พระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งที่มักพบเห็นกันเสมอ คือ “พระประจำวัน” หรือ “พระประจำวันเกิด” ดังที่ตามวัดต่างๆ มักนำมาประดิษฐานเรียงเข้าแถวกันให้คนหยอดสตางค์ทำบุญ ใครเกิดวันไหนก็หยอดสตางค์ลงในบาตรหรือตู้บริจาคหน้าพระพุทธรูปองค์นั้นๆ บางแห่งก็กำหนดจำนวนเหรียญตาม “กำลังวัน” ของวันนั้นๆ โดยหลักมหาทักษาก็มี

สำรับของ “พระประจำวัน” มักประกอบด้วยพระพุทธรูปแปดองค์ สำหรับผู้ที่เกิดในแต่ละวัน อันได้แก่
- พระพุทธรูปปางถวายเนตร สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์
- พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สำหรับผู้เกิดวันจันทร์
- พระพุทธไสยาสน์ สำหรับผู้เกิดวันอังคาร
- พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สำหรับผู้เกิดวันพุธกลางวัน
- พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สำหรับผู้เกิดวันพุธกลางคืน
- พระพุทธรูปปางสมาธิ สำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี
- พระพุทธรูปปางรำพึง สำหรับผู้เกิดวันศุกร์
- พระพุทธรูปปางนาคปรก สำหรับผู้เกิดวันเสาร์
ข้อที่น่าสงสัยคือ เรื่องวันในรอบสัปดาห์และ “กำลังวัน” ย่อมมีที่มาจากคัมภีร์มหาทักษา และเกี่ยวเนื่องกับเทพอัฐเคราะห์ เทพนพเคราะห์ ทว่าเรื่องนี้มิได้เป็นคติทางพุทธศาสนาแต่อย่างใด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าในสมัยใดสมัยหนึ่ง มีการ “บวชแปลง” คตินี้ให้มาเป็นเรื่องฝ่ายพุทธศาสนา จึงผูกโยงเอาพระพุทธรูปปางต่างๆ เข้ากับคติเทวดาประจำวัน
แล้วคตินี้มีมาตั้งแต่เมื่อใด ?
บางท่านเชื่อว่าเรื่องของพระพุทธรูปประจำวัน อาจมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าใน“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏความว่า
“ก็ให้สถาปนาพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทรพระองค์หนึ่งหุ้มทองคำ, แลทรงอาภรณ์ประดับด้วยแหวนมีค่า ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์สูงสี่ศอกคืบมีเศษทั้งฐาน, แล้วทรงพระราชศรัทธาตรัสให้สถาปนาพระพุทธปฏิมากรพระองค์หนึ่ง, หล่อด้วยทองนพคุณทั้งแท่ง ทรงพระนามสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าตรีภพนาถห้ามสมุทร, สูงศอกคืบเก้านิ้ว ทรงเครื่องอาภรณ์ประดับพระอุณาโลมเพชรแหลมเท่ามะกล่ำใหญ่”
สันนิษฐานกันว่าการที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขึ้นสององค์ องค์หนึ่งขนาดสี่ศอกคืบ คือเท่าตัวคน เป็นพระพุทธรูปหุ้มทองคำ ส่วนอีกองค์หนึ่ง เล็กกว่า คือสูงศอกคืบเก้านิ้ว แต่หล่อด้วยทองนพคุณทั้งแท่ง อาจส่อแสดงว่าพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ อันมีพระปางห้ามสมุทรเป็นพระประจำวันก็เป็นได้