เรื่อง : ศิรดา พูลสุขโข
ภาพ : ศิรดา พูลสุขโข, 123rf

Once Upon a Park

เคยลองสังเกตไหมว่า ทุกวันนี้ชีวิตเราห่างเหินกับธรรมชาติมากเพียงใด

โลกที่มีพลวัตอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้า วิถีชีวิตที่เร่งรีบ เอื้อด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้ผู้คนแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือพึ่งพิงธรรมชาติ ทั้งที่แท้จริงแล้วมนุษย์จำต้องใกล้ชิดธรรมชาติ หรือเราหลงลืมไปว่าความสุขใจนั้นไม่ได้สำคัญน้อยกว่าความสุขทางกาย

ฉันเองก็เป็นโรคขาดธรรมชาติ

ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ บอกเล่าในหนังสือ โรคขาดธรรมชาติ ที่ฉันได้เคยอ่านว่า ด้วยวิถีชีวิตที่รวดเร็วในปัจจุบันทำให้เราห่างไกลธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน จนเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นสมาธิที่สั้นขึ้น ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นานๆ หงุดหงิดง่าย รวมถึงไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อาการเหล่านี้หากมองผิวเผินคงดูปกติ แต่แท้จริงใครจะล่วงรู้ว่าเรากำลังอ่อนแออยู่

การขาดธรรมชาติก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเด็กที่อยู่ในการเจริญเติบโต กับผู้ใหญ่เองก็ไม่ต่างกัน”

ฉันเองก็จำไม่ได้แล้วว่าเชื่อมต่อกับธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อไร นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้จมปลักอยู่กับอารมณ์ไม่เบิกบานนักอย่างนี้

บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่าโหยหาธรรมชาติมากแค่ไหน มารู้อีกทีก็ออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปยังสวนสาธารณะใกล้บ้านเสียแล้ว

กาลครั้งหนึ่งฉันพบพื้นที่ปลอดภัย

ภาพแสงแดดกระทบผืนน้ำ มีฉากหน้าเป็นต้นไม้ที่ใบสีเหลืองแกมเขียวพลิ้วตามแรงลมนั้น ตรึงสายตา ดึงดูดหัวใจฉันได้ไม่ยาก ชวนให้นึกถึงวิธีของทัตสึทากะในการเข้าหาธรรมชาติแบบง่ายๆ คล้ายการ “อาบป่า” (forest bathing)

เพียงแค่นั่งอาบลมอาบแดดในสวนไม่กี่นาทีจะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขได้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายกายสบายใจขึ้นไหมนะ เมื่อวางทุกอย่างลงแล้วอยู่ตรงนั้น…อยู่กับธรรมชาติ

ฉันละสายตาออกจากมวลหมู่ไม้ไม่ได้เลย ความสดใสน่ารักเหล่านั้นทำให้ฉันหวนระลึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ดอกไม้สีขาวพุ่มเล็กๆ นั่น ทำให้คิดถึงหลานวัย 1 ขวบที่ช่างน่ารักและแสนบริสุทธิ์ เมื่อหันไปเห็นไม้ใหญ่ก็นึกไปถึงคุณยาย ลำต้นกว้างเกินแขนโอบบ่งบอกถึงการยืนหยัดผ่านกาลเวลา เมื่อยื่นมือไปสัมผัส ความอบอุ่นก็แล่นสู่หัวใจ

ฉันเพิ่งตระหนักรู้ว่าตัวเองก็เป็นธรรมชาติเช่นกัน…กำเนิด เติบโต และปลิดปลิว

หลังนั่งสักพัก ฉันค่อยๆ ผ่อนลมหายใจ คลายคิ้วที่ขมวดลง แล้วหลับตา เงี่ยหูฟัง ได้ยินเสียงจักจั่น เสียงอีกา ผสานกับเสียงนกร้องหลากเสียง เมื่อลมโชยผ่านเนื้อตัว ฉันสูดลมหายใจลึกๆ นึกทบทวนได้ว่านานแล้วที่ไม่ได้หายใจเต็มปอดแบบนี้

ฉันค้นพบว่า การปล่อยให้เท้าได้สัมผัสใบหญ้า มือได้สัมผัสต้นไม้นั้น พาให้ใจสงบ การจดจ่ออยู่กับสัมผัสนั้นพลางหลับตาลง ทำให้ใจฉันค่อยๆ หยุดนิ่ง พันธนาการที่เหนี่ยวรั้งให้รู้สึกหนักหน่วงหายไปเมื่อฉันลืมตาขึ้น การมีเวลาได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ช่วยให้พร้อมเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ก้าวไปบนวิถีธรรมชาติ

การมาสวนสาธารณะครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืม ฉันได้รับการเยียวยาและเติมเต็มจิตใจได้อย่างไม่น่าเชื่อจากธรรมชาติ ทำให้รู้ว่ายังมีพื้นที่เช่นนี้ที่เราสามารถมาพักกายพักใจได้ เหมือนมีเพื่อนแท้ในชีวิตเพิ่มขึ้น อีกข้อที่สำคัญคือ “รู้ตัวอีกทีฉันก็ไม่ได้จับสมาร์ตโฟนมาเป็นชั่วโมงแล้ว!!”

การกลับสู่ธรรมชาติทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดรับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว อย่างการนั่งมองท้องฟ้าตรงระเบียงยามเหนื่อยล้า การซื้อต้นไม้สักต้นมาวางริมหน้าต่าง นอกจากเป็นจุดพักสายตาแล้ว การเฝ้าดูและบำรุงเลี้ยงให้มันงอกงามก็นำความชื่นบานมาแทนที่ความหงอยเหงาได้

หรือการปลีกเวลาพาตัวเองมาอยู่ในสวน มาสัมผัสกับ “once upon a park” เหมือนฉัน ก็อาจได้พบวิถีแห่งธรรมชาติที่เปิดให้เราก้าวเข้าไปชิดใกล้ได้

เอกสารอ้างอิง

  • ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ. (2564). โรคขาดธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ.