ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
123rf : ภาพ

ฝุ่นควัน จาก “ร้านปิ้งย่าง” ถึง PM2.5 จาก “โรงงานอุตสาหกรรม”
การใช้เตาปิ้งย่างประกอบอาหารเป็นหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดควัน เป็นอันตรายโดยเฉพาะในห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศ (ภาพ : 123rf)

คพ.หนุน ชัชชาติ จัดการฝุ่นควันร้านปิ้งย่าง ชี้ แม้เป็นแหล่งกำเนิดเล็กๆ แต่ลดตรงไหนได้ก็ต้องทำ”

มติชนออนไลน์, 13 ธันวาคม 2566

หลายปีที่ผ่านมา แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของรัฐบาล มักเน้นเรื่องไฟป่า การเผาในพื้นที่โล่ง และการคมนาคม

กระทั่งปลายปี 2566 กรณีฝุ่นควันที่เกิดจากร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง บุฟเฟ่ต์ หมูกะทะ ถึงเริ่มได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง

ยกตัวอย่างช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ มติชนออนไลน์ ได้นำเสนอข่าวที่มีหัวข้อข่าวข้างต้น ระบุว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่าร้านอาหารปิ้งย่างมีส่วนทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 หนาแน่นขึ้นในบางพื้นที่ หากอยู่ในช่วงอากาศปิดสามารถทำให้ค่า PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นได้ หลังจากนี้ต้องไปสำรวจดูว่ามีที่ดักควันหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามกิจกรรมปิ้งย่างแต่อย่างใด แต่ต้องมีตัวดูดอากาศหรือกักเก็บควันก่อนปล่อยออกมา

ข่าวชิ้นเดียวกันยังนำเสนอบทสัมภาษณ์ ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ออกมาสนับสนุนประเด็นนี้ว่า ในภาพรวมแล้วแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักๆ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ การจราจรและการเผาไหม้ในที่โล่ง ในส่วนของการเผาไหม้จากร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง ถือเป็นหน่วยเล็กๆ ที่อาจจะทำให้เกิดเป็นกลุ่มควันเฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถูกต้อง เข้าใจได้ถึงความตั้งใจและที่มาที่ไปของความคิดนี้

“การเข้าไปจัดการหรือลดการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน ไม่ว่าในส่วนไหนก็ถือว่าดีทั้งสิ้น ช่วยกันได้ในส่วนไหนได้ก็ต้องช่วยกัน เริ่มจากตัวบุคคล ระดับครัวเรือน ไปถึงภาพรวมของประเทศ การจราจร ขนส่ง ใช้รถขนส่งมวลชนได้ก็ควรใช้ หรือหากมีรถส่วนตัวก็ต้องทำให้เครื่องยนต์สะอาด เติมน้ำมัน ยูโร 5 ซึ่งเป็นมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดโดยกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เพื่อวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง” มติชนออนไลน์ รายงานบทสัมภาษณ์ของ ปิ่นสักก์ สุรัสวดี

ไม่กี่วันต่อมาคือวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เว็บไซต์ ThaiPBS ก็นำเสนอข่าวพาดหัวว่า “ ‘ชัชชาติ’ ผุดไอเดียอุปกรณ์ดักควัน ‘รถเข็นปิ้งย่าง’ คุมฝุ่น PM 2.5” เนื้อข่าวกล่าวถึงผลการทดสอบพื้นที่ 2 แห่ง แห่งที่มีรถเข็นอาหารปิ้งย่าง ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าอีกแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากสร้างผลกระทบจริงก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้หยุดขาย แต่ทางผู้ว่าฯ ได้ให้โจทย์กับสำนักสิ่งแวดล้อมว่าจะสามารถทำอุปกรณ์หรือที่ดักควันเพื่อลดผลกระทบอย่างไร

“ใน กทม. มีการประกอบกิจการปิ้งย่างในลักษณะนี้โดยทั่วไป ทำให้เกิดควันเยอะมากขณะที่ทำ และในภาวะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงอยู่แล้วอาจเป็นการเพิ่มฝุ่นให้เฉพาะบริเวณนั้น หากอยู่ในบริเวณข้างเคียงและสูดควันเข้าไปเป็นประจำ ด้วยระยะเวลาติดต่อกันนานหลายปี ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ แต่ไม่ใช่ว่าการปิ้งย่างจะทำให้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทั้ง กทม.”

ทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ผู้คนทั่วไปทั้งในหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชน มักจะนึกถึงมลพิษทางอากาศจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร การคมนาคมขนส่ง รวมถึงร้านอาหาร แต่มักจะมองข้ามมลพิษทางอากาศที่มาจากภาคอุตสาหกรรม

ทั้งๆ ที่ฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรม โรงงาน นอกจากจะมีอันตรายในแง่ของความเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก มลพิษที่แฝงมากับฝุ่นเหล่านี้มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อพิษร้ายแรงต่อสุขภาพ มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายได้สูงกว่า และสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมหลากหลายประการ

อาจเป็นเพราะความเข้าใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งมลพิษที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับควบคุม ขณะที่การเผาทั่วไปในที่โล่ง หรือแม้แต่ร้านปิ้งย่างยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล จึงมองข้ามด้วยความวางใจ

mookrata02
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย การก่อสร้างอาคาร รวมถึงการเผาไหม้หรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในหมวดปัจจัยที่มนุษย์ควบคุมได้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เช่น อากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง อากาศนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่แพร่กระจาย (ภาพ : 123rf)

นิยามใหม่” ที่ทำให้ “โรงงานบางแห่ง” หายไป

จากการสืบค้นข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH – Ecological Alert and Recovery – Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรณรงค์เรื่องมลภาวะอุตสาหกรรม อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจำนวนรวมกันมากกว่า 13,272 แห่ง แบ่งออกเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 5,582 แห่ง และปริมณฑล 5 จังหวัดรวมกัน 7,690 แห่ง

มูลนิธิบูรณะนิเวศชี้ว่าโรงงานต่างๆ เหล่านี้จัดเป็นสถานประกอบการที่อาจเข้าข่ายก่อปัญหามลพิษอากาศและฝุ่นละออง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุว่าโดยพื้นฐานแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นโรงงานที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนเก่า มีลักษณะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายและขาดการจัดระเบียบตามผังเมืองสมัยใหม่ที่เหมาะสม ส่วนที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โรงผลิตยาง โรงฟอกย้อม เป็นต้น

“ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะมีนโยบายขยายการลงทุนออกไปยังภูมิภาคต่างๆ กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงเคยเป็นเขตพัฒนาฐานอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย” เพ็ญโฉมอธิบาย

หากจำกัดความตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สถานประกอบการที่มีกำลังการผลิตรวม 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป เข้าข่าย “โรงงาน” ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย

แต่หลังจากที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เมื่อปี 2562 และประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับ 2) พ.ศ. 2562 ขึ้นมาแทนที่

กฎหมายฉบับใหม่นี้แก้ไขนิยามความหมายของคำว่า “โรงงาน” ทำให้สิ่งปลูกสร้างหรือกิจการที่เข้าข่ายเป็น “โรงงานตามกฎหมาย” จะต้องมีขนาดหรือกำลังการผลิตเทียบเท่า 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

ทันทีที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จำนวนโรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ก็ลดฮวบจาก 13,272 แห่ง ตามนิยาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 เหลือ 8,756 แห่ง ตามนิยาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2562 เฉพาะโรงงานในกรุงเทพฯ ลดลงเหลือ 2,011 แห่ง

การเปลี่ยนนิยาม ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า “โรงงาน (ตามกฎหมาย) หายไป”

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือโรงงานที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่อยู่ในความควบคุมของ พ.ร.บ. โรงงาน อีกต่อไป แต่ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แทน

เมื่อคิดจากส่วนต่างของตัวเลขปี 2560 กับหลังปี 2562 เท่าที่พอมีข้อมูล พบว่า “โรงงานที่หายไป” โดยผลของกฎหมาย ส่วนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากถึง 3,571 แห่ง ส่วนที่ตั้งในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด มีจำนวน 945 แห่ง

“จากที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. โรงงานเหล่านี้จะย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร และย้ายจากความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมจังหวัดไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

การย้ายโรงงานอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจากการควบคุมกำกับตามกฎหมายโรงงานเข้าสู่ขอบเขตอำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอัตโนมัติตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ควรถูกตั้งคำถามว่าลดทอนการกำกับควบคุมโรงงานจากการปลดปล่อยสารมลพิษหรือไม่

“อดีตโรงงานที่เคยอยู่ในความควบคุมของกฎหมายโรงงาน 3,571 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ทางกรุงเทพมหานครดูแล และ 945 แห่งที่ตั้งอยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑล แบ่งออกเป็นสมุทรปราการ 352 โรง นนทบุรี 256 โรง ปทุมธานี 163 โรง, นครปฐม 101 โรง และสมุทรสาคร 73 โรง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายควรที่จะเหลียวแลและให้ความใส่ใจ อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยมาตรการลงสำรวจตรวจสอบ สำรวจสถานะว่า ถึงแม้จะไม่ใช่โรงงานตามนิยามกฎหมาย แต่ยังเป็นโรงงานในทางกายภาพหรือไม่ ประกอบกิจการประเภทใด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลที่ชัดเจน นำมาจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดีและครอบคลุม พร้อมที่จะนำมาใช้ประกอบการแก้ปัญหาและวางแผนกำกับดูแลต่อไปในอนาคต” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศเรียกร้อง

mookrata03
แผนที่แสดงจำนวนโรงงานรายเขต / อำเภอ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 (ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ เข้าถึงทาง https://rb.gy/1ve0v2)

ในฐานะแหล่งกำเนิดมลพิษ

ย้อนเวลากลับไปในปี 2549 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ได้กำหนดให้โรงงานต่างๆ ที่ประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย รวมถึงฝุ่นละออง ออกสู่บรรยากาศ

โรงงานเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ โรงงานเกี่ยวกับการหลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตเหล็ก การอัดเศษโลหะ โรงงานเกี่ยวกับสิ่งทอ การผลิตด้าย โรงงานเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากไม้ โรงงานเกี่ยวกับกระดาษ โรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาง โรงซ่อมและพ่นสีรถยนต์ โรงผลิตหรือบรรจุสารเคมี ปุ๋ยเคมี และโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

หลังปี 2549 ยังมีประกาศกระทรวงฉบับอื่นๆ เพื่อควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียและฝุ่นจากโรงงานเฉพาะบางกิจการ อาทิ โรงโม่ บด หรือย่อยหิน โรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานรีไซเคิล

สารมลพิษที่กฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องควบคุมก่อนปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองในรูปฝุ่นรวม กลุ่มก๊าซที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนในรูปก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ กรดกำมะถัน ไซลีน ครีซอล พลวง สารหนู ทองแดง ตะกั่ว คลอรีน และปรอท

สารข้างต้นเมื่อเล็ดลอดออกนอกโรงงาน มักตกค้างสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาจจับตัวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ทำให้ฝุ่นในอากาศรอบตัวเรามีความอันตรายมากยิ่งขึ้น

ม่านมัวของฝุ่นจากโรงงามอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุแห่งความรุนแรงของปัญหาฝุ่นที่เรากำลังมองข้ามไป