
แม้ในตำราการตั้งชื่อจะระบุว่าผู้ชายควรใช้วรรคเดช วรรคศรี ทว่าในการตั้งพระนามเจ้านาย (รวมถึง “ฉายา” ของพระภิกษุ) กลับปรากฏว่าส่วนใหญ่นิยมเลือกขึ้นต้นด้วยอักษรวรรคบริวาร อาจด้วยเจตนามุ่งหมายให้มีข้าทาสบริวารแวดล้อม สมกับสถานะของผู้เป็นเจ้าเป็นนาย ดังเช่นตัวอย่างจากพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
กรมหลวงชุมพรฯ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓
พระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติในวันอาทิตย์ ครุฑนาม มีตัวเลือกในวรรคบริวาร ได้แก่ สระ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ใอ ไอ
คงด้วยเหตุนั้น พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ๒๓๖๕-๒๔๓๔) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ จึงคิดผูกพระนามถวายว่า “อาภากรเกียรติวงศ์” ซึ่งขึ้นต้นด้วย “อา” ตรงตามเกณฑ์ครุฑนาม
ทว่าเมื่อเจ้านายพระองค์นั้นทรงเจริญพระชันษา คือเติบโตขึ้นมา แล้วต้อง “ทรงกรม” กฎเกณฑ์เรื่องนี้จะเปลี่ยนไป
ธรรมเนียมการทรงกรมนี้ ถือปฏิบัติกันมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้านายทรงเจริญพระชันษาพอสมควรที่จะมีผู้คนใต้บังคับบัญชา จะได้รับพระราชทานอิสริยยศให้ “ทรงกรม” หรือปกครอง “กรม” คือไพร่พลในสังกัด ในการนี้ต้องมีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้คนเหล่านั้นด้วย แต่เดิมเจ้านายจึง “ทรงกรม” ตามนามของข้าราชการผู้ปกครอง “กรม” คือกลุ่มคน ว่าปกครองบ่าวไพร่ในสังกัดของหมื่นคนไหน ขุนอะไร ฯลฯ
จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดธรรมเนียมใหม่ในการตั้งพระนามกรมในพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ (คือพระราชโอรสพระราชธิดา) โดยเกือบทุกพระองค์มักได้รับพระนามเมื่อทรงกรมเป็นชื่อหัวเมืองในพระราชอาณาจักร (เทียบเท่ากับจังหวัด) ตามแนวทางราชสกุลวงศ์อังกฤษ ตัวอย่างที่อาจจะคุ้นหูกันก็เช่น กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นต้น
ในการนี้ยังต้องยึดตามหลัก “ทักษาพยากรณ์” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักพระราชทานพระนามทรงกรมของเจ้านายฝ่ายหน้า (คือเจ้านายที่เป็นผู้ชาย) ด้วยอักษรวรรคเดช เพราะถือว่าเป็นเกียรติยศ
ดังนั้น นามเมืองที่พระราชทานเป็นนามกรมแก่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ จึงต้องขึ้นต้นด้วยวรรคเดชสำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์ อันได้แก่ จ ฉ ช ฌ ญ ผู้รับหน้าที่คิดผูกพระนามถวายในช่วงนั้น ได้แก่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค ๒๓๙๒-๒๔๖๓) จึงเสนอพระนามกรมไว้ให้ทรงเลือกหลายเมืองหลายสร้อยพระนาม ก่อนจะมาลงเอยที่ตัว ช คือ “กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ดังที่เรารู้จักกัน
ในการเฉลิมพระยศเจ้านาย และพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในสุพรรณบัฏและหิรัญบัฏนั้นๆ นอกจากจารึกพระนามและนามที่ได้รับสถาปนาหรือแต่งตั้งแล้ว มักปรากฏในท้ายพระนามและนามนั้นๆ ว่า ครุฑนาม พยัคฆนาม สิงหนาม ฯลฯ ไว้ด้วย โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเปลี่ยนไปยึดถือตามอักษรพระนามตัวต้น คือพระนามเมื่อทรงกรมแล้วเป็นหลัก
ดังตัวอย่างประกาศตั้งกรม ของกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ในปี ๒๔๔๗ ว่า
“จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัตร์ว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณศุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬาร ทุกประการ”