โดย ศรัณย์ ทองปาน

ตัวอย่างต่อไปที่ผู้เขียนจะทดลองเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบทสวดพระปริตรกับพระพุทธรูปที่ถูกเลือกให้เป็น “พระประจำวัน” รับเทวดานพเคราะห์ที่เข้ามาเสวยอายุ คือบทสวดพระปริตรเมื่อพระจันทร์เข้าเสวยอายุ กับพระพุทธรูปประจำวันจันทร์
บทสวดนั้นเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “ยันทุนนิมิตตัง” มีที่มาจาก “อภยปริตร”
คาถาและคำแปลในที่นี้ คัดจากหนังสือ “ตำนาน คาถา คำแปลคาถา มหาราชปริตร” (พิมพ์แจกในการพระกฐินพระราชทาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ณ วัดราชสิทธาราม ๒๔๗๔) ซึ่งระบุในคำนำว่า รวบรวมจากที่เคยลงพิมพ์ใน “สวนกุหลาบวิทยา” รายเดือน ของโรงเรียนสวนกุหลาบยุคนั้น
ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ อวมงฺคลญฺจ
โยจามนาโป สกุณสฺส สทฺโท
ปาปคฺคโห ทุสฺสุปินํ อกนฺตํ
พุทฺธานุภาเวน วินาสเมนฺตุ
(คำแปล)
นิมิตรที่ชั่วร้ายอันใดด้วย อวมงคลอันใดด้วย
เสียงนกเป็นที่ไม่ชอบใจอันใดด้วย
บาปเคราะห์อันใดด้วย สุบินชั่วอันไม่พอใจอันใดด้วย มีอยู่
ขอสิ่งเหล่านั้น จงถึงความพินาศไปด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้า
หนังสือ “ตำนาน คาถา คำแปลคาถา มหาราชปริตร” อธิบายว่ายังไม่พบที่มาโดยตรงของอภยปริตร (หรืออภยะปริตต์) คือพระปริตรว่าด้วยการไม่มีภัยบทนี้ “แต่สันนิษฐานเทียบเคียงคาถาบางส่วนที่ตรงกับพระสูตรมีบ้าง พอเห็นได้ว่าเป็นคาถาที่แสดงว่า ถ้าอวมงคลอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ให้เจริญพระปริตรคุ้มครอง” โดยยกตัวอย่างเนื้อเรื่องในชาดกบางเรื่องมาเทียบเคียง เช่น “มหาสุบินชาดก” ที่กล่าวถึงพระสุบิน (ความฝัน) ๑๖ ประการของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล พราหมณ์ปุโรหิตทำนายพระสุบินว่าให้บูชายัญสัตว์อย่างละสี่ตัว เพื่อบรรเทาเหตุร้ายที่อาจจะเกิดแก่พระองค์เอง ราชสมบัติ หรือพระมเหสี ทว่าพระนางมัลลิกาเทวีเสนอให้ไปทูลถามพระพุทธองค์ ณ เชตวันวิหาร ดูก่อน พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีเภทภัยอันตรายใดๆ และขอให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลเลิกกระทำบูชายัญเสีย
ส่วนใน “อัฉฐสัททชาดก” พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ ร้องดังแปลกประหลาด จึงทรงหวาดหวั่นพระทัย (ท่านดูเป็นคนขี้ตกใจชอบกล!) จึงเตรียมทำการบูชายัญอีก แต่เมื่อไปทูลถามพระพุทธองค์ ก็ได้รับประทานพุทธพยากรณ์โดยแจ่มแจ้ง และทรงประทานพุทธโอวาทให้รื้อถอนยัญกรรมนั้นเสีย
เหล่านี้คือตัวอย่างของ “เสียงนกเป็นที่ไม่ชอบใจ” และ “สุบินชั่วอันไม่พอใจ” ดังที่กล่าวถึงในอภยปริตรนั้น
เมื่อบทสวดนี้อ้างเอาพุทธานุภาพให้มาคุ้มครองป้องกันจากสิ่งไม่ดีไม่งาม ทั้งลางไม่ดี เสียงนกร้องอันน่ากลัว หรือฝันร้าย นามของพระปริตร คือ “อภยปริตร” จึงสอดคล้องกับการเลือกพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร หรือห้ามญาติ มาเป็นพระพุทธรูปสำหรับพิธีรับพระจันทร์เข้าเสวยอายุ (หรือ “พระประจำวันจันทร์”) ด้วยว่าพระหัตถ์ของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และปางห้ามญาติ ล้วนแสดงอภยมุทรา คือปางประทานอภัย
“อภัย” ในที่นี้ มิได้หมายถึงยกโทษให้อภัย หากแต่หมายถึงปราศจากภัย หรือ “ไม่มีภัย” คืออาศัยพุทธบารมีคุ้มครองป้องกันให้ปลอดพ้นจากอุปัทวันตราย (อุบาทย์+อันตราย) ทั้งปวง นั่นเอง