เรื่อง : ณิชา เวชพานิช
ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี

แลนด์บริดจ์ หนึ่งล้านล้านบาท ความหวังหรือความหวาดหวั่น ?
สองข้างถนนที่ตัดผ่านอำเภอพะโต๊ะ เชื่อมจังหวัดชุมพรกับระนอง เรียงรายด้วยสวนทุเรียนและป่า โครงการแลนด์บริดจ์มีกำหนดสร้างมอเตอร์เวย์และทางรถไฟระยะ 87 กิโลเมตรตีคู่ไปกับถนนเส้นเดิม (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)

ทันทีที่หักเลี้ยวรถเข้าตัวเมืองระนอง แลนด์มาร์กประจำเมืองก็ปรากฏสู่สายตา อาคารโรงแรมร้างปกคลุมด้วยเถาวัลย์ตั้งตระหง่านทักทายผู้มาเยือน ทำให้อนุสาวรีย์เจ้าเมืองเชื้อสายจีนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม แลดูเล็กจิ๋วไปถนัดตา

คนระนองเล่าว่า เจ้าของโรงแรมล้มละลายจากธุรกิจคาสิโนบนเกาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเมื่อสิบสามปีก่อน เลยปล่อยตึกนี้ร้างสร้างไม่เสร็จ ดั่งอนุสรณ์สถานแห่งความล้มเหลวในการพัฒนา แต่เรื่องน่าเศร้านี้ยังเป็นแค่หนึ่งบทในหน้าประวัติศาสตร์การดิ้นรนหาอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง

เมืองฝนแปดแดดสี่เล็ก ๆ แห่งนี้เคยรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุก แต่ช่วงปี พ.ศ. 2528 ทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นทำให้ความต้องการดีบุกลดลง เมื่อเหมืองทยอยปิดตัว ระนองจึงพยายามขายจุดเด่น นำเสนอผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์จนได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้น การท่องเที่ยวของระนองก็ยังสู้เพื่อนบ้านอย่างภูเก็ตหรือพังงาไม่ได้ แถมธุรกิจประมงก็ยังซบเซาไปอีกหลังปี 2558 เมื่อรัฐบาลไทยปรับกฎหมายประมงเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรป จนกระทบต้นทุนการออกเรือ

ทว่าอนาคตของระนองอาจจะเปลี่ยนไปในไม่ช้า เมื่อจังหวัดอันเงียบสงบแห่งนี้ถูกวางให้เป็นประตูเชื่อมต่อโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก เป็น “ทางลัด” ช่วยย่นระยะทางขนส่งสินค้าทางเรือที่ปัจจุบันต้องผ่านช่องแคบมะละกา บริเวณประเทศสิงคโปร์ โครงการแลนด์บริดจ์จะสร้างท่าเรือน้ำลึกในทะเลอันดามัน (จังหวัดระนอง) และอ่าวไทย (จังหวัดชุมพร) แล้วเชื่อมต่อระหว่างสองฟากฝั่งด้วยถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจรกับทางรถไฟระยะทาง 87 กิโลเมตร

ทุกการพัฒนามีต้นทุน งบประมาณก่อสร้างหนึ่งล้านล้านบาททำให้เกิดคำถามขึ้นในใจชาวระนองกับใครอีกหลาย ๆ คน เมื่อการค้าขายเข้ามา พวกเขาจะต้องแลกกับอะไร ?

landbridge02
แผนภาพแสดงเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างเอเชียและยุโรป หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะย่นย่อระยะเวลาเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา (ภาพ : Emilie Languedoc)

ปลุกผี ร่างอวตารคลองสุเอซ

แนวคิดเรื่องทำทางลัด-ตัดย่นเวลาขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะเป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2220 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากนั้น เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจัง โดยอ้างอิงโมเดลคลองสุเอซที่อียิปต์ แต่การขุดคลองลัดนั้นต้นทุนสูงและทำให้หลายคนกลัวว่าจะเสี่ยงแบ่งประเทศไทยเป็นสองส่วน แผนการนี้ถูกปลุกผีและฝังลงหลุมหลายต่อหลายครั้ง บางทีมาในชื่อ “คลองไทย” บางครั้ง “คลองคอคอดกระ” จนวันนี้ สามร้อยปีให้หลัง เกิดเป็นโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่จะเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทยด้วยขนส่งทางบก

หลังจากส่งสัญญาณมาหลายครั้ง คราวนี้แลนด์บริดจ์เหมือนจะเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อปี พ.ศ.2561 รัฐบาลไทยกำหนดให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ที่จะช่วยตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้พัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงภายในปี พ.ศ.2573 ท่าเรือน้ำลึกจะมีศักยภาพรองรับตู้สินค้าเทียบเท่าท่าเรือฮ่องกง ช่วยย่นระยะเวลาขนส่งทางเรือระหว่างกลุ่มประเทศเอเชียใต้ไปโซนประเทศจีนลง 4 วัน

รัฐบาลไทยตั้งเป้าให้ SEC เป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปาล์มน้ำมัน การประมง และอาหารฮาลาล ช่วยเพิ่ม GDP ประเทศขึ้น 1.5% และเกิดการจ้างงานมากกว่าหนึ่งหมื่นตำแหน่งในระนองกับชุมพร ทว่าความคุ้มค่ากลายเป็นคำถามใหญ่ในใจคนระนอง เมื่อเมืองเล็กอันเหงาหงอยกำลังจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

landbridges03 new
แผนภาพแสดงจุดก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (ภาพ : Emilie Languedoc)

วิถีชีวิตประมงถูกคุกคาม

ทม สินสุวรรณ หญิงประมงพื้นบ้านมุสลิม ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง คือคนหนึ่งที่ค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ตอนต้นปี 2567 หญิงร่างเล็กวัยหกสิบเข้ายื่นหนังสือคัดค้านถึงมือ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่คณะรัฐมนตรีสัญจร

เธอหวาดหวั่นว่า โครงการจะสร้างผลกระทบต่ออ่าวอ่าง… ระบบนิเวศสำคัญที่ชุมชนประมงพื้นบ้านออกวางอวนจับปูม้าและตกปลาทราย ผืนน้ำนิ่งสงบปราศจากคลื่นแรงใสเหมือนแก้วคริสตัล พื้นที่อ่าว 6,975 ไร่จะถูกถมเป็นท่าเรือน้ำลึก

“คนไทยพลัดถิ่นส่วนใหญ่ออกทะเลกัน คนมีบัตรเขายังไปรับจ้างได้ จ้างแพง ๆ จ้างถูก ๆ ก็ทำได้ แล้วคนที่ไม่มีบัตรเลย เขาจะทำมาหาอะไรกิน” ทมว่า “ออกเลไม่ได้ ก็เหมือนตัดมือตัดตีนเราทั้งเป็น”

คนไทยพลัดถิ่นที่เธอกล่าวถึง หมายถึงคนไร้สัญชาติไทย จังหวัดระนองมีคนไทยพลัดถิ่นไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เป็นผลพวงจากความซับซ้อนของประวัติศาสตร์บริเวณตะเข็บชายแดน เนื่องจากก่อนยุคอาณานิคม บริเวณเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี เคยอยู่ในเขตปกครองไทยมาก่อนที่จะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาในวันนี้ นั่นทำให้หลายครอบครัวเดินทางไปมาข้ามประเทศเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับภาวะสงครามฝั่งเมียนมา ทำให้ตกหล่นจากการขึ้นทะเบียนราษฎร

ทมเองก็เคยเป็นคนไร้สัญชาติ แม้วันนี้ เธอจะได้บัตรประชาชนแล้ว แต่หลายคนในชุมชนยังไม่มี เธอจึงเข้าใจดีว่าการเดินทางออกนอกจังหวัดและหางานที่มีการจ้างงานทางกฎหมายลำบากแค่ไหน อาจเรียกได้ว่ากลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเป็นกลุ่มที่จะเดือดร้อนมากที่สุด หากมีโครงการแลนด์บริดจ์

ถึงแม้ผู้พัฒนาโครงการจะยืนยันกับชาวประมงพื้นบ้านระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตอนปี 2567 ว่า พวกเขาจะยังออกเรือหาปลาในอ่าวได้ แต่คำอธิบายนั่นยังไม่ทำให้พวกเขามั่นใจ

กลุ่มประมงพาณิชย์ จังหวัดระนอง ก็กังวลเช่นกัน หลายคนมองว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกจะกระทบเส้นทางเดินเรือจากระนองไปพังงาที่พวกเขาเดินเรือ

“เส้นทางเดินเรือสินค้าอาจทับเส้นทางคมนาคมของเรือประมงสัตว์น้ำ ทำให้การจราจรแน่น เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ” สมทรัพย์ จิตตะธม ประธานสมาคมประมงระนอง กล่าว “แถมการสร้างท่าเรือจะทำให้ตะกอนในน้ำขุ่น กระทบกับระบบนิเวศ”

ชาวประมงทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ต่างกังวลว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่นี้จะกระทบระบบนิเวศทะเลอันเปราะบางจนไม่อาจหวนคืน ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับชาวประมงอายุมากแล้วอย่างทม การจะหันไปทำอาชีพอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราก็อยากให้ประเทศชาติพัฒนา แต่อยากให้พัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ไหม” ทมถามขึ้นลอย ๆ แต่หนักแน่น เช่นเดียวกับทุก ๆ ครั้งที่ยืนกรานต่อผู้กำหนดนโยบาย

แต่สำหรับผู้ประกอบการบางราย แลนด์บริดจ์เป็นเสมือนขอนไม้ที่เศรษฐกิจระนองซึ่งกำลังจมดิ่งควรคว้าไว้ พรศักดิ์ แก้วถาวร ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างและประธานสภาหอการค้าระนองเชื่อว่า คนระนองส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ การมีโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานและอุตสาหกรรมจะช่วยเปิดโอกาสหางานให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด

“จุดแข็งระนองเป็นเมืองท่า เราจะพัฒนาการค้าชายแดนทุกวันนี้ที่ทำกับแค่ฝั่งพม่า ไปสู่การค้าระหว่างประเทศกับทวีปอื่นได้อย่างไร” พรศักดิ์ชี้ “เรามีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ มีวัตถุดิบ แต่ยังไม่มีฐานการผลิต ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ระนองก็จบเงียบไปเรื่อย ๆ”

landbridge04
ป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ในสวนทุเรียน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ชี้ความเชื่อมโยงของโครงการกับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)
landbridge05
แผงขายทุเรียนริมถนน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องทุเรียน (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)

สวนทุเรียนเสี่ยงถูกถอนราก

จากชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง เราขับรถบนถนนคดเคี้ยวที่ตัดผ่าน อำเภอพะโต๊ะ ไปฝั่งอ่าวไทยที่จังหวัดชุมพร สองข้างทางเป็นพื้นที่ป่าและสวน ใต้กิ่งก้านเขียวชอุ่มมี “ทองก้อน” ซุกซ่อนอยู่ คนพะโต๊ะส่วนใหญ่มีรายได้จากสวนทุเรียน ต้นทุเรียนอายุ 20 ปีหนึ่งต้น สามารถให้ผลผลิตมูลค่าสูงถึง 50,000 บาทต่อปี

“คนที่นี่แค่ทำสวนก็พอเลี้ยงตัวเองก็ครอบครัวแล้ว” สมโชค จุงจาตุรันต์ ว่า มอเตอร์เวย์ขนาดหกเลนที่จะสร้างขึ้นเป็นตัวเชื่อมท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง จะตัดทับสวนทุเรียนพี่ชายเขา

ผู้พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์สัญญาว่า ชาวสวนทุเรียนจะได้รับเวนคืนค่าที่ดินและต้นทุเรียน แต่สมโชคกับคนในชุมชนมองว่า จำนวนเงินดังกล่าวไม่คุ้มแลกกับสวนทุเรียนที่เป็นเสมือนแหล่งทองคำก้อนระยะยาว

“เราไม่อยากให้ทำนิคมอุตสาหกรรมที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้นายทุนต่างชาติมาตักตวงทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเรา”​ ชายหนุ่มวัย 43 กล่าวอย่างหนักแน่น

landbridge06
ระนองอุดมด้วยผืนป่าชายเลน​ ส่วนหนึ่งได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองซึ่งมีความสำคัญด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่างจะถมทะเลส่วนหนึ่งใกล้กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)
landbridge07
ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือไปหาปลายามรุ่งสางบริเวณอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง แหล่งหากินของพวกเขา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จะต้องถมทะเลประมาณ 6,975 ไร่ (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)
landbridge08
ทม สินสุวรรณ แกนนำชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ นั่งอยู่ในเรือใกล้จุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง ห่างไม่กี่กิโลเมตรจากหมู่บ้านของเธอ ต้นปี 2567 หญิงวัยหกสิบเข้ายื่นหนังสือคัดค้านให้อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระหว่าง ครม.สัญจร ในพื้นที่ ทำให้เธอกลายเป็นที่จดจำของกระแสคัดค้านโครงการ (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)

เงาหลอนการลงทุนต่างชาติ

สำหรับสมโชค เงาหลอนของ “ลัทธิล่าอาณานิคมใหม่” ปรากฏชัดแล้วที่บ้านเกิดเขา ซึ่งเป็นแหล่งรวมทุเรียนจากหลายพื้นที่ภาคใต้ ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน บรรยากาศโกดังสองข้างทางหลวงที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร คึกคักไปด้วยชาวสวนที่นำทุเรียนมาขายให้ล้ง ปัจจุบัน เจ้าของโกดังจำนวนมากเป็นคนจีน รับซื้อทุเรียนจากสวน แล้วคัดแยกเกรดส่งไปจีน

เขามองว่า การรุกคืบของทุนต่างชาติยิ่งชัดเจนมากขึ้นผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ที่พ่วงแถมด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษมีกฎหมายพิเศษเฉพาะตัวเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 99 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ชวนให้นักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ดูไบ และอีกหลายประเทศมาร่วมลงทุนในโครงการหนึ่งล้านล้านบาทนี้

สมโชคร่วมกับชาวประมงระนองค้านโครงการ เครือข่ายชาวบ้านยื่นหนังสือให้บรรดาสถานทูตประเทศต่างๆ รับทราบถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น แต่การต่อสู้ก็ไม่ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับโครงการยักษ์ใหญ่ที่พวกเขามองว่าไม่เปิดเผยข้อมูลชัดเจน

“แลนด์บริดจ์มันไม่ใช่แค่เรื่องท่าเรือน้ำลึกหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่มันคือการขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมหลายพันไร่” บัณฑิตา อย่างดี ชี้ เธอเป็นหัวหน้าศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) องค์กรเอ็นจีโอภาคใต้ที่จับตาโครงการดังกล่าว “พอรัฐให้ข้อมูลแบบแยกส่วนเป็นรายโครงการ ชุมชนเขาอาจจะเห็นภาพเล็ก ๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ แท้จริงแล้วแลนด์บริดจ์มันใหญ่ ใหญ่มาก”

HaRDstories ติดต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งดูแลโครงการดังกล่าวเพื่อขอความคิดเห็นตอนเดือนพฤศจิกายน 2567 แต่ได้รับการปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า โครงการเป็นนโยบาย “ระดับรัฐมนตรี” แล้ว จึงไม่อาจให้สัมภาษณ์ได้

นอกเหนือจากโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานที่ระนองและชุมพรแล้ว พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC จะพัฒนาขึ้นในอีกสองจังหวัดฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ร่างกฎหมายที่รองรับเขตดังกล่าวยังเขียนเปิดไว้ว่า สามารถขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้รวมถึง “พื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติม” สร้างความกังวลว่าอุตสาหกรรมหนักจะคืบขยายในภาคใต้

landbridge09
อาหารทะเลจากเรือประมงพาณิชย์เปิดให้ประมูลในตลาดปลายามเช้าที่ท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประมงพาณิชย์หลายรายในจังหวัดมีความเห็นคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะกังวลว่าจะกระทบการประมงในพื้นที่ (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)
landbridge10
ผู้โดยสารคนหนึ่งขึ้นจากท่าเรือที่พาผู้คนข้ามชายแดนไทยกับจังหวัดตอนใต้เมียนมา ท่าเรือดังกล่าวยังเป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ค่อนข้างเงียบเหงา นอกจากชาวไทยแล้ว ผู้โดยสารหลายคนเป็นคนพม่าที่เดินทางมาทำงานฝั่งไทย (ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี / HaRDstories)

ปิโตรเลียมกับทางแพร่งของการพัฒนา

บัณฑิตาและทีมงานศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยากำลังทำงานกับชุมชนในระนองและชุมพร พวกเขาพยายามทำความเข้าใจขนาดอันมหึมาและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการแลนด์บริดจ์ ค่อย ๆ ต่อชิ้นส่วนข้อมูลอันกระจัดกระจายราวกับการต่อจิ๊กซอว์

จากประสบการณ์พวกเขา การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ “EHIA” (Environmental Health impact Assessment) จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ กระบวนการ EHIA มักจะทำเป็นลักษณะรายโครงการ เช่น ทำกับโครงการท่าเรือน้ำลึกหนึ่งโครงการ และทำกับมอเตอร์เวย์และอ่างเก็บน้ำแยกอีกโครงการ

การประเมิน EHIA ท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งสรุปว่า ชุมชนในระยะ 5 กิโลเมตรจากท่าเรือสนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่บัณฑิตาเชื่อว่า การประเมินแบบนี้จะประเมินผลกระทบที่แท้จริงจากโครงการพัฒนาต่ำเกินไป

สิ่งที่กวนใจชุมชนมากที่สุดคือ การที่รัฐบาลสื่อสารไม่ชัดเจนต่อสาธารณะว่าโครงการจะมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือไม่ เอกสารทางการชี้จุดขายแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นฐานขนส่งสินค้าทางเรือและอุตสาหกรรมชีวภาพ แต่ไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงบทบาทแลนด์บริดจ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

จากเอกสารของทางการชุดหนึ่ง โครงการแลนด์บริดจ์จะวางแนวท่อส่งน้ำมันดิบ คู่กับมอเตอร์เวย์ที่ตัดผ่าน อ.พะโต๊ะ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันและก๊าซ โดยนำเข้าทางเรือจากตะวันออกกลาง ก่อนส่งผ่านไปผู้ซื้อหลักที่จีนและญี่ปุ่น

ในรายงานคณะกรรมาธิการศึกษาแลนด์บริดจ์ รัฐสภา ผู้แทนหน่วยงานจากจังหวัดชุมพรเคยให้ความเห็นว่า ท่อส่งน้ำมันอาจสร้างรายได้ให้ไทยอย่างต่ำ 18 ล้านบาทต่อวัน และยัง “ลดต้นทุนและลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมได้ดี เพราะสายการเดินเรือมีปัญหาด้านคาร์บอนเครดิต”

เมื่อทั่วโลกมีกระแสกดดันให้ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจต่างๆ พากันหาทางชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการของตน ประเทศไทยเองก็คว้าโอกาสจากเทรนด์นี้ โดยเสนอให้นักลงทุนชดเชยผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนบริเวณภาคใต้ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแลนด์บริดจ์เช่นกัน แต่นักอนุรักษ์อย่างบัณฑิตามองว่า โครงการแนวนี้เสี่ยงตกเป็นเครื่องมือ “ฟอกเขียว”

ขณะที่ชุมชนกังวลเรื่องมลพิษจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ​ด้านผู้พัฒนาโครงการรับรองว่า จะไม่มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่แลนด์บริดจ์ เหมือนที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับบัณฑิตาและนักอนุรักษ์คนอื่น ๆ โครงการแลนด์บริดจ์เปรียบเหมือนทางแพร่งของการพัฒนาไทย ในทิศหนึ่ง อุตสาหกรรมหนักจากอดีตยังตามติดมาเป็นเหมือนเงาหลอน และอีกทิศหนึ่งคืออุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ยั่งยืนมากกว่า อย่างพลังงานหมุนเวียนและการเกษตรมูลค่าสูง เธอมองว่า การพัฒนาแบบหลังนี้สามารถต่อยอดจากวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนในพื้นที่ เช่น การทำประมงของทมหรือสวนทุเรียนของสมโชค

การทำ EHIA โครงการท่าเรือน้ำลึกและมอเตอร์เวย์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแลนด์บริดจ์ เสร็จล่าช้าจากกำหนดเดิมและเลื่อนไปเป็นสิ้นปี 2568 ไล่เลี่ยกับไทม์ไลน์การผ่านร่าง พ.ร.บ.SEC รัฐบาลไทยหวังว่าจะเริ่มสร้างโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานสองโครงการนี้ในปีต่อมา และตั้งเป้าก่อสร้างเสร็จภายในปี 2573

“ประเทศเรามีทางเลือกพัฒนาได้หลายทาง” บัณฑิตาว่า “แต่รัฐบาลก็จะเลือกเก็บเอาอุตสาหกรรมหนักแบบเดิมไว้ให้ไทยในอีกหลายสิบปีข้างหน้าด้วย มันเหมือนกับว่า กลุ่มทุนเดิมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะยังคงมีบทบาทกับรัฐบาลนี้”

  • ผลงานข่าวชิ้นนี้ผลิตโดย ฮาร์ดสตอรี่ (HaRDstories) ได้รับการสนับสนุนจาก Pulitzer Center
  • เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยบนเว็บไซต์ HaRDstories และร่วมตีพิมพ์เป็นภาษาพม่าทาง Dawei Watch

ติดตามเพจ Sarakadee Magazine