เรื่อง : กุลจิรา อนุไวยา
ภาพ : กุลจิรา อนุไวยา, 123RF

อาบทะเล (Sea Bathing)

นั่งโง่ๆ ที่ทะเลแล้วได้อะไร?”

การเดินทางจากเมืองหลวงแสนวุ่นวายสู่อาณาเขตของหาดทรายขาวติดผืนน้ำ…สองแม่ลูกหิ้วกระเป๋าลงเรือเร็วลำเล็ก โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นเกาะเล็กๆ ทางภาคตะวันออกอย่าง “เกาะล้าน”

ผืนน้ำสีฟ้าครามกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาเป็นดั่งที่พักกายและใจของใครหลายคน รวมทั้งฉันและแม่ ใครๆ ต่างก็บอกว่าทะเลเยียวยาได้ทุกสิ่ง ด้วยสีฟ้าครามของน้ำทะเลที่บรรจบกับสีฟ้าสดใสของท้องฟ้า ซึ่งมีการทำการศึกษาทดลองในกลุ่มประชากรของเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ มาแล้วว่า ยิ่งได้เห็นหรืออยู่ท่ามกลางที่โล่งสีฟ้ามากเท่าไร ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีมากเท่านั้น

ทันทีที่ถึงจุดหมาย ฉันและแม่แทบอดใจรอไม่ไหวที่จะได้สัมผัสหาดทรายและท้องทะเล ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง รวมถึงความคิดยุ่งเหยิงในหัวสมอง ผ่อนคลายลง เพียงแค่ฉันได้ลงนั่งบนหาดทราย แล้วทอดสายตามองผืนน้ำอันกว้างใหญ่ตรงหน้า

ใต้ความสวยงามที่ไม่อาจล่วงรู้…

มีคนรักย่อมมีคนเกลียด ทะเลก็เช่นกัน หลายคนอาจชอบและหลงใหลทะเลยิ่งกว่าสิ่งใด แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวผืนน้ำกว้างใหญ่นี้ยิ่งกว่าสิ่งใดเช่นกัน จนมีอาการที่เรียกกันว่า “โรคกลัวทะเล” (Thalassophobia)ซึ่งเป็นกลุ่มอาการผิดปกติทางจิตที่จัดอยู่ในประเภทของความหวาดกลัว ที่เมื่อมองดูหรือสัมผัสกับแหล่งน้ำที่มีบริเวณกว้างใหญ่ ลึก และมืด แล้วจะเกิดความวิตกกังวล

ตัวฉันเองชอบทะเล แต่ลึกๆ ในใจก็รู้สึกหวาดกลัวเช่นกัน แม้ไม่ได้เป็นโรคกลัวทะเล แต่ฉันก็ไม่สามารถชอบทะเลได้หมดหัวใจ อาจเพราะใต้ความสวยงามของผืนน้ำสีครามซึ่งแต่งแต้มด้วยแสงระยิบระยับดุจเพชรนับพันนี้ เราไม่อาจรู้ว่ามีสิ่งใดซุกซ่อนอยู่ ความหวาดกลัวจึงก่อตัวแฝงอยู่ในความชอบนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โลกใบใหญ่ที่ซ่อนอยู่

ผืนทะเลกว้างไกลแม้ทำให้บางคนหวาดกลัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยงามนี้ช่วยเยียวยาให้หลายๆ คนหายจากความรู้สึกห่อเหี่ยวในใจได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ฉันพาตัวเองมาสัมผัสกับความชอบและความกลัวไปพร้อมๆ กันด้วยการเปิดใจ… ใต้ผืนน้ำนั้นอาจทำให้ต่อมความกลัวทำงาน แต่หากลองพิจารณาด้วยภาวะจิตใจที่เป็นปกติ เราจะค้นพบโลกใบใหญ่ที่ซ่อนอยู่ โลกซึ่งเป็นเสมือนบ้านของสัตว์น้ำนานาชนิด

ความสวยงามของทะเลจะถูกบดบังด้วยความหวาดกลัว แต่ถ้ากล้าที่จะเปิดใจทีละน้อย มันอาจช่วยบำบัดความกลัวของใครหลายคน รวมทั้งฉันก็เป็นได้ บางทีพลังแห่งสายน้ำอาจช่วยบำบัดด้วยอีกทางหนึ่ง ดังเช่นทฤษฎี “Blue Mind” ที่ว่า เมื่อเราอยู่ใกล้กับผืนน้ำ สมองจะสร้างสารโดปามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน ซึ่งทำให้จิตใจสงบ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดระดับคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดลงได้ด้วย

อาบทะเล

สองเท้าเปลือยเปล่าและจิตใจที่ปลอดโปร่งสัมผัสทะเล ฉันเปิดให้ผัสสะได้ทำงาน เปรียบดังกระบวนการ “Parkใจ ฉบับอาบทะเล” โดยเริ่มจากการมองผืนน้ำสีฟ้าคราม เห็นแสงส่องกระทบผิวน้ำส่งประกายระยิบระยับ แล้วปล่อยให้ผืนน้ำเย็นฉ่ำโอบอุ้มร่างกาย ฝ่าเท้าได้ย่ำบนหาดทรายเนื้อละเอียด จากนั้นฉันหลับตาลงช้าๆ พลางฟังเสียงคลื่นกระทบหาด พร้อมสูดอากาศโปร่งชายทะเลเข้าเต็มปอด ซึมซับกลิ่นอายทะเลเต็มหัวใจ

การสัมผัสด้วยใจที่เปิดกว้างทำให้ค้นพบความสงบและงดงามมากกว่าที่ตาเห็น ชั่วครู่หนึ่งฉันรู้สึกว่าความหวาดกลัวที่มีต่อทะเลหายวับไปราวกับสายน้ำช่วยพัดพาให้จางหาย แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่อย่างน้อยฉันก็ชนะความกลัวในใจได้ ทั้งผืนทะเลยังมอบพลังงานดีๆ ให้ฉันพกกลับมาเติมความสุขให้ชีวิตด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • กฤตยา ศรีสรรพกิจ. (2558). เปิดใจให้ธรรมชาติ NATURE CONNECTION. กรุงเทพฯ : บริษัทมิชชั่น อินเตอร์ พริ้นท์ จำกัด.
  • ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน. (2563). รู้จักโรค “กลัวทะเล” มีอยู่จริง. สืบค้น 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.sanook.com/health/19649/
  • 5 เหตุผล ทำไมทะเลถึงเยียวยาจิตใจได้. สืบค้น 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.travelzeed.com/content