เนื้อหาในคัมภีร์มหาทักษาพยากรณ์ว่าด้วยเรื่องของดวงดาวที่สัมพันธ์กับชะตาชีวิตของมนุษย์

ดาวเหล่านั้น ว่าที่จริงคือดวงดาวที่คนโบราณสังเกตเห็นได้บนฟากฟ้ายามราตรี

มหาทักษา 2 - เทวดาประจำทิศ

คัมภีร์จัดวางลำดับ “เทพเจ้า” หรือดวงดาวเหล่านี้ ให้อยู่ประจำทิศทั้งแปด คือทิศหลัก ๔ ทิศ และทิศแทรกอีก ๔ ทิศ เริ่มจากทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) จนกลับมาถึงทิศอุดร (เหนือ) ดังนี้

  • พระอาทิตย์ ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • พระจันทร์ ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก)
  • พระอังคาร ทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
  • พระพุธ ทิศทักษิณ (ทิศใต้)
  • พระเสาร์ ทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)
  • พระพฤหัสบดี ทิศประจิม (ทิศตะวันตก)
  • พระราหู ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
  • และพระศุกร์ ทิศอุดร (ทิศเหนือ)

เทพเหล่านี้มีจำนวน ๘ องค์ ตามทิศทั้งแปด จึงมีชื่อเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่าเทวดาอัฐเคราะห์ (อัฐ แปลว่า แปด) นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มพระเกตุ ให้เป็นเทวดาประจำทิศท่ามกลางอีกองค์หนึ่งด้วย ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มเทวดานพเคราะห์ (นพ แปลว่า เก้า)

อย่างไรก็ตาม เทวดาประจำทิศเหล่านี้เป็นคนละเรื่อง หรือคนละจักรวาล กับ “ทิศปาลก” (อ่านว่า ทิด-สะ-ปา-ละ-กะ) หรือ “ทิกปาล” (ทิ-กะ-ปา-ละ) เทวดาประจำทิศตามคติพราหมณ์-ฮินดู อันพบเห็นได้ตามภาพจำหลักบนทับหลังหรือกลีบขนุนของบรรดาปราสาทหินในกัมพูชาและภาคอีสานของไทย

ทิศปาลก ประกอบไปด้วยเทพประจำทิศหลักทั้งสี่ คือ พระกุเวร ประจำทิศอุดร (ทิศเหนือ) พระอินทร์ ประจำทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) พระยม ประจำทิศทักษิณ (ทิศใต้) และพระวรุณ ประจำทิศประจิม (ทิศตะวันตก) กับเทพประจำทิศแทรกอีกสี่

ยิ่งไปกว่านั้น เทวดาประจำทิศกลุ่มหลังนี้ยังไปซ้อนเหลื่อมกับ “จตุโลกบาล” ตามคติพุทธศาสนาด้วย ได้แก่ ท้าวเวสสุวัณ หรือท้าวไพศรพณ์ ประจำทิศอุดร (ทิศเหนือ) ท้าวธตรฐ ประจำทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ท้าววิรุฬหก ประจำทิศทักษิณ (ทิศใต้) และท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศประจิม (ทิศตะวันตก)