มหาทักษา 5 -  กำเนิดวันทั้ง 7

คัมภีร์เฉลิมไตรภพเล่าต่อไปอีกว่า จากนั้นพระอิศวรเป็นเจ้าจึงทรงสร้างเทพยดาขึ้นอีก ๙ องค์ เรียกว่าเทวดานพเคราะห์ เพื่อให้มีหน้าที่อยู่ประจำวิมานนพเคราะห์ ตระเวนรอบจักรราศีสืบไป

ในการนี้ พระสยมภูทรงร่ายพระเวทเสกน้ำอมฤตขึ้นก่อน แล้วเสด็จไปยังยอดเขายุคลธร ทรงมีเทวบัญชาให้ท้าวสหบดีพรหมไปคัดเลือกเอาฝูงสัตว์ตามที่ต้องพระประสงค์มาถวาย ทรงร่ายพระเวทเสกเป่าบันดาลให้กายของฝูงสัตว์นั้นแหลกละเอียดเป็นภัสม์ธุลี จากนั้นพระอิศวรเป็นเจ้าจึงทรงเอาผ้าสีต่างๆ มาห่อฝุ่นผงแห่งกายสัตว์นั้น ประพรมด้วยน้ำอมฤต พลันบังเกิดเป็นเทพยดานพเคราะห์ ๙ องค์ แต่ละองค์มีสีกายและเครื่องอาภรณ์ต่างๆ กันไปตามสีผ้าที่ห่อ

พระอิศวรเป็นเจ้าทรงชุบราชสีห์ ๖ ตัว ขึ้นเป็นพระอาทิตย์ ให้รักษาทิศอีสาน ชุบนางฟ้า ๑๕ นางขึ้นเป็นพระจันทร์ ให้รักษาทิศบูรพา ชุบกระบือ ๘ ตัว ให้เป็นพระอังคาร รักษาทิศอาคเนย์ ชุบช้าง ๑๗ เชือกขึ้นเป็นพระพุธ ให้รักษาทิศทักษิณ ชุบเสือ ๑๐ ตัวขึ้นเป็นพระเสาร์ ให้รักษาทิศหรดี ชุบพระฤๅษี ๑๙ คนขึ้นเป็นพระพฤหัสบดี ให้รักษาทิศประจิม หัวผีโขมด ๑๒ หัว ชุบเป็นพระราหู ให้รักษาทิศพายัพ ชุบโค ๒๑ ตัวขึ้นเป็นพระศุกร์ ให้รักษาทิศอุดร และชุบพระยานาค ๙ ตัว ขึ้นเป็นพระเกตุ ให้รักษาทิศกึ่งกลาง

แล้วประทานวิมานหรือดวงดาวนพเคราะห์ พร้อมด้วยพาหนะเป็นเครื่องโคจรแก่เทวดารักษาทิศทุกพระองค์ รวมทั้งได้ทรงเอานามของเทวดาพระเคราะห์ ๗ องค์ มาตั้งเป็นนามของวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์

คัมภีร์เฉลิมไตรภพบรรยายว่า วิมานที่ประทับของพระอาทิตย์เป็นสีแดง วิมานของพระจันทร์เป็นแก้วมุกดา วิมานของพระอังคารเป็นสีทับทิม วิมานของพระพุธเป็นสีเหลืองสลัว วิมานของพระพฤหัสบดีเป็นสีบุษราคัม (สีเหลือง) วิมานของพระศุกร์เป็นสีทอง วิมานของพระเสาร์เป็นสีมรกต วิมานของพระราหูเป็นสีนิล และวิมานของพระเกตุมีสีเหมือนเปลวไฟ

ที่สำคัญคือพระอิศวรทรงประทานการมหาทักษา คือกำลังอัฐเคราะห์อันจะมาเสวยอายุมนุษย์ทั้งหลาย ตามลำดับทิศเบื้องขวา คือชายหญิงผู้ใดเกิดวันใด ให้พระเคราะห์อันมีนามสมญาตรงกับวันนั้นเสวยอายุก่อน เท่ากับกำลังพระเคราะห์องค์นั้น กำลังละปีหนึ่ง (กำลังนี้คำนวณตามจำนวนเทพ ฤๅษี สรรพสัตว์ และภูตผีที่ทรงชุบขึ้นเป็นเทวดาพระเคราะห์แต่ละองค์) เมื่อครบตามจำนวนกำลังของพระเคราะห์องค์นั้นแล้ว องค์ที่อยู่ถัดไปทางทิศเบื้องขวาก็เสวยอายุแทนต่อไปตามลำดับ จนกว่าจะสิ้นอายุของคนผู้นั้น และกำหนดให้มีพระเคราะห์แทรกไปตามลำดับทิศเบื้องขวาอีกชั้นหนึ่งด้วย เช่นในระหว่างที่เทวดาองค์หนึ่งเสวยอายุนั้น ก็จะมีเทวดาองค์อื่นๆ ผลัดกันเข้าแทรก อันจะทำให้เกิดผลดีผลร้ายต่างๆ กันไป

หรืออาจสรุปใหม่ให้ฟังง่ายขึ้นว่าความสำคัญของตัวเลข “กำลังพระเคราะห์” คือใช้เพื่อคำนวณจำนวนปีที่เทพเจ้าองค์นั้น หรือดาวดวงนั้นๆ จะมา “เสวยอายุ” ในชีวิตของแต่ละคน เช่นคนเกิดวันอาทิตย์ นับแต่ถือกำเนิด พระอาทิตย์จะรักษาอยู่ก่อน ๖ ปี แล้วส่งมอบหน้าที่ต่อให้พระจันทร์อีก ๑๕ ปี แล้วจึงเป็นเวลาของพระอังคาร ๘ ปี ต่อด้วยพระพุธ ๑๗ ปี ฯลฯ ไล่ไปตามลำดับ โดยในระหว่างที่เทวดาแต่ละองค์มาเสวยอายุนั้น ยังมีเทวดาองค์อื่นๆ มาผลัดเปลี่ยนกันเข้า “แทรก” ตามสัดส่วนของกำลังอีก อันจะส่งผลดีร้ายแก่เจ้าของชะตาชีวิตผู้นั้น