องรีบเซ็นต์สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในช่วงเวลานี้
๓
ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการเขื่อนปากแบงมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นกว่าเขื่อนไซยะบุรี
เงื่อนไขสำคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงที่แตกต่างจากเขื่อนไซยะบุรี คือ มาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดน ในรูปแบบกองทุนเยียวยา ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีไม่มีกำหนดไว้
กองทุนเยียวยากรณีเขื่อนปากแบงจัดสรรงบประมาณไว้ ๔๕ ล้านบาทต่อปี เขื่อนหลวงพระบาง ๗๓ ล้านบาทต่อปี วงเงินก้อนนี้จะพิจารณาปรับทุก ๕ ปี โดยเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พัฒนาโครงการที่จะดูแล ต้องศึกษาให้แล้วเสร็จ ก่อนเริ่มก่อสร้างโครงการ
นอกจากนี้ยังอ้างว่าเนื้อหาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนบางแบงระบุถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้ภาคประชาสังคมนำโดยกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ต่างพากันผิดหวัง เมื่อรู้ข่าวว่าภาครัฐลงนามซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนปากแบงเรียบร้อยแล้วนั้น เพราะที่ผ่านมาพวกเขาพยายามชี้แจงให้ภาครัฐมองเห็นปัญหา มีการทำหนังสือส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและคัดค้านการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงมาโดยตลอด
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ชี้ว่าว่าโครงการเขื่อนปากแบงตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่แก่งผาไดสุดเขตเชียงรายไม่ถึง ๑๐๐ กิโลเมตร ถือว่าอยู่ใกล้ประเทศไทยอย่างยิ่ง
ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับบทเรียนแล้วว่าผลกระทบจากเขื่อนต่างๆ ทางตอนบนในประเทศจีน และเขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาว นั้นส่งผลกระทบต่อคนท้ายน้ำรุนแรงมากแค่ไหน
ครูตี๋เล่าว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทำให้การไหลของน้ำเป็นไปไม่ตามฤดูกาล ตะกอนในแม่น้ำโขงหดหาย สิ่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ริมฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี
๔
ความพยายามสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงของหน่วยงานรัฐโดยร่วมกับกลุ่มทุน เกิดขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เมื่อมีโอกาสได้พูดในเวทีรับฟังความเห็น ชาวบ้านจะเน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าห่วงกังวลเรื่องน้ำเท้อเนื่องจากเขื่อนปากแบงอยู่ห่างจากชายแดนไทยไม่มากนัก ถัดมาเป็นเรื่องพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ไม่เฉพาะแม่น้ำโขงสายประธานแต่คาดว่าน้ำอาจจะท่วมลามไปถึงแม่น้ำสาขาสายต่างๆ ของแม่น้ำโขง
เขื่อนปากแบงยังส่งผลกระทบถึงความมั่นคงระดับชาติ ในเรื่องเส้นเขตแดนบนแม่น้ำ ร่องน้ำลึกที่เป็นเส้นแบ่งแดนในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไรหลังสร้างเขื่อน
สถานที่ที่ผู้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเคยใช้ประโยชน์เช่นผาได ที่มีเกาะแก่งงดงามอาจจะถูกน้ำเหนือเขื่อนปากแบงเท้อขึ้นมาท่วมท้น
แก่งผาไดมีโอกาสจมหายไปตลอดกาล หาดบ้านดอนซึ่งในฤดูแล้งเป็นหาดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงของ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้พ่อค้าแม่ขายมีรายได้ในฤดูแล้งก็อาจจะหายไป เกาะแก่งหินผาที่เคยโผล่พ้นน้ำในฤดูแล้งก็น่าจะหายไป เชื่อมโยงส่งผลกระทบถึงนกอพยพที่จะขาดแคลนที่ทำรังวางไข่
ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขงที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนเชียงของมาช้านานก็น่าจะได้รับผลกระทบ ตามปรกติแล้วในช่วง ๓ เดือน ที่ไกออก ชาวบ้านจะมีรายได้ราว ๘-๙ หมื่นบาท
หากน้ำนิ่งเพราะถูกกั้นเขื่อนทั้งหัวและท้าย หากแม่น้ำโขงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ไกก็ยากที่จะเกิดขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ อาจสูญหายไปและไม่หวนคืนมาอีก
“ถึงวันนี้เจ้าของโครงการเขื่อนปากแบงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะอธิบายความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง หลายปีที่ผ่านมาชาวบ้าน ประชาชน พยายามใช้เหตุผลทุกอย่างเพื่อเรียกร้องให้กระบวนการทั้งหมดในการสร้างเขื่อนปากแบงเป็นไปอย่างถูกต้อง ยึดถือข้อมูล ความเป็นจริง แต่การลงนาม PPA เมื่อ ๓ วันก่อนกลับไม่ได้ใช้เหตุผลหรือข้อมูล เป็นแต่เพียงผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน เสียใจมากที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้ความเห็น
๕
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแจ้งในที่ประชุมว่าจะทำหนังสือเร่งด่วนถึงนายกรัฐมนตรี ชี้แจงและขอให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้ากรณีโครงการเขื่อนปากแบงออกไป
ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ก็ไม่รอช้า รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ ได้ทำส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียกร้องให้ทบทวนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบง เน้นย้ำว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อกรณีสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนในพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว
ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของเขื่อนปากแบงเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้
๑. เอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบโครงการเขื่อนปากแบงใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการป้องกัน ติดตาม และบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง รวมทั้งไม่มีมาตรฐาน
๒. ประชาชนในพื้นที่ ๓ อำเภอ คือ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด หากผลกระทบจากน้ำเท้อทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนที่อาศัยการไหลของน้ำในการทำประมง จะไม่สามารถทำมาหากิน และยังมีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาวและน้ำอิง ซึ่งเป็นที่ทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกส้มโอและข้าว หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้พัฒนาโครงการยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลผลกระทบที่แท้จริง มาตรการ และกลไกที่ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวได้
๓. ความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากพลังงานสำรองของไทยนั้นมีมากถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง พลังงานจากเขื่อนนี้จึงไม่จำเป็นต่อประชาชนไทย ทั้งยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นพลังงานสะอาด เพราะต้องแลกด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทยลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่ต้องเสียสมดุลอย่างรุนแรง สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่สำคัญในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว
แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมะบนเทือกเขาหิมาลัย ไหลสู่จีนตอนใต้ ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ใต้ที่ประเทศเวียดนาม เฉพาะส่วนที่ไหลอยู่ในประเทศจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากถึง ๒๘ โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้วประมาณ ๑๒ เขื่อน
ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่างมีเขื่อนก่อสร้างแล้ว ๒ เขื่อน คือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และยังมีเสนอสร้างอีกประมาณ ๙ โครงการ
ภาคเอกชนและรัฐบาลของไทยคือผู้เล่นหลักที่เข้าไปเกี่ยวข้องผ่านการลงทุนข้ามพรมแดน
เมื่อ “พญานาค” ถูกสับ แม่โขงจึงเป็นแม่น้ำอาภัพของโลก
หมายเหตุ : ภาพถ่ายแม่น้ำโขงบนเส้นทางล่องเรือ ๘ ชั่วโมง จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สู่ เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว