หนึ่งในกรณีเรื่องสีประจำวันที่น่าสนใจยิ่ง เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ (หากนับตามระบบปฏิทินปัจจุบันจะเป็น ๑ มกราคม ๒๔๒๔)

มหาทักษา 26 -  วันเสาร์สีน้ำเงิน

ปัจจุบันนี้ ใครๆ ย่อมจำได้ขึ้นใจว่าสีประจำวันเสาร์ต้องเป็นสีม่วง ทว่าดังกล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ จากข้อมูลยุครัชกาลที่ ๕-๖ ตั้งแต่ “ลิลิตนิทราชาคริต” จนถึงโคลง “ศุภลักษณ์วาดรูป” ล้วนระบุตรงกันว่าสีประจำวันเสาร์เป็นสีดำ ตามสีกายพระเสาร์ ส่วนสีประจำวันศุกร์คือสีน้ำเงิน หรือน้ำเงินอ่อน หากแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับดูเหมือนมีธรรมเนียมให้ถือเสมือนว่าสีน้ำเงินเป็นสีประจำวันเสาร์

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ๒๔๔๒-๒๕๒๔) อดีตมหาดเล็กราชสำนักยุครัชกาลที่ ๖ เล่าไว้ในหนังสือ “พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖” หัวข้อ “เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนธงชาติไทย” ว่าหลังจากที่ในหลวงทอดพระเนตรเห็นว่ามีชาวบ้านชักธงชาติสยามรูปช้างเผือกบนพื้นแดง กลับหัว ทำให้ช้างนอนตีลังกาหงายท้องเอาตีนชี้ฟ้า จึงมีการเปลี่ยนแบบธงชาติใหม่ในปี ๒๔๕๙ เป็นแถบสีแดง-ขาว-แดง-ขาว-แดง แต่เมื่อทดลองชักขึ้นเสาดูระยะหนึ่ง ปรากฏว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย “เพราะดูจืดชืดไปด้วยสีแดงกับสีขาว. ไม่เกิดความงดงามจับตาน่าชมสมจะเป็นธงประจำชาติ…ในที่สุดก็ทรงรำลึกขึ้นได้, ถึงสีประจำพระองค์อันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ, คือสีน้ำเงินซึ่งโปรดมาก”

ดังปรากฏอรรถาธิบายในคำปรารภของพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ อันเป็นการแก้แบบธงชาติ จากริ้วสีแดง-ขาว-แดง-ขาว-แดง มาเป็นแถบสีแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง ว่า “สีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวารนับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง” ซึ่งแสดงว่าในทางราชการแล้ว ถือกันว่าสีน้ำเงินนั้นถือเป็น “ศิริ” หรือเป็น “ศรี” แก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ

ในกาพย์ฉบัง ๑๖ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ตีพิมพ์ในนิตยสารของราชสำนัก ชื่อ “ดุสิตสมิต” ฉบับพิเศษ เดือนมกราคม ๒๔๖๑ โดย “วรรณะสมิต” (เป็นอีกหนึ่งพระนามแฝงของรัชกาลที่ ๖) ได้อธิบายเรื่องแถบสีน้ำเงินในธงไตรรงค์ ในทำนองว่าเป็นสีส่วนพระองค์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปราน คือ “น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเปนของส่วนองค์”

จมื่นอมรดรุณารักษ์ยังเล่าด้วยว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชนิยมในสีน้ำเงินเป็นพิเศษ ถึงกับทรงเลือกให้กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ซึ่งสถาปนาขึ้นใหม่ในรัชสมัย สวมเครื่องแบบเต็มยศสีน้ำเงิน เพื่อให้เข้าคู่กับเครื่องแบบสีแดงของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ ๕

นอกจากนั้น เครื่องแบบมหาดเล็กราชสำนักก็ใช้สีน้ำเงิน ตลอดจนแถบแพรของเหรียญราชรุจิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์ ก็เป็นสีน้ำเงินเช่นกัน

ดังนั้น ในกรณีทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมทำให้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจทรงมีพระราชนิยม “แปลง” สีประจำวันเสาร์ เสียใหม่ จากสีดำเป็นสีน้ำเงิน เพื่อใช้ในความหมายของสีประจำพระชนมวาร ก็เป็นได้