
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ในเดือนตุลาคม ๒๔๕๓ ไม่นานหลังจากนั้น ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อฝึกฝนข้าราชการพลเรือนให้มีความรู้และมีวินัยแบบทหาร
กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง กองเสือป่ามีรูปแบบการจัดหน่วยของกำลังพลโดยมีลำดับชั้นยศลดหลั่นกันไปในทำนองเดียวกับกองทัพ แต่ละกรมกองล้วนมีเครื่องแบบอันงามสง่าตระการตาแตกต่างกันไป ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริและทรงออกแบบธงประจำตัวพระราชทานแก่นายเสือป่าชั้นสัญญาบัตรด้วยพระองค์เอง
ธงประจำตัวนายเสือป่าเป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นสีตามสีประจำวันเกิดของผู้ได้รับพระราชทาน ได้แก่
- วันอาทิตย์ – สีแดงชาด
- วันจันทร์ – สีเหลือง
- วันอังคาร – สีหงสบาท (สีเท้าหงส์ คือสีชมพูอมส้ม)
- วันพุธ – สีเขียว
- วันพฤหัสบดี – สีฟ้า
- วันศุกร์ – สีขาว
- วันเสาร์ – สีดำ
น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ คือตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันพุธ และวันศุกร์ เป็นชุดสีประจำวันที่คุ้นเคยกันดี ทว่าวันพฤหัสบดีและวันศุกร์กลับไม่ตรงกับสีประจำวันที่รู้จักกันเลย
นอกจากนั้นแล้ว บนผืนธงยังมีลวดลายที่เกี่ยวข้องกับชื่อ สกุล หรือหน้าที่การงานของนายเสือป่าผู้นั้น
หากเป็นสมาชิกในราชสกุลวงศ์ ภาพบุคคลในลวดลายหรือตราประจำธงจะใช้รูปเทพบุตร ส่วนของบุคคลธรรมดาจะเป็นรูปมานพ (บุรุษหนุ่ม) แต่บางท่านก็เป็นภาพวัตถุสิ่งของอันเนื่องด้วยนาม เช่นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มีธงพื้นขาว (วันศุกร์) ตรงกลางเป็นรูปกลองสองหน้า ตามนัยของคำว่า “สนั่น” คือเสียงดัง (ราวกับตีกลอง)
พร้อมกันนั้นยังมีตัวอักษรเป็นข้อความพุทธศาสนสุภาษิต เช่นเมื่อพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สมัครเข้ามาเป็นเสือป่า พื้นธงประจำพระองค์ที่ได้รับพระราชทานเป็นสีแดงชาดตามวันประสูติ คือวันอาทิตย์ ลายในธงเป็นรูปสุริยมณฑล คือรูปพระอาทิตย์ ทรงราชรถ เทียมด้วยสิงห์ อยู่ภายในวงกลม ด้านบนขอบเหนือตราสุริยมณฑลประจำพระองค์ของกรมหมื่นชุมพรฯ มีคาถาภาษาบาลีว่า “กยิรา เจ กยิราเถนํ” แปลว่า “จะทำสิ่งไร ควรทำจริง”
ดังนั้นตราประจำพระองค์ของ “เสด็จเตี่ย” ที่เป็นรูปสุริยมณฑล พร้อมด้วยคาถา “กยิรา เจ กยิราเถนํ” จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นตราและภาษิตที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง แล้วกรมหมื่นชุมพรฯ จึงทรงรับมาใช้เป็นตราประจำพระองค์ กระทั่งกลายเป็นตราประจำราชสกุลอาภากรในเวลาต่อมา
ยังมีอีกหลายท่านที่น้อมเกล้าฯ รับพระราชทานตราในธงประจำตัวนายเสือป่าชั้นสัญญาบัตรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบมาเป็นตราประจำตัว เช่น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ซึ่งได้รับพระราชทานธงสีหงสบาท (วันอังคาร) เป็นรูปนาคมานพ (คือนาคที่แปลงมาเป็นรูปมนุษย์ มักแสดงด้วยภาพบุรุษทรงศิราภรณ์รูปนาค) เชิญฉลองพระบาทเชิงงอน เนื่องจากในคราวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๖ ท่านเจ้าคุณเป็นผู้ถวายฉลองพระบาทเชิงงอน อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และพระยาบุรุษฯ ได้ยึดถือรูปนี้เป็นตราประจำตัวสืบมาจนตลอดชีวิต