ภัทราภรณ์ ฮอย: เรื่อง
ธนชิต สิงห์แก้ว : ภาพ
เมื่อพูดถึง “ขงจื่อ” หลายคนคงนึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน
อาจนึกถึง “สมาคมขงจื่อ” ตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทย
หรือคำสอน คำคม ซึ่งอาจผ่านตาในโซเชียลมีเดีย
แต่หากมองให้ดี ขงจื่ออยู่รอบตัวเรา ทั้งวิถีปฏิบัติ ประเพณี และเทศกาลของจีน
หล่อหลอมอยู่ในความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ อย่างที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน
จุดเริ่มต้นลัทธิขงจื่อ
เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของลัทธิขงจื่อ ซึ่งปัจจุบันได้เผยแพร่วัฒนธรรม คำสอน และมีอิทธิพลต่อคนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
จุดเริ่มต้นเกิดจากชายคนหนึ่ง
“ขงจื่อ” (Confucius)
นักคิดและนักปรัชญาชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ในยุคชุนชิว มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 551–479 ปีก่อนคริสต์ศักราช เขาเผยแพร่คำสอนของตนเองที่ต่อมาเรียกว่า “ลัทธิขงจื่อ (Confucianism)” เนื่องจากวิกฤตบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยสงครามในช่วงนั้น คำสอนของเขาจึงมุ่งเน้นให้คนมีมนุษยธรรมและคุณธรรม เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
ขงจื่อมองว่าบ้านเมืองจะสงบสุขเมื่อมีผู้ปกครองที่ดี โดยผู้ปกครองที่ดีก็ต้องมาจากครอบครัวที่ดีเช่นกัน ครอบครัวคือรากฐานสำคัญซึ่งจะปลูกฝังให้คนมีความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และคุณธรรม
เวลาผ่านไปคำสอนขงจื่อได้รับการยกย่องและแพร่หลายไปทั่วแผ่นดินจีน จนกลายเป็นหนึ่งในสามศาสนาหลักของประเทศ
ปริวัฒน์ จันทร นักสารคดีผู้สนใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์จีนมานานกว่า 20 ปี เคยเดินทางไปครบทุกมณฑลของจีน และได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจีนลงในจอแก้วและหนังสือมากมาย กล่าวถึงศาสนาในจีนว่า
“ความเชื่อและศาสนาในประเทศจีนเหมือนกระถางสามขา ขาแรกคือศาสนาพุทธ ขาที่สองคือเต๋า และขาที่สามคือขงจื่อ ทั้งสามหลอมรวมให้เกิดความเป็นจีน”
ปริวัฒน์อธิบายว่า ขงจื่อถือเป็นครูคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาความรู้ ขณะเดียวกันศิษย์ของเขากว่า 3,000 คนก็ได้นำคำสอนที่ร่ำเรียนไปเผยแพร่ต่อในแคว้นต่าง ๆ
แม้ลัทธิขงจื่อจะผ่านกาลเวลามานานกว่า 2,500 ปี แต่คำสอนยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้รับการยกย่องผ่านปาฐกถาของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนหลายครั้ง นอกจากนี้ช่วงก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกปี นักเรียนชาวจีนมักไปกราบไหว้ขอพรองค์ขงจื่อให้สอบได้คะแนนดี
ขงจื่อไม่เพียงเป็นจารีตประเพณี แนวทางการดำเนินชีวิตของคนจีนและชาวจีนโพ้นทะเลในแถบภูมิภาคตะวันออก แต่ยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ทำให้ขงจื่อได้รับสมญาว่า “ปรัชญาเมธีของโลก”
หลักคำสอนขงจื่อถือเป็นปรัชญามากกว่าศาสนา
“คำสอนขงจื่อจะสอนให้คนเป็น ‘จวินจื่อ’ หรือผู้มีการศึกษา ปัญญา และคุณธรรม ดูแลครอบครัว ตรงข้ามกับคำว่า ‘เสี่ยวเหริน’ ซึ่งไม่มีใครอยากเป็นหรอก” ปริวัฒน์อธิบาย
จวินจื่อ (君子) หมายถึง ผู้มีคุณธรรม และเสี่ยวเหริน ( 小人) หมายถึง ผู้ไร้คุณธรรม
กูรูประวัติศาสตร์จีนมองว่าคำสอนขงจื่อมีมากมาย แต่หัวใจหลักคือ “คุณธรรม 5 ประการ” ได้แก่ มนุษยธรรมหรือการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ (เช่น การปฏิบัติตัวต่อพ่อแม่หรือผู้ใต้บังคับบัญชา) คุณธรรม จารีตประเพณีและมารยาททางสังคม สัจจะ และสติปัญญา
ปริวัฒน์ยังเสริมต่ออีกว่าคำสอนขงจื่อยังแบ่งย่อยอีกสี่ประการ คือ ความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองหรือเจ้านาย ความกตัญญูต่อบิดามารดา (เช่น การไว้ทุกข์ 3 ปีเมื่อบุพการีเสียชีวิต) ความซื่อสัตย์ที่ภรรยามีต่อสามี และคุณธรรม [อี้(义)]
“จะเห็นว่าอี้(义)หรือคุณธรรมเหมือนในคำสอนหลักเลย ขงจื่อให้ความสำคัญกับคำนี้มาก”
ปริวัฒน์กล่าวว่าการอธิบายคำสอนขงจื่อ หากจะให้เข้าใจง่ายต้องมองผ่านตัวละครจากวรรณกรรมสามก๊ก เขาอธิบายให้เห็นภาพผ่านเหตุการณ์สำคัญในสามก๊กว่า
“ในฉากเถาหยวนซานเจี่ยอี้ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย สาบานว่าแม้ไม่ได้เกิดวันเดียวกันแต่ขอตายวันเดียวกัน เราจะเห็นฉากนี้ในภาพสลักหรือภาพวาดบนฝาผนังตามศาลเจ้าต่างๆ”
คำว่า “เถาหยวนซานเจี่ยอี้ (桃园三结义)” แปลว่า “สามสาบานในสวนดอกท้อ”
ยังมี “ขงเบ้ง” ซึ่งถือเป็นผู้มีความจงรักภักดีตามคำสอนขงจื่อ ขงเบ้งจงรักภักดีต่อเล่าปี่และเล่าเสี้ยน ดังที่ให้คำมั่นสัญญาต่อเล่าปี่ว่า เขาจะดูแลแผ่นดินของเล่าปี่ และจะดูแลเล่าเสี้ยน แม้มีอำนาจยึดเล่าปี่ได้ แต่ขงเบ้งก็ไม่เคยทำ
บุคคลเหล่านี้ได้รับการแกะสลักเป็นรูปปั้นอนุสรณ์เพื่อปลูกฝังคนรุ่นหลังให้เห็นความสำคัญของหลักคำสอนขงจื่อ
“ขงจื่อมีหลายบริบทมาก อย่างการสร้างรูปปั้นขงเบ้งก็เป็นตัวแทนขงจื่อ” ปริวัฒน์เสริม
พิธีกรรมขงจื่อ ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
หลักคุณธรรมความกตัญญูของขงจื่อสะท้อนผ่านความเชื่อและพิธีกรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีต่อพ่อแม่และบรรพบุรุษมายาวนาน เห็นได้ชัดในเทศกาลตรุษจีน เช็งเม้ง และสารทจีน โดยเทศกาลเหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อคนไทยและหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตชาวไทยอีกด้วย
“ป๊อป” ณัฐพงศ์ นำศิริกุล ผู้ประกาศข่าวรายการ “China Plus” และ “China World” คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ผู้สนใจวัฒนธรรมและภาษาจีน รวมถึงพระพุทธศาสนา และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิบายว่า พิธีกรรมถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนไทยรับมาจากจีน เนื่องจากพระพุทธศาสนาและลัทธิขงจื่อมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ชาวพุทธจึงรับวัฒนธรรมเหล่านี้มาโดยไม่รู้ตัว
“พระพุทธเจ้าสอนทั้งทางโลกทางธรรม ขงจื่อสอนทางโลก ขงจื่อคือสับเซตของพระพุทธศาสนา” ชายหนุ่มว่าที่ดอกเตอร์ด้านพุทธศาสตร์อธิบาย ก่อนจะขยายความต่อว่า
“พิธีกรรมไทยเยอะกว่าจีนมาก จีนไม่เรียกไหว้บะจ่าง เขาเรียกตวนอู่เจี๋ย การเรียกชื่อต่างกันก็สื่อถึงแนวคิดการไหว้ที่ต่างกัน เราไหว้บะจ่าง ไหว้บัวลอย ไหว้สารทจีน ไหว้พระจันทร์ คนจีนไม่รู้ว่าจะไหว้ทำไม กินเลยสิ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเราสายมูฯ อยู่ด้วยศรัทธาจริง ๆ ทั้งที่เรารับของเขามา แล้วดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมเรา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในเชิงพุทธ”
ด้านหลังประตูห้องทำงานณัฐพงศ์มีชั้นหนังสือสี่ชั้นสีดำ แต่ละชั้นเรียงรายไปด้วยหนังสือแบบฝึกหัดและหนังสือเพิ่มพูนความรู้ภาษาจีน โดยมีหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์จีน และพระพุทธศาสนาปะปนอยู่บ้าง บ่งบอกตัวตนเจ้าของห้องได้เป็นอย่างดี
การรับวัฒนธรรมประเพณีจีนเข้ามาในไทย ณัฐพงศ์มองว่าขงจื่อได้กลายมาเป็น “Way of Life” ของคนไทย
กว่าขงจื่อจะกลายมาเป็น “Way of Life”
“สิ่งที่ต้องสร้างอย่างแรกคือศาลเจ้ากับโรงเรียน ทั้งหมดนี้เพื่อจะเสิร์ฟคนจีนโพ้นทะเล แต่กลับกลายเป็นว่าคนในประเทศนั้น ๆ เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมจีน ไปใช้บริการศาลเจ้า หลายคนเสี่ยงเซียมซีเก่งกว่าคนจีนเสียอีก”
ไม่แต่ศาลเจ้าจีนบางแห่งจะมีรูปปั้นขงจื่อ แต่ยังมีการนำรูปปั้นขงจื่อไปวางตามวัดไทย ซึ่งคนไทยชอบกราบไหว้บูชารูปเคารพอยู่แล้ว การวางรูปปั้นขงจื่อจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ณัฐพงศ์มองว่าคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ยังคงปฏิบัติตามคำสอนขงจื่อ
“เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก อย่างเทศกาลเช็งเม้ง เมื่อกราบไหว้บรรพบุรุษ พวกเขาจะให้พรเรา เราขึ้นไปโรยเปลือกหอยแครง เราจะมีเงินทองหลั่งไหล แต่ถ้าศึกษาดี ๆ มันคือกุศโลบาย นอกจากความกตัญญู ยังเป็นโอกาสให้ลูกหลานมาเจอกัน” เขาเว้นจังหวะพูดให้ช้าลง
“คำสอนขงจื่อเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เวลาท่านเดินทาง ลูกศิษย์ก็จะบันทึกไว้ มีการสังคายนาเหมือนศาสนาพุทธ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
“เราพบว่าขงจื่อเป็นอกาลิโก คือทนทานต่อกาลเวลาและพิสูจน์ได้เสมอ” ณัฐพงศ์ทิ้งท้าย
จีนศึกษา
การเผยแพร่ขงจื่อผ่านสถาบันการศึกษาเริ่มเข้ามาในไทยปี 2557 ในนาม “สถาบันขงจื่อ” จากบทความ “วิเคราะห์เครื่องมือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จีนผ่าน ‘สถาบันขงจื่อ’ ในไทย” ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันขงจื่อ 16 แห่ง จากประมาณ 1,000 แห่งทั่วโลก
การตั้งสถาบันขงจื่อเป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนให้แก่ชาวต่างชาติ มีหลักสูตรสอนภาษาจีน เขียนพู่กันจีน ตัดกระดาษจีน ฯลฯ โดยเป็นหน่วยงานจัดการสอบวัดระดับภาษาจีน (HSK) และยังให้ทุนนักเรียนไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน
การเข้ามาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวของชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร ทำให้คนไทยรุ่นใหม่เริ่มเห็นความสำคัญของภาษาจีนมากขึ้น
การตั้งโรงเรียนจีนในไทยนับว่าสอดคล้องกับคำสอนและค่านิยมขงจื่อ เรื่องการบ่มเพาะคน การให้ความรู้ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยโดยเฉพาะด้านการศึกษา
สมชัย กวางทองพานิชย์ พ่อค้าเชือกย่านเยาวราช ชาวจีนโพ้นทะเลวัย 60 ปี ผู้อาศัยอยู่เยาวราชตั้งแต่กำเนิด และยังเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชนผู้สนใจประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมจีน มองว่า นอกจากคำสอนขงจื่อส่งผลต่อคนจีน คนจีนโพ้นทะเลในไทย ยังมีอิทธิพลต่อความคิดคนไทยเช่นกัน
“การให้ความสำคัญกับการศึกษา การให้เกียรติผู้มีการศึกษา ทำให้คุณอยากเรียนหนังสือ คุณมีเกียรติทางการศึกษาไหม… มี นี่ไงลูกฉันจบที่นี่มา ถ้ามีตรงนั้นคุณก็โดนขงจื่อกลืนไปแล้ว” สมชัยกล่าว ก่อนจะอธิบายต่อ
“คุณไปถามคนอื่นว่ารู้จักขงจื่อไหม เขาอาจไม่รู้จักหรอก เพราะขงจื่ออยู่ในวิถีชีวิตเรา ซึ่งเรามองข้ามไป”
เขายังเสริมว่าศาสนาต่างกันแค่การเรียงลำดับความสำคัญ จุดกำเนิด และวิถีปฏิบัติเท่านั้น ไม่ว่าจะศาสนาพุทธ ขงจื่อ หรือศาสนาอื่น ต่างมุ่งไปสู่ความสงบทางกายใจ และสอนให้เป็นคนดี
เพราะฉะนั้นคนอาจปฏิบัติ “ตรงกับ” คำสอนขงจื่อ แต่ไม่รู้จักขงจื่อก็เป็นได้
ความเชื่อที่ส่งต่อ
“โรงเจเสี่ยงเข่งตึ๊ง” ย่านตลาดพลู นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเต็มไปด้วยความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อความเชื่อคนไทยด้วย
อภิชา ตรีตั้งใจกุล ผู้ดูแลโรงเจเสี่ยงเข่งตึ๊ง วัย 59 ปี เล่าว่า ตนเริ่มติดตามอาม่ามาโรงเจตั้งแต่อายุ 12 ปี ซึมซับความคิดและวัฒนธรรมมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้ดูแลโรงเจอายุนับ 100 ปีแห่งนี้ สืบทอดและทำตามปณิธานของอาจารย์ปู่ ผู้ก่อตั้งชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทย
เขาอธิบายว่าแม้คนจีนจะนับถือศาสนาต่างกัน แต่ก็เข้าโรงเจและศาลเจ้าได้ วิถีปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่ก็นับถือเทพเจ้าเหมือนกัน อีกทั้งศาสนาพุทธกับจีนก็อยู่เคียงข้างกันมาตลอด การนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาไว้ในโรงเจหรือศาลเจ้าก็ทำได้ ถือเป็นการให้เกียรติสถานที่นั้น เพราะมาตั้งโรงเจในเมืองพุทธ
ชีวิตที่คลุกคลีกับโรงเจตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่บรรยากาศครึกครื้น ความคึกคักของโรงเจ มาจนถึงความเงียบเหงาในตอนนี้
“ประเพณีจีนน่ะ อย่าว่าแต่เมืองไทย ในเมืองจีนยังเริ่มจางหาย จะให้ทำยังไง ยุคสมัยเปลี่ยน คนตายก็เปลี่ยนจากฝังกลายเป็นเผา เพราะที่แพง”
เขาถอนหายใจเฮือกหนึ่งก่อนจะกล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังว่าต้องมีใครมาสานต่อ แค่ทำในส่วนตัวเองให้เต็มที่ ปล่อยให้เป็นเรื่องอนาคตต่อไป
เมื่อมองบริเวณตู้กระจกจะเห็นป้ายวิญญาณบรรพบุรุษซึ่งระบุชื่อผู้วายชนม์เป็นภาษาจีนเรียงหน้ากระดานหลายแถวอย่างแน่นขนัด อภิชาเล่าว่าป้ายวิญญาณเหล่านี้ก็แทบไม่มีลูกหลานมาไหว้อีกแล้ว บางคนจำป้ายไม่ได้เพราะอ่านภาษาจีนไม่ออก บ้างก็ย้ายถิ่นฐาน บ้างก็ลืม…
อภิชาเล่าด้วยเสียงอ่อนลงเล็กน้อย เนื่องจากคนแก่มาไม่ได้ ลูกหลานก็ไม่รู้ พอคนรุ่นก่อนล้มหายตายจาก คนรุ่นหลังก็ไม่มาแล้ว ทำให้ขาดการสืบทอดและการแนะนำที่ถูกต้อง
“การจัดเช็งเม้งของจีนคือกุศโลบายให้คนในครอบครัวมาเจอกัน ระลึกถึงความหลัง ที่จีนจัดช่วงปลายหน้าหนาว บ้านเราเป็นหน้าร้อน รีบไปรีบกลับ บางทีอาหารก็เสียแล้ว”
อภิชายกมือสองข้างประกบกันขณะเล่า เสียงล้อรถไฟกระทบรางจากอีกฟากถนนแทรกบทสนทนาเป็นระยะ
“พิธีกรรมกับความคิดเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะสังคมเปลี่ยน พิธีกรรม ประเพณีซึ่งไม่ใช่กิจวัตร ไม่ได้เกิดทุกวันเหมือนการทำงาน เป็นฤดู เป็นช่วง ปีนี้ทำ พอปีหน้าคนก็ลืมว่าต้องทำอะไร ต้องไหว้อะไรบ้าง” เขากล่าว
อนาคตจะยังมีขงจื่ออยู่ไหม ?
“ปรัชญาเมธีได้รับการยกย่องมากว่า 2,000 ปี เพราะฉะนั้นต้องมีดี ไม่งั้นไม่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้หรอก”
ในมุมมองของปริวัฒน์ เขาเห็นว่า “ขงจื่ออยู่ในทุกมิติชีวิต” และความยิ่งใหญ่ของขงจื่อจะยังคงส่งผลต่อผู้คนในอนาคต
ขณะที่สมชัยมองว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประเพณีมีการปรับและลดทอนลง เขายกตัวอย่างหนึ่งในข้อปฏิบัติ 24 กตัญญู ค่านิยมซึ่งระบุไว้ว่าลูกต้องไว้ทุกข์ 3 ปี เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต เขาบอกว่าสมัยนี้ไม่นิยมทำแล้ว
“เมื่อก่อนถ้ามีคนตายต้องติดป้ายกากบาทหน้าบ้าน เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครทำแล้ว เพราะเขาไม่อยากให้ใครรู้ว่าที่บ้านมีคนตาย หรือพ่อแม่เสีย การติดป้ายอาจเป็นสัญลักษณ์บอกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือว่าต่อไปใครจะเลี้ยงดูเขา” เขายกตัวอย่างให้ฟังก่อนจะขยายความต่อ
“แต่ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยมาดูแลแทน ต้องเข้าใจว่าขงจื่อเกิดขึ้นในภาวะสงคราม บ้านเมืองลำบาก ในภาวะบ้านเมืองสงบสุขสิ่งเหล่านี้ก็อาจไม่จำเป็น
“แต่ในทางกลับกันหากวันหนึ่งบ้านเมืองขัดแย้ง ภาวะที่สังคมขาดแคลน คำสอนของขงจื่ออาจเป็นสิ่งที่เราควรนำกลับมาจรรโลงสังคมได้หรือเปล่า”