
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อของคนไทยที่บรรดาพระสงฆ์เกจิอาจารย์ นักโหราศาสตร์ และหมอดูนิยมใช้กัน ก็มีที่มาจากหลักทักษาพยากรณ์นั่นเอง โดยนำเอาพยัญชนะวรรคของภาษาบาลี มาจัดจับเข้าคู่กับทิศ/เทวดาประจำวันทั้งแปด หรือเทวดาอัฐเคราะห์ ตามระบบมหาทักษา แล้วซ้อนทับกับเรื่องทักษาพยากรณ์ อันประกอบด้วย บริวาร-อายุ-เดช-ศรี-มูละ-อุตสาหะ-มนตรี-กาลกิณี
แต่เฉพาะในหมู่เจ้านาย คือสมาชิกในราชตระกูล ยังมีรายละเอียดแยกย่อยแตกต่างไปอีก คือปรากฏชื่อเรียกเฉพาะของแต่ละวัน เป็นนาม “สัตว์” ต่างๆ ดังนี้
วันอาทิตย์-ครุฑนาม (ครุฑ) วันจันทร์-พยัคฆนาม (เสือ) วันอังคาร-สีหนาม (สิงห์) วันพุธ-โสณนาม (สุนัข) วันพฤหัสบดี-นาคนาม (นาค) วันศุกร์-มุสิกนาม (หนู) วันเสาร์-คชนาม (ช้าง) และราหู-อัชนาม (แพะ)
ทั้งหมดสรุปไว้เป็นโคลงสี่สุภาพสองบท อยู่ใน “ลิลิตทักษาพยากรณ์” (ประพันธ์เมื่อปี ๒๓๖๓) พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (๒๓๑๓-๒๓๖๕ ต้นราชสกุล “มนตรีกุล”) ว่า
๏ อาทิตย์นามครุฑท้าว ปักขี
จันทร์นามพยัคฆี เบียดเนื้อ
อังคารราชนามศรี สิงหเรศ
พุธสุนักขาเชื้อ ชาตินั้นเป็นนาม
๏ พฤหัสบดิ์มุสิกนี้ นามหนู
ศุกร์อัชนามสู แพะพี้
พระเสาร์อิศรเอกงู นามนาค
อสุรินทร์ท่านชี้ ชาติเชื้อคชนาม
ในบางครั้ง พบว่ามีการใช้ภาพสัตว์อันเป็นนามของวันเป็นสัญลักษณ์แทนเจ้านายพระองค์นั้นๆ ก็มี เช่นที่คุณยุทธนาวรากร แสงอร่าม แห่งกรมศิลปากร ค้นพบว่าบนบานตู้ประดิษฐานพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ วังหน้า (ปัจจุบันอยู่ในเขตพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีภาพสัตว์สัญลักษณ์ในวงรี บานละสองตัว อันเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำวันพระราชสมภพและวันสวรรคต เช่นบานตู้ตรงกลางที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สลักภาพครุฑยุคนาคสองตัว อันหมายถึงวันอาทิตย์ “ครุฑนาม” อันเป็นทั้งวันพระราชสมภาพ (วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐/พ.ศ. ๒๓๕๑) และวันเสด็จสวรรคต (วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๒๗/พ.ศ. ๒๔๐๘) (ดูรายละเอียดในบทความ “สัตว์สัญลักษณ์บนบานตู้ประดิษฐานพระบรมอัฐิในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ของยุทธนาวรากร แสงอร่าม วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗)
ที่มาของชื่อเรียกวันด้วย “นามสัตว์” เหล่านี้ ยังสืบสาวหาต้นกำเนิดไม่ได้แน่ชัด แม้บางวันอาจดูคล้ายกับกลุ่มสัตว์พาหนะของเทวดาประจำวัน เช่น ครุฑ พาหนะของพระราหู เสือ พาหนะของพระเสาร์ สิงห์ พาหนะของพระอาทิตย์ ช้าง พาหนะของพระพุธ ฯลฯ ทว่ากลับไม่ตรงกับวันของเทวดาประจำวันนั้นๆ
มิหนำซ้ำ สัตว์หลายชนิด เช่น แพะ สุนัข และหนู ก็ไม่ปรากฏในชุดสัตว์พาหนะของเทวดานพเคราะห์ แต่กลับไพล่ไปเหมือนกับนามปีของปีนักษัตร เช่น มะแม จอ และชวด เสียอีก