เรื่องและภาพ : ทิพภา ปลีหะจินดา

nammuk01

เมื่อรั้วระแนงสีขาวเปิดรับ ฉันเดินผ่านสวนสวยสู่เฉลียงอันร่มรื่น ผ่านบานประตูกระจกไปยังห้องเล็กๆ ที่ใช้เป็นทั้งห้องรับแขกและสำนักงาน สตรีวัยใกล้ ๗๐ นั่งอยู่บนวีลแชร์ข้างโต๊ะอาหารยกมือขวาขึ้นรับไหว้ พยักหน้าน้อยๆ เป็นเชิงรับรู้ ขณะ “ผึ้ง” น้องสาว ทบทวนความทรงจำว่าฉันคือใคร

การนัดหมายเข้าเยี่ยม “คุณพี่” เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อฉันกับผึ้งเพื่อนวัยเด็กพบกัน ฉันทราบข่าวคุณพี่มาหลายปีและเพิ่งกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด อยากใช้โอกาสนี้ไปสวัสดี ผึ้งรับปากจะบอกให้พี่สาวทราบว่าฉันอยากมาเยี่ยม

เราจึงได้พบกันหลังอาหารมื้อบ่าย คุณพี่ยังมีเค้าความงาม ผิวพรรณผุดผ่องอย่างที่ฉันคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก แถมวันนี้ผัดหน้านวลดูแจ่มใส

“คุณโชคดีมากนะครับที่ได้เข้าเยี่ยม หลายคนผิดหวังกลับไป เราต้องดูอารมณ์ของคุณพี่ก่อนว่าสบายใจไหมที่จะพบและพูดคุยด้วย” ชายหนุ่มที่นั่งอยู่ในสำนักงานผู้มีศักดิ์เป็นน้องของคุณพี่เอ่ยขึ้นพร้อมยิ้มกว้าง

เราสนทนาเรื่องราวความหลังที่ผึ้งสรรหารื้อฟื้นมาคุยด้วยบรรยากาศเบิกบานใจ คุณพี่มีปฏิกิริยาโต้ตอบน้อยๆ ทางสีหน้าและแววตา พลางตอบคำถามน้องสาวสั้นๆ

“กับพี่โอ๊ตน่ะ พ่อแม่เคยพูดว่ายังไงนะ” ผึ้งถามคุณพี่ถึงพี่ชายของฉัน

“โตขึ้นจะให้แต่งงานกัน” คุณพี่ตอบชัดเจน ทุกคนหัวเราะเฮฮา ฉันยิ้ม รู้สึกจุกในลำคอ

คุยเล่นพักใหญ่ก็ได้เวลาพักผ่อน ฉันเอ่ยลา คุณพี่พยักหน้าเมื่อผึ้งถามว่าวันหลังฉันจะมาคุยอีกได้ไหม จากนั้นผึ้งก็เข็นวีลแชร์ออกจากห้องสำนักงาน หายเข้าไปในห้องพักชั้นล่างของบ้านซึ่งอยู่ใกล้ๆ

“คุณพี่ลื่นล้มในห้องน้ำ กระทบสมองส่วนหน้า เป็นอัมพาตซีกซ้ายและนอนติดเตียง” ผึ้งเท้าความเหตุการณ์เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว

nammuk02
nammuk03

ฉันใจหาย เคยทราบว่าสมองส่วนหน้า (frontal lobes) บริเวณหน้าผากเป็นจุดสำคัญมาก ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน ควบคุมอารมณ์และการแสดงออก โดยพื้นที่ด้านซ้ายของสมองส่วนหน้าจะควบคุมการพูดด้วย คุณพี่หกล้มเพียงครั้งเดียวได้รับความกระทบกระเทือนมากถึงเพียงนี้

“ครอบครัวพยายามหาหมอและวิธีรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดเพื่อยื้อชีวิตคุณพี่ เพราะมีเลือดคั่งในสมอง ต้องเจาะและดูดออก หลังพักฟื้นในโรงพยาบาลกว่า ๑ เดือน ในที่สุดก็ผ่านวิกฤต ได้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน” ผึ้งเท้าความต่อ

เมื่อถามเรื่องความทรงจำของคุณพี่ คุณผึ้งเล่าว่า “จำเหตุการณ์ช่วงหลังหกล้มไม่ได้เลย เหลือแต่ความทรงจำเก่าๆ ก่อนหน้านั้น”

มิน่าคุณพี่ถึงจำเรื่องราวระหว่างสองครอบครัวของเราได้ดี

บ่ายวันหนึ่งผึ้งชวนฉันเข้าไปส่งคุณพี่ในห้องพัก พลางเล่าถึงคนสำคัญอีกคนที่มีบทบาทช่วยเหลือ

“อาจารย์พยาบาล เพื่อนสนิทของคุณพี่แนะนำการปรับสภาพบ้านให้เป็นโรงพยาบาล”

ฉันมองดูรอบๆ ห้องนี้ติดเครื่องปรับอากาศ เตียงผู้ป่วยอยู่ใกล้ประตูเข้าออก เตียงของผึ้งอยู่ถัดเข้าไป อีกด้านเป็นห้องน้ำ ทุกสิ่งอย่างเพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วย

“สอนให้เราเรียนรู้การพยาบาลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกติดเตียง เพื่อทำหน้าที่พยาบาลประจำตัวคุณพี่” เล่าพลางพยุงตัวพี่สาวขึ้นจากวีลแชร์ จับหันหลังนั่งบนเตียง ประคองให้นอนลง พลิกตัวตะแคงและสอดหมอนข้าง ทุกอย่างคล่องแคล่วรวดเร็วแต่เบามือ ฉันสัมผัสได้ถึงทักษะความชำนาญ

ช่วงปีแรกๆ ผึ้งยังติดพันกับการงานที่เธอรักและทำมานานถึง ๓๕ ปี การดูแลพี่สาวควบคู่ไปด้วยเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่น้อย เธอจึงตัดสินใจวางมือจากงานมาดูแลพี่สาวอย่างเดียว ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังปรับตัวไม่ได้ก็สับสนในชีวิตบ้าง แต่ด้วยความรักที่มีต่อพี่สาว ทุกอย่างก็ค่อยเป็นค่อยไปจนเข้าที่

“คุณพี่ตื่นเช้าราว ๖-๗ โมง พยุงให้ลุกจากเตียง นั่งวีลแชร์สำหรับอาบน้ำ แล้วเข็นรถเข้าห้องน้ำ วีลแชร์ตัวนี้โรงพยาบาลให้มา” เธอเล่ากิจวัตรประจำวันในการดูแลพี่สาว

“ถอดผ้าอ้อม เปิดน้ำฝักบัวอุ่นๆ ทำความสะอาด อาบน้ำ สระผม นวดผม ออกมาเช็ดตัว ทาแป้งเย็นโยคี ใส่ผ้าอ้อม ใส่เสื้อผ่าหน้าติดกระดุม กางเกงเอวยืด ถุงเท้า นั่งวีลแชร์อีกคันสำหรับออกข้างนอก คันนี้ซื้อเอง เรียกว่ารถทัวร์” เธอเล่ายิ้มๆ

นั่งรับแสงแดดอ่อนแล้วกินข้าวเช้าที่เฉลียงริมสวน ผึ้งจัดอาหารวันละสองมื้อ มื้อเช้าเป็นอาหารอ่อนย่อยง่ายประเภทโจ๊ก ข้าวต้ม โดยให้คุณพี่ใช้มือขวาหยิบช้อนตักกินเอง หลังอาหารนั่งเล่นอยู่พักหนึ่ง ราว ๑๐ โมงพากลับเข้าห้อง นอนพักผ่อน เปิดทีวีให้ดูหรือเปิดเพลงให้ฟัง

ช่วงบ่ายคุณพี่ตื่นนอนราวบ่าย ๒ บ่าย ๓ เช็ดตัว เปลี่ยนผ้าอ้อม กินอาหารราวบ่าย ๔ โมง เป็นข้าวสวยกับอาหารทั่วไปที่ย่อยง่าย ถ้าอากาศร้อนอาจเข้าไปนั่งในห้องสำนักงาน วันไหนอากาศไม่ดีก็จัดโต๊ะในห้องนอน

“เราพยายามกระตุ้นให้คุณพี่ได้ใช้อวัยวะซีกขวาที่ยังปรกติดีให้ทำนั่นทำนี่ด้วยตัวเอง เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน บ้วนปาก ฟอกสบู่ เช็ดตัว ผัดหน้า จับช้อนกินข้าว ถอดถุงเท้า ทำได้แค่ไหนก็ให้ทำ เราช่วยเพียงเล็กน้อย” ผึ้งเล่า

นอกจากดูแลทางกายภาพแล้ว เธอพยายามศึกษาวิธีบำบัดที่จะช่วยฟื้นฟูความทรงจำ สมัยก่อนคุณพี่ชอบไปกินข้าวตามร้านที่มีเพลงฟังเป็นประจำ ระหว่างเวลาอาหารจึงเปิดเพลงเบาๆ อย่างเพลงของ สุเทพ ธานินทร์ ชรินทร์ ที่คุณพี่ชื่นชอบ เพื่อจัดบรรยากาศให้คล้ายวันเก่าๆ ที่พี่สาวมีความสุข บางวันอารมณ์ดีก็อาจได้ยินเสียงฮัมเพลงคลอตามเบาๆ เธอเชื่อว่าวิธีเปิดเพลงให้ฟัง หรือ music therapy จะช่วยกระตุ้นความทรงจำที่เป็นความสุขให้หวนกลับมา

อาการทั่วไปอย่างหนึ่งที่มักพบในผู้ป่วยติดเตียงคือแผลกดทับ เธอพยายามดูแลร่างกายทุกส่วนของคุณพี่ให้สะอาด แห้งสนิท ทาแป้งให้ลื่นสบายตัว คอยกลับตัวให้นอนตะแคงเสมอ แต่ก็ยังเกิดแผลบ้างบริเวณหลัง ผึ้งทาครีมจากโรงพยาบาล ญาติมิตรล้วนช่วยเสนอสิ่งต่างๆ ที่จะสนับสนุนการดูแลเรื่องนี้

nammuk04
nammuk05
nammuk06

เหมือนฟ้าส่งของขวัญพิเศษมาประทานให้ วันหนึ่ง “เอื้อย” เพื่อนรักสายน้ำหมักมาเยี่ยมและแนะนำให้รู้จักการใช้น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสเปรี้ยวป้องกันรักษาอาการแผลกดทับ

ผึ้งหยิบเอกสารเผยแพร่ที่จัดทำโดยกลุ่มสันติชีวภาพที่เอื้อยฝากไว้มาให้ดู เอกสารนั้นมีข้อมูลว่า น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสเปรี้ยวมีฤทธิ์เป็นกรดจัด มีค่า pH ประมาณ ๓-๓.๕ มีสรรพคุณช่วยสลายไขมันหรือขจัดคราบสกปรกต่างๆ ได้ดี มีกลิ่นหอมของผลไม้หรือกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเปลือกผลไม้ และยังมีสรรพคุณอื่นๆ ตามชนิดผลไม้ที่หมัก เมื่อนำน้ำหมักชีวภาพล้างแผล จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ (EM) จะยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มทำลาย จึงช่วยยับยั้งการทำงานของเชื้อโรคในแผลได้อย่างดี

ในเอกสารยังมีสูตรทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชผักผลไม้หลายชนิด ให้ส่วนผสม วิธีทำง่ายๆ และการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งล้างแผล ซักผ้า ล้างห้องน้ำ ล้างรถ เช็ดกระจก ผสมน้ำรดต้นไม้ ผสมน้ำล้างจาน

“แรกๆ เรายังไม่ยอมรับเพราะไม่เข้าใจเรื่องน้ำหมักชีวภาพ แต่เอื้อยพยายามมาก หาถังหมัก ผลไม้รสเปรี้ยวพวกมะกรูด มะนาว มะยม มะเฟือง พร้อมน้ำตาลทรายแดงมาหมักให้เสร็จสรรพ หมักไว้ ๖ เดือนก็ตักน้ำไปใช้ได้” เธอเล่าพลางพาเดินดูถังหมักที่เรียงรายอยู่ข้างบ้าน เปิดฝาและฟายผลไม้หมักขึ้นมาให้ดู

“พอน้ำในถังพร่องก็เติมน้ำและน้ำตาลตามสัดส่วนเพื่อหมักได้อีกรอบ ส่วนกากก็ใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เช่นทำปุ๋ย”

ในถังมีน้ำใสแจ๋ว ผลไม้หมักจมอยู่เบื้องล่าง ฉันสูดกลิ่นอันหอมชื่นใจของน้ำหมักชีวภาพนั้น

“เอื้อยสอนวิธีใช้ว่าทุกเช้าเวลาอาบน้ำ ใช้น้ำหมักชีวภาพราดแผล อาบน้ำเสร็จใช้สำลีชุบเช็ดอีกรอบ พอแห้งโรยแป้งโยคี แล้วใส่ผ้าอ้อม ตอนบ่ายเปลี่ยนผ้าอ้อมก็ทำเหมือนเดิม แผลกดทับก็ดีขึ้น ผิวหนังค่อยๆ กลับมามีสภาพปรกติและไม่เกิดแผลใหม่”

เมื่อผึ้งสัมผัสประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยตนเอง จึงรู้ว่าสิ่งที่เอื้อยแนะนำนั้นดีจริง ความกังวลเกี่ยวกับแผลกดทับหมดไปโดยสิ้นเชิง น้ำหมักชีวภาพเหมือนมือวิเศษที่ยื่นมาช่วย

“น้ำมะกรูดใช้กับผม น้ำมะยมใช้กับผิว” ผึ้งสรุปสั้นๆ ให้จำง่าย “ส่วนน้ำ เราจะใช้น้ำอุ่นทั้งน้ำอาบและน้ำดื่ม ไม่ใช้น้ำเย็นเลย น้ำอุ่นจะดีต่อสุขภาพ “

นอกจากใช้น้ำหมักชีวภาพล้างแผล ผึ้งยังใช้แทนครีมนวดผมหลังสระ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด พบว่าเส้นผมนุ่มหอม ใช้สำลีชุบเช็ดหน้าแทนโทนเนอร์ทำให้ผิวใส ผุดผ่องมีเลือดฝาดอมชมพู เธอเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่คุณพี่ใช้มาเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งหมด

หมดกังวลเรื่องเรื่องแผลกดทับ ยังมีปัญหาการขับถ่าย ผู้ป่วยมักขับถ่ายน้อยกว่าคนปรกติ คุณพี่ดื่มน้ำไม่ค่อยได้เพราะกลืนลำบาก มีผลให้ขับถ่ายน้อย ๗-๑๐ วันต่อครั้ง ผึ้งพยายามหาวิธีลดวันลงด้วยผลไม้หลังมื้ออาหาร ทดลองหลายอย่าง ในที่สุดก็ลงตัวที่มะม่วงสุกและกล้วยน้ำว้า ลดวันลงได้เป็น ๕ วันต่อครั้ง

“เวลาคุณพี่ขับถ่ายออกมา เราจะมีความสุขมาก” ผึ้งบอกพร้อมรอยยิ้มโล่งใจ

ความสุขอีกอย่างของผึ้งคือเสียงกรนหรือเสียงหายใจดังของพี่สาว ถ้าเงียบๆ เธอจะนอนไม่หลับต้องลุกมาคลำเนื้อตัว เสียงกรนหรือหายใจดังทำให้เธอหลับสบายอยู่ข้างๆ เพราะนั่นคือสัญญาณของความมีชีวิต

บางวันฉันกับผึ้งก็นั่งพูดคุยถึงวันเก่าๆ สมัยพวกเรายังเด็ก

“แต่ก่อนครอบครัวได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้า พ่อแม่ใช้เวลานี้สั่งสอนปลูกฝังให้ลูกๆ รักกัน พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นจะรู้เลยว่าพี่น้องรักกันจริง”

เพราะเธอกับคุณพี่เป็นพี่น้องที่สนิทกัน หลังจบมัธยมฯ ได้ติดสอยห้อยตามพี่สาวไปเรียนที่กรุงเทพฯ เรียนจบและทำงานในสาขาเดียวกัน พี่น้องใช้ชีวิตโสดอยู่ระยะหนึ่งจึงกลับมาเปิดสำนักงานที่บ้านเกิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับพี่สาวคนโต เธอจึงเหมาะสมที่สุดที่จะดูแลภารกิจสำคัญนี้ น้องๆ คนอื่นต่างคอยสนับสนุนค่าใช้จ่าย เธอรู้สึกอบอุ่นใจที่พี่น้องรักและไม่ทอดทิ้งกัน

เพื่อนๆ ก็เป็นความสุขของเธอเช่นกัน แม้ภารกิจดูแลพี่สาวทำให้เธอออกจากบ้านไม่สะดวกบ้าง เพื่อนๆ ก็ยังมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่น บางวันมารับไปกินข้าวข้างนอก บางวันมาเยี่ยม มาชุมนุมกินข้าวที่บ้าน

“พวกนี้แต่ละคนมีหัวโขนทั้งนั้นแหละ มาพบกันก็ถอดหัวโขน กินข้าว คุยกันสนุก” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

ความสุขอีกอย่างหนึ่งของผึ้งคือการแบ่งปัน เธอมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าและน่าจะเป็นประโยชน์แก่คนรอบข้าง จึงเล่าเรื่องราวนี้เพื่อเผยแพร่ว่าน้ำหมักชีวภาพมีประสิทธิภาพดีอย่างไรต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งแบ่งปันน้ำหมักแก่มิตรสหายและสนับสนุนให้ทำน้ำหมักไว้ใช้เองในบ้าน พร้อมแจกเอกสารที่เอื้อยฝากไว้แก่ผู้สนใจ

ล่าสุดโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่เชิญผึ้งเป็นวิทยากรบอกเล่าเรื่องราวนี้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งหลายคนเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน และสักวันอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียงเอง ช่วงที่โรงเรียนผู้สูงอายุปิดเทอมเธอจึงจัดเตรียมเนื้อหา เมื่อเปิดเทอมราวเดือนเมษายน เธอก็จะไปถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้สูงอายุฟัง อีกทั้งชุมชนจะได้รู้วิธีหมักผลไม้รสเปรี้ยวที่ราคาถูกและมีดาษดื่นในสวนของทุกบ้านให้เป็นน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ปล่อยทิ้งให้ร่วงหล่น

ถึงวันนี้ผึ้งได้ทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวจนล่วงเข้าปีที่ ๑๑ เมื่อครั้งที่เธอและพี่สาวยังทำงาน ทั้งคู่ใช้วิชาชีพช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนมามาก ฉันเชื่อว่าความรักในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้หยั่งรากลึกในจิตใจเธอ พอเกิดเหตุการณ์นี้กับพี่สาว จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอผู้มองโลกในมุมบวกที่จะใช้ความรักปัดเป่าความหม่นเศร้าออกจากครอบครัวและแปรเป็นความสุขอันงดงาม

nammuk07

ฉันสัมผัสความสุขนี้ได้จากรอยยิ้มและแววตาเธอยามพูดถึงพี่สาว

“เมื่อเราทำด้วยความรักและเต็มใจเราก็มีความสุข อยากให้ผู้คนคิดว่าทำบุญไม่จำเป็นต้องไปที่วัด ทำกับคนในครอบครัวก็เป็นความสุขที่เราทำได้” เธอกล่าวก่อนจากกัน

ฉันปลื้มปีติกับความสุขของผึ้งซึ่งเกิดจากการดูแลพี่สาวผู้เป็นที่รัก

น้ำหมักชีวภาพ #ผู้ป่วยติดเตียง #ดูแลผู้สูงอายุ #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส