เรื่อง : อภิศักดิ์ บุญมาลี
ภาพ : กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี
เปิดไดอารี่เล่มเล็กบันทึกชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 23 ปี ที่ป้ายหมึกจารึกลงแผ่นกระดาษแห่งความทรงจำ เล่าหนทางผจญภัยตั้งแต่เล็กจนโต เรียนรู้สิ่งรอบข้าง ทั้งโลกจริงและมายา ตั้งแต่ลืมตาพบแสงตะวันโลกครั้งแรกจวบจนอายุ 18 ปีใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ที่บ้านเกิดจังหวัดเล็ก ๆ ขอบแผ่นดินตะวันออกเฉียงเหนืออย่างอำนาจเจริญกับครอบครัวพร้อมหน้า มีโอกาสได้โยกย้ายไปอยู่คนเดียวครั้งใหญ่ก็เมื่อตอนตัดสินใจไปตามล่าหาฝันที่มหาวิทยาลัย ลิ้มรสเรียนรู้วิชาการ วิชาชีวิตแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลอง At มหาสารคามด้วยอารมณ์หลากหลาย ตื่นเต้น กลัว แต่ท้าทายน่าลองดู

ฝันที่เลือนราง กระจ่างเพราะขัดเกลา
สวัสดีครับ ผมนายอภิศักดิ์ บุญมาลี ชื่อเล่น “กอล์ฟ” หรือเรียกอีกชื่อ “ก๊อบแก๊บ” มาจากเสียง
ถุงขนมกรุบกรอบนั่นเอง หลังจากรู้ข่าวประกาศจากอาจารย์ว่าเทอมสุดท้ายชีวิตนิสิตปี 4 เอกภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะต้องออกฝึกงาน ช่วงเวลานั้นก็เหมือนพายุโหมกระหน่ำมาทีเดียว ทั้งอ่านหนังสือสอบ ปิดเล่มวิจัย เขียนบทความ เป็นตัวแทนนำเสนองานและเสวนา บวกกับหาที่ฝึกงานควบคู่กันไป นับวันเหลือไม่ถึงสองเดือนที่ต้องติดต่อและส่งชื่อสถานที่ฝึกให้กับทางสาขาพิจารณา ได้แต่กลับมาถามตัวเองว่าแท้จริง เราชอบอะไร เรียนวิชาอะไรมาบ้าง คำตอบในหัวใจได้ตกตะกอนว่าชอบวิชาสารคดี ชอบดูหรือฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับสารคดี โดยเฉพาะสารคดีท่องเที่ยว จึงตัดสินใจลองเสิร์ชหาสถานที่ฝึกงานเกี่ยวกับสารคดีผ่านอินเตอร์เน็ต ปรากฏเด้ง “นิตยสารสารคดี” ขึ้นมา ใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์ศึกษาหนังสือ งานเขียนอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ จนมั่นใจกับตัวเองว่า เราจะเลือกที่นี่และสามารถอยู่ได้ตลอดระยะเวลา 4 เดือนของการฝึกงาน ลงมือแปลงเรซูเม่ รวมพอร์ต ส่งผ่านอีเมล สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการ ระยะเวลาผ่านไปจวน 1 สัปดาห์ เมลจากทางนิตยสารตอบกลับมาว่า “รับเข้าฝึกงานในตำแหน่งนักเขียน” ทำเอาใจแทบทะลุออกมา จำบรรยากาศวันนั้นได้ดีเป็นวันที่ยิ้มเยอะที่สุดอีกวันในห้วงชีวิต เวลาผ่านไปใกล้ถึงช่วงฝึกงานตามกำหนดการณ์ เริ่มขยับย้ายมาอยู่ที่นนทบุรีที่ตั้งของชีวิตคนเดียว
อีกครั้ง เป็นครั้งที่สองในชีวิต เริ่มเรียนรู้ชีวิตจริงจากเด็กบ้านนามาอยู่เมืองกรุงอย่างเต็มระบบ

18 พฤศจิกายน 2567 ปฐมบทของเด็กฝึกงานที่นิตยสารสารคดี บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด
วันแรกข้อความจากพี่ผู้ประสานงานเด้งขึ้นมาว่า
“เจอกันที่ชั้น 1 เวลา 10.00 น.”
คืนวันที่ 17 เป็นช่วงเวลาตื่นเต้นกับคำถามมากมายวนเวียนในหัว สมองแทบระเบิดออกมาเป็น
ป๊อปคอร์นคั่ว คิดไปต่าง ๆ นานาว่าวันแรกจะต้องทำอย่างไร วางตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร แต่ความจริงไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิดไว้ ได้รู้จักพี่ ๆ ในส่วนงานต่าง ๆ ทุกคนดูเป็นมิตร ถามไถ่ และมอบรอยยิ้มให้ตลอด แต่ก็ยังตื่นเต้นเล็กน้อยเมื่อได้ยินว่าเราคือเด็กฝึกงานคนเดียวในเทอมนี้ ทวีคูณความเหงาจากต้องห่างเพื่อนมาอยู่คนเดียวและยังต้องไร้เพื่อนจากสถาบันอื่น แต่ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็มีพี่ ๆ ที่คอยชวนพูดคุย ชวนไปกินข้าว ให้ชิมขนมระหว่างวัน มีของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของขวัญบ้างตามโอกาส ถือว่าเป็นเพื่อนชั้นเยี่ยมในยามนี้แทน พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ เริ่มเข้าสู่การทำงานอย่างเต็มระบบ ด้วยส่วนงานที่เราอยู่คือกองบรรณาธิการ ฝึกตำแหน่งนักเขียน ซึ่งแน่นอนงานหลักของเราคือผลิตงานเขียน ถ้าใครคิดว่ามาที่นี่จะได้ทำแค่เขียนอย่างเดียวอาจจะเบื่อหรือเปล่า ขอตอบเลยว่าไม่ เพราะมาที่นี่เราได้ทำอะไรหลายอย่าง เช่น เรียนรู้มุมกล้อง จัดฉาก ถ่ายภาพ ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ บันทึกเสียง ถอดเทป พิสูจน์อักษรเบื้องต้น เข้าประชุมวิจารณ์เล่มประจำเดือน ประสานงานกับพี่ฝ่ายอื่น รวมถึงเรียนรู้การติดต่อสถานที่ ผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งสำหรับเรามองว่าคุ้มค่าและได้ลงมือทำจริง มันฝึกให้เราตัดสินใจและทำอะไรด้วยตัวเอง
เป็นหลัก สลัดความกลัวข้างในออกเยอะพอควร อีกทั้งยังตรงสายกับสิ่งที่เราเรียนมา อาจจะมีเรื่องถ่ายภาพที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หลังพาร์ทการทำงานคือพาร์ทชีวิตจริง ทำให้เปิดใจลองทำอะไรใหม่ ๆ
ด้วยตนเองคนเดียว ลองออกไปใช้ชีวิตข้างนอกทำกิจกรรมที่เคยคิดว่าทำคนเดียวไม่ได้ ให้กลายเป็นทำคนเดียวได้ มันก็ไม่แย่ ที่นี่เขาทำงานกันแบบไฮบริดทั้งเข้าออฟฟิศและ WFH ซึ่งตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์
การทำงานของคนรุ่นใหม่อย่างเราที่จะไปจิบชา หาพื้นที่ปลอดภัยเขียนงานเงียบ ๆ คนเดียวที่คาเฟ่ก็ยังได้



งานแรกที่ได้ทดลองฝึกเป็นงานเขียนที่เราสนใจ รื้องานเก่านำมาเล่าใหม่ หรือสร้างงานใหม่ที่อยากลองทำอย่างอิสระ ไม่ปิดกั้นความคิด ส่วนงานจริงชิ้นแรกที่เราเขียนคือ “เที่ยวบ้านโทโทโร่ที่เขาใหญ่” คงเป็นงานที่เข้ากับตัวเองมากที่สุดเพราะชอบเที่ยวเป็นทุนเดิม สไตล์การเขียนเน้นเป็นตัวเองมากที่สุด แต่จะมีพี่นักเขียนคอยแนะนำให้เข้าร่องเข้ารอยทุกครั้งก่อนเผยแพร่สู่สายตาชาวเน็ต
“คนอ่านหนังสือน้อยอย่างเรา คิดถูกใช่ไหมที่มาฝึกเขียน”
คำถามนี้ค้างในใจตลอดระยะเวลา 4 เดือน แต่เชื่อเสมอว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ เรารู้จุดด้อยของตัวเอง พยายามปรับให้ดีขึ้นโดยการอ่านนวนิยาย เรื่องสั้น ในเวลาว่าง วันหยุด หรือพักสมอง
จากงานเขียน เพื่อเสริมการใช้ภาษาและเพิ่มคลังคำให้มากขึ้น ผลประกอบการก็เป็นที่น่าพอใจสำหรับตัวเอง เพราะสามารถพัฒนามันขึ้นมาได้จริง ทำให้เรามีความสุขและปลดล็อคคำว่า “ทำไม่ได้”
เป็นคำว่า “เราทำได้” มากกว่าการได้ชิ้นงานคือเราได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ ค่อย ๆ ทะลายคำว่า “ผมเป็นอินโทรเวิร์สทิ้งไป”ที่นี่เหมือนบ้านหนึ่งหลังในชีวิต พี่ ๆ ทุกคนที่คอยให้คำแนะนำ สอนงาน พาไปเจอะเจอกับอะไรใหม่ ๆ บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นความทรงจำดี ๆ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ผ่านกล้องฟิล์มมอบให้เป็นที่ระลึก ซึ่งยากที่จะมีโอกาสกลับมาถ่ายเช่นนี้ จารึกไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตฉันเคยเป็นเด็กฝึก (เขียน) สารคดี ณ. ที่แห่งนี้

“เราก็เหมือนเป็ดทำได้แต่ไม่เด่นสักด้าน”
หากจะเปรียบเช่นนั้นก็คงไม่ผิดเพราะผมชื่นชอบในการเป็นมัคคุเทศก์ พิธีกร เขียนบทความ
เล่นกีฬาได้เกือบทุกชนิดแต่น้อยครั้งที่จะเป็นตัวจริงในสนาม หรือแม้แต่ผลการเรียนเฉลี่ยทั้ง 4 ปีก็ไม่ได้
ดีที่สุดตามเกณฑ์การวัด ไม่ได้มีคำว่า “เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง” บนใบประกาศจบ ทั้งชีวิตนี้หลังจากพยายามค้นหาตัวตนที่ซ่อนอยู่มานาน ถึงวันนี้ภาพในหัวตอบตนเองชัดขึ้นว่าต่อไปอยากจะทำอาชีพอะไรหรือไปทางสายงานไหน ภาพฝันเริ่มใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อย ๆ เห็นเค้าโครงความเป็นไปของไดอารี่
ที่จะเขียนต่อบนหน้ากระดาษแผ่นใหม่ ซึ่งคุ้มค่ากับการตัดสินใจมาฝึกงานที่นี่ แม้จะแลกด้วยทุนทรัพย์และระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตรที่ห่างมาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมันมีค่าและสุดประทับใจ ก่อนจากกันนี้อยากขอบคุณพี่ ๆ ที่ช่วยเกลาความรู้ เพิ่มทักษะ แนะแนวทางให้เราให้กล้าทำ กล้าลอง กล้าออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยดูถูกตัวเองว่า “เราทำไม่ได้หรอก” ก็อย่างว่า
ถ้าเราได้ครูเก่งจะทำให้เราเก่งขึ้น คำ ๆ นี้ใช้ได้จริงกับครูผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์แห่งนี้ได้อย่างเต็มปากและภาคภูมิใจ
