
“…คุณเปรมแต่งตัวเสร็จแล้วก็เดินยิ้มออกมาจากในห้อง พลอยเหลียวไปดูสามีแล้วก็สะดุ้งสุดตัว ร้องขึ้นว่า
“คุณเปรมจะไปไหนนั่นน่ะ! แต่งตัวราวกับรับพระอังคาร!”
วันนั้นเป็นวันอังคาร คุณเปรมแต่งตัวด้วยเครื่องสีชมพูทั้งชุด คือผ้าม่วงสีชมพู เสื้อชั้นนอกแพรสีชมพู ถุงเท้าแพรสีเดียวกัน และรองเท้าหุ้มแพรต่วนสีชมพู แม้แต่หมวกสักหลาดที่คุณเปรมถืออยู่ในมือก็เป็นสีชมพูอย่างเดียวกับผ้าม่วงและเสื้อชั้นนอก ของอย่างเดียวที่มิได้เป็นสีชมพูไปด้วยก็คือ ไม้เท้าที่คุณเปรมถืออยู่ในมือ
คุณเปรมหัวเราะชอบใจแล้วพูดว่า
“ฉันแต่งอย่างนี้เป็นอย่างไรแม่พลอย สวยดีไหม?”…”
ข้อความข้างต้นมาจากนวนิยาย “สี่แผ่นดิน” บทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ช่วง “แผ่นดินที่สอง” คือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ ๒๔๕๓-๒๔๖๘) เมื่อคุณเปรม ผู้ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระบริบาลภูมินารถ ข้าราชการกระทรวงวัง ลุกขึ้นแต่งตัวด้วยแฟชั่นตามสมัยนิยม เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนในกระทรวงเดียวกันที่ได้รับพระราชทานบ้านอยู่ แฟชั่นที่ว่าคือการแต่งกายด้วยสีประจำวันทั้งชุด เช่นวันนั้นเป็นวันอังคาร คุณเปรมจึงแต่งชุดสีชมพูทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า จนแม่พลอยทักว่า “แต่งตัวราวกับรับพระอังคาร!” อันหมายถึงเครื่องแต่งกายเข้าพิธีรับพระอังคารเมื่อเปลี่ยนมาเสวยอายุตามคติมหาทักษา
คุณพระบริบาลฯ บรรยายให้ภริยาฟังอย่างภูมิอกภูมิใจว่า “เดี๋ยวนี้ผู้ชายเขาแต่งตัวกันอย่างนี้แหละ” แล้วยังขยายความต่อไปด้วยว่า “คนที่ไปงานวันนี้ก็คงจะแต่งตัวอย่างเดียวกันทั้งหมด” แม่พลอยจึงซักว่า “แล้ววันอาทิตย์เล่าคุณเปรม ทำอย่างไร”
“แต่งแดง” คุณเปรมตอบหน้าตาเฉย
“แดงหมดตั้งแต่หมวกถึงเกือกทีเดียวหรือ ?” พลอยถาม
“ก็ต้องอย่างนั้น ฉันมีหมดแล้วทั้งเจ็ดสี”
หลังจากพิศดูอยู่หลายตลบ ศรีภริยาจึงกล่าวให้กำลังใจสามีข้าราชการกระทรวงวังของเธอว่า “ฉันโล่งอกไปอย่างที่คุณเปรมเป็นคนขาว ถ้าเป็นคนดำแต่งตัวชุดวันอาทิตย์ละก็คงงามหน้าละ คงเหมือนอ้ายคะนังเมื่อแผ่นดินก่อน”
คุณชายคึกฤทธิ์รายงานความเป็นไปของคุณเปรมในกรณีนี้ไว้ว่า
“แต่ความจริงคุณเปรมแต่งกายด้วยสีเดียวกันทั้งชุด เป็นการทดลองดูเท่านั้นเอง พอได้มีโอกาสแต่งไปจนครบชุดเจ็ดชุดเจ็ดสีแล้ว คุณเปรมก็ดูจะเนือยๆ ไป”
ตามรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย บันทึกไว้ว่า ความนิยมแต่งตัว “ชุด” คือใส่เสื้อสีฉูดฉาด ตั้งแต่หมวก ผ้านุ่ง ถุงเท้า รองเท้า เป็นสีเดียวกัน เคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่บุรุษและสตรีระยะหนึ่ง (คงราวปลายปี ๒๔๕๘) ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมไปเมื่อถึงช่วงต้นปี ๒๔๕๙
อาจถือได้ว่าเทรนด์แฟชั่นแนวนี้คือ “ขั้นสุด” ของความนิยมแต่งตัวตาม “สีกำลังวัน” ที่เคยมีมาในเมืองไทย