ศรัณย์ ทองปาน

มหาทักษา ๔๑ - พระพุทธรูปประจำวัน (๘) บทสวดพระปริตร

แล้ว “พระปริตร” หรือ “บทขัด” ที่ถูกคัดเลือกมาใช้สวด กับเทวดาที่เข้าเสวยอายุตามคติมหาทักษา มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเช่นไร ?

เท่าที่ผู้เขียนเคยค้นคว้ามา ดูเหมือนจะยังไม่เคยเห็นว่ามีใครให้คำอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ ดังนั้น ต่อไปนี้ จึงจะขอ “ทดลอง” มองหาความสัมพันธ์ระหว่างพระปริตรกับเทวดานพเคราะห์เอง โดยเริ่มจากอันดับแรก คือ ๑ หรือพระอาทิตย์

บทสวดพระปริตร “แบบราษฎร” ที่ใช้สวดสำหรับรับพระอาทิตย์ เรียกชื่อกันตามวรรคแรกว่า “อุเทตยัญจักขุมา” หรือบางทีก็เรียกยาวกว่านั้นว่า “อุเทตยัญจักขุมา เอกราชา” มีคาถาว่าดังนี้

อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
ตํตํ นมสฺสามิหริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ

(คำแปล)
พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช
มีสีเพียงดั่งสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่างอุทัยขึ้นมา
เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้นซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง
ข้าทั้งหลาย อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

(คาถาและคำแปลพระปริตร คัดจากหนังสือ “ตำนาน คาถา คำแปลคาถา มหาราชปริตร” พิมพ์แจกในการพระกฐินพระราชทาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ณ วัดราชสิทธาราม ๒๔๗๔)

คาถานี้มีที่มาจาก “โมรปริตร” (หรือโมระปริตต์) หมายถึงพระปริตรของนกยูง อยู่ในนิบาตชาดกเรื่องมหาโมรชาดก เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทอง

เนื้อเรื่องในชาดกกล่าวว่าทุกเช้า นกยูงทองจะขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองพระอาทิตย์อุทัยเมื่อแรกขึ้น พร้อมกับกล่าวคาถานมัสการพระอาทิตย์ ตลอดจนพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีพระคุณ เสร็จแล้วจึงเที่ยวออกหาอาหาร ครั้นตกเย็น นกยูงทองก็จะกลับขึ้นไปเฝ้ามองดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้ายามสนธยา พลางกล่าวคาถามนัสการพระอาทิตย์อีกคำรบหนึ่ง

ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรดังกล่าว นกยูงทองจึงอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา กระทั่งมีนายพรานผู้หนึ่งคิดใช้อุบาย นำนกยูงเพศเมียมาเป็นนางนกต่อ เมื่อนกยูงทองขึ้นมาเพื่อสาธยายพระปริตรในตอนเช้า ได้ยินเสียงร้องของนางนกต่อ พลันถลันเข้าไปหา โดยยังมิทันจะได้กล่าวคาถานมัสการพระอาทิตย์เหมือนเช่นเคย จึงต้องติดบ่วงของนายพราน

นายพรานจับนกยูงทองไปถวายแด่พระเจ้าพรหมทัตแห่งนครพาราณสี พระโพธิสัตว์นกยูงทองจึงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพาราณสีว่า “ดูก่อน มหาราชะ นอกจากอมตะมหานิพพานแล้ว สิ่งทั้งหลายนอกจากนั้นล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้น เป็นของไม่ยั่งยืนถาวร เพราะมีขึ้นแล้วก็หามีไม่ เป็นของสิ้นไปเสื่อมไปโดยธรรมชาติ” พระเจ้าพาราณสีทรงสดับแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงยกราชสมบัติถวายแก่นกยูงทอง พระโพธิสัตว์ก็ถวายกลับคืนแก่พระเจ้าพาราณสี แล้วบินขึ้นสู่อากาศ กลับไปยังภูเขาอันเป็นถิ่นที่อยู่ตามเดิม

มหาโมรชาดกนี้ สรุปย่อตามที่เล่าไว้หนังสือ “อานุภาพพระปริตต์” ของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

บทสวดพระปริตร “อุเทตยญฺจกฺขุมา”(พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก) มีความหมายสรรเสริญความสำคัญของพระอาทิตย์โดยตรง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะถูกเลือกให้เป็นบทสวดสำหรับรับพระอาทิตย์เมื่อเข้ามาเสวยอายุ ตามคติมหาทักษา

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านแต่ก่อนยังเลือกเอาพระพุทธรูปปางถวายเนตร (หรือเสวยวิมุตติสุข) อันมีนัยว่าด้วยเรื่อง “เนตร” หรือดวงตา ให้เป็นพระพุทธรูปในพิธีรับพระอาทิตย์เข้าเสวยอายุด้วย

เราไม่อาจรู้ได้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง หรือมีวิธีคัดสรรกันอย่างไร แต่ต้องนับเป็นความเหมาะสมสอดคล้องต้องกันอย่างยิ่ง