วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


sarakadeesouth00 1
sarakadeesouth01

สารคดีประเภท “ประวัติศาสตร์” เป็นการเขียนถึงเรื่องที่ผ่านพ้น กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่เรื่องราวจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ได้ ด้วยการสร้างสรรค์ “วิธีการเล่า” ของผู้เขียน

สารคดีประวัติศาสตร์ที่เขียนกันอยู่โดยส่วนใหญ่ไม่ “เหตุการณ์” ก็ “บุคคล” ซึ่งอย่างหลังนั้นอาจมีส่วนซ้อนทับอยู่กับประเภท “สารคดีชีวิต” แต่หากเขียนถึงผู้ล่วงลับในแง่การบันทึกประวัติก็พอนับอยู่ในประเภท “สารคดีประวัติศาสตร์” ได้

และหากเน้นให้เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนก็ต้องให้น้ำหนักกับการใช้ “หลักฐาน” เนื่องจากไม่สามารถพบตัวหรือขอสัมภาษณ์ผู้ล่วงลับได้อีกแล้ว นอกจากผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องหรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเขา สิ่งที่ทำได้คือการตามแกะรอยจากหลักฐาน สถานที่ สิ่งที่เขาเคยสร้างทำไว้ เขียนไว้ หรือแม้แต่ภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ

ตัวอย่างสารคดีประวัติศาสตร์ที่ตัดบางส่วนมาให้อ่านกันในครั้งนี้ เป็นการเขียนถึงผู้ล่วงลับจากความทรงจำของผู้เขียน โดยมีภาพถ่ายเป็นสิ่งจุดเชื่อม โดยเนื้อหาอาจเชื่อมโยงถึงภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมแถบจังหวัดชายใต้ด้วย ซึ่งก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าสารคดีเรื่องหนึ่งอาจจำแนกเข้าหมวดหมู่ประเภทได้มากกว่าหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในแวดวงสารคดีเมืองไทยดูเหมือนว่าสารคดีแนวประวัติศาสตร์จะไม่ค่อยมีใครเขียนกันนัก และหากไล่ดูตามเวทีประกวดจะสังเกตได้ว่ามีไม่บ่อยที่สารคดีประเภทนี้จะเป็นผู้คว้ารางวัล

แต่งานชิ้นที่นำมาให้ดูกันในที่นี้ เป็นงานสารคดีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากเวทีประกวด “เรื่องเล่าจากบ้านเรา” ประจำปี ๒๕๖๒

sarakadeesouth02

หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติศาสนกิจและขอพรจากพระผู้เป็นเจ้ายามอรุณรุ่งในช่วงท้ายสุดของเดือนรอมฎอน ฉันตั้งใจว่าจะอาสาเข้าไปทำความสะอาดห้องทำงานเล็กๆ ของอาเยาะที่เริ่มมีฝุ่นละอองเข้าครอบครองพื้นที่ เมื่อเข้าไปในนั้น อาจด้วยความบังเอิญฉันได้เปิดอัลบั้มภาพครอบครัวที่ถูกเก็บรักษาไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของอาเยาะ ภาพถ่าย

แรกที่สายตาของฉันสัมผัสคือ ภาพเก่าๆ อันมีความหมายภาพหนึ่งเมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน

พลันเรื่องราวแห่งความประทับใจในวัยเยาว์ก็ปรากฏในเวิ้งทรงจำของฉัน

ครอบครัวของฉันซึ่งประกอบไปด้วย อาเยาะ (คุณพ่อ) มะ (คุณแม่) ฉัน และพี่ๆ ทั้ง ๑๐ คนของฉันได้ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้ามุขของมัสยิดในวัน “อีฎิ้ลฟิตริ” (วันเฉลิมฉลองอันสำคัญยิ่งของชาวมุสลิมทั่วโลกหลังจากเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน)ฉันยังจำได้ดีว่า นอกจากวันนั้นจะเป็นวันรื่นเริงของพ่อแม่พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศแล้ว ณ วันนั้น มาตุภูมิที่ฉันรักยังมีพี่น้องไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนในหมู่บ้าน รวมทั้งละแวกใกล้เคียงได้ร่วมแสดงความยินดีและมอบสายใยแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อพวกเราทุกคนโดยไร้ซึ่งช่องว่างความแปลกต่างใดๆ ต่อกัน โดยความรู้สึกของฉันแล้ววันนั้นเสมือนว่า ‘บุปผชาติแห่งความรักอันบริสุทธิ์ได้ผลิบานครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนอย่างทั่วถึงมากที่สุดในรอบปี’

ภาพถ่ายใบนั้นได้นำพาจิตใจของฉันโบยบินไปสู่วันวานอันล่วงพ้นอีกครั้ง ขณะนั้นฉันมีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น หลังดวงตะวันลับขอบฟ้า เสียงอาซานอันเป็นถ้อยคำ ภาษาอาหรับที่มีความหมายถึงการเรียกร้องอิสลามิกชนให้ไปร่วมชุมนุมกันที่มัสยิดได้ดังขึ้น ทุกคนในหมู่บ้านตื่นตัวและตระเตรียมความพรั่งพร้อมเพื่อต้อนรับวันสำคัญที่อาจเกิด ขึ้นในวันพรุ่ง

…..

ในที่สุด ช่วงเวลาที่ทุกๆ คนซึ่งมาร่วมชุมนุมที่มัสยิดรอคอยก็มาถึง จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ของมัสยิดได้ฉายภาพใบหน้าของท่านจุฬาราชมนตรีซึ่งท่านได้อ่านถ้อยคำประกาศโดยมีใจความสำคัญว่า “มีผู้พบเห็นฮีลาล (จันทร์เสี้ยว) จึงขอประกาศอย่างเป็นทางการให้ชาวมุสลิมทั่วประเทศรับทราบว่า วันพรุ่งนี้คือวันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ”

สิ้นเสียงประกาศดังกล่าวชาวบ้านต่างก็มีอาการปลื้มปีติบางคนถึงกับหลั่งน้ำตาที่วันสำคัญจะเกิดขึ้นในพรุ่งนี้แล้ว ฉันถึงกับกระโดดโลดเต้นไปกับเพื่อนๆ เมื่อได้รู้ข่าวสำคัญในรอบปีวันที่มุสลิมทุกๆ คน ณ แผ่นดินแห่งนี้เฝ้ารอคอย

……

เสียงอาซานละหมาดซุบฮิ(รุ่งอรุณ) ที่แว่วดังขึ้น ได้รังสรรค์ท่วงทำนองแห่งวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและงดงามของผู้คนในวันสุดสำคัญดวงตะวันดูเหมือนยังหลับใหลตรงเวิ้งจักรราศี ท้องฟ้ายามนี้ยังดารดาษด้วยแสงดาวระยิบระยับ สายลมหนาวได้พัดพากลิ่นหอมของขนมและอาหารพื้นเมืองลอยล่องไปทั่วอาณาบริเวณ อีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้สีสันแห่งวันอันเป็นที่รอคอยกำลังแต่งแต้มทุกสรรพสิ่งบนแผ่นดินนี้ให้มีแต่ความอภิรมย์และสันติสุข

……

กระทั่งดวงตะวันได้เปล่งรัศมีสีทองเจิดจ้าทาบทั่วแผ่นฟ้าตะวันออก หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมละหมาด ทุกคนต่างก็แยกย้ายกลับไปยังครอบครัวของตนเพื่อตระเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องการแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่มสำหรับต้อนรับญาติๆ และแขกผู้มาเยือน รวมทั้งความสะอาดเรียบร้อยของอาคารบ้านเรือน–การงานที่ดูเหมือนมากมายแต่กลับคลี่คลายและลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ด้วยความร่วมมือร่วมใจของบรรดาชาวบ้านผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม

……

และแล้วภาพความทรงจำอันแสนประทับใจได้สิ้นสุดลงแต่เพียงนี้เมื่อน้ำอุ่นๆจากดวงตาทั้งสองของฉันได้ไหลรินลงเปื้อนภาพถ่ายเก่าๆใบนั้นจนเปียกชุ่ม อันเป็นน้ำตาที่มาจากความคิดถึงอาเยาะผู้ให้กำเนิดอย่างสุดขั้วหัวใจอาเยาะได้พรากจากพวกเราไปตลอดกาลอย่างกะทันหัน หลังจากวันรายอในครานั้นเพียงไม่กี่วัน ณ เวลานี้…ฉันทำได้แต่เพียงกอดภาพถ่ายใบนั้นไว้แนบอกด้วยสภาพร้องไห้สะอึกสะอื้นในห้องทำงานของท่านที่ยังทำความสะอาดไม่เสร็จเรียบร้อย

(จากเรื่อง “อีฎิ้ลฟิตริ : วันที่ความรักผลิบาน ณ บ้านแห่งเรา” โดย นางสาวฮีดายะห์ เบ็ญโกบ โรงเรียนนิด้าศึกษาศาสตร์ จังหวัดสตูล)