อีกเกือบ ๑๐๐ ปีต่อมาหลังจากที่สุนทรภู่ประพันธ์ “สวัสดิรักษา” คติการแต่งกายชุดออกศึกด้วยสีตามกำลังวันยังคงได้รับการปฏิบัติสืบทอดมา จนแม้เมื่อสยามกลายเป็นราชอาณาจักรสมัยใหม่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แล้ว

วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) นักศึกษาหนุ่มชาวเซิร์บ บุกเดี่ยวใช้ปืนพกปลงพระชนม์อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ (Archduke Franz Ferdinand) รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และพระชายา คารถยนต์พระที่นั่งในขบวนเสด็จที่เมืองซาราเยโว (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แต่ขณะนั้นยังอยู่ในอาณาเขตจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี)
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การประกาศสงครามระหว่างออสเตรีย-ฮังการี กับเซอร์เบีย ก่อนที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็น “มหายุทธสงคราม” (the Great War) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Power) ได้แก่ออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนี กับฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
มหายุทธสงครามครั้งนั้นเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สงครามโลกครั้งที่ ๑” (๒๔๕๗-๒๔๖๑/ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)
ในช่วงแรกของความขัดแย้ง ราชอาณาจักรสยามประกาศยืนยันความเป็นกลาง แต่ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐
ในการนี้ รัชกาลที่ ๖ ยังทรงกระทำตามแบบฉบับทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน “สวัสดิรักษา” กล่าวคือเนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ (“วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล”) รุ่งเช้าวันนั้น พระองค์จึงทรงเครื่องทรงมหาพิชัยยุทธสีแดงเลือดนก อันประกอบด้วยฉลองพระองค์แพรแดง ทรงภูษา (โจงกระเบน) แดง ถุงพระบาท (ถุงเท้า) และฉลองพระบาท (รองเท้า) สีแดง ทรงพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์เฉวียงพระอังสา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต แล้วเสด็จไปสักการะพระบุรพกษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร ก่อนจะเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสงคราม
ในทศวรรษ ๒๕๐๐ มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเครื่องทรงมหาพิชัยยุทธขึ้นประดิษฐานหลายแห่ง เช่นหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน ถนนพหลโยธิน และหน้าหอประชุม วชิราวุธวิทยาลัย
รวมถึงในวาระ ๑๐๐ ปีวันพระราชสมภพเมื่อปี ๒๕๒๔ ก็มีการจัดสร้างดวงตราไปรษณียากร (แสตมป์) ที่ระลึกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเครื่องทรงมหาพิชัยยุทธด้วย
ผู้สนใจรายละเอียดเรื่องเครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ โปรดดูหัวข้อ “เหตุผลที่รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศสงคราม” ในหนังสือ “พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๕” ที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ๒๔๔๒-๒๕๒๔) อดีตมหาดเล็กราชสำนักยุครัชกาลที่ ๖ ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ บันทึกไว้