ทีมความสุขหมุนรอบลานวัว
เรื่อง : เกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง
ภาพ : วราพงษ์ ท่าขนุน

จากชาวนา กรรมกร ยาม…สู่คนปั้นน้ำตาลที่ฉนวนกาซา

“ชาโลม” จู่ๆ ภาษาฮีบรูที่แปลว่า “สวัสดี” ก็ดังอยู่ข้างหู “ลุงไลย์” อุไลย์ อาจประจันทร์ ชายชราผู้ปั้นน้ำตาลโบราณขายมานานเกือบ ๔ ทศวรรษ ระหว่างขะมักเขม้นใช้กรรไกรก้ามปูเล็มก้อนน้ำตาลอุ่นระอุในมือ ยืดดึงเส้นหนึบเหนียวให้กลายเป็นแขนขาของลิงตกเบ็ดในห้างเซ็นทรัล บางนา ที่จำลองบรรยากาศงานวัดย้อนยุคให้เข้ามาอยู่ในศูนย์การค้าย่านชานเมือง ประติมากรน้ำตาลเงยหน้ามองฝรั่งหัวทองเจ้าของเสียง

“จำได้ไหม เราเคยเจอกันที่อิสราเอล ลุงไปปั้นน้ำตาลที่นั่น”

punnamthan02
punnamthan03

สมองส่วนความทรงจำของลุงไลย์กำลังนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๔๖ กระทรวงวัฒนธรรมเชิญลุงไปร่วมออกร้านในงานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยที่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล รวมถึงนครเยรูซาเล็มและเมืองสำคัญอื่นๆ ร่วมกับนักแสดงนาฏศิลป์ ช่างฝีมือ และพ่อครัวอาหารไทยทั้งหมด ๔๓ คน ถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศและนั่งเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต หลังจากหมอดูเคยทำนายว่าจะได้ไปเมืองนอก แต่ลุงไม่ปักใจเชื่อเพราะเรียนจบแค่ ป. ๔ พูดภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ แล้วสิ่งที่ลุงมองว่างมงายก็กลายเป็นจริง

“มีพิธีเปิดงานที่สถานทูตไทยในอิสราเอล ลุงไปปั้นน้ำตาลขายให้แรงงานไทยที่นั่น เด็กๆ อิสราเอลก็มาเข้าแถวซื้อน้ำตาลปั้นจากลุงเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ขายไม้ละ ๕ บาท พวกคนงานบอกว่าไม่ได้กินน้ำตาลปั้นมานานตั้งแต่สมัยยังเด็ก กินแล้วคิดถึงบ้าน ลุงไปฉนวนกาซามาด้วย เขายังไม่ได้ยิงกัน ไปดูหลุมฝังศพพระเยซู บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่มารีย์ ทะเลสาบเดดซีก็ไปแต่ไม่ได้เตรียมชุดไปเปลี่ยน เลยไม่ได้นอนลอยตัวเหมือนคนอื่น ออกงานนาน ๑๐ กว่าวัน กลับไทยได้แค่ ๒ วันดูในข่าวมียิงกันที่ฉนวนกาซา พอคนอิสราเอลมาเที่ยวไทยแล้วเข้ามาทักก็ดีใจ ไม่คิดว่าจำเราได้”

ลุงไลย์พรั่งพรูความทรงจำเมื่อ ๒๐ ปีก่อนให้ผมและเพื่อนฟัง หลังได้ยินผู้ประกาศในโทรทัศน์รายงานข่าวสงครามที่อิสราเอลสู้รบกับกลุ่มฮามาส

โชคชะตากำหนดให้ผมพบชายชราหัวใจเคลือบเกล็ดน้ำตาลครั้งแรกในเทศกาลผัดกะเพราที่สถานีรถไฟหัวลำโพงปลายเดือนสิงหาคมปีกลาย เพราะไปเป็นกรรมการตัดสินแข่งขันทำผัดกะเพราชิงแชมป์ประเทศไทย และเดินเจอร้านของลุงโดยบังเอิญ

ผมสะดุดตากับ “น้ำตาลปั้นโบราณ” ขนมหวานที่เคยกินวัยเด็กหน้าโรงงิ้วในศาลเจ้าไต่เสี่ยฮุกโจ้วที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพราะหากินยาก ทั่วประเทศไทยมีคนทำอาชีพนี้ไม่ถึงครึ่งร้อยคน และกำลังจะละลายจากความทรงจำของใครหลายคน ในยุคที่ขนมขบเคี้ยวและเบเกอรีเข้ามาแทนที่

ลุงไลย์วัย ๖๐ กะรัต บ้านเดิมอยู่ตำบลละหานนา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เคยทำไร่ทำนามาก่อน เข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุ ๒๐ ต้นๆ ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจจึงไปแสวงหาลู่ทางใหม่ในเมืองกรุง

“สมัยก่อนอยู่อีสานแห้งแล้งกันดาร ถนนหนทางมีแต่ดินลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ ก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคาเป็นชามละ ๑ บาท ถือว่าแพงมากในตอนนั้น คิดอยากไปหางานทำเป็นกรรมกรก่อสร้างในกรุงเทพฯ ตัดสินใจนั่งรถจากแวงน้อย เดิมเป็นกิ่งอำเภอเล็กๆ ไปที่เมืองพล อำเภอใหญ่ที่มีสถานีรถเข้ากรุงเทพฯ ค่าตั๋ว ๕๐ บาท เป็นคนงานก่อสร้างแถวสาธุประดิษฐ์ได้พักใหญ่ เปลี่ยนมาเป็นยามของบริษัทไลออนส์ เฝ้าโรงงานและโกดังเก็บข้าวได้ปีกว่า ค่าแรงวันละ ๗๕ บาท กระทั่งพี่ชายแนะนำให้ลองปั้นน้ำตาล เขาได้วิชาจากพี่เขยของเพื่อนที่เป็นคนจีน ลุงได้เมียอยู่ที่บ่อนไก่ จนอยู่เรื่อยมาถึงทุกวันนี้”

punnamthan04
punnamthan05

ลุงไลย์ใช้เวลาหลังออกเวรตอนบ่าย ๒ โมง มาฝึกปั้นน้ำตาลช่วงเย็น ไม่ถึงเดือนฝีมือก็ตกผลึก “ลิงตกเบ็ด” คือผลงานชิ้นแรก แล้วก็ฝึกทำม้า ช้าง กระต่าย ดอกกุหลาบ หัวใจ ฯลฯ

งานยากสุดยกให้ “มังกร” เพราะเต็มไปด้วยเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย ต้องอาศัยสมาธิและลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะช่ำชอง ลุงบอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะทำอาชีพนี้ได้ ต้องมีใจรักและมีจินตนาการ มันเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ใช้น้ำตาลทรายและสีผสมอาหารเนรมิตขึ้นมา

บางคนฝึกฝนอยู่นานปั้นไม่เป็นก็ล้มเลิกความตั้งใจไปทำงานอื่น พี่ชายเห็นแววว่าพอมีฝีมือจึงต่อกล่องน้ำตาลไม้ให้ เจาะช่องระบายอากาศและความร้อนเป็นรูเล็กๆ ด้านข้างมีกระทะทองเหลืองสามหลุมสำหรับใส่น้ำตาลเคี่ยวสีขาว ชมพู และเขียว ด้านล่างคว้านเป็นโพรงใส่เตาถ่านขนาดเล็กรองด้วยแผ่นตาข่ายเหล็กเพื่ออุ่นน้ำตาลตลอดเวลา จะได้ปั้นง่ายไม่แข็งตัว มีลิ้นชักใส่เครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่าง ทั้งไม้ตีน้ำตาล ไม้เสียบลูกชิ้น ผ้าเช็ดมือ มีดสั้น กรรไกรก้ามปู คีมเล็ก ถุงพลาสติก แม็กเย็บกระดาษ และด้ายขาว

เทคนิคที่ลุงไลย์ใช้ปั้นน้ำ (ตาล) เป็นตัวมีสามวิธี ขั้นพื้นฐานคือ “น้ำตาลปั้น” อาศัยทักษะกดบีบ ปั้นคลึง ยืดดึง แต่งตัด กรีดเคล้นเป็นเส้นลายด้วยมีดเล็กและกรรไกรก้ามปูอย่างฉับไว ต้องทำงานแข่งกับเวลาและอุณหภูมิในช่วงที่น้ำตาลยังร้อนอยู่ ถ้าน้ำตาลเย็นจะแห้งแข็งแต่งรูปทรงยาก

ช่วงแรกๆ ที่ยังอ่อนหัดลุงจะโดนน้ำตาลร้อนลวกจนมือพอง ต้องใช้ผงแป้งมันทาเคลือบพอทุเลา แต่ทำไปนานวันเข้าก็คุ้นชิน ลุงไลย์บอกว่า

“ทำงานกับน้ำตาลร้อน ใจต้องเย็น ถ้าน้ำตาลร้อนแล้วใจคนร้อนตามไปด้วยก็ไม่สำเร็จ”

เทคนิคที่ ๒ คือ “น้ำตาลเป่า” เหมือนการเป่าแก้วหรือลูกโป่ง ลุงไลย์ปั้นน้ำตาลเป็นก้อนกลมหุ้มปลายหลอดกาแฟ แล้วใช้ลมจากปากเป่าให้น้ำตาลค่อยๆ พองออก บางร้านใช้เครื่องเหยียบลมอย่างร้านขายลูกโป่งมาช่วยทุ่นแรง

เทคนิคสุดท้ายคือ “น้ำตาลพิมพ์” ใช้แม่พิมพ์ไม้ทาน้ำตาลเคลือบร่องลายด้านในแล้วประกบให้เข้ากันจนกลายเป็นรูปทรงต่างๆ เทคนิคนี้ต้องใช้น้ำตาลข้นหนืดและหนึบเหนียวกว่าน้ำตาลปั้นและน้ำตาลเป่า ไม่เช่นนั้นอาจแตกหักขึ้นรูปยากเพราะยึดเกาะกันไม่ดี

punnamthan06

ลุงไลย์ประเดิมออกร้านครั้งแรกที่หน้าโรงเรียนวัดดอกไม้ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในวัยฟันน้ำนม มายืนห้อมล้อมมุงดูลุงปั้นน้ำตาลหลังเลิกเรียนเหมือนฝูงมดรุมตอม แววตาเด็กๆ วาววับเป็นประกาย จ้องมองแต่ละขั้นตอนที่ลุงประดิดประดอยทำด้วยใจจดจ่อ พอน้ำตาลเสร็จเป็นรูปเป็นร่างก็ปรบมือหัวเราะร่า ทันทีที่ยื่นส่งไม้ถึงมือ เด็กๆ จะละเลียดเลียก้อนน้ำตาล ลิ้มรสหอมหวานด้วยความไร้เดียงสา

“จำได้ว่ามีเด็กคนหนึ่งยืนมองตาแป๋ว ลุงถามอยากกินไหม? เขาพยักหน้า พอถามว่ามีตังค์ไหม? ส่ายหน้า เขากำพร้าพ่อแม่ อยู่กับตายายตั้งแต่เกิด ได้ตังค์มาโรงเรียนวันละไม่กี่บาท เลยกำชับว่าอย่าบอกเพื่อนนะว่าลุงให้กินฟรี เขากะพริบตาตอบรับ พอปั้นน้ำตาลให้ก็อมยิ้มชอบใจ” ลุงคงคิดถึงลูกชายคนเดียวที่ตอนเด็กก็ชอบกินน้ำตาลปั้นเหมือนกัน

ลุงไลย์ขยายลู่ทางทำกินด้วยการออกอีเวนต์และงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าตามห้างสรรพสินค้า งานกาชาด งานวัด หรืองานประจำปีในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นแนวโบราณย้อนยุค กลยุทธ์การขายลุงจะสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาดอย่างเสื้อลายดอกนุ่งโจงกระเบน หรือเสื้อม่อฮ่อมพาดผ้าขาวม้าเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า ด้วยรายได้เฉลี่ยวันละ ๒๐๐ กว่าบาท ซึ่งมากกว่าเป็นยามถึงสามเท่า ทำให้ลุงไลย์ลาออกจากบริษัทรักษาความปลอดภัยมาปั้นน้ำตาลขายเต็มตัวตั้งแต่ปี ๒๕๒๙

ลุงไลย์มีทั้ง “งานอิสระ” ที่เลือกจุดหมายปลายทางเอง เช่น หน้าโรงเรียน ตลาด หรืองานวัด “งานออร์แกไนซ์” ซึ่งมีนายหน้าโทรฯ บอกว่าวันไหน เมื่อไร มีงานอะไร ที่ไหน ลุงจะจดตารางงานไว้ “งานเหมา” อย่างงานวันเกิด วันเด็ก ปีใหม่ สงกรานต์ กองถ่ายหนัง-ละคร จะมีทีมงานติดต่อให้ลุงไปปั้นน้ำตาลเป็นตัวประกอบฉาก สุดท้ายคือ “งานออนไลน์” ลูกค้าที่แอดไลน์ของลุงจะพิมพ์ข้อความให้ปั้นน้ำตาลตามแบบที่ส่งให้ดู คิดราคาตามความยากง่ายและขนาด ส่วนใหญ่นำไปมอบเป็นของขวัญของฝาก ลุงพยายามก้าวทันโลกปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วยบริการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่ติดไว้หน้ากล่องน้ำตาล

“เวลาปั้นน้ำตาลลุงไลย์นึกถึงอะไร?”

“นึกถึงเด็กๆ ถามเขาก่อนว่าอยากได้แบบไหน จินตนาการว่าสิ่งนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แล้วปั้นตามที่ฝึกมา หรือบางอย่างไม่ยากเกินไปก็ลองหัดทำ แต่ถ้าเกินกำลังจะบอกเลยว่าลุงทำไม่ได้”

ผมกับเพื่อนติดตามแผนที่ชีวิตของลุงไลย์ไปที่บ้านย่านชุมชนบ่อนไก่ เพื่อดูเบื้องหลังการเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำน้ำตาลปั้น

punnamthan07
punnamthan08

ลุงนัดหมายเราสองคนแต่เช้าตรู่ พวกเราเดินลัดเลาะเข้าไปในซอยแคบและคดเคี้ยว สอบถามเส้นทางจากป้าร้านขายของชำก็ทำให้แกะรอยไปถึงหน้าบ้านที่แง้มประตูแง้มรอ มองเห็นลุงง่วนอยู่หน้าเตาไฟ ใช้ไม้พายเคี่ยวแบะแซในกระทะ บ้านของลุงเป็นห้องแถวเล็กๆ อยู่กันสองคนผัวเมีย ลุงไลย์หันมาเห็นคนยืนรออยู่ก็รีบมาต้อนรับ ก่อนจะพาอาคันตุกะรุ่นลูกเข้าไปดูน้ำเชื่อมร้อนที่เดือดพล่านแตกฟองขาวปุดๆๆ

“ส่วนผสมของการเคี่ยวน้ำตาลปั้นต้องใช้แบะแซ ๓ กิโล ซื้อเป็นถุงใหญ่จากโรงงาน แบบเดียวกับที่ใช้กวนกระยาสารท ทำลูกกวาดกับอมยิ้มนั่นแหละ น้ำตาลทรายขาวครึ่งกิโลกับกะทิอีกครึ่งกล่อง ยังใช้เตาถ่านไม่ใช้เตาแก๊สเพราะเป็นกรรมวิธีโบราณ ใช้ไฟอ่อนหรือไฟกลาง ถ้าไฟแรงไปน้ำตาลจะไหม้ ต้องเคี่ยวเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ที่ จากนั้นเทน้ำตาลลงไปในหลุมทองเหลือง ใส่สีผสมอาหาร แล้วแต่งกลิ่นสังเคราะห์เพิ่มความหอม”

“นี่กะจะมาจด มาถ่ายรูป มาถามสูตรไปทำขายกันเองใช่ไหม?” เสียงห้วนกร้าวตะโกนมาจากหน้าประตูบ้าน ป้าหลอดเมียลุงไลย์ใช้เท้าเตะขาตั้งจอดรถจักรยาน แล้วหิ้วถุงพะรุงพะรังจากการจ่ายตลาด แสร้งทำเสียงดุหยั่งเชิงเรา

“ไม่ได้ครูพักลักจำเอาสูตรไปทำขายเองหรอกจ้ะป้า มีงานประจำอยู่แล้ว” ผมยกมือไหว้สวัสดีป้าหลอด หญิงสูงวัยอายุรุ่นราวคราวเดียวกับสามี ทำอาชีพพนักงานกวาดขยะ ป้าปลีกตัวไปนั่งหั่นผักหั่นหมูเตรียมทำกับข้าว เปิดทางให้วงสนทนาดำเนินต่อไป

“ลุงรู้ไหมว่าความเป็นมาของน้ำตาลปั้นมาจากที่ไหน คนไทยคิดค้น เป็นของคนจีน หรือชาติไหน?”

“ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนใหญ่เขาเรียนจากคนจีนที่มาอยู่ไทย หรือตามโรงงิ้วในศาลเจ้า”

ผมจึงค้นข้อมูลในกูเกิล ทำให้รู้ว่าศิลปะแห่งความหวานแขนงนี้มีจุดกำเนิดจากจีนแผ่นดินใหญ่สมัยราชวงศ์หมิงเพื่อถวายเทพเจ้า ช่างปั้นน้ำตาลแดนมังกรใช้ทั้งวิธีปั้น เป่า และประกบแม่พิมพ์ขึ้นรูปเหมือนกับเมืองไทย แต่เทคนิคหนึ่งซึ่งแตกต่าง คือ ใช้กระบวยตักน้ำตาลเคี่ยวโรยเป็นเส้นลายลงบนแผ่นอะลูมิเนียม นำไม้ยาววางทาบทับตรงกลาง รอจนน้ำตาลเย็นและแข็งตัว ใช้เกรียงแซะ จะได้น้ำตาลแผ่นแข็งลวดลายสวยงามเรียกว่า “ตั้งหัว (tanghua)”

ก่อนจะเผยแพร่สู่ดินแดนอาทิตย์อุทัย เรียกว่า “อาเมไซกุ (amezaiku)” สมัยเฮอัน จนได้รับความนิยมสูงสุดสมัยเอโดะ ผสานทั้งเทคนิคปั้นและเป่าไว้ด้วยกัน ตัวน้ำตาลเคี่ยวใช้แบะแซหรือน้ำตาลมิซูอาเมะ (mizuame) บางสูตรใช้ขัณฑสกร ไม่ได้ใส่กะทิลงไปทำให้สีไม่ขุ่นข้น แต่จะใสแบบน้ำตาลกรวด แล้วลงสีด้วยความละเมียดละไม หลังขึ้นรูปบนตะเกียบไม้ ใช้กรรไกรเล็ก “นิกิริ ฮาสามิ” (nigiri hasami)” ตัดแต่งลวดลายอย่างประณีตสมจริง ส่วนน้ำตาลปั้นในไทยสันนิษฐานว่าคณะอุปรากรจีนหรืองิ้วแต้จิ๋วเป็นผู้นำมาเผยแพร่ตามศาลเจ้า

หลังจากเตรียมน้ำตาลและข้าวของทุกอย่างครบถ้วน ผมกับเพื่อนได้ติดสอยห้อยตามลุงไลย์จากบ้านในย่านบ่อนไก่ขึ้นรถเมล์หน้าปากซอยไปยังเดอะมอลล์ บางแค เพื่อออกร้านขายน้ำตาลปั้นในงาน “ย้อนเวลาเที่ยวตลาดกรุงศรี” จำลองบรรยากาศงานวัดในช่วงเทศกาลลอยกระทง เราสองคนรับหน้าที่ลูกมือช่วยลุงไลย์บรรจุน้ำตาลปั้นลงในถุงพลาสติกแล้วเสียบโชว์บนท่อนโฟมด้วยท่าทีเก้ๆ กังๆ บีบแตรลมดัง “ปรี๊ดๆ” เรียกลูกค้าเข้าร้าน

ประเดิมด้วยคู่พ่อแม่วัยรุ่นจูงมือลูกสาวตัวน้อยมาชี้นิ้วเอาโลมาสีชมพู ทันทีที่พ่อค้ารุ่นราวคราวปู่ตายื่นน้ำตาลปั้นให้ แม่ก็บอกน้องว่า “ธุจ้าก่อน น้องใหม่ธุจ้าคุณตาก่อนลูก” น้องใหม่พนมมือก้มหัวไหว้อย่างว่านอนสอนง่าย ทุกคนที่พบเห็นต่างยิ้มชอบใจในความไร้เดียงสาของเด็กวัยผ้าขาว

ลุงไลย์นำแบงก์ยี่สิบพับครึ่งก่อนจะแตะเบาๆ ตามกล่องน้ำตาล ขมุบขมิบพึมพำ “เฮงๆๆ รวยๆๆ” เพื่อขอให้ขายดี พลางปั้นน้ำตาลตัวใหม่แทนตัวที่ขายไป

ผมเพ่งมองชายชราขึ้นรูปลิงตกเบ็ดด้วยใจจดจ่อ เส้นด้ายที่ผูกตัวปลาห้อยติดกับไม้ในมือวานรแกว่งไกวซ้ายทีขวาที เหมือนลูกตุ้มสะกดจิตให้ลายตาก่อนผมจะหลุดลอยเข้าไปในภวังค์เมื่อครั้งเป็นเด็ก

เด็กชายเกรียงไกรตามก๋งไปดูงิ้วในศาลเจ้าไต่เสี่ยฮุกโจ้ว หน้าโรงงิ้วมีอาแปะหนวดยาวนั่งหน้ากล่องไม้พิถีพิถันปั้นน้ำตาลเนิบช้า เด็กน้อยชะโงกหน้าดูอาแปะใช้ไม้พายตักน้ำตาลข้นหนึบขึ้นจากหลุมทองเหลืองที่ข้างใต้ซ่อนก้อนถ่านแดงชาดไว้

“แปะ แปะ เอาลิงตัวหนึ่ง”

อาแปะคลึงน้ำตาลเป็นก้อนกลมทำหัวลิง มือขวาง้างขากรรไกรขริบเป็นเส้นริ้วตาสองข้าง เล็มปากนิดจมูกหน่อย ดึงปากให้ยื่นเชิด ตัดแบ่งเป็นเส้นรยางค์กางท่อนแขนท่อนขาอย่างคล่องแคล่ว ใช้นิ้วควักน้ำตาลสีชมพูขึ้นมากดจนแบน แล้วแปะเป็นปีกหมวกบนหัวลิง ก่อนใช้น้ำตาลก้อนจิ๋วมาเล็มเป็นเส้นริ้วทำครีบและหางปลา

สีชมพู เขียว ขาว ผสมผสานเป็นรูปร่างท่ามกลางความฉูดฉาดของฉากและแสงสีจากหลอดนีออนบนโรงงิ้ว เด็กน้อยแบมือขอเบี้ยจากก๋ง ๕ บาทซื้อน้ำตาลปั้นลิงตกเบ็ดมาดูดเลียอย่างเอร็ดอร่อย อีกฟากของศาลเจ้ามีร้านขายสายไหม ตังเมถั่ว และโอ้ชูโรส ขนมตระกูลน้ำตาลวางล่อตาล่อใจ พร้อมกลยุทธ์การขายแบบกดสวิตช์ให้เข็มหมุนวนตามตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา ถ้าเข็มหยุดตรงเลขไหนก็ได้จำนวนขนมตามเลขนั้น

ผมเข้าไปทักทายพ่อแม่ของน้องใหม่ที่มองลูกสาวเล็มเลียก้อนน้ำตาลอย่างน่าเอ็นดู สองแก้มเหนอะหนะด้วยคราบเหนียว

“ทำไมพี่ถึงพาน้องมาซื้อน้ำตาลปั้นครับ?”

“พ่ออุ้มเขาเลยมองเห็นแต่ไกล ชี้ตรงมาที่ร้าน แล้วอ้อนพ่อซื้อให้”

“พี่คิดว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบกินน้ำตาลปั้น?”

“คงเพราะสีสันสวยงาม มีแบบให้เลือกหลากหลาย อยู่ที่บ้านก็ชอบกินอมยิ้ม ลูกอม ลูกกวาด พอเห็นน้ำตาลปั้นเลยชอบใจ”

“แล้วตอนเด็กๆ พี่เคยกินน้ำตาลปั้นไหม?”

“เคยนะ นานมาแล้วที่งานวัดต่างจังหวัด”

“แล้ววันนี้น้องไม่ไปโรงเรียนเหรอครับ ถึงมาเที่ยวห้างกับพ่อแม่”

“โรงเรียนหยุดค่ะ พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ไปทำงาน ปรกติทำงานโรงงานพอมีเวลาว่างก็พาลูกออกมาเดินเล่น”

“แล้วมีความสุขไหมครับที่ได้มาเที่ยวพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก?”

คุณแม่ยิ้มเขินๆ แทนคำตอบ แต่ก็เข้าใจได้ว่าบางครั้งความสุขก็ยากจะอธิบาย ไม่มีมาตรวัดชัดเจนว่าวันนี้สุขสูงต่ำกี่บริกซ์เหมือนหน่วยวัดความหวาน

“ความสุข” กับ “ความหวาน” สัมพันธ์กันอย่างไร? ทำไมใครๆ ต่างมีรอยยิ้มเมื่อได้ลิ้มรสน้ำตาลปั้น

ในเชิงวิทยาศาสตร์ “รสหวานจากน้ำตาล” สร้างสุขได้ด้วยฤทธิ์กระตุ้นสารสื่อประสาทที่เรียกว่า “โดปามีน (dopamine)” ซึ่งช่วยให้กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า สมองคนเราได้รับผลจากแรงกระเพื่อมขึ้นลงของกลูโคสในเลือด ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของร่างกาย หากน้ำตาลในเลือดต่ำเรียกว่า “ภาวะไฮโปไกลซีเมีย (hypoglycemia)” จะทำให้อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ไม่มีความสุข

ในเชิงสังคมศาสตร์ “ความทรงจำที่หวานชื่น” ทำให้คน “โหยหาอดีต” หรือ “นอสทัลเจีย (nostalgia)” เพราะเมื่อหวนนึกถึงความหลัง ความสุขก็สูบฉีดขึ้นมาในหัวใจอีกครั้ง

ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมงานส่วนใหญ่ที่ลุงไลย์ไปออกร้านจึงเกี่ยวข้องกับอดีต หลายคนไม่มีความสุขกับปัจจุบัน จึงอยากย้อนเข็มนาฬิกาไปหาเศษเสี้ยวความสุขความทรงจำในอดีต

ระหว่างนั่งรถเมล์กลับบ้านพร้อมลุงไลย์หลังจากห้างปิด ผมหันไปถามขณะรถจอดติดไฟแดงอยู่

“ทุกวันนี้ลุงมีความสุขไหมที่เป็นพ่อค้าปั้นน้ำตาลขาย?”

“ก็มีความสุขดีนะ รายได้พอมีพอกิน ไม่ได้เป็นหนี้เป็นสิน ทำงานด้วยความสบายใจ ช่วยให้เด็กๆ ยิ้มได้ งานเข้ามาทุกวัน ยังมีเรี่ยวแรงก็สู้กันไป ตอนนี้ไม่มีโรคภัยอะไรยังแข็งแรง”

พอกลับถึงบ้าน พ่อค้าเร่ขายน้ำตาลปั้นก็นั่งแผละบนเสื่อน้ำมันด้วยท่าทีอิดโรย แต่คงเป็นความเหนื่อยที่มีความสุข หลังจากป้าหลอดส่งเสียงถามสามีว่า “กินข้าวมาแล้วหรือยัง?” นี่คงเป็นเคล็ดลับเติมความหวานให้ชีวิตคู่ หลังจากที่ลุงไลย์และป้าหลอดครองรักมายาวนานตั้งแต่หนุ่มสาวจนแก่เฒ่า

“ป้านอนไม่หลับเลยเมื่อคืน ดูข่าวสงครามที่อิสราเอล คนไทยตายหลายคน แล้วก็มีเด็กที่นั่นตายด้วย”

ป้าหลอดบ่นพึมพำหน้าจอโทรทัศน์ระหว่างผู้ประกาศรายงานข่าวสงครามบริเวณฉนวนกาซา พื้นที่เดียวกับที่ลุงไลย์เคยไปปั้นน้ำตาลมอบความสุขแก่แรงงานไทยที่คิดถึงบ้าน และเด็กๆ ชาวอิสราเอลที่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกับศิลปกรรมจากก้อนน้ำตาลของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่เคยเป็นทั้งชาวนา กรรมกร และยาม ก่อนจับพลัดจับผลูมาปั้นน้ำ(ตาล) เป็นตัว และปั้นจินตนาการเป็นความสุขให้ผู้คนไกลถึงอิสราเอล

สองทศวรรษผ่านไป “น้ำตาล” ในวันนั้นกลายเป็น “น้ำตา” ในวันนี้ “ความสุข” หลอมละลายด้วยไฟสงครามกลายเป็น “ความเศร้า”

ลุงไลย์ไม่มีคำไหนจะปลอบประโลมผู้ประสบภัยในอิสราเอลนอกจาก “ชาโลม” คำนี้ที่จำขึ้นใจ เพราะไม่ได้มีความหมายแค่ “สวัสดี” แต่ยังแปลว่า “สันติสุข” ด้วย

#ปั้นน้ำตาล #ฉนวนกาซา #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส