เรื่องและภาพ : มนัชยา กระโห้ทอง (นัสรีน)

คุณคิดอะไรอยู่?
คำถามดังกล่าวปรากฏในกล่องสเตตัสเฟซบุ๊กอยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นให้เหล่าผู้ใช้แบ่งปันเรื่องราวของตนเองลงในสังคมเครือข่ายออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารระดับโลกไปจนถึงการบ่นระบายกิจวัตรประจำวันทั่วไป ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถติดตามเรื่องราวของคนใกล้ชิดหรือสถานการณ์ในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
แล้วจะเป็นอย่างไรหากผู้ใช้งานจะไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กเพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่ยังใช้เพื่อบันทึกสถานการณ์สำคัญหรือเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในอนาคตผ่านเฟซบุ๊กเพจพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส
จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับชายหนุ่มผู้ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาคประชาชนชนอย่าง อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ “แว่น” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ถึงสารพันเรื่องราวและหมุดหมายในอนาคตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้



เรื่องราวธรรมดา (ของสามัญชน)
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์หรือพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (virtual museum) รูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เมื่อโลกการติดต่อสื่อสารทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อได้เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
บทความเรื่อง “การศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต (A Study of Virtual Museums on The Internet)” โดยศักดา ส่งเจริญ และคณะ ได้ให้คำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ไว้ว่า พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุเก็บไว้ในระบบดิจิทัลในรูปของสื่อที่หลากหลายโดยมีการบันทึกและการเชื่อมโยงที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลายรูปแบบ
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงก็ไม่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไป คือ เพื่อการอนุรักษ์ การจัดแสดง การเล่าเรื่อง การใช้ศึกษา การบริการแก่ผู้เข้าชมผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของโบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคมที่จัดเก็บไว้เพื่อจัดแสดงให้กับผู้ที่เข้าชมในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
แว่น ชายหนุ่มวัย 30 กว่าปี ได้รับแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมจากประสบการณ์การทำงานกับเจ้าหน้าที่สถาบัน International Institute of Social History ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และที่เก็บรักษาสิ่งของที่ใช้เคลื่อนไหวภาคประชาชนในสมัยนาซี จึงคิดริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย
“หากคุณไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คุณจะพบเรื่องราวของสามัญชนในมิติที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อาหารการกิน การเกิดแก่เจ็บตาย แต่คุณแทบจะไม่ได้เห็นมิติทางการเมือง ทำให้นี่คือสิ่งที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนพยายามทำ คือนำเสนอเรื่องราวของสามัญชนในมิติที่ถูกละเลย”
ชายหนุ่มผู้สวมใส่แว่นตากรอบสีเข้มเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในประเทศไทยที่ไม่เคยได้รับการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ แตกต่างจากการเคลื่อนไหวการเมืองในสภาที่มีหน่วยงานรัฐคอยบันทึกข้อมูลทุกอย่าง ส่วนภาคประชาชนทำได้เพียงอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายหรือข่าวสารที่สื่อใช้นำเสนอ และหากสื่อไม่ได้บันทึกปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านั้นย่อมสูญหายไป
“พิพิธภัณฑ์จึงมีหน้าที่อนุรักษ์และเก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ให้เป็นระบบ เพื่อที่ว่าคนรุ่นหลังมาดูจะได้เข้าใจว่าบริบทการเมืองในยุคนั้นเป็นอย่างไร” เขาพูดถึงหมุดหมายของพิพิธภัณฑ์
ถึงแม้ปัจจุบันทุกคนต่างเรียกได้ว่ามีสื่อในมือ สามารถโพสต์เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ได้บนหน้าเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือช่องทางการสื่อสารต่างๆ ซึ่งถือเป็นการบันทึกการเคลื่อนไหวของประชาชนในอีกทางหนึ่ง แต่ว่าการกระทำเหล่านั้นยังขาดการทำงานอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความยากลำบากในการสืบค้นข้อมูล
เขาจึงพยายามที่จะจัดเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเป็นระบบผ่านเว็บไซต์ commonmuze.com ที่มีการแบ่งประเภทเรื่องราวตามประเภทการจัดแสดง กิจกรรมหรือประเด็นการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ และอัปเดตข่าวสารความเคลื่อนไหวผ่านเพจ “พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History”
หลังจากได้ฟังคำบอกเล่าของแว่นจนจบ ความคิดของเรากระหวัดไปถึงความทรงจำในอดีตสมัยที่เพิ่งเข้าศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ในคาบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ บนจอโปรเจกเตอร์สีขาวสะอาดตาฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพของฝูงชนที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างโกลาหลและตื่นตระหนกเป็นภาพเหตุการณ์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
อาจจะเพราะเราเป็นคนไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์สักเท่าไรนัก แม้จะเคยได้ยินผ่านหูหรือเคยอ่านผ่านตาตามหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาบ้าง แต่เราก็รับรู้แค่ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดในขณะนั้น หากแต่น่าเสียดายที่ “ประวัติศาสตร์หน้านี้” กลับมีการกล่าวถึงในหนังสือเรียนเพียง “ไม่กี่บรรทัด”
วีดิทัศน์ดังกล่าวจบลง แต่ความสงสัยของเราเพิ่งเริ่มก่อตัว เราเริ่มสนใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ส่วนนี้ถึงไม่ได้มีการเรียนอย่างเจาะจงหรือวิเคราะห์เหตุการณ์อย่างแน่ชัด ความใคร่รู้วนเวียนภายในจิตใจ จนทำให้เมื่อกลับมาถึงหอพักจึงลงมือสืบค้นเอกสารเท่าที่พอจะสืบหาได้ในอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลที่กระจัดกระจายทำให้กว่าที่จะเข้าใจความเป็นมาของเหตุการณ์ดังกล่าวเราก็ต้องเสียเวลาค้นคว้าข้อมูลไปกว่าครึ่งค่อนวัน
เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่แว่นกำลังทำคือการพยายามรวบรวมจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์ภาคประชาชนมาบรรจงวางเรียงร้อยเป็นภาพการเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถนำเสนอภาพประวัติศาสตร์การเมืองได้อย่างครบทุกมุมมอง
“พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงต้องการนำเสนอว่าประชาชนมองการเคลื่อนไหวของตนเองอย่างไร ไม่ใช่มีเพียงแต่มุมมองของรัฐว่ามองการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นอย่างไร”
ดังนั้นความสำคัญของการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบก็เพื่อแก้ไขปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีเพียงบันทึกจากมุมมองของรัฐที่มีต่อประชาชนมากกว่ามุมมองของประชาชนว่ามีทัศนะต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“เราในฐานะพิพิธภัณฑ์จึงมีหน้าที่สะท้อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเป็นอย่างไรนั่นขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน” แว่นสำทับพร้อมทั้งเล่าถึงความพยายามที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์มีการนำเสนอข้อมูลที่ “กลม” หรือ “เป็นกลาง” โดยไม่โน้มเอียงไปที่การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ความพยายามของการทำให้พิพิธภัณฑ์ “กลม” แสดงออกโดยการที่เขาพยายามเข้าสังเกตการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวทุกฝ่ายเท่าที่จะสามารถเข้าร่วมได้ แม้จะไม่ตรงกับแนวคิดทางการเมืองของตนเองก็ตาม เพื่อรวมสิ่งของที่ประชาชนใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองมาบันทึกและจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์สามัญชน



สารพันเรื่องเล่าสิ่งของร่วมสมัย
การเมืองภาพใหญ่ที่แว่นกล่าวถึงอยู่หลายครั้งทำให้เราเข้าใจถึงหมุดหมายของพิพิธภัณฑ์สามัญชนมากขึ้น หากแต่สิ่งของที่พิพิธภัณฑ์จัดเก็บกลับไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือเป็นของที่แปลกตา กระทั่งบางชิ้นทำให้เรารู้สึกแปลกใจด้วยซ้ำว่าสามารถพบเห็นสิ่งของเหล่านี้ได้ในพิพิธภัณฑ์ และในแง่ประวัติศาสตร์มันสามารถทำหน้าที่ยืนยันความเป็นไปของยุคสมัยได้ด้วยหรือ
ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ลวดลายล้อการเมืองที่มีหลายรูปแบบ ป้ายกระดาษที่แสดงถึงแนวคิดของแต่ละฝ่ายการชุมนุม เสื้อยืดที่แสดงทัศนะทางการเมือง หรือแม้กระทั่งแผ่นพับที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง และสิ่งของอื่นๆ ที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป
แว่นฟังข้อสงสัยแล้วอธิบายว่า “สิ่งของเหล่านี้ ถ้าคุณเอามาวางเรียงต่อกัน คุณจะเห็นภาพการเมืองในอีกมิติที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ในตำราเรียน เป็นข้อเท็จจริงของการเมืองชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย”
เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น…
“ลองจินตนาการว่า ถ้าคุณลองเอาใบปลิวหาเสียงของหลายพรรคมาวางเรียงกันคุณจะมองเห็นเลยว่าประชาชนในตอนนั้นเขาต้องการอะไร เพราะสิ่งที่นักการเมืองขายนั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นคุณสามารถมองเห็นสภาพของสังคมแต่ละยุคสมัยที่สะท้อนผ่านใบปลิวหาเสียง”
นอกจากใบปลิวหาเสียง หนึ่งในบรรดาสิ่งของที่สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวแห่งยุคสมัย สิ่งของที่ใช้ในม็อบก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นกัน หากลองย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พ.ธ.ม.) และกลุ่มคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นับว่าเป็นประวัติศาสตร์การปะทะระหว่างสองกลุ่มแนวคิดที่เด่นชัดอีกหน้าหนึ่งของประเทศไทย เราสามารถเรียนรู้แนวคิดและวาทกรรมของแต่ละม็อบได้จากข้าวของที่เขาเลือกใช้เป็นสัญลักษณ์
อย่างในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ หรือเสื้อเหลืองที่มีข้อเรียกร้องต้องการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์และขับไล่อำนาจของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย จึงใช้สัญญะที่เกี่ยวข้องกับชาติและสถาบันกษัตริย์ไม่ว่าจะเป็น “สีเหลือง” หรือ “ธงชาติ” สิ่งที่ถือเป็นกิมมิกในม็อบดังกล่าวก็คงจะเป็น “มือตบ” และ “นกหวีดที่มีสายคล้องคอเป็นสีเดียวกับธงชาติไทย” รวมทั้งเกิดวาทกรรมคำว่า “ระบอบทักษิณ” ตามมา
ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีภาพลักษณ์เป็นคนรากหญ้าและเป็นม็อบที่ก่อกำเนิดวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” ก็มีการนำ “ตีนตบ” อุปกรณ์ที่ให้เสียงแทนการตบมือเช่นเดียวกับมือตบ แต่เปลี่ยนรูปแบบเพื่อต้องการตอบโต้สัญญะของกลุ่มพันธมิตรฯ
เรื่องราวสารพันจากสิ่งของร่วมสมัยดังกล่าวดูจะสอดคล้องไปกับบทความเรื่อง “การเมืองภาคประชาชนในสังคมไทย ก่อนและหลังทศวรรษ 2540 : อุดมการณ์ ความสัมพันธ์ต่อรัฐ และความเป็นพลเมือง” โดยมนตรา พงษ์นิล ที่บอกเล่าถึงภาพประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น ในทศวรรษ 2520 ที่มีกรอบคิดแบบวัฒนธรรมชุมชน และเริ่มมาเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมืองกับเผด็จการภายใต้อิทธิพลของกรอบคิดแบบมาร์กซิสต์
ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. จนนำไปสู่การรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองของประชาชนทั้งสองสีเสื้อทำให้เกิดความหมายทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม
จากสิ่งของไม่กี่ชิ้นกลับทำให้สามารถอธิบายถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มมวลชนสองกลุ่มได้อย่างง่ายดาย จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้จากเหล่าสิ่งของร่วมสมัย เช่นเดียวกันกับสิ่งของร่วมสมัยอย่าง “หมุดคณะราษฎร” ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 กลุ่มประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ขนานนามตนเองว่าเป็นคณะราษฎร ได้ทำการฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ณ สนามหลวง เพื่อแสดงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน ในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชอำนาจและกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย
แม้ระยะเวลาที่หมุดทองเหลืองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว จะถูกฝังอยู่บนพื้นสนามหลวงได้ไม่ครบ 24 ชั่วโมงดี ก็ถูกเจ้าหน้ารื้อถอนหมุดออกไป ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “แฟนเมดหมุดคณะราษฎร” ผลิตออกมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ เสื้อยืด หมุดคณะราษฎรจำลอง พวงกุญแจ หรือแม้กระทั่งคุกกี้ รวมทั้งยังมีการจัดทำฟิลเตอร์อินสตาแกรมหรือโปรไฟล์เฟซบุ๊ก เป็นหมุดคณะราษฎรในรูปแบบต่างๆ
“ลองจินตนาการดูว่าในอีกหลายสิบปีให้หลัง ถ้าลูกหลานของคุณได้ถือพวงกุญแจ (แฟนเมดล้อการเมืองแบบต่างๆ) คงรู้สึกพิลึกเหมือนได้ถือโมเมนต์ทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะที่คนร่วมสมัยมองมันเป็นเพียงออบเจกต์อย่างหนึ่ง” แว่นพูดด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ



ประวัติศาสตร์ที่สัมผัสได้
ไม่รู้ว่าด้วยคำแนะนำกึ่งคะยั้นคะยอของแว่นหรือความอยากรู้อยากเห็นที่พาให้เรามายืนอยู่หน้าอาร์ตแกลเลอรี Many Cuts Art Space ฉะเชิงเทรา เพื่อชมนิทรรศการสะ-สม : ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเขียน โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน และสัมผัสประวัติศาสตร์ให้ได้ “ฟีลลิ่ง” แบบที่แว่นเน้นย้ำให้เราฟังว่ามันจะช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับของสะสมและแตกต่างจากที่เราได้เห็นผ่านหน้าจออย่างแน่นอน
ฟีลลิ่งที่ว่าเราสัมผัสได้ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าของอาร์ตแกลเลอรีที่มีป้ายกระดาษขนาด A4 เขียนข้อความว่า “ยินดีต้อนรับทั้งในและนอกเครื่องแบบ!” ถ้อยคำที่ทำให้เราสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มักจะข้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพียงแค่ผลักบานประตูเข้าไปเราก็ได้พบกับผู้ดูแลอาร์ตแกลเลอรี อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ หรืออาจารย์โจ ผู้บอกกับเราอย่างหนักแน่นว่า “การเมืองจะไม่เกี่ยวกับศิลปะได้อย่างไร ในเมื่อศิลปินถูกกระตุ้นด้วยสังคม มันไม่มีศิลปินคนไหนที่นอนหลับแล้วตื่นมาทำงานศิลปะขึ้นมาได้หรอก เพราะศิลปะมันต้องเกิดจากประสบการณ์ที่คุณเจอในสังคมนั้นๆ”
พร้อมทั้งอธิบายถึงแนวความคิดที่ว่าศิลปะร่วมสมัยเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกหนีไม่ได้ และพาเราเดินชมนิทรรศการพลางอธิบายให้ฟังไปทีละส่วนการแสดงผลงาน
เริ่มด้วยส่วนแสดงแรก ไฮไลต์ชิ้นสำคัญคือเสื้อยืด ม.112 ที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ “อากง” ชายชราผู้ที่ทำให้สังคมจุดประเด็นเรียกร้องให้ปล่อยตัวจากการรับโทษตามมาตรา 112 จนในขณะนั้นสามารถรวบรวมนักวิชาการ 100 กว่าคนจากทั่วประเทศมารวมตัวกันลงชื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าว
ส่วนแสดงที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นหมวกที่มีลายเซ็นของสุรชัย แซ่ด่าน หรือเสื้อเชิ้ตสีขาวที่คอปกเสื้อเต็มไปด้วยคราบเลือดที่จับตัวแห้งกรังของ “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
จึงนึกถึงสิ่งที่แว่นแห่งพิพิธภัณฑ์สามัญชนบอกไว้ว่า “ตอนคุณอ่านเรื่องราววันที่จ่านิวโดนตีกับคุณไปเห็นเสื้อที่เปื้อนคราบเลือดของจ่านิว มันจะให้ฟีลลิ่งที่ต่างกัน”
คำพูดดังกล่าวทำให้เรามาที่นี่ และพบว่าการเห็นด้วยสายตากับการรับรู้ผ่านหน้าจอให้สัมผัสความรู้สึกที่แตกต่างได้อย่างที่ชายหนุ่มบอกจริง
ส่วนแสดงสุดท้าย จัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งของสามัญที่พบเห็นได้ทั่วไปในม็อบ และเป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นวิวัฒนาการของม็อบในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นมือตบ ตีนตบ ไก่โอ๊ก หรือเสื้อยืดลวดลายที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ
เมื่อได้เดินดูจนทั่วเราก็ยิ่งรับรู้มากขึ้นว่าสิ่งของทางประวัติศาสตร์ที่มองผ่านหน้าจอกับได้สัมผัสด้วยสายตาตนเองนั้นให้ฟีลลิ่งที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจารย์โจแสดงความเห็นอย่างน่าสนใจว่า
“ผมยกตัวอย่างว่าคุณเคยเห็นโมนาลิซาผ่านออนไลน์อยู่แล้ว แต่เทียบกับการได้ไปเห็นตรงหน้าเนี่ยมันไม่เหมือนกัน เพราะออนไลน์มันสามารถเล่าคอนเทนต์ได้ แต่มันเล่าฟีลลิ่งไม่ได้”
นิทรรศการหมุนเวียนตามสถาบันต่างๆ อาจมาช่วยเติมเต็มให้แก่พิพิธภัณฑ์สามัญชน อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์ออนไลน์เองก็มีจุดแข็งในตัวของมันเองมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเป็นพื้นที่สาธารณะกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต สามารถเข้าถึงโดยง่ายดายจากทุกมุมโลก
ติ๊ง!
เสียงแจ้งเตือนจากเครื่องมือสื่อสารไร้สาย ที่แจ้งเตือนโพสต์สเตตัสล่าสุดของพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่เพิ่งอัปเดตเรื่องราวของสิ่งของชิ้นใหม่ลงสู่หน้าฟีดของเพจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่าสามัญชนที่ถูกเก็บรักษาโดยสามัญชน