เรื่องและภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

บันทึกเหมืองแร่โพแทช ด่านขุนทด
“…หลายคนลุมมาหุ่ม…. ชาวเมืองได้มาปาด
คนสี่ร้อยห้าร้อย….. ขนซิ้นกะบ่ไหว
ก่อนพังคีท้าวสิได้….. ใจขาดไลลา
มีคำจา….. แซ่งเวร น้อเอาไว้
คันแม่นไผกินซิ้น….. พังคี กระฮอกด่อน
ให้มันตายมอดม้วย…. เมืองบ้านแม่นล่มหลวง…”

จากผญาคำกลอนตำนานหนองหานล่ม นิทานพื้นบ้านผาแดงนางไอ่
(โดย บ่าวหนองหาน น้อย & หนุ่มลำปาว ผะหย่าหย่อย)

————————————

dankhuntod3872

๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ “ทุบแท่นขุดเจาะ”

บ้านสระขี้ตุ่น-บ้านสระสมบูรณ์ ตำบลหนองบัวตะเกียด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

๐๗.๕๔ น.

“…ไปสังสรรค์นำพ่อจันดุ นิมนต์ นิมนต์ นิมนต์”

แม่ใหญ่ร่างผอมเกร็ง ผู้ทำหน้าที่ปรนนิบัติพัดวี เอ่ยคำเชื้อเชิญผีพ่อปู่บุญลือและดาบไม้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยสำเนียงลาวเวียงเนิบเรียบ ณ ศาลไม้กลางหมู่บ้าน เข้าสมทบกับกลุ่มชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ก่อนจะส่งต่อดาบไม้สามเล่มแก่แม่ใหญ่ร่างท้วมสีหน้าเคร่งเครียด ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งบ้านสระขี้ตุ่น-บ้านสระสมบูรณ์ ตำบลหนองบัวตะเกียด

ณ จุดรวมพลศาลผีอารักษ์พ่อปู่จันดุบริเวณฝายเก็บน้ำ ทางออกหมู่บ้าน

ทันทีที่พิธีถวายเครื่องเซ่นไหว้และรำบวงสรวงแล้วเสร็จ รถเครื่องขยายเสียงเปิดดนตรีมโหรีอีสาน กลุ่มชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ ดูคึกคักฮึกเหิม แม้บางคนยังหลงเหลือแววของความกังวลค้างอยู่บ้าง พากันเคลื่อนขบวนไปตามทางดินเข้าสู่จุดหมาย ที่ตั้งฐานปูนสำหรับดำเนินการขุดเจาะสำรวจของบริษัทสัมปทานเหมืองแร่โพแตชได้เทปูนหล่อฐานทิ้งไว้ท่ามกลางวงล้อมของนาข้าวและแปลงไร่อ้อย

เหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการเหมืองแร่โพแทช และออกมาปกป้องเรียกร้องสิทธิของคนในชุมชนนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา และมีคนอีกไม่น้อยเข้ามาสมทบภายหลังด้วยความหวงแหนและอยากร่วมปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิด ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทไม่แจ้งข้อมูลการดำเนินการต่อชาวบ้าน ขาดการทำประชาคมในพื้นที่ ไม่ได้ขออนุญาตและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการขุดเจาะ รวมถึงไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

“…กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด …ไม่เอาเหมืองแร่ !
เหมืองแร่ …ออกไป !
เหมืองแร่ …ออกไป !”

เสียงตะโกนแสดงพลังและประกาศเจตนารมณ์และเสียงมโหรีอีสานดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ

๐๙.๐๖ น.

ร่างทรงพ่อปู่บุญลือและพ่อปู่จันดุพนมมือขึ้นเหนือศีรษะ แล้วก้าวเท้าเหยียบฐานแท่นขุดเจาะสำรวจเอาฤกษ์เอาชัย เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย

รถแบคโฮเริ่มทุบรื้อถอนฐานคอนกรีตเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนรถแทรกเตอร์ชักลากเศษซากฐานขุดเจาะสำรวจออกไปจากพื้นที่ ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องแสดงความดีใจ

dankhuntod3873

สิบวันก่อนหน้านั้น ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๖

ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ เปิดประชาคมชาวบ้านสระขี้ตุ่น-บ้านสระสมบูรณ์แบบเร่งด่วน ณ วัดสระขี้ตุ่น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ไม่ต้องการให้บริษัทใช้พื้นที่ของชุมชนเพื่อกิจการเหมืองแร่โพแทช ก่อนเจ้าของที่ดินจะแสดงความเคารพในมติเสียงส่วนใหญ่ด้วยการฉีกสัญญาให้เช่าที่ดินและจ่ายเงินคืนแก่บริษัทเหมืองแร่

หนึ่งวันหลังการทำประชาคม นักปกป้องสิทธิฯ ยื่นผลการประชาคมหมู่บ้านต่อนายกเทศมนตรีตำบลหนองบัวตะเกียด เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนที่ตัวแทนเทศบาลจะแจ้งต่อชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ หลังติดต่อเจรจาพูดคุยกับตัวแทนบริษัทฯ แต่บริษัทฯ ยังดึงดันไม่ยอมรื้อถอนแท่นขุดเจาะสำรวจ

ก่อนเที่ยงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ วันแห่งประวัติศาสตร์ของชาวสระขี้ตุ่น-สระสมบูรณ์ ชิ้นส่วนฐานแท่นขุดเจาะแผ่นใหญ่ชิ้นสุดท้าย ถูกชักลากออกจากพื้นที่

“เหมืองต้องหยุดกิจการความเค็มทุกอย่าง แล้วฟื้นฟูเยียวยาให้พี่น้องเราที่ได้รับผลกระทบ” ผู้เข้าร่วมขบวนการปกป้องสิทธิฯ และผืนดินบ้านเกิดยืนยัน

“เฮาบ่อยากเป็นคือบ้านหนองไทร”

dankhuntod3874

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖

สองวันหลังทลายฐานขุดเจาะสำรวจ

ทันทีที่ความกังวลใจเปลาะแรกถูกยกออกจากอก พร้อมกับฐานขุดเจาะสำรวจที่ถูกรื้อถอน เหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ๑๕๐ คน รุกต่อ โดยนัดรวมตัวหน้าลานย่าโม ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดโต๊ะเจรจาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โพแทช

แม้มีเหตุหวิดปะทะหลังรองผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาได้พูดจาดูหมิ่น แต่สุดท้ายเหตุการณ์ก็คลี่คลายเมื่อนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งเดินทางมาร่วมเจรจาจนได้ข้อสรุปในค่ำวันเดียวกัน โดยให้ผู้ว่าฯ เจรจากับบริษัทเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ เพื่อระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ โรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์ และการขุดเจาะสำรวจเพื่อเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เรียบร้อยก่อน

รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่ายหลังจากนั้น ๑ สัปดาห์ และจะต้องสรุปข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน ๗-๑๐ วัน นับจากวันที่ลงพื้นที่ จากนั้นจะต้องรายงานข้อเท็จจริงให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

dankhuntod3875
dankhuntod3876

๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖

คุ้มบ้านซับมะขาม ตำบลหนองไทร ชุมชนริมเหมืองแร่โพแทช

สุปราณี ทองอุไร หญิงร่างเล็กยืนเกาะรั้วคอกวัวเล่าถึงบ่อน้ำซับใกล้โคนต้นมะขามอายุหลายร้อยปีในที่ดินของครอบครัว

บ่อน้ำรสจืดสนิทที่ผู้คนตำบลหนองไทร อำเภอด่านขุนทด ใช้เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้มาตั้งแต่ยุคตั้งถิ่นฐานยาวนานมากกว่าสามสี่ชั่วรุ่นคน ก่อนกลายมาเป็นชื่อ “คุ้มบ้านซับมะขาม” จนถึงวันนี้…วันที่น้ำสีเทาดำฤทธิ์เค็มจากที่ดินริมเขตเหมืองแร่ไหลลงมาสร้างผลกระทบ

ต้นไม้ในที่นาแห้งตาย กิ่งกระโดงของมะขามโบราณต้นใหญ่ทยอยแห้งหัก มีเพียงใบและกิ่งครึ่งล่างที่ยังเหลือสัญญาณชีพพอได้ยืนยันอัตลักษณ์ในสภาพร่อแร่

“มันเค็มจนขม” สุปราณียืนยัน

หากย้อนกลับไปราว ๘ ปี ที่ดิน ๒๙ ไร่ ของครอบครัวสุปราณีคือนาข้าวเขียวขจี มีกบเขียดร้องระงมในหน้าฝน และเป็นทุ่งเลี้ยงวัวกว่า ๘๐ ตัว หลังฤดูทำนา ฟาร์มวัวเป็นหนึ่งในโครงการของครอบครัวที่สุปราณีและพ่อวางแผนไว้ ก่อนที่ทุ่งเลี้ยงวัวจะจมอยู่ใต้น้ำเกลือเกินครึ่งแปลง พร้อม ๆ กับวัวสี่ตัวที่สังเวยชีวิตให้หล่มโคลนดินเค็มริมหนองน้ำเกิดใหม่

ดินที่ถูกรุกหนักด้วยน้ำเกลือนั้นสูญเสียโครงสร้างไม่สามารถยึดเกาะตัว กลายเป็นโคลนตมเปื่อยยุ่ยคือสิ่งที่เจ้าของที่ดินสังเกตเห็น

ใต้ผืนน้ำสีดำมีเพียงฝูงปลานิลแกลบตัวเล็กเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวที่ยังพอประคองลมหายใจเอาไว้ได้ แม้จะสำลักความเค็มตายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งที่ไม่มีน้ำฝนมาช่วยเจือจาง

“หนามพุงดอที่ว่าเก่งกาจเรื่องการปรับตัวในพื้นที่ดินเค็มยังต้านทานไม่ไหว” สุปราณีอธิบาย

ความเปลี่ยนแปลงทางเคมี ชีวภาพ และกายภาพของดินและน้ำดังกล่าวไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะที่ดินเขตนาลุ่มของคนคุ้มบ้านซับมะขาม แต่รุกลามไปแทบทุกที่ในชุมชนตำบลหนองไทร

ที่นาดอนฝั่งตรงข้ามบ้านของสุปราณีที่แม้ไม่มีน้ำเกลือมาแช่ขัง แต่ก็ไม่วายถูกยึดครองด้วยความเค็มฝังแน่น หน้าดินมีคราบเกลือขาวโพลนกระจายทั่วทั้งแปลง ต้นไม้ใหญ่ยืนแห้งตายกลายเป็นที่ดินรกร้าง เพาะปลูกไม่ได้ มีต้นหนาดงัวหรือต้นขลู่ ไม้พุ่มที่ชอบขึ้นตามที่ดินเค็มชื้นแฉะแถวป่าชายหาดหรือชายเลน ถูกลมพัดหอบเอาเมล็ดปลิวเข้ามางอกเงยและยึดที่นาดอนดินเค็มไปในที่สุด

ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงแบบ “ใครไม่กินเค็มก็แพ้ไป”

ครั้นเมื่อใครเผลอลองเด็ดยอดขลู่เข้าปากเคี้ยวหงับ ๆ ก็ต้องบ้วนทิ้ง รสมันที่เป็นผักเหนาะในร้านข้าวแกงใต้บางแห่งหรือตลาดสดท้องถิ่นนั้นเปลี่ยนเป็นรสเค็มและขมหน่วงหนัก แบบที่ไม่เคยพบเจอจากที่ไหน…

ความกลับตาลปัตรเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

อำเภอด่านขุนทดและหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดินเค็มของแอ่งเกลือโคราช แต่ที่ผ่านมาแผ่นดินหนองไทร ไม่จัดว่าอยู่ในภูมินิเวศสุดขั้วเช่นนั้น คนหนองไทรไม่เคยเดือดร้อนจากปัญหาดินเค็ม ทุกครอบครัวเพาะปลูกข้าวและพืชผลนานาชนิดอย่างปรกติสุขมาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มตั้งชุมชนย้อนไปหลายร้อยปี

ปี ๒๕๕๘ หลังจากบริษัทเจ้าของใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช เข้ามาดำเนินกิจการบนพื้นที่รวม ๙,๐๐๕ ไร่ ๑ งาน ๖๓ ตารางวา ครอบคลุมตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเกียด ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด โดยก่อนหน้านี้มีการสำรวจพบว่าใต้ผืนดินที่นี่เป็นแหล่งแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลต์ (Carnallite) มีความสมบูรณ์เฉลี่ย ๒๐.๗๘% KCI และมีปริมาณสำรองแร่โพแทชอยู่ราว ๑๐๓.๓๕ ล้านตัน

โครงการระบุกำลังการผลิตแร่โพแทชไว้ที่ ๑ แสนตันต่อปี โดยเริ่มนับจากวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ จนถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๘๓ รวมระยะเวลา ๒๕ ปี

แต่ราวหนึ่งปีหลังการขุดสร้างอุโมงค์ลงสู่ชั้นหินแร่ใต้ดิน ชาวหนองไทรก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

dankhuntod3877

ปี ๒๕๑๖๒๕๖๐

หากย้อนกลับไปเมื่อราว ๕๐ ปีก่อน ในปี ๒๕๑๖ ปฐมบทความตื่นแร่โพแทชในประเทศไทยเริ่มต้นนับหนึ่ง ณ จุดนั้น

เมื่อกรมทรัพยากรธรณีสำรวจแหล่งน้ำบาดาลในภาคอีสาน แต่กลับพบว่าแผ่นดินที่ราบสูงมีชั้นหินเกลือกระจายตัวอยู่ทั่วไป และนำไปสู่การสำรวจเพิ่มเติมจนพบแหล่งแร่โพแทชสองชนิดหลักๆ คือ แร่คาร์นัลไลต์ ซึ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพต่ำ มีส่วนผสมของแมกนีเซียมรวมอยู่ด้วยและมีปริมาณโพแทสเซียม (K) ประมาณร้อยละ ๑๔.๐๗ ส่วนอีกชนิดคือแร่ซิลไวต์ (Sylvite) เป็นแร่โพแทชที่มีคุณภาพดีที่สุด โดยมีปริมาณของโพแทสเซียม (K) มากถึงร้อยละ ๕๒.๔๔

นับจากหลุมสำรวจแรกในพื้นที่สำนักงานชลประทาน จังหวัดอุดรธานี การขุดเจาะสำรวจหาแหล่งแร่โพแทชกระจายไปทั่วทั้งอีสานอีกกว่า ๒๐๐ หลุม ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี

ในปี ๒๕๒๔ การสำรวจที่บ้านหนองตะไก้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้พบแร่ซิลไวต์ ซึ่งถือเป็นข่าวดีของบางคนและข่าวร้ายของบางคน

ปี ๒๕๓๙ เจ้าหน้าที่รัฐนำคณะผู้สำรวจแร่โพแทชออกสำรวจพื้นที่ชุมชนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านหลายพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี โดยแจ้งว่าเป็นการสำรวจหาบ่อน้ำมัน และจ่ายค่าขุดเจาะให้เจ้าของที่ดินหลุมละ ๓,๐๐๐ บาท แต่ภายหลังพบว่าบางจุดเกิดปัญหาการแพร่กระจายของน้ำเค็มจนสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณโดยรอบ

กระทั่งปลายปี ๒๕๔๔ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี กว่า ๒๐ หมู่บ้าน รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โพแทช มีการติดป้ายผ้าและธงสีเขียว แสดงสัญลักษณ์คัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในชุมชน

ก่อนที่บริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตซคอร์ปอเรชั่น จำกัด จะยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินแหล่งอุดรใต้ บนเนื้อที่รวม ๒๖,๔๐๐ ไร่ ครอบคลุมสองอำเภอ ห้าตำบล ได้แก่ ตำบลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี และตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีปริมาณแร่โพแทชสำรองมากกว่า ๓๐๐ ล้านตัน โดยมีพื้นที่ตั้งโรงงานแต่งและแยกแร่ที่บ้านหนองตะไก้ จุดไข่แดงที่พบแร่ซิลไวต์คุณภาพเยี่ยมเมื่อปี ๒๕๔๗ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผลจากการสำรวจทั้งหมดประเมินว่าภาคอีสานของไทยมีสำรองแร่โพแทชราว ๔ แสนล้านตัน มากเป็นอันดับ ๔ ของโลกรองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี โดยแหล่งแร่โพแทชในไทยพบมีสองแหล่งใหญ่ คือ แอ่งสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสกลนคร หนองคาย อุดรธานี และนครพนม และแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

นับจากปี ๒๕๔๕ ที่ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) เปิดทางให้ทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกเกิน ๑๐๐ เมตรขึ้นไปได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน แร่โพแทชรวมทั้งแร่เกลือหินที่อยู่ลึกลงไปใต้แผ่นดินอีสานเกิน ๑๐๐ เมตร กลายเป็นขุมทรัพย์มลังเมลืองของกลุ่มทุน ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติแร่ ปี ๒๕๖๐ (มาตรา ๙๑) ระบุการทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกจากผิวดินเกินกว่า ๑๐๐ เมตร ให้ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือผู้มีสิทธิทำกินตามกฎหมายอื่นมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทน

สิบห้าปีหลังพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๔๕ เมืองย่าโมก็ถูกเจาะไข่แดง โดยบริษัทผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่โพแทช เข้าเปิดหน้าดินขุดสร้างอุโมงค์ทางลาดเอียงเข้าสู่ขุมทรัพย์ใต้พิภพขนาดกว้างเพียงพอให้รถบรรทุกแร่วิ่งไปมาได้

dankhuntod3878
dankhuntod3879

เมษายน ๒๕๖๓

คนงานเหมืองรายหนึ่งยืนยันว่า ทีมงานขุดสร้างอุโมงค์เร่งทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง นับจากแรกเปิดหน้าดิน เพื่อสร้างอุโมงค์แนวเอียงขนาด กว้าง ๖ เมตร สูง ๕ เมตร และอุโมงค์แนวดิ่งผ่านชั้นดิน หินทรายและหินทรายแป้ง ตาน้ำจืดและน้ำเค็ม ชั้นยิปซัมและเกลือหิน พวกเขาฝ่าด่านความมืด ลุยน้ำเปียกแฉะ อากาศร้อนอบอ้าว และฝุ่นเกลือที่ทำให้แสบ คัน จนผิวหนังเปื่อยไปทั่วทั้งตัว

การขุดเหมืองยังคงดำเนินไปอย่างรีบเร่ง คนงานเหมืองเล่า น้ำใต้ดินยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงนับตั้งแต่ขุดผ่านชั้นดินแนวดิ่งลึกประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ต้องคอยสูบน้ำที่ไหลซึมด้วยอัตรา ๘๐๐-๙๐๐ ลิตรต่อนาทีโดยประมาณออกไปจากอุโมงค์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากหยุดสูบน้ำเพียง ๒ ชั่วโมง อาจต้องใช้เวลาราว ๒ วันในการตามเก็บงาน จนกระทั่งชั้นเกลือหินสีชมพูอมสีสนิม หินแร่สีใส และสีขาวดั่งก้อนเมฆค่อย ๆ ปรากฏและหนาแน่นขึ้นที่ปลายอุโมงค์ระยะทางราว ๘๐๐-๙๐๐ เมตร

พวกเขาเจอสิ่งต้องการแล้วหรือไม่? คือคำถามของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ

dankhuntod38710
dankhuntod38711

ราวสามเดือนถัดมา

ความพยายามขุดเจาะทีละ ๒-๓ เมตร แล้วเจาะรูห่างจากผนังอุโมงค์ลึกเข้าไปราว ๓-๕ เมตร เพื่ออัดฉีด (Grouting) ซีเมนต์ (OPC cr SRC cement ) เข้าไปในชั้นหินเพื่อเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของดินและหิน ปิด อุดหลุมร่องทุก ๆ ระยะ ๕-๗ เมตร ให้ควบคุมน้ำใต้ดินไม่ให้เข้าท่วมอุโมงค์ พร้อมกับต้องคอยหยุดฉีดพ่นซีเมนต์เสริมผนังอุโมงค์จนได้ความหนา ๕-๑๐ เซนติเมตร

แต่น้ำที่ไหลซึมตามผนังอุโมงค์ตลอดเวลายังคงสร้างปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ผนังคอนกรีตแข็งตัวช้าและหลุดร่อน คนงานใต้อุโมงค์เล่าว่า ต้องคอยฉีดพ่นคอนกรีตซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่หลายรอบ

มีการอธิบายว่า “ที่ระยะจากปากอุโมงค์ราว ๓๐๐ เมตร บริษัทเปลี่ยนวัสดุจากไวร์เมช ชนิดพอลิเมอร์เสริมเส้นใย (Fiber Reinforced polymer-FRP) ที่เชื่อกันว่ารับแรงดึงได้ดี ยึดหดตัวได้เท่าคอนกรีต ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดรอยร้าว และที่สำคัญไม่แพ้กันคือทนต่อการกัดกร่อนจากความชื้นและความเค็ม มาเป็นไวร์เมชที่ทำจากเหล็กข้ออ้อยด้วยเหตุผลบางประการ

มีการพูดถึงเรื่องของคนงานใต้ดินเริ่มสังเกตเห็นรอยร้าวเป็นทางยาวในอุโมงค์เข้าเหมือง และรับรู้ในหมู่คนงานว่ามีความเสี่ยง มีคนพยายามเตือนเพื่อนคนงาน จนกระทั่งนำไปสู่การโต้เถียงระหว่างคนงานกับตัวแทนบริษัท

“ฝ่ายเซฟตี้ไม่ยอมลงไป ต้องคอยวานให้คนงานในอุโมงค์ถ่ายรูปขึ้นมาให้ดู” คนงานเหมืองรายหนึ่งเล่า ขณะที่มีการกล่าวอ้างถึงคำพูดของผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียที่พยายามสื่อสารกับเหล่าคนงานในอุโมงค์ขุดเจาะก่อนตัดสินใจลาออกว่า “เหมืองนี้ไม่ปลอดภัย” นั้น ดูจะเป็นเพียงคำกล่าวลอย ๆ นอกอุโมงค์ขุดเจาะ…ที่ใครก็พูดได้…

แต่ภายหลังคำเตือนดังกล่าวเพียงไม่กี่เดือนก็มีข่าวแพร่สะพัดไปทั้งชุมชนว่า “น้ำทะลักเข้าท่วมอุโมงค์” คาดการณ์ว่าจุดเกิดเหตุอาจเริ่มจากตาน้ำใหญ่ที่มีอัตราการไหลราว ๑๘,๐๐๐ ลิตรต่อนาที ใต้อุโมงค์แนวดิ่งด้านตะวันออกพิกัดห่างจากอุโมงค์เอียงราว ๑๐๐ เมตร ที่โครงการเหมืองพยายามอุดตาน้ำดังกล่าวด้วยปูนคอนกรีตมากกว่า ๑๙๐ ตัน และนั่นอาจจะเป็นความพยายามที่สร้างปัญหาใหม่แทน

หลังเกิดรูรั่วในอุโมงค์เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณขนาดของถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร ทำให้คนงานต้องหนีขึ้นด้านบนเพื่อเอาชีวิตรอด เครื่องจักรขุดเจาะทั้งหมดจมอยู่ใต้บาดาลเกลือ คนงานจากชัยภูมิบางส่วนหันหลังกลับถิ่นฐาน จนถึงเวลานี้ยังไม่มีรายงานเรื่องอุโมงค์ขุดเจาะถูกน้ำท่วม แต่เหมือนว่าจะมีความพยายามปิดตายอุโมงค์ทางเข้าเหมืองจริง คนงานในอุโมงค์ใต้ดินรายหนึ่งให้การ

ตามเอกสารรายงานแผนดำเนินการโครงการระบุว่า อุโมงค์ที่เอียง ๙.๕ องศานี้จะมีระยะทางรวม ๑,๖๐๐ เมตร ความลึกแนวดิ่ง ๒๖๐ เมตร เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ คนงานรายหนึ่งเปิดเผยว่าน้ำท่วมจากด้านล่างปลายสุดอุโมงค์ที่แยกออกไปเป็นห้าเส้นทาง จากระยะทางราว ๑,๐๕๐ เมตร สูงขึ้นมาจนถึงระยะ ๕๐๐ เมตรจากปากทางเข้า

“นับล้านล้านกระสอบ” ในบ้านไม้ครึ่งปูนที่ผนังเคลือบด้วยคราบเกลือขาวกลางหมู่บ้านหนองไทร ชาวบ้านทีมงานก่อสร้างประเมินถึงจำนวนปูนซีเมนต์ที่ถูกนำมาอัดฉีดเพื่ออุดช่องเจาะรวมถึงร่องหลุมของระบบน้ำใต้ดินและอุโมงค์แนวดิ่งด้วยประสบการณ์แบบหยาบ ๆ นำไปสู่คำถามที่ว่า

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อระบบโครงข่ายน้ำใต้ดินถูกปิดกั้นด้วยปูนซีเมนต์ตามที่กล่าวอ้าง

พร้อม ๆ กับน้ำใต้ดินที่ไหลเข้าอุโมงค์ถูกสูบขึ้นไปพักที่บ่อผิวดินอยู่ตลอดทั้งวัน คนงานเหมืองและชาวบ้านเล่าว่า บ่อพักน้ำเหล่านั้นมีการปูวัสดุรองพื้นบ่อกันน้ำเค็มรั่วซึมเพียงแค่บ่อเดียวจากจำนวนหลายบ่อในช่วงของการสร้างอุโมงค์ทางเข้า ก่อนที่เหมืองจะไล่สูบน้ำออกและปูพื้นบ่อเพิ่มในภายหลัง

ชาวบ้านกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนฯ อธิบายว่า ในปี ๒๕๖๑ บริษัทเหมืองต่อท่อสูบน้ำเค็มจากบ่อพักน้ำปล่อยลงบ่อน้ำสาธารณะของชุมชน รวมถึงสูบน้ำจากบ่อพักผ่านท่อพีอีดันกลับลงไปใต้พื้นดินข้างบ่อพัก ทั้งหมดที่ชาวบ้านเล่าลือนั้นเป็นความจริงหรือไม่?

ขณะที่น้ำในบ่อเก็บน้ำสาธารณะริมเหมืองกลายเป็นสีเทาดำรสเค็มนับจากวันนั้น…ไม่ต้องถามว่าน้ำในบ่อสาธารณะของชุมชนยังใช้ได้ดีหรือไม่

“ปู ปลาลอยตายตั้งแต่วันแรก ๆ” ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ ยืนยัน หลังจากนั้นไม่นานต้นไม้รอบบ่อก็ทยอยยืนต้นตายกลายเป็นประจักษ์พยานของความไม่ชอบมาพากล…ไม่มีเสียงสะท้อนปัญหาใด ๆ จากบรรดาผู้นำทางการของชุมชน

dankhuntod38712
dankhuntod38713
dankhuntod38714
dankhuntod38715

ปรากฏการณ์ด้านตะวันตกเฉียงใต้

“แล้วแบบนี้น้ำจากเหมืองแร่เอ่อมั้ยล่ะ…น้ำทะลักลงไร่นาของชาวบ้าน แล้วไหลลงลำเชียงไกร” เจ้าของที่ดิน ๑๕ ไร่ ติดกับรั้วคันดินรอบเหมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

ผืนดินที่เคยเพาะปลูกข้าวกินมาทั้งชีวิตรวมทั้งที่ดินของญาติซึ่งอยู่ติดกันอีกหลายสิบไร่ถูกปิดคลุมด้วยแผ่นเกลือทั้งสีขาวและสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมในหน้าแล้งหรือเดือนที่ฝนทิ้งช่วง

“เกลือหนาเกินหนึ่งนิ้ว” เจ้าของที่ดินพูดเสียงสั่นถึงผืนดินติดแนวเขตรั้วเหมืองบางจุด

บ่อน้ำสาธารณะติดแนวรั้วเหมืองด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้กลายเป็นบ่อน้ำเค็ม ต้นไม้รอบบ่อยืนต้นแห้งตาย อาคารบ้านเรือนในชุมชนหนองไทรเกินกว่าครึ่งเต็มไปด้วยคราบและส่าเกลือ ผนังอาคารบ้านเรือนเริ่มผุ บ้านบางหลังทรุดตัวแตกร้าว ผนังปูนผุหลุดร่อน ความเค็มกัดกินเข้าไปถึงเหล็กโครงสร้างจนเป็นสนิมผุ รั้วผนังวัด กุฏิพระ กระทั่งเมรุเผาศพก็ได้รับชะตากรรมเดียวกัน แม้จะมีความพยายามฉาบปูนและทาสีปิดร่องรอยไว้ แต่ก็ไม่วายผุร่อนเพราะความเค็มแทรกซึมลึกเข้าเนื้อใน ผนังบ้านบางหลังทะลุเป็นรูโหว่หนักเกินเยียวยา

ที่ร้ายไปกว่านั้น ดูเหมือนว่าน้ำเค็มกระจายรอบทิศทาง ที่ดินของชาวบ้าน บ่อน้ำสาธารณะ คลองลำมะหลอด และอาจต่อเนื่องถึงลำเชียงไกร ซึ่งอาจกินพื้นที่กว้างไกลนับหมื่นไร่

“เค็มกว่าน้ำทะเลสองสามเท่า บางจุดเค็มจนเครื่องตรวจทำงานไม่ได้” ชาวบ้านหลายคนเล่าตรงกัน

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๑๑ (นครราชสีมา) กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและตรวจพิสูจน์ค่าความเค็มเบื้องต้น พบว่าน้ำในบ่อเก็บกักใกล้เหมืองบางบ่อมีค่าความเค็มของน้ำมากถึง ๖๐ ppt หรือมีเกลือ ๖๐ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน ขณะที่น้ำทะเลโดยเฉลี่ยทั่วโลกมีค่าความเค็ม ๓๕ ppt โดยบางบ่อมีค่าความเค็มพุ่งสูงมากจนเครื่องตรวจสอบความเค็มใช้การไม่ได้ และ ๑๔.๕ ppt เป็นค่าความเค็มของน้ำจากเหมืองที่ไหลลงห้วยลำมะหลอดด้านทิศใต้ก่อนไหลต่อไปยังลำเชียงไกร ลำห้วยกลายเป็นห้วยน้ำกร่อยที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรหรือการอุปโภคบริโภคอีกต่อไป

ขณะที่การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำทั้งบนผิวดินและใต้ดินจำนวน ๓๕ ตัวอย่าง ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) และใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้นโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ชี้ว่า ดินและน้ำโดยรอบพื้นที่เหมืองโพแทชปนเปื้อนโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงและโพแทสเซียมคลอไรด์ในปริมาณสูงมาก

ผลวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบในตัวอย่างน้ำที่รั่วซึมจากพื้นบริเวณท่อลอดใต้ถนนทางเข้าวัดหนองไทร พบโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงสูงถึง ๑๑๐.๒๓๑ กรัมต่อลิตร หรือประมาณ ๓ เท่าของเกลือในน้ำทะเล ขณะที่ผลการตรวจวิเคราะห์ยังพบโพแทสเซียมคลอไรด์ ๒.๗๐๖ กรัมต่อลิตร

ที่ห้วยลำมะหลอดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโครงการเหมืองแร่ตรวจพบโซเดียมคลอไรด์ ๑๖.๘๔๙ กรัมต่อลิตร และโพแทสเซียมคลอไรด์ ๐.๑๓๐ กรัมต่อลิตร เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลตรวจจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๑๑ (นครราชสีมา) ที่ตรวจวัดไปก่อนหน้านี้

dankhuntod38716
dankhuntod38717

บ้านสวนริมทุ่งนา ใกล้คลองลำมะหลอด

“มะพร้าว มะนาว มะกรูด ละมุด มะม่วง ไผ่ ผักหวาน ข่า ตะไคร้ ต้นตะกู ไม่มีอะไรเหลือเลย”

ที่บ้านสวนริมทุ่งนา ใกล้คลองลำมะหลอด แม่ไป่ ยอพันดุง ชาวบ้านดอนแต้ว ตำบลหนองไทร ผู้มีที่นาติดห้วยลำมะหลอดยืนยันถึงฤทธิ์ความเค็ม นอกจากพืชผักผลไม้ในสวนผสมผสานรอบบ้านจะตายหมดสิ้นจากปัญหาน้ำเค็มทะลักจากห้วยลำมะหลอด แม่ไป่ยังต้องประสบกับปัญหาน้ำเค็มใต้ดินที่ผุดขึ้นจากพื้นปูนภายในบ้านอย่างไม่ทราบสาเหตุนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา

“กลางหน้าฝนจนกระทั่งปีใหม่”

แม่ไป่ต้องเทียวตักน้ำเค็มที่ไหลซึมขึ้นมาวันละนับสิบถังอยู่นานกว่า ๔ เดือนต่อปีออกไปทิ้งนอกบ้าน จนมือและเท้าแสบ คัน ชา และผิวหนังเริ่มเปื่อย ขณะที่บ้านบนเนินดินสูงเมตรกว่า ๆ แนวรั้วติดกันของหลานชายซึ่งสร้างเสร็จหมาด ๆ แม้เจ้าของบ้านจะยังไม่ได้เข้าพักอาศัย แต่เห็นได้ชัดเจนว่ามีแขกสายเค็มที่ไม่ได้รับเชิญยึดครองบ้านจนกลายเป็นคราบเกลือลามจากพื้นสูงขึ้นไปจนเลยขอบหน้าต่างเป็นที่เรียบร้อย

ในวันที่ความเค็มสร้างความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ตัวแทนชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ เล่าว่า ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทจะคอยตระเวนเอาปูนไปฉาบและทาสีบ้านที่ผุกร่อนให้ชาวบ้านที่สงบปากสงบคำไม่แสดงออกถึงการคัดค้านหรือต่อต้านเหมืองแร่ แต่สุดท้ายทั้งปูนและสีก็ไม่วายหลุดร่อน ไม่ว่าจะฉาบซ้ำกี่รอบ

“ลูบหน้าปะจมูก มาแจกปุ๋ยให้ชาวบ้าน แต่ที่ดินชาวบ้านมันปลูกหยังบ่ได้แล้ว” ผู้ประสบภัยจากความเค็มระบายความอัดอั้น

เจ้าของที่ดินรอบเหมืองซึ่งได้รับผลกระทบหลายรายเล่าว่า ต้องจำใจขายที่ดินปนเปื้อนเกลือที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีก หลังมีนายหน้าเข้ามากว้านซื้อที่ดินรอบ ๆ เหมือง โดยเสนอราคาให้เพียงไร่ละ ๖-๗ หมื่นบาทเพื่อนำไปขายต่อให้กับบริษัท

“ถูกแบบนี้เราจะไปหาซื้อที่ดินจากไหนคืนได้” ผู้ได้รับผลกระทบบ่น

หลังการกว้านซื้อที่ดินอาบเกลือราคาถูกได้สำเร็จ การทยอยนำหน้าดินจากแหล่งอื่นเข้ามาถมกลบหน้าดินที่ปนเปื้อนเกลือชุดเดิม เพื่อปกปิดคราบเกลือและความเค็มเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนรับรู้

เอกสารกรมทรัพยากรธรณีรายงานเรื่องแร่วิทยาของโพแทชและหินเกลืออย่างน่าสนใจว่า เกลือหินมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คล้ายกับพลาสติก สามารถเคลื่อนไหลและโค้งงอได้ตามแรงกด จึงมักพบเกลือหินเปลี่ยนรูปร่างของตัวเองได้อย่างง่ายดายตลอดเวลาแม้กระทั่งในอุโมงค์ขุดเจาะ เกลือหินดันตัวแทรกผ่านชั้นหินที่ปิดทึบขึ้นมาอยู่ด้านบนได้

ไม่แปลกที่แปลงที่ดินปนเปื้อนรอบ ๆ เหมืองหลายแปลงที่ถูกทำให้หายวับไปใต้หน้าดินชุดใหม่ จึงหนีไม่พ้นการกลับมาถูกเคลือบด้วยส่าเกลือชุดเดิม เมื่อเกลือทำตัวคล้ายพลาสติกตามนิสัยของเกลือ หน้าดินชุดใหม่กลับกลายเป็นหน้าดินที่เต็มไปด้วยคราบเกลือขาวโพลนตามมาหลังจากความพยายามถมปิดได้ไม่นานเกินรอบปี คือสิ่งที่คนหนองไทรเห็นเป็นประจักษ์

วันที่ชุมชนตำบลหนองไทรและผืนดินเมืองโคราชกำลังปนเปื้อนความเค็ม ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ออกมาเรียกร้องให้บริษัทผู้ได้รับอนุญาตสัมปทานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ว่า

ห้ามปล่อยน้ำเสียหรือน้ำขุ่นข้นจากช่วงกิจกรรมของการก่อสร้างลงสู่ทางน้ำสาธารณะ

หากมีการปนเปื้อนของน้ำเกลือลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือพื้นที่โดยรอบจะต้องมีการฟื้นฟูให้มีสภาพดังเช่นเดิม

หากพบว่ามีการรั่วไหลของน้ำเกลือ หรือสารเคมีจากกระบวนการผลิตต้องดำเนินการแก้ไขสาเหตุแห่งการรั่วไหลทันที และในกรณีที่เกิดการรั่วไหลจำนวนมากที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะต้องหยุดกระบวนการผลิตทันที และดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มกระบวนการผลิตต่อไป

หากมีผลกระทบเรื่องแหล่งน้ำของประชาชนในด้านของการใช้น้ำอันเป็นผลมาจากการการดำเนินโครงการ ทางโครงการต้องจัดหาแหล่งน้ำทดแทนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ถึงตอนนี้ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดจะปกป้องบ้านเกิดเอาไว้ได้หรือไม่ ขณะที่มีข่าวว่าฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทและผู้นำทางการขยับรวบรวมรายชื่อชาวบ้านสนับสนุนเหมืองแร่ขึ้นในชุมชน ผ่านอิทธิพลและการเสนอผลประโยชน์เล็กน้อยให้

ที่อีกฟากของอีสาน โครงการเหมืองแร่โพแทชเมืองอุดรธานีและสกลนครที่มีพื้นที่สัมปทานมากกว่านี้หลายเท่าตัว อาจกลายเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ รวมถึงการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนของคนอีสานเป็นลำดับต่อมา

ข่าวลือเรื่องวัตถุดิบหินแร่โพแทช ปุ๋ยโพแทช รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกลือที่ผ่านกระบวนการแยกและแต่งแร่แล้วถูกส่งตรงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง มุ่งหน้าสู่จีนและออสเตรเลียเป็นความจริงหรือไม่?

ยังเป็นคำถามคาใจของชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนฯ ในวันที่แผ่นดินและชีวิตชาวหนองไทรกำลังถูกกัดกินด้วยมลพิษรสเค็มและขื่นขมแบบโจ๋งครึ่ม

และเริ่มมีการทวงถามถึงการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน

dankhuntod38718
dankhuntod38719
dankhuntod38720

๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ในวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ลงพื้นที่สำรวจดูผลกระทบ ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยื่นหนังสือขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเกณฑ์คนในแต่ละหมู่บ้านเข้าไปในบริษัทและมอบเงินคนละ ๒,๐๐๐ บาท เพื่อให้ชาวบ้านลงชื่อสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โพแทช

“ไม่ต่างอะไรกับการซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือการให้สินบน” ตัวแทนชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ ประกาศกร้าว

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ และห่วงใยบ้านเกิดกลายเป็นคนลุกขึ้นตั้งคำถามในปัญหาผลกระทบจากความเค็มปนเปื้อนและการเพิกเฉยของหน่วยงานภาครัฐ

ขณะที่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าทำไมยังไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายค่าภาคหลวงหรือภาษีที่เรียกเก็บจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่โพแทช โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ของเหมืองดังกล่าว พบเพียงค่าภาคหลวงแร่เกลือหินที่จ่ายน้อยกว่ามาก

ครบ ๘ ปีเต็มหลังเปิดให้สัมปทานฯ เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ คนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ทั้งประเทศได้ประโยชน์อะไรที่ควรได้จากโครงการสัมปทานแร่โพแทชแล้วหรือยัง?

ในขณะที่มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียทั้งที่ดินทำกิน อาชีพ รายได้ และสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไปแล้วทั้งชุมชน…

ความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวชัดขึ้นเรื่อย ๆ ก็กำลังกัดกินสุขภาวะของชุมชนรอบเหมืองไม่ต่างจากมลพิษรสเค็ม…

ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกยืนอยู่ฝั่งใดก็ตาม