ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

The Deep Places in the Deep South

ยศธร ไตรยศ ช่างภาพสารคดีจากกลุ่มเรียลเฟรม (Realframe) เคยจัดแสดงผลงานภาพถ่ายขาวดำครั้งใหญ่เมื่อกลางปี 2562 คือนิทรรศการ พื้นที่สีเทา (Gray Zones) เล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง ภาพถ่ายชุดนั้นถ่ายทอดร้อยเรียงชีวิตของผู้คนที่ต้องเดินชนกรอบกฎหมายพิเศษและวาทกรรมของการ “ก่อการร้าย” ในบ้านของตัวเอง

ยศธรมีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องและลงพื้นที่สามจังหวัดอยู่เสมอๆ เมื่อ Minority Rights Group International (MRG) ให้ทุนแก่ผู้ที่ทำงานในพื้นที่จริง เขาจึงใช้โอกาสนี้ต่อยอดการทำงานด้านภาพถ่าย

นิทรรศการ “The Deep Places in the Deep South” เกิดขึ้นพร้อมความร่วมมือจากองค์กรไม่แสวงหากำไร SEA-Junciton กลุ่ม REALFRAME และ European Union จัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ช่างภาพผู้เป็นคนนอก ขออนุญาตเดินเข้าไปในบ้านของคนใน 14 ครอบครัว รวมถึงบ้านของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานชาวกัมพูชาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เขาใช้เวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 ลงพื้นที่สามจังหวัดนับสิบครั้ง เข้าไปพูดคุย กินกาแฟ ดูดใบจาก หัวเราะ และถ่ายภาพด้วยจุดมุ่งหมายที่อยากให้พื้นที่นี้กลายเป็น “พื้นที่ปรกติ” ที่คนทั่วไปสนใจมากขึ้น

พื้นที่สามจังหวัดมีกฎหมายพิเศษบังคับใช้อยู่ก็จริง มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในบางพื้นที่จริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ ทุกคน ทุกชีวิตจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงและมุ่งหวังทำร้ายกัน

“อันตรายไหม” เป็นคำถามที่ยศธรถูกถามอยู่บ่อยครั้ง

เขาคิดว่าคำตอบรูปธรรมที่สุดก็คือการเดินทางไปที่นั่นในฐานะคนธรรมดา เพราะคนในสามจังหวัดก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ใช้ชีวิตตามปรกติ และมีความฝันเหมือนกันกับทุกคนเช่นกัน

deepplace3802

เล่าที่มาที่ไปของ “The Deep Places in the Deep South” ให้ฟังหน่อย

งานนี้เกิดจากความต่อเนื่องของงาน Gray Zones เรามองหาโอกาสทำงานในพื้นที่ต่อ เพราะว่ามี connection อยู่แล้ว พอมีทุนของ MRG เลยลองเสนอหัวข้อส่งไป

เมื่อก่อนเวลาเราไปที่ไหนต้องมีคนนำทาง มีล่าม มี fixer แต่พอหลังๆ เราคุ้นและเข้าใจบริบทพื้นที่มากขึ้น ความกลัวต่างๆ ก็หายไป เราเริ่มไปในพื้นที่เอง นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่ที่พูดภาษาเดียวกับเขา แต่งตัวเหมือนเขา ก็เข้าไปได้ เหมือนเราไปเยี่ยมบ้านเพื่อน

การทำงานในรอบนี้เราอยากสื่อสารกับคนที่ไม่รู้เรื่องสามจังหวัดชายแดนหรือไม่เข้าใจปัญหาถ่องแท้ เราคิดว่าจะใช้การไปเยี่ยมบ้านเพื่อนมาผนวกกับการทำงานไปเลย

deepplace3803
deepplace3804

มีคอนเซ็บต์และจุดมุ่งหมายคล้ายกันอยู่กับโพรเจกต์GrayZonesในแง่ของความเป็นพื้นที่” ในสามจังหวัดชายแดนใต้

จริงๆ เราไปสามจังหวัดอยู่เรื่อยๆ อยากมีโพรเจกต์ภาพถ่ายที่ต่อยอดจากพื้นที่นี้

Gray Zones พูดเรื่องกฎหมายพิเศษเยอะกว่า เลยทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถนำเสนอได้ แม้กระทั่งกลุ่มคนดูก็ค่อนข้างแคบกว่าและเรียกร้องคำอธิบายมาก เราก็เลยถอยออกมานิดหนึ่ง

โพรเจกต์นี้พยายามฉายภาพความเป็นปรกติและพื้นที่ของความเป็นบ้านที่ผู้คนเป็นตัวของตัวเอง เป็นพื้นที่ปิด บ้านคือพื้นที่ส่วนตัวที่บางช่วงเวลาก็ไม่ได้เปิดรับใคร เราคิดว่าน่าจะตั้งคำถามและหาคำตอบให้คนที่สงสัยว่า ‘มันโอเคไหมที่จะไปสามจังหวัด’ ได้พอสมควร

ตอนแรกคิดว่าจะทำเรื่อง Living Room in Deep South แต่คำว่า “ห้องรับแขก-living room” เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น คือการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ที่ไม่ใช่ตัวเขา เพราะในความเป็นจริงบางคนมีพื้นที่ใช้สอยจำกัด มีเงื่อนไขจำเป็น หรือแม้กระทั่งบริบททางศาสนา เราก็เลยต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้กลายเป็นการพูดเรื่องพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้านเท่าที่เขาจะอนุญาต

แล้วเราก็มาตรวจอีกทีหนึ่งว่าตรงไหนที่พูดถึงแล้วทำให้เขาดูไม่ดีในสายตาคนนอก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ถ้าเรามีโอกาสได้อธิบาย หรือบางคนเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว เขาก็จะรู้ว่าเราทำอะไร เขาก็จะมั่นใจในสิ่งที่เราทำ

deepplace3805

รู้สึกถึงบรรยากาศของความเป็นพื้นที่พิเศษอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นในเมืองก็จะรำคาญนิดหนึ่งเพราะเจอด่าน สำหรับคนนอก ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นไม่เยอะเท่ากับคนใน เพราะว่าคุณจะได้รับการงดเว้นในการเรียกตรวจ จริงๆ มีการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐประมาณหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่ปลอดภัย หรือเพราะว่าเราชิน เรารู้อยู่แล้วว่ามันอยู่ของมันแบบนี้แหละ แต่แน่นอนว่าไม่มีพื้นที่ปรกติที่ไหนที่มีด่านเยอะแบบนี้หรอก

ครั้งแรกๆ เราก็รู้สึกว่ามันอาจอันตราย แต่พอเข้าไปในหมู่บ้านก็ไม่มีอะไร เวลาอยู่ในชุมชนผู้คนก็พูดคุยกันเป็นปรกติเหมือนเดิม บางอย่างเราคิดไปเองด้วยซ้ำ

deepplace3806

เล่าวิธีการทำงานตั้งแต่แรกให้ฟังหน่อย ว่าทำยังไงถึงจะได้ภาพแบบที่เขาเป็นตัวเองที่อยู่ในบ้านจริงๆ

มีหลายระดับ ถ้าเป็นเพื่อนก็ไม่ยากเลย แค่แชตไปถามว่าขอถ่ายรูปคุณได้ไหม ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าได้

บางคนที่เราพอรู้จักก็ต้องอธิบายว่าจะเอาภาพไปทำอะไร ใช้เวลานานแค่ไหน ส่วนคนที่ไม่รู้จักเลย เช่น แรงงานกัมพูชา ที่เราคิดว่าคนที่ไม่ใช่มุสลิมในพื้นที่ควรจะได้พูดบ้าง เราอยากนำเสนอสามเคสนี้ในฐานะหนึ่งบ้าน มีบางพื้นที่ที่เขาใช้สอยร่วมกัน ก็จะมีความพิเศษหน่อย

เรามีเคส 15 บ้าน (จัดแสดง 14 ครอบครัว) แต่จะถ่ายยังไงไม่ให้เป็นการกินข้าว การละหมาดเหมือนๆ กัน เราก็ต้องมองหาตัวละครที่ทำอาชีพหรือมีความแตกต่าง และพยายามขับเน้นออกมา บ้างเด่นเรื่องครอบครัว อาชีพ การทำงาน เราก็พยายามนำเสนอเขาในแบบที่เขาเป็น

พออยู่หน้างานมันก็ไหลๆ ไป บางทีเราไม่ได้เห็นในสิ่งที่อยากเห็น แต่เห็นเรื่องอื่นที่น่าสนใจว่า เช่น กะตัส (อัญชนา หีมมิหน๊ะ) ที่เราอยากเห็นพื้นที่ความเป็นนักสิทธิมนุษยชน อยากเห็นว่าที่บ้านมีความเชื่อ สัญลักษณ์ของการต่อสู้ยังไง แต่กลับกลายเป็นว่าไปเจอบ้านที่อบอุ่นมากๆ เป็นบ้านของแม่ๆ มีแม่เป็นศูนย์กลาง เราก็เลยคิดว่าพูดถึงตรงนั้นดีกว่า

งานชุดนี้ให้ความสำคัญกับคำอธิบายพอประมาณ จะไม่ใช่การบอกว่าเขาเป็นใคร แต่เป็นการแสดงมุมมองของเราที่มีต่อเขา คือตัดสินกันแบบขอฟันธงเลยว่าเรารู้จักเขาในแบบไหน

deepplace3807
deepplace3808

ทำไมถึงเลือกเล่าแบบนี้

นัยยะของ deep places คือความเป็นส่วนตัว เคสของเราบางคนมีมุมที่คนอื่นๆ เห็นแล้วตามสื่อต่างๆ เราเลยพยายามยามนำเสนออีกมุมหนึ่งที่คนควรจะได้รู้ได้เห็น ว่าเขาในสายตาเราเป็นยังไง

สำหรับเรามันสนุกดีด้วย รู้สึกว่าถ้าเขามาอ่านก็น่าจะอยากรู้ว่าระหว่างที่เราทำงาน เราคิดกับเขายังไง คนดูภาพอาจจะมองเขาไม่เหมือนกับที่เรามองก็ได้ เป็นงานที่เฉพาะตัวประมาณหนึ่ง

เวลาคนอยู่บ้านก็จะทำกิจวัตรปรกติ การถ่ายรูปผู้คนในบ้านของเขา จะกลายเป็นการนำเสนอพื้นที่แบบไม่ปรกติหรือเปล่า

ไม่ได้มองแบบนั้น เราคิดว่าคนนึกภาพไม่ออกว่าเขาอยู่กันยังไง ต้องอยู่กันแบบลึกลับขนาดไหน หรือแม้กระทั่งสงสัยว่ามันเต็มไปด้วยอันตรายแล้วเขาต้องอยู่กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือเปล่า

เราอยากจะนำเสนอแง่มุมนี้ เช่น มีพื้นที่ของชุมชนที่เขาอยู่ร่วมกันไหม หรือมีกิจกรรมความบันเทิงอะไรในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เรารู้ว่าเขาต้องกินข้าว ละหมาด นอน แต่ไม่รู้ว่ารูปแบบเป็นยังไง ซึ่งเราคิดว่าคนอยากรู้ พอได้เห็นได้รู้ จะได้เข้าใจว่ามันก็คล้ายๆ กันนี่ เพียงแต่แตกต่างไปตามบริบทวัฒนธรรม มันไม่ได้ซับซ้อนมาก

deepplace3809
deepplace38010

ความยากและข้อจำกัดของการทำงานภาพชุดนี้คืออะไร

พอเป็นพื้นที่ส่วนตัว ร้อยวันพันปีไม่มีใครมาบ้านเขา และคนเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกถ่ายรูปในบ้าน จึงต้องใช้เวลา

เรามีข้อมูลชุดเดียวกันที่จะคุยกับเขาได้ มีคนที่รู้จักเป็นตัวละครร่วมกันอยู่ เราเคยมาที่นี่ หรือแม้กระทั่งงานที่เคยทำ แต่ก็ยังต้องบริหารความรู้สึก ต้องเกรงใจเขา เพราะการใช้เวลาในบ้านคนอื่นมีความกระอักกระอ่วนประมาณหนึ่ง

เราต้องชวนคุยหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ได้ จริงๆ เราชอบการอยู่แบบที่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ เพียงแต่มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะบางคนก็เพิ่งรู้จักกันใหม่ บางคนอาจจะสนิทกัน แต่ว่าไม่เคยไปบ้านของกันและกัน

การอยู่ข้างนอกกับข้างในบ้านมันคนละเรื่องกันเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมุสลิมจะมีเรื่องของเพศชาย เพศหญิง เช่น ปรกติเวลาอยู่บ้าน ผู้หญิงไม่ต้องใส่ฮิญาบก็ได้ แต่พอเราไป เขาก็ต้องใส่ ซึ่งมันไม่สะดวกสบายอยู่แล้ว ก็ต้องบริหารความรู้สึกกันพอสมควร ไม่ใช่ว่ามาถ่าย 2-3 ชั่วโมงให้เสร็จ

มีข้อจำกัดอะไรในการถ่ายภาพผู้หญิงบ้างไหม

เป็นเรื่องของแต่ละคนมากกว่า คนรู้จักกันก็ค่อนข้างไว้ใจกันอยู่แล้วเลยไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่สามีของเขาอยู่บ้าน เราก็เคารพเขาเท่านั้นเอง

ระหว่างที่อยู่ในบ้านเขา พูดคุยกับเขา เขาได้บอกความรู้สึกเกี่ยวกับโพรเจกต์นี้ไหม

คุยกันเรื่องทั่วไป เรื่องบริบทสังคม การเมือง เราคิดว่าต่อให้เขารู้ว่าเราจะทำนิทรรศการเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าพอมีคนดูแล้วจะเกิดอะไรขึ้น บางเคสจึงอาจจะงงบ้าง

มองในมุมหนึ่งคือเขาก็คงคิดว่าให้คนที่อื่นได้เข้าใจ ได้รู้ว่าคนที่นี่อยู่กันยังไง เขาเป็นตัวแทนของความเป็นอยู่ในพื้นที่ เพียงแต่ว่าเขาหรือเราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคนดูจะตีความไปถึงจุดไหน

เราเคยบอกเขาเหมือนว่าจะนำเสนอเขาในฐานะอะไร แต่พอมาย้อนนึกดูก็พบว่ากรอบที่วางไว้มันหลุดออกไปเลย บางคนไม่ได้พูดถึงเขาในมุมที่เราคิดไว้เลย กลายเป็นว่าถ่ายภาพกันสนุกมาก

ตอนทำงาน Gray zonesคุณบอกว่ายังมีความกลัวอยู่บ้าง พอมาทำโพรเจกต์นี้ความรู้สึกเปลี่ยนไปแค่ไหน

เป็นธรรมชาติของคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน แล้วเราเริ่มเข้าใจบริบทในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นว่ามันก็ปรกติ เราก็แค่อยากจะเล่าความเป็นปรกติออกไป

ความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้ใช้แค่พื้นที่นี้ เวลาที่อยู่ในพื้่นที่ไหนนานๆ ก็จะรู้สึกว่านี่คือที่ของเรา เราไม่ได้เคลมว่าเป็นคนใน ก็ยังเป็นคนแปลกหน้าในที่นั้นอยู่ แต่ปรับตัวในแบบที่คนนอกจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ไหนสักที่ ไม่เคอะเขินในการชีวิต เรารู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ รู้ว่าเขามองเรายังไง เรื่องนี้สำคัญนะ

เรามีความมั่นใจมากขึ้น จากก่อนหน้าที่ไปไหนก็มีแต่คนมองเพราะว่าเราไม่เหมือนเขา ทั้งด้านการแต่งกายและศาสนา แต่ตอนนี้รู้สึกปรกติ อย่างตอนอยู่ กทม. ใครมาบ้านเรา เราก็มอง แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีอะไรไม่ดีเกิดขึ้น

งานชุดนี้เหมือนกับการจำลองให้เห็นว่าถ้าคุณมีเพื่อนอยู่สามจังหวัดชายแดน แล้วถ้าเพื่อนคุณชวนไปบ้าน คุณจะไปไหม เราพยายามแทนตัวเองแบบนั้น

deepplace38011

ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่สามจังหวัด แต่ยังกลัวอยู่ คิดว่าเกิดจากอะไร จะเบาบางลงไปได้ไหม

คิดว่าความกลัวยังมีอยู่ อาจจะน้อยลงบ้างเพราะการสื่อสาร เทคโนโลยี แต่ว่าภาพข่าวที่ออกมายังเหมือนเดิม สามจังหวัดภาคใต้ยังถูกนำเสนอในเรื่องความรุนแรง เรื่องโจรใต้ แล้วถ้าวัดความกลัวอย่างเป็นรูปธรรมเลยนะ คุณอาจจะบอกว่าคุณเข้าใจมัน รู้ว่าไม่มีอะไรหรอก แต่คุณจะไม่ไป ปัญหามันอยู่ตรงนี้

ในงานชุดนี้เราพยายามจะบอกว่า เฮ้ย คุณมาเที่ยวเลย อยากจะมาทำอะไรก็ได้ มาเยี่ยมบ้านเพื่อนก็ได้ พอไปแล้วมันจะเกิดการบอกต่อ

การพูดจากคนใน มันไม่เหมือนการบอกต่อจากคนนอก มีคนมาถามเราบ่อยๆ ว่า อันตรายไหม เป็นคำถามที่คนนอกอยากรู้จากคนนอกด้วยกันน่ะ เพราะว่าคนในที่เป็นเพื่อนเราก็จะบอกว่าไปได้อยู่แล้ว แต่ว่าไปได้ของเขามันจริงไหม อันนี้ต้องถูกคอนเฟิร์มโดยคนนอก

เราใช้เซนส์แบบนี้ทำงาน เพราะว่าคนทั่วไปก็ยังใหม่กับพื้นที่ ทำให้เขารู้สึกว่าถ้าเราไปได้ มันก็เป็นไปได้สำหรับเขา

จะบอกว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลยก็ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เห็นจากสื่อไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่เพราะที่นี่อันตราย แต่เป็นความพยายามบางอย่างของรัฐไทยในการทำให้สามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

โดยพื้นฐานเราคิดว่ามันต้องเกิดความสนใจกับพื้นที่ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนที่นั่นก็เป็นคนธรรมดา ให้มันเกิด “เอ๊ะ” แรกก่อน แล้วค่อยๆ ไปศึกษาข้อมูลจากสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เราน่ะ พอเห็นว่าที่นี่โอเคนะ ดีนะ คุณก็จะไปหาข้อมูลต่อเอง

คนที่มองว่าอันตราย เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ยุ่งกับพื้นที่ตรงนี้ ก็ปล่อยให้รัฐจัดการไป ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ สุดท้ายแล้วก็ต้องมาถามตัวเองว่า ถ้าบอกว่าสถานการณ์ของสามจังหวัดดีขึ้น ให้ซื่อสัตย์กับตัวเองแล้วตอบว่าคุณจะไปไหม ไปในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องมีคนดูแล รถนำขบวน ไปในฐานะที่ขับรถหรือนั่งเครื่องบินไปลงสามจังหวัดชายแดนด้วยตัวเอง สามจังหวัดที่ไม่ใช่เบตงนะ (หัวเราะ)

เราคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังกลัว แต่ไม่ถึงกับเป็นความกลัวแบบตัดขาด ยังอยากที่จะไป แต่ข่าวบอกแบบนี้ ในขณะที่คนอีกกลุ่มบอกอีกแบบหนึ่งว่าไม่มีอะไร เขาเลยไม่รู้จะเชื่อใครดี

deepplace38012

งานนี้เป็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็มีนัยยะสื่อสารถึงรัฐว่าสามจังหวัดคือพื้นที่ที่ถูกทำให้ไม่ปรกติ

จริงๆ เราพูดถึงปัญหากฎหมายการใช้อำนาจพิเศษของรัฐนี่แหละ เพียงแต่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องพวกนี้เป็นฉากหน้าอย่างจริงจัง แต่ให้รู้ผ่านตัวละคร

ถ้าคุณได้อ่านได้เห็น คุณจะรู้ว่านี่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันนะ เด็กบางคนเกิดมา 18 ปี เกิดหลัง พรก. ฉุกเฉิน หลังประกาศกฎอัยการศึก เขาไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำว่าความปรกติเป็นยังไง กลายเป็นว่าป้อมเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกิดมาก็เห็นแล้ว ก็จำกัดความคิดความฝันของเด็กพอสมควร

deepplace38013

รู้สึกอย่างไรบ้างตอนงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว

โล่งใจ เพราะเหนื่อยมาก เป็นงานที่ขึ้นลงสามจังหวัดชายแดนร่วมสิบครั้ง อยู่ครั้งหนึ่งเป็นสิบวัน เรารู้สึกภูมิใจและสนุกกับมันมาก เพราะให้เวลากับมันเต็มที่

จุดมุ่งหมายของการทำงานนี้โดยหลักใหญ่ใจความคือพื้นที่นี้ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น เป็นพื้นที่ธรรมดา แล้วคนที่นั่นก็เป็นคนธรรมดา อยากคืนความเป็นมนุษย์ให้เขา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไปซะหมด

ทุกคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังใช้ชีวิตปรกติ มีความฝัน มีช่วงหมกหมุ่นเรื่องของตัวเอง ไม่ใช่ว่าจะมามองเรื่องความรุนแรงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าเขาก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ในหลายเรื่อง

อยากให้เข้าใจว่าที่นั่นก็มีคนที่เป็นเหมือนเรา อาจจะต่างกันแค่ความเชื่อบางอย่าง ที่เหลือก็แทบจะเหมือนกันหมด นั่นคือมีทั้งคนดีและคนไม่ดี

นิทรรศการ “The Deep Places in the Deep South” จัดแสดงวันที่ 19 กันยายน-1 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ผนังโค้ง ชั้น 4 Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (รายละเอียดเพิ่มเติม)

และจะจัดแสดงอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จังหวัดปัตตานี