ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
patgys@yahoo.com
ภาพประกอบ : เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง

 

perfume

ในโลกยุคเก่า เกรอนุย ตัวเอกในนิยายเยอรมันเรื่อง น้ำหอม (Das Parfum) โดย พาทริก ซึสคินด์ อาจเป็นผู้ทำน้ำหอมที่สยองขวัญที่สุดเท่าที่เราเคยได้ยินมา ด้วยการสกัดความหอมจากไขมันของศพหญิงสาวแสนสวยถึง ๑๒ ราย (ที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม) มาทำเป็นน้ำหอมกลิ่นรัญจวนใจ ใครได้กลิ่นเป็นต้องหลงรักเกินห้ามใจจนนำมาซึ่งการสังวาสหมู่คนนับหมื่นที่มารอดูการสำเร็จโทษเขา ณ ลานประหาร แต่ในโลกปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีน้ำหอมที่ร้ายแรงยิ่งกว่าน้ำหอมมนุษย์ของเกรอนุย เหตุเพราะน้ำหอมยุคใหม่ไม่ได้ทำมาจากสารธรรมชาติ ไม่ได้จำกัดเขตแคบๆ อยู่ที่ลานประหาร แต่ทำมาจากสารเคมีอันตรายและแพร่กระจายไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลกในรูปของใช้ประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน ไม่เว้นแม้แต่ถุงยางอนามัย

ยิ่งการแข่งขันด้านการตลาดรุนแรงผสมกับเทคโนโลยีทันสมัย การพัฒนาสารให้ความหอมเพื่อเลียนกลิ่นธรรมชาติยิ่งก้าวไกล แปลกแตกต่างจนบางครั้งดูแปลกประหลาด จากกลิ่นโดดๆ เช่นกลิ่นกุหลาบหรือลาเวนเดอร์ ก็กลายเป็นกลิ่นหอมนุ่มนวลดุจดอกไม้บานยามเช้าที่ให้ความคงทนยาวนานถึง ๒ สัปดาห์ หรือกลิ่นหอมอ่อนในฤดูหนาว เป็นต้น แต่ชื่อกลิ่นอันจูงใจเหล่านี้ไม่ได้มาจากดอกไม้ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มาจากสารสังเคราะห์ที่บางชนิดร้ายแรงถึงขนาดจัดอยู่ในบัญชีของเสียอันตรายนั่นเลยทีเดียว

โชคร้ายที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีสารเคมีใดอยู่ในน้ำหอมเหล่านั้น เพราะอุตสาหกรรมเครื่องหอมทั่วโลกมีกฎหมายปกป้องความลับทางการค้าคุ้มครอง ทำให้ไม่ต้องเปิดเผยสูตรสำคัญ แต่เพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อเร็วๆ นี้เครือข่ายสุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งแคลิฟอร์เนียได้ยื่นฟ้องต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ให้ประกาศว่าน้ำหอมกลิ่น Eternity ของคาลวินไคลน์ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วน โดยไม่มีฉลากเตือนว่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยที่เพียงพอ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานอิสระพบว่ามีส่วนประกอบของสารเคมีที่อยู่ในบัญชีของเสียอันตรายซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท

อะไรอยู่ในน้ำหอม ? คำตอบอยู่นรายงานชื่อ “สารพิษต่อระบบประสาท : ที่บ้านและที่ทำงาน” (Neurotoxins: At Home and the Workplace) ของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของสารเคมีที่ใช้ในน้ำหอมเป็นสารประกอบสังเคราะห์ที่ได้จากปิโตรเลียม เช่นสารต่อเนื่องจากเบนซีนและอัลดีไฮด์ และสารอื่นๆ ที่เป็นที่รู้กันว่าคือสารพิษ เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดความผิดปรกติต่อทารก ความผิดปรกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้เกิดภูมิแพ้

เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ในยุคที่อุตสาหกรรมผลิตสารให้ความหอมยังไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสารประกอบ ๑๓๘ ตัวอย่างที่ใช้ในเครื่องสำอางที่พบว่ามักทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเก็บตัวอย่างการวิเคราะห์ระหว่างปี ๒๕๑๑-๒๕๑๕ พบสารเคมีหลัก ๕ ชนิดคือ Alpha-terpineol, Benzyl acetate, Benzyl alcohol, Limonene และ Linalool ซึ่งในอีก ๒๐ ปีต่อมา หรือในปี ๒๕๓๔ เมื่อสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ทดสอบสารให้ความหอม ๓๑ ชนิด ก็ยังพบสารเคมี ๕ ชนิดนี้อยู่นั่นเอง โดยในการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ EPA ยังพบคลอโรฟอร์มในน้ำยาปรับผ้านุ่ม และพบไดคลอโร-เบนซีน (Dichlorobenzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเอทานอลในปริมาณสูงในสเปรย์ดับกลิ่นสำหรับใช้ในห้องอีกด้วย

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพิษภัยของสารเคมีที่คุ้นตาเพราะมักปรากฏอยู่ในฉลากสินค้า สัก ๓ ชนิดจากสารเคมีอันตราย ๒๐ ชนิดที่มักใช้ในผลิตภัณฑ์ให้ความหอม เช่น เอทานอล พบในน้ำหอม สเปรย์ฉีดผม แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ ฯลฯ เป็นสารอยู่ในบัญชีของเสียอันตรายของ EPA มีฤทธิ์ทำให้อ่อนเพลีย ระคายเคืองตาและทางเดินหายใจช่วงบน การสูดดมไอระเหยของเอทานอลก็ให้ผลเช่นเดียวกับการบริโภค ซึ่งจะทำให้ง่วงนอน การมองเห็นบกพร่อง ทำให้เกิดความผิดปรกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนเบนซีลอะซีเตตพบในน้ำหอม โคโลญ น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู สเปรย์ดับกลิ่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ สเปรย์ฉีดผม อาฟเตอร์เชฟ น้ำยาระงับกลิ่นกาย เป็นสารก่อมะเร็ง (มะเร็งตับอ่อน) การสูดดมทำให้เคืองตาและทางเดินหายใจ ไอ ในหนูพบอาการเลือดคั่งที่ปอด สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ ไม่ควรทิ้งในท่อน้ำทิ้ง สำหรับเบนซอลดีไฮด์ (Benzaldehyde) พบในน้ำหอม โคโลญ สเปรย์ฉีดผม น้ำยาซักแห้ง น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผงซักฟอก วาสลินโลชัน ครีมโกนหนวด แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน ทำให้ระคายเคืองปาก ตา คอ ผิว ปอด และทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง อาจทำลายไต ไม่ให้ใช้กับคอนแทคเลนส์

จะทำอย่างไรในสังคมนิยมกลิ่นหอม ? มีคำแนะนำง่ายๆ ในเว็บไซต์รณรงค์ไม่ใช้น้ำหอม noFragrance.org ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า “ปลอดน้ำหอม” หรือ fragrance free หากผลิตภัณฑ์ใดไม่ระบุก็หมายถึงเติมกลิ่นกันทั้งนั้น ส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดก็ควรหวนคืนสู่ธรรมชาติด้วยการใช้น้ำส้มสายชูหรือเบกกิ้งโซดาไปเสียเลย ด้านการจัดการกับปัจจัยภายนอก หากพบคนใส่น้ำหอมแรงฉุนก็โปรดบอกเขาด้วยว่ามันอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร และหากคุณเป็นคนแพ้กลิ่นก็หลีกหนีให้ไกลๆ สิ่งสุดท้ายที่พอจะช่วยผู้อื่นได้ก็คือ เวลาไปทำธุระหรือเยี่ยมเยียนคนที่แพ้กลิ่นหอมก็อย่าใส่น้ำหอมหรือเลือกสถานที่ปลอดกลิ่นน้ำหอม

ด้าน แอนนี เบอร์โทล์ด-บอนด์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Green Alternatives for Health and the Environment เขียนหนังสือชื่อ Better Basics for the Home: Simple Solutions for Less Toxic Living ว่าให้หมั่นสังเกตคำสำคัญในฉลากสินค้าให้ดีๆ เช่นคำว่า “อันตราย” (POISON/DANGER) แสดงว่าแค่หยดสองหยดอาจทำให้คุณตายได้ ส่วนคำว่า “คำเตือน” (WARNING) แสดงว่ามีพิษปานกลาง แค่ ๑ ช้อนโต๊ะอาจฆ่าคุณได้ ส่วนคำว่า “ข้อควรระวัง” (CAUTION) มีสารพิษน้อยที่สุด ๒ ช้อนโต๊ะหรือ ๑ แก้วอาจฆ่าคุณได้ ดังนั้นวิธีลดสารพิษเข้าสู่ร่างกายที่ดีที่สุดก็คือการทำผลิตภัณฑ์ภายในบ้านปลอดสารพิษใช้เองแบบง่ายๆ เช่นทำน้ำยาล้างจานด้วยการผสมเกลือแกง ๓ ช้อนโต๊ะ แป้งสาลี ๑ ช้อนโต๊ะ และน้ำส้มสายชูกลั่น คนให้เข้ากันแล้วใส่ฟองน้ำขัดเครื่องโลหะ ล้างด้วยน้ำร้อนและปล่อยให้แห้ง ฟังดูคล้ายสูตรทำความสะอาดเครื่องโลหะแบบโบราณบ้านเรา ด้วยการใช้มะขามเปียกผสมทรายละเอียดหรือแกลบเผานั่นเอง

ดิฉันเองก็เพิ่งค้นพบวิธีทำความสะอาดสุขภัณฑ์ที่น่าอัศจรรย์ด้วยความบังเอิญโดยแท้ หลังจากสุดโต่งด้วยการไม่ซื้อน้ำยาล้างห้องน้ำแบบกลิ่นหอมฉุนกึกเข้าบ้านมาหลายปีผสมกับความขยันน้อย แล้ววันหนึ่งก็พบว่าสุขภัณฑ์ในห้องน้ำเป็นคราบฝังแน่นชนิดที่น้ำยาอเนกประสงค์ฉลากเขียวและน้ำส้มสายชูเอาไม่อยู่จนต้องยอมแพ้หันไปใช้น้ำยาล้างห้องน้ำชนิดแรงจัดจนกลิ่นแสบจมูก แต่ไม่บังเกิดผล เกือบถอดใจ หันไปเห็นมะนาวสดฝานแล้ว ลองเอามาถูคราบฝังแน่นทั้งเปลือก จู่ๆ คราบฝังแน่นเหล่านั้นก็หมดไปเหมือนที่เห็นในโฆษณาขายน้ำยาล้างห้องน้ำในทีวีเปี๊ยบ จนคิดว่าช่วงมะนาวถูกจะเหมามะนาวมาขัดล้างห้องน้ำครั้งใหญ่สักที

เรื่องการลดการใช้สารเคมีด้วยการหันกลับไปใช้วัสดุจากธรรมชาตินั้น แม้บางคนจะบอกว่าเชย แต่เมื่อร่างกายรับสารเคมีมากเกินกว่าจะรับไหว สุดท้ายก็จะต้องหวนคืนสู่ธรรมชาติโดยปริยาย จึงขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นพวกที่ร่างกายทนทานต่อสารพิษมากหรือน้อย และคุณเป็นพวกชอบรุกหรือชอบรับ ถ้าชอบรุกก็เริ่มกันตั้งแต่ในวันนี้ แต่หากชอบรับก็รอจนกว่าร่างกายประท้วงว่า “ไม่ไหวแล้ว”


 

บ้านสะอาดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ

ทำความสะอาดทั่วไป
  • ผสมสบู่เหลวหรือบอแร็กซ์ ๑ ช้อนชาในน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ๑ ลิตร
  • เติมน้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชู ๑๒ ช้อน เช็ดถูบริเวณที่มีคราบไขมันสกปรก
กำจัดกลิ่นเหม็น /กลิ่นอับ
  • น้ำส้มสายชูหรือผงฟู ๒๔ ช้อนโต๊ะใส่ในขันวางไว้เพื่อดูดกลิ่น
ทำความสะอาดพื้น
  • น้ำส้มสายชู ๑ ถ้วยผสมกับน้ำอุ่น ๕ ลิตร ถูทำความสะอาดพื้น
ล้างภาชนะจานชาม
  • ผสมน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาว ๑๓ ช้อนกับสบู่เหลว ล้างจานชามที่มีคราบสกปรกมาก
  • อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ให้ฝานมะนาวเป็นชิ้นบางๆ ขัดบนผิวภาชนะ เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด และอาจโรยเกลือตามเพื่อดูดความชื้น หรือใช้ผงฟูผสมกับน้ำเช็ดภาชนะที่ทำด้วยไม้ก็ได้
  • ใช้เกลือผสมกับน้ำส้มสายชูถูบริเวณที่เป็นคราบสกปรกบนภาชนะเคลือบ
  • โรยผงฟูให้ทั่วบริเวณรอยเศษอาหารไหม้เกรียมบนภาชนะ ราดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้สักครู่ รอยไหม้เกรียมจะหลุดออก
  • ใช้น้ำส้มกลั่น ๑ ถ้วยครึ่ง ละลายในน้ำเปล่า ๑ ถ้วยครึ่ง เติมเกลือ ๓ ช้อนชา ต้มน้ำให้เดือด ๑๕ นาที ปล่อยทิ้งไว้ ๑ คืน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ
  • เทผงฟู ๑ กำมือ และน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยลงในท่อระบายน้ำ ปิดปากรูให้แน่นด้วยเศษผ้า ๑ นาที จะเกิดแรงดันในท่อระบายน้ำ ดันเศษอาหารที่อุดตันออกไป แล้วเทน้ำร้อนตาม
  • เทเกลือและผงฟูอย่างละครึ่งถ้วยลงในท่อน้ำ แล้วเทน้ำเดือดตาม ๖ ถ้วย ทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วราดน้ำแรงๆ
ขัดเงาพื้นและเฟอร์นิเจอร์
  • น้ำมันมะกอก ๑ ช้อนชา ,น้ำมะนาว ๓ ผล, น้ำ ๑ ช้อนชา ชุบด้วยผ้า ใช้เช็ดถู
  • น้ำมันพืช ๑ ส่วน ผสมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชู ๑ ส่วน ชุบผ้าบางๆ เช็ดถู วิธีนี้ช่วยลบรอยขูดขีดได้ด้วย
  • ถ้ามีรอยสกปรกจากคราบไขมัน ให้เทเกลือบนรอยเปื้อนทันที เพื่อดูดซับคราบไขมันและป้องกันไม่ให้คราบฝังแน่น
เช็ดกระจก
  • ใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำอย่างละ ๑ ส่วน ชุบด้วยผ้านุ่มๆ เช็ดที่กระจก หรือจะใส่กระบอกฉีดที่กระจก แล้วใช้ผ้านุ่มเช็ดตามก็ได้
กำจัดมด แมลงสาป
  • โรยพริกป่น สะระแหน่แห้ง กากกาแฟ ตามบริเวณที่มดเดิน หรือบีบมะนาวตามรูเข้าของมดแล้วทิ้งเปลือกมะนาวไว้ตรงนั้น ปลูกสะระแหน่ไว้รอบบ้าน มดจะไม่เข้าใกล้
  • ใช้ผงฟูโรย หรือใช้น้ำส้มสายชูตามทางเดินมด
  • ใช้ผงฟูผสมกับน้ำตาลทรายอย่างละเท่าๆ กันโรยบริเวณที่แมลงสาปมารบกวน