ทีม Youngสาว
เรื่อง : อุไรศรี ศุภดิลกลักษณ์
ภาพ : ทิพภา ปลีหะจินดา

นางสาวศรัญญา เกตจันทร์ บรรยายในงานประชุม หัวข้อ “ท้องไม่พร้อม”

งานจิตอาสาเป็นงานที่ทำด้วยใจ อาจไม่ได้เงินเป็นค่าตอบแทน หนำซ้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมกิจกรรม ซึ่งมีคนยอมจ่ายเพื่อจะได้ความรู้สึกดีต่อใจกลับมา ค่าตอบแทนคงเป็นอาหารสักมื้อ ขนมเล็กน้อย หรือค่าจ้างนิดหน่อย  หลายคนตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำงานจิตอาสาแล้วรับรายได้น้อยๆ หวังทำงานที่รัก มีความสุข เอาเข้าจริงก็อยู่ไม่ได้ ต้องกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย  

เอชไอวี/เอดส์/ท้องไม่พร้อม งานจิตอาสาที่มักถูกมองอย่างมีอคติ เป็นของร้อนที่ไม่มีใครอยากข้องเกี่ยว เพราะกลัวถูกเหมารวม ถูกรังเกียจ จากคนที่รับไม่ได้  อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ไม่นิยมทำงานจิตอาสาแบบนี้เท่าไรนัก

แต่มีเด็กสาวเจนวายคนหนึ่งยินดีทำงานนี้ เรามาทำความรู้จักเธอกัน

นางสาวศรัญญา เกตจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมูลนิธิแอคเซส ถ่ายที่สำนักงาน

จุดเริ่มต้น

นางสาวศรัญญา เกตจันทร์ อายุ ๒๙ ปี หรือ “ตาว” เกิดและเติบโตในเขตดอนเมือง จากพ่อที่เป็นทหารช่างอากาศคนลพบุรี และแม่สาวโคราชที่รับจ้างเย็บผ้า  พ่อตาวอยู่บ้านเช่ามาตลอด กู้หนี้สหกรณ์ส่งเธอเรียน เพิ่งย้ายมาอยู่แฟลตทหารในภายหลัง 

ตาวเรียนดีตอนอยู่ชั้นประถมฯ ที่โรงเรียนประชาอุทิศ (จันทาบอนุสรณ์)  เมื่อย้ายไปเรียนต่อมัธยมฯ ต้นที่โรงเรียนสีกัน (วัฒนานันท์อุปถัมภ์) และมัธยมฯ ปลายโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง การเรียนตกลงเพราะป่วยด้วยโรคต่อมไธรอยด์เป็นพิษ เข้าออกโรงพยาบาลกับโรงเรียนเป็นว่าเล่น ความทุกข์ที่พบเจอตั้งแต่เด็กทำให้ตาวเป็นคนช่างคิด  

ตาวมีโอกาสเห็นความรุนแรงในครอบครัวใกล้ๆ บ้านเช่า หัวหน้าครอบครัวใช้สารเสพติด เพื่อนบ้านทะเลาะกันเสียงดัง ลากลูกออกมาตี เห็นเป็นปรกติ  จนรู้สึกว่า ถึงขนาดนี้เลยหรือ

เธอตกอยู่ในสถานการณ์ทำนองนี้ของญาติและเพื่อนพ่อสองครั้งตอนอยู่ชั้นประถมฯ “กินข้าวอยู่ดีๆ เขาก็ทะเลาะแล้วตีกัน ในวงไม่มีเหล้า ไม่แน่ใจว่าเขามีปัญหาอะไรกัน” ครั้งแรกที่เจอคือถือมีดจ่อหน้าอก เป็นคู่สามีภรรยา มีคนห้าม จำภาพได้ติดตา  ไม่ชอบแบบนี้เลย รู้เพียงแค่นั้น 

แล้วตอนอยู่มัธยมฯ ปลายเพื่อนพ่อกับแฟนมาดื่มที่แฟลต คุยกันดีๆ แล้วสามีก็มาทำร้ายภรรยาเขา  ตาวอายุ ๑๗ ปีเริ่มโตตัวเท่าแม่ รู้สึกทนไม่ได้ เลยผลักอกคนที่เป็นสามีออกไป 

จากนั้นเขากลับบ้านกันด้วยดีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แต่ตาวถูกพ่อดุ ซึ่งตาวไม่เข้าใจว่าทำอะไรผิด ทำไมการไปห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงจึงถูกตำหนิ  พ่อบอกสั้นๆ ว่าเป็นเรื่องของครอบครัวเขา  ตาวได้แต่เถียงพ่อในใจ จะตีกันที่อื่นก็ไป แต่นี่มันต่อหน้า รับไม่ได้ “จะเป็นใครก็ไม่สมควรถูกกระทำด้วยความรุนแรง”  ตาวคิดแบบนี้มาเรื่อยๆ  

ในบ้านตาวก็ไม่ได้มีความรุนแรงใดๆ อาจมีโต้เถียงกันบ้าง “พ่อเป็นคนขี้บ่น บางทีแม่ก็สวน แล้วแต่วัน แต่ปรกติแม่จะนิ่งๆ เพราะไม่อยากมีปัญหา อยู่กันมานาน  ”  ตาวกล่าวด้วยความรู้สึกอัดแน่นในใจ

เมื่อเรียนชั้นมัธยมฯ ปลายเธอพยายามหาที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เหมือนเด็กทั่วไปที่ยังไม่รู้จักความถนัดของตัวเองจริงๆ เธอสอบได้ที่ต่างจังหวัดแต่พ่อไม่ให้เรียนด้วยความเป็นห่วงลูกคนเดียว ทำให้ตาวหวนนึกถึงสิ่งที่ตนเองสนใจ ว่าทำไมคนเราถึงมีจิตใจต่างกัน 

เธอไม่ชอบความรุนแรงในครอบครัว ตอนนั้นคิดแค่อยากรู้ อยากเข้าใจเรื่องของคนที่พบเห็นตอนเป็นเด็ก ทำไมเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ คนรอบข้างก็มีที่ไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์มากนัก หรือคนไข้จิตเภทที่มักถูกเรียกว่าคนบ้า เพราะอะไรทุกคนจึงดูถูกและด้อยค่าคนเหล่านั้น อยากรู้ว่าเขาเป็นคนที่อันตรายจริงไหม เลยตัดสินใจสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา วิชาเอกคือจิตวิทยาการปรึกษา  อีกเหตุผลหนึ่งคือ ค่าเรียนไม่แพง จะได้ช่วยพ่อแม่ประหยัดด้วย

มีโอกาสเจอรุ่นพี่ดีช่วยดูแลสนับสนุน เมื่อฝึกงานก็พบพี่ฝึกงานที่ดี ทำให้พัฒนาความสามารถไปได้มาก เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น

แต่พอสมัครงานตรงกับที่เรียนมาเป็นครั้งแรก กลับเสียเซลฟ์เพราะถูกเลิกจ้างว่าไม่เหมาะกับงาน ขนาดผ่านทดลองงานแล้ว รู้สึกว่าถูกตัดสินว่าไม่มีความสามารถ ทั้งที่ตอนฝึกงานก็มีศักยภาพโดดเด่นจนรุ่นพี่ชื่นชม  ตาวใช้เวลานับ ๑๐ เดือนกว่าจะฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ ทดลองสมัครงานอื่นๆ ที่แม่แนะนำก็ไม่ใช่ สุดท้ายแม่บอกให้ลองสมัครงานที่อยากทำจริงๆ อีกครั้งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ลักษณะการทำงานของหน่วยงาน
ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายร่วมกับกรมอนามัย 
กับผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิที่เปิดกว้างและให้โอกาสในการทำงาน

สายด่วน

เมื่อ “สายด่วน ๑๖๖๓ ปรึกษาเอชไอวี/เอดส์และท้องไม่พร้อม” เปิดรับเจ้าหน้าที่ ตาวสมัครโดยไม่ได้คาดหวังนัก ถ้าทำได้ก็จะได้ทำงานที่รัก ได้ทำตามอุดมการณ์ เป็นการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาตัดสิน  

“ลึกๆ ก็กังวลว่าจะทำได้ดีไหม แต่พี่ๆ ให้โอกาสมากๆ ทั้งสอนทั้งฝึกทุกอย่าง ให้คิด ที่สำคัญให้เราเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีที่ไหนจะมานั่งแลกเปลี่ยนกับผู้อำนวยการได้ทันที หลังประชุมก็มานั่งคุยกันได้”

หนูชอบการทำงานแบบนี้” ตาวบอก

สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ๑๖๖๓ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Aids Access Foundation) ให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อมทางโทรศัพท์ ให้บริการเรื่องเอดส์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ และเพิ่มเรื่องท้องไม่พร้อมตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ไม่มีวันหยุด สถิติการรับสายด่วนมีมากกว่า ๑๐๐ รายต่อวัน (๑๒ ชั่วโมง)

สถานการณ์ของเอชไอวีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีผู้เข้าไม่ถึงการรักษาและตกอยู่ในความวิตกกังวลเมื่อไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งเรื่องท้องไม่พร้อมด้วย  ผู้ประสบปัญหามักสับสนและกลัว  การหาทางออกไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการตีตรายังมีอยู่ มีการละเมิดสิทธิ์ของผู้หญิงที่อยู่ในภาวะท้องไม่พร้อม เช่นถูกกดดันให้ออกจากโรงเรียนหรือที่ทำงานเพราะตั้งท้อง

อาจต้องชวนสังคมหันกลับมาทำความเข้าใจเหตุผลและความจำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในสุขภาพและเคารพการตัดสินใจของผู้หญิงบนพื้นฐานที่ว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งครรภ์เพื่อทำแท้ง

การตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นปัญหาในเรื่องโครงสร้างเชิงวัฒนธรรม เพราะการตั้งครรภ์ได้ต้องมีผู้ชาย แต่ผู้หญิงกลายเป็นจำเลยว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว  ทุกคนล้วนมีบาดแผลจากความผิดพลาดนี้ การให้คำปรึกษาจึงนำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กฎหมายไม่ควรตัดสินผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม    และเราต้องมีกระบวนการเยียวยาจิตใจ มีพื้นที่ให้เขาได้ฟื้นตัวเองกลับมาใช้ชีวิตต่อ

“อยากให้ทุกคนเปิดใจ ไม่ต้องเข้าใจหรือคิดเหมือนกัน จะเกลียดก็ได้ แค่ไม่ก้าวล่วง ไม่คิดอยากปรับทัศนคติใคร แต่ถ้าวันหนึ่งจะเปลี่ยนใจก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยแล้วสั่งห้ามไม่ให้คนอื่นคิดต่าง” คำยืนยันที่หนักแน่นจากเด็กตาวเจนวายคนนี้

นอกจากให้ความช่วยเหลือรายบุคคล สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องสวัสดิการ ส่งผลให้มูลนิธิแอคเซสผลักดันให้เกิดการกำหนดในเชิงนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย ตาวในฐานะเจ้าหน้าที่จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจบริบทในเชิงโครงสร้างของสังคม ได้ขยายความคิด ทัศนคติ ค่านิยมในตัวตนไปด้วย ทำให้ตาวเริ่มคิดถึงตัวเองกับที่บ้าน  

งานเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้สังคมรับรู้

ความสุข

อันที่จริงตาวก็เหมือนเด็กสาวเจนวายทั่วไป ย้อมสีผม นุ่งกางเกงมากกว่ากระโปรง สั่งอาหารออนไลน์ จ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด แต่สิ่งที่ต่างคือตาวไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าพอประมาณ ไม่นิยมสินค้าแบรนด์เนม รู้จักคุณค่าของเงินมากพอที่จะไม่คล้อยตามแรงกระเพื่อมของสังคมที่แข่งกันอวดสวย โชว์รวยและความเป็นอยู่หรูหราตามโซเชียลฯ  อาจเพราะสถานะการเงินที่บ้านตั้งแต่เด็ก รวมถึงได้คลุกคลีกับผู้ประสบความทุกข์ในเรื่องเอชไอวี ท้องไม่พร้อมด้วยที่หล่อหลอมให้เป็นตาวอย่างทุกวันนี้

แม้เงินเดือนไม่มากแต่ก็พอใช้ ช่วยพ่อปิดหนี้สหกรณ์ ซื้อรถเพื่อความสะดวกในการทำงาน และซื้อบ้านเพื่อทดแทนแฟลตที่ต้องคืนห้องเมื่อพ่อเกษียณ เธอจัดการจนครบเมื่อทำงานได้เพียง ๕ ปี นี่อาจเป็นเรื่องปรกติสำหรับคนอื่น “แต่หนูภูมิใจที่ทำได้ขนาดนี้ เพราะที่บ้านมีหนี้สินมาก่อน”  

นอกจากความสุขที่มีรายได้จากการทำงาน งานที่ตาวรับผิดชอบยังดีต่อใจด้วย  ดูเป็นเรื่องน่ากลัวที่จะเข้าไปยุ่งกับเรื่องน่าอึดอัดใจเกี่ยวกับทัศนคติความเชื่อและศีลธรรมในสังคม  แต่เมื่อฝ่าด่านแห่งความกลัวเข้าไปแล้ว  จะพบว่าผู้คนที่ประสบปัญหาดังกล่าวต่างต้องการคนเข้าใจ ให้อภัยในความผิดพลาด ช่วยเหลือให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสมภาคภูมิความเป็นมนุษย์พร้อมก้าวเดินใหม่

งานของตาวมีหลายรูปแบบ ล้วนแต่ทำให้ตาวเรียนรู้และเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ  แน่นอนว่ามีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ

ทุกครั้งที่เริ่มสับสน ตาวตั้งคำถามกับตัวเองว่ายังอยากทำงานต่อไหม หรืองานนี้ยังมีประโยชน์ มีความสำคัญไหม ก็มักจะมีผู้รับบริการสักราย หรือเรื่องหนึ่งทำให้รู้สึกดีขึ้น ว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายยังสำคัญต่อใครบางคนอยู่   

บางคราโทรฯ ไปหาผู้รับบริการรับรู้จากน้ำเสียงว่าเขาเครียดหนัก ทุกข์มาก แสดงถึงภาวะไม่มีทางออก  เมื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือ พอคลี่คลายปัญหาได้ โทรไปหาเขาอีกครั้ง เสียงเขาดูผ่อนคลาย เปลี่ยนจากครั้งแรกที่คุยกัน รู้สึกดีที่เขาดำเนินชีวิตต่อได้ ไม่ต้องทุกข์เพราะชีวิตผิดแผน 

“แค่ร่วมรับรู้ว่าเราช่วยคนอื่นได้ มันก็ฮีลใจเราด้วย” ตาวเล่าความรู้สึกที่ยังประทับใจ

มีบางรายทุกข์ใจมากจนคิดฆ่าตัวตายเพราะหาทางออกไม่ได้ ก็คุยกับเขาว่าจะจัดการตัวเองอย่างไรเพื่อให้ชีวิตไปต่อ เขารู้สึกผิดอยู่แล้ว เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็เลยคิดได้ไม่ฆ่าตัวตาย “ขอบคุณนะคะที่ไม่ทิ้งหนู พี่ไม่ใช่คนในครอบครัวยังช่วยหนูขนาดนี้”  

ความสำเร็จของตนเองให้พ่อแม่ภูมิใจ

ลองกอง

การทำงานใดๆ ย่อมมีอุปสรรคเสมอ เช่นเดียวกับตาวที่ประสบความยุ่งยากในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังมีอคติในเรื่องนี้  กว่าจะเจรจาสำเร็จคนไข้ก็เป็นโควิด แถมอายุครรภ์หมิ่นเหม่เกือบทำไม่ได้ โชคดีที่แพทย์รับปากจะช่วยจัดการ แต่ขอให้รักษาตัวจนหายป่วยก่อน  

คนไข้เคสนี้พูดขอบคุณ ๑๖๖๓ เขาจะเก็บลองกองที่สวนส่งมาให้ ที่เราช่วยประสานจนเขาได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที 

“นี่เป็นอีกเรื่องที่ฮีลใจ ไม่ได้ต้องการอะไรจากเขา แค่เขาใช้ชีวิตเหมือนเดิมก็ดีมากแล้ว แต่ที่เขานึกถึงเราก็เป็นสิ่งดีต่อใจ เหตุการณ์ทำนองนี้มีทุกวันทุกเดือน ทำให้เรามีความสุข” ตัวเนื้องานที่ทำเพื่อคนอื่นกลับมาเป็นกำลังใจให้คนที่ทำตามหน้าที่ ตาวเล่าแววตาเป็นประกาย

ลองกองลังใหญ่อร่อยหอมหวานสมเป็นพันธุ์ดีจากปักษ์ใต้ รสชาติที่ชิมกลับสัมผัสไปถึงใจของผู้ที่ได้ลิ้มรส เป็นการตอบรับที่อิ่มท้องและอิ่มใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน

นางสาวศรัญญา เกตจันทร์ สาวเจนวายบรรลุความสุขทั้งสี่ด้านตั้งแต่อายุน้อย อันได้แก่ สุขกาย สบายใจ สติปัญญาแจ่มใส จิตวิญญาณงอกงาม ได้สมดุลของความพึงพอใจพื้นฐานในชีวิตที่เป็นวัตถุสิ่งของ กับความสุขเชิงนามธรรมด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายจากงานที่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ตามหา 

งานจิตอาสาที่รายได้พอเลี้ยงตัว แต่ทำแล้วมีความสุข อาจเป็นคำตอบให้ชีวิตได้ดีกว่างานที่ทำให้รวยแต่ไม่มีความสุขอย่างที่ประสบอยู่ก็ได้


กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 4

ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ นิตยสารสารคดี

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา

#ท้องไม่พร้อม #เอชไอวี #เอดส์ #จิตอาสา #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส