ใน “เฉลิมไตรภพกลอนสวด” เมื่อกล่าวถึงเทพนพเคราะห์แต่ละองค์ นอกจากจะกล่าวว่าชุบขึ้นจากเถ้าผงของสิ่งไร จำนวนเท่าใด ได้มาเป็นเทพบุตรองค์ไหน มีผิวกายและเครื่องทรง กับทั้งสัตว์พาหนะอย่างไหนบ้าง อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงควบคู่กันเสมอ คือสีของวิมาน ซึ่งเป็นสีเดียวกันกับสีกายของเทวดานพเคราะห์องค์นั้นๆ ได้แก่
๏ ที่หนึ่งพระสุริยาฉาย รถราชผาดผาย ทั้งสี่ทวีปสว่างตา
(วิมานพระอาทิตย์ คือดวงอาทิตย์)
๏ ที่สองบุษบกจันทรา ดวงแก้วมุกดา ราตรีนั้นสีสุกงาม
(วิมานพระจันทร์ สีแก้วมุกดา คือสีขาว)
๏ วิมานอังคารที่สาม ทับทิมอร่าม แดงงามจำรัสรัศมี
(วิมานพระอังคาร สีทับทิม คือสีแดงเข้ม)
๏ พระพุธดวงดุจศุลี วิมานมณี ดั้นเมฆลิบลับเมฆา
(วิมานพระพุธ ทำด้วยมณี คือแก้วสีขาว)
๏ วิมานพระเสาร์โสภา สีเขียวแมงดา คือมรกตสดสี
(วิมานพระเสาร์ สีมรกต หรือ “สีเขียวแมงดา” คือสีเขียวเข้ม)
๏ ที่ห้าพฤหัสบดีครูบา วิมานบุษรา ดาราขาวเหลืองเรืองรอง
(วิมานพระพฤหัสบดี สีบุษราคัม คือสีเหลือง)
๏ ที่แปดราหูสุรี วิมานดำสี คือนิลรัตน์วัตถา
(วิมานพระราหู สีนิล คือสีดำ)
๏ วิมานพระศุกรสีทอง ธรรมราชเรืองรอง โชติช่วงยิ่งกว่าดวงดารา
(วิมานพระศุกร์ สีทอง)
๏ วิมานพระเกตุดารา ฐานดอกบุษบา แสงกล้าดังเพลิงเริงพราย
(วิมานพระเกตุ สีเหมือนเปลวไฟ)
ใน “เฉลิมไตรภพกลอนสวด” กล่าวไว้ด้วยว่าพระอิศวรทรงสร้างวิมานเหล่านี้ขึ้นตั้งแต่ก่อนพิธีสถาปนาทวยเทพมาสถิตอยู่ประจำด้วยซ้ำ ดังนั้นสีของวิมานจึงน่าจะตรงกับแสงสีของดาวเคราะห์นั้นๆ ตามที่สายตามนุษย์บนโลกสังเกตเห็นนั่นเอง
เมื่อลองไล่ลำดับดูแล้วก็มีเค้าว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เช่น ดวงจันทร์ เราเห็นเป็นสีขาว ดาวอังคาร แลเห็นเป็นจุดสว่างสีแดง ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์สีเหลือง พระราหู ซึ่งตามตำนานจะไล่จับพระอาทิตย์พระจันทร์ ก็แลเห็นเป็นเงาดำทาบทับในยามสุริยคราส-จันทรคราส ส่วนวิมานพระเกตุ ย่อมตรงกับดาวหาง อันแลเห็น “หาง” เป็นเปลวยาวฟุ้งในฟากฟ้า เป็นต้น