ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยรัตเวช : ภาพ


“แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมศึกษาเรื่องของธรรมชาติและสัตว์ป่า คงมาจากการที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนั้นความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติได้เกิดขึ้นในใจผมโดยไม่ทันรู้ตัว ผมรู้สึกว่าป่าเป็นเหมือนบ้านผม และเป็นสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นคุ้นเคย”
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนแรก ปี 2533-2534
ต้นปี 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับอนุเคราะห์มีดเดินป่าจำนวน 156 เล่ม จาก ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนแรก ดำรงตำแหน่งปี 2533-2534 เป็นมีดที่ผ่านการใช้งานมาแล้วและเป็นของสะสมส่วนตัว โดยมีวัตถุประสงค์ให้มูลนิธินำมาใช้ในกิจกรรมระดมทุนเข้าสู่กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงร่วมกับร้าน Thailand Outdoor Shop เเละพันธมิตรต่าง ๆ จัดกิจกรรมประมูลและจำหน่ายมีดเดินป่าผ่านช่องทางออนไลน์รวมถึงหน้าร้าน แบ่งออกเป็น
- ประมูลมีดพิเศษจำนวน 17 เล่ม ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook live) เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเพจ ThailandOutdoor Shop วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2558 เวลา 19.00 น.
- เปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน Thailand Outdoor Shop สาขาลาดพร้าว ใกล้ซอยลาดพร้าว 116 วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เปิดร้าน เวลา 10.00 น.




ตัวอย่างมีดเดินป่าสำหรับประมูลและจำหน่ายระดมทุนเข้ากองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้จัก สืบ นาคะเสถียร ช่วงปลายปี 2532 เมื่อเขาและเพื่อน ๆ เดินทางไปเยือนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในระยะนั้นเขาเขียนบทความเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่าออกมาหลายชิ้น อาทิ ป่าเมืองร้อน : ถิ่นเดิมของชีวิต (ไฮคลาส, พฤษภาคม 2531) ลาก่อนป่าชายเลน (ไฮคลาส, ตุลาคม 2531) เสือ : นักรบสันโดษที่รอวันสูญพันธุ์ (ไฮคลาส, มีนาคม 2532) เมื่อพบว่าสืบเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้มีหน้าที่โดยตรงในการพิทักษ์ป่ากับสัตว์ป่า จึงอดไม่ได้ที่อยากจะผูกมิตรและหาทางสนับสนุน
ในวันคุ้มครองโลกปี 2533 อาจารย์เสกสรรค์กับมิตรสหายตลอดจนลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัย ได้ช่วยกันจัดคอนเสิร์ต “คนรักป่า” ขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อหาเงินมอบให้สืบใช้ในกิจการพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากนั้นจึงได้รู้จักกันมากขึ้น ก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทั้งสองคนน่าจะรู้สึกตรงกัน คืออยากให้มันยั่งยืน…




อย่างไรก็ตาม การตายของสืบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 หรืออีกราวสี่เดือนต่อมา ทำให้เขารู้สึกอย่างชัดเจนว่าการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นคงไม่ใช่แค่การหาความรู้เรื่องป่าและสัตว์ป่าอย่างเดียว หากเป็น “สนามรบ” อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
อาจารย์เสกสรรค์บันทึกไว้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2544 ใน คำนำจากผู้เขียน หนังสือ บางอย่างที่หายไป รวมบทความเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติ อันสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันและความห่วงใยในชะตากรรมของเพื่อนร่วมโลกว่า “แม้ว่าผมจะเป็นเลขาธิการของมูลนิธิสืบฯ อยู่ไม่นานนัก แต่ความรู้สึกของผมเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ธรรมชาติก็ไม่เคยกลับไปเหมือนเดิม ผมมักมีทัศนะที่ดีต่อคนทำงานด้านนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมาจากองค์กรเอกชน และถ้าหากมีโอกาสสนับสนุนได้ผมก็ยินดีหนุนช่วยเสมอมา”
เพื่อให้งานระดมทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน ก่อนถึงวันประมูลและจำหน่ายมีดเดินป่าของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับร้าน Thailand Outdoor Shop และพันธมิตร จัดวงพูดคุยเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมและให้ความรู้ในหัวข้อ “มีดกับวิถีแห่งพงไพร” นำเสนอตัวอย่างมีดเดินป่าบางเล่มที่เตรียมเปิดให้ผู้สนใจร่วมสนับสนุนผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568
“อาจารย์เสกสรรค์เป็นคนในตำนาน เป็นเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ รุ่นก่อตั้ง ผมเข้ามาทำงานมูลนิธิสืบฯ สิบปีหลังจากนั้น ช่วงที่เราทำงานมันพ้นจากยุคที่อาจารย์เสกสรรค์มายุ่งกับพวกเราแล้ว ทราบว่าอาจารย์ปลีกวิเวก เดินป่า กำลังตกปลา กำลังใช้มีด ตอนเราทำงานมูลนิธิสืบฯ อาจารย์เสกอยู่ในทะเล ผมอ่านหนังสืออาจารย์เสก หลายคนก็อ่าน อาจารย์เป็นคนที่มีอิทธิพลกับคนทำงานกลางแจ้งหรือมีวิถีชีวิตอย่างนี้” ศศิน เฉลิมลาภ อดีตเลขาธิการและอดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวถึงเลขาธิการยุคก่อตั้งมูลนิธิ
“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเคยรบกวนอาจารย์เสกสรรค์ทำงานได้ครั้งเดียวก็คือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เชิญมาปาถกฐาตอนมูลนิธิสืบฯ อายุครบ 20 ปี ซึ่งนั่นน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มูลนิธิสืบฯ กับอาจารย์เสกร่วมงานกัน”
นั่นคือปาฐกถาเนื่องในวาระ 20 ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ธัชรวี หาริกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Thailand Outdoor Shopซึ่งร่วมจัดกิจกรรมให้ความเห็นว่าหนังสือของอาจารย์เสกสรรค์ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องเดินป่า แต่เป็นความคิดแนวปรัชญาที่ตกตะกอนระหว่างเดินทาง
“ผมเป็นคนที่ติดตามผลงานเขียนของอาจารย์เสกสรรค์มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ งานเขียนของอาจารย์มีอิทธิพลต่อความคิดต่อชีวิตของผมเยอะมาก เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นร้าน Thailand outdoor Shop ครั้งนี้เรามาช่วยมูลนิธิสืบฯ เอามีดที่อาจารย์บริจาคมาจำหน่ายเพื่อเอาเงินทุกบาททุกสตางค์มอบให้กับมูลนิธิตามวัตถุประสงค์”
มีดเดินป่าแต่ละเล่มของอาจารย์เสกสรรค์มีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งเรื่องรูปร่าง ขนาด เหล็กที่นำมาตี รวมถึงอายุการใช้งาน และปีที่ผลิต
ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “อาจารย์เสกสรรค์อยากให้มองคุณค่าที่ตัวมีดเป็นหลัก ในมุมมองของผมมีทั้งสองด้าน คือด้านจิตใจที่เป็นมีดของอาจารย์ และคุณค่าที่ตัวมีดซึ่งอาจารย์อยากให้เน้นเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เราจะสัมผัสกับมันได้”
หลังจากประมูลและจำหน่ายมีดเดินป่าแล้ว รายได้ทั้งหมดจะเข้ามาที่กองทุนผู้พิทักษ์ป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“อาจารย์เสกสรรค์อยากให้มองคุณค่าที่ตัวมีดเป็นหลัก”
ภาณุเดช เกิดมะลิ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อาจารย์เสกสรรค์มีความผูกพันกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สมัยใช้ชีวิตอยู่ในป่า การกลับออกมาก็ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการพาออกมา อาจารย์ทำงานร่วมกับคุณสืบเรื่องกองทุนผู้พิทักษ์ป่ากับเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งสมัยคุณสืบยังมีชีวิต เป็นความผูกพันร่วมกันมาตลอด
ในชีวิตจริงส่วนใหญ่ที่เราเข้าไปศึกษาธรรมชาติ มีดเป็นเครื่องคู่ตัว ใช้ไม่ใช้ไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่เรามีติดตัวไว้เพื่อเกิดความอุ่นใจ และเป็นอุปกรณ์ที่เราสามารถใช้ได้ในกิจกรรมต่าง ๆ
อาจารย์เสกสรรค์อยากให้มองคุณค่าที่ตัวมีดเป็นหลัก ในมุมมองของผมมีทั้งสองด้าน คือด้านจิตใจที่เป็นมีดของอาจารย์ และคุณค่าที่ตัวมีดซึ่งอาจารย์อยากให้เน้นเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เราจะสัมผัสกับมันได้มากกว่า
รายได้จากการจำหน่ายจะเข้ามาที่บัญชีของมูลนิธิสืบฯ เป็นเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากได้ของที่มีคุณค่าก็เป็นเรื่องที่เรามาสนับสนุนการทำงานเพื่อการดูแลผืนป่าให้กับพวกเราทุกคน
“อาจารย์เลือกมาอย่างดี เป็นมีดชั้นดี ส่วนใหญ่เป็นมีดต่างประเทศ”
ธัชรวี หาริกุล
หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Thailand Outdoor Shop
หลังจากจำหน่ายมีดแล้ว รายได้ทั้งหมดจะเข้ามาที่กองทุนผู้พิทักษ์ป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานสองเรื่องหลัก ๆ หนึ่ง ดูแลสวัสดิการสวัสดิภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวน หรือป้องกันพื้นที่ป่าแล้วเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต มูลนิธิสืบฯ มีกองทุนช่วยเหลือ เยียวยา ดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กับคนเหล่านั้น ถ้าเสียชีวิต มีเงินทุนช่วยเหลือลูกของเขาในการเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี กับอีกส่วนหนึ่งที่ตั้งใจไว้คือดูแลเจ้าหน้าที่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดูแลสวัสดิการสวัสดิภาพ การทำงาน เรื่องบ้านพัก สนับสนุนการสร้างจุดสกัด ซึ่งตอนนี้หลายพื้นที่มีโครงการไม่ว่าจะเป็นทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อุ้มผาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เป็นโครงการที่จะกลับเข้ามาสู่การดูแลพื้นที่ป่า
มีดชุดนี้อาจารย์เสกสรรค์เคยใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้าง สะสมมา เป็นมีดที่อาจารย์เลือกมาอย่างดี เป็นมีดชั้นดี ส่วนใหญ่เป็นมีดต่างประเทศ มีของไทยบ้าง มาจากทั่วโลกเลย ส่วนใหญ่ใหม่ด้วย เกือบทุกเล่มยังมีซองและกล่อง แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม คือเล่มที่อาจารย์เคยใช้ น่าจะเป็นมีดที่มีเรื่องราว
ผมว่ามีดชุดนี้มีคุณค่าถึงสามอย่าง หนึ่ง คุณค่าที่ตัวมีดเอง หลายเล่มหาไม่ได้แล้ว บางเล่มที่หาได้ราคาที่อาจารย์ตั้งมาก็ถูกมาก จะขายแพงกว่านี้อาจารย์ก็ไม่ให้ เป็นราคาที่ผมดูแล้ว เพื่อนๆ ของผมดูแล้ว หาซื้อไม่ได้ในตลาด สอง นี่คือมีดของอาจารย์เสกสรรค์ สาม เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อมีดเหล่านี้จะเป็นของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งอาจารย์กำชับไว้ว่าให้เอาไปใช้ยังไง คือจะส่งไปช่วยผู้พิทักษ์ป่า
Thailand outdoor shop และเพื่อนผมอีกหลายคนในวงการมีดยินดีมากที่ร่วมงานกับมูลนิธิสืบฯ เราจะช่วยกันจัดจำหน่ายมีดทั้ง 156 เล่มให้กับคนที่สนใจ
วันที่ 23 พฤษภาคม ขอเชิญติดตามไลฟ์เข้ามาประมูลมีด เราจะบรรยายทีละเล่ม เปิดประมูลทีละเล่ม ประมูลโดยเริ่มต้นจากราคาที่อาจารย์เสกสรรค์ตั้งไว้ จากนั้นวันที่ 25 พฤษภาคม อยากชวนมาร้าน Thailand outdoor shop ลาดพร้าว วันนั้นเราจะจัดร้านพิเศษ เก็บของออกหมดแล้วเอามีดทีเหลืออยู่ประมาณ 140 เล่มมาวาง เปิดร้าน 10 โมง ใครมาก่อนก็เลือกก่อน อย่าถึงขนาดต้องแทงกัน แย่งกัน ใครหมายตาเล่มไหนไว้ก็เลือกไป ในวันนั้นเราจะมีไลฟ์ด้วยเพราะผมเข้าใจว่าเพื่อนบางคนอยู่ต่างจังหวัด เราจะมีพนักงานเฝ้าอยู่หน้าจอ ไลฟ์ไปด้วย หยิบให้ดูด้วย อยากให้ทุกคนมีโอกาส มีส่วนร่วม ได้มีดดี ๆ และได้บริจาค สมมุตว่าถ้ามีมีดเหลือจากวันนั้นอาจจะเอาขึ้นเว็บให้ซื้อกันทางออนไลน์อีกทีหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเหลือ
นอกจากได้มีดแล้วจะมีบัตรขอบคุณจากมูลนิธิสืบฯ มีลายเซ็นอาจารย์เสกสรรค์สำหรับเก็บไว้เป็นที่ระลึก
“มีดคือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์จากดินน้ำลมไฟ”
ศศิน เฉลิมลาภ
อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อาจารย์เสกสรรค์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นเลขาธิการคนแรก แต่ความจริงอาจารย์ทำงานให้คุณสืบก่อนที่จะเกิดมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดคอนเสิร์ตสมัยคุณสืบยังมีชีวิต ระดุมทุนให้ผู้พิทักษ์ป่า ซื้อเรือ เท่าที่ทราบมาเขารู้จักกันโดยอาจารย์เสกสรรค์ไปตั้งแคมป์ที่ห้วยขาแข้ง ตอนนั้นอาจารย์กับพวกกินเหล้ากัน คุณสืบก็เข้ามาเวลากลางคืน ไม่รู้กี่ทุ่ม น่าจะดึกมาก อาจารย์เข้านอนในเต็นท์แล้วคุณสืบมาเรียกให้ไปฟังการบรรยายเรื่องสัตว์ป่า ประมาณปี 2533 นั่นแหละ ทางคณะของอาจารย์ถึงเห็นว่ามีข้าราชการที่ทำแบบนี้ด้วยเหรอ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนนี้ก็เจริญงอกงาม ในรุ่นอายุใกล้ๆ 80 ปี ซึ่งเป็นผู้ชายที่เล่นมีด อยู่กับมีด
อาจารย์เสกสรรค์เรียนมหาลัยช่วง 14 ตุลา 2516 ผมว่าอาจารย์ต้องอ่านนิยายพวกลูกผู้ชาย ซึ่งมันบ่มเพาะว่าคาแรกเตอร์ของผู้ชายต้องทำอะไรบ้าง มันต้องต่อยกันได้ ต้องคุ้นเคยกับมีดกับไม้เพราะคุณมีหน้าที่ต้องปกป้อง จะต้องมีความกล้าหาญ นอกจากต่อสู้คุณก็ต้องถากฝืนเป็น ตกปลาก็ต้องเอามีดถากเกล็ดปลา ควักเครื่องในได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้น้อยคนจะทำเป็น
ผมโตมาในครอบคัวที่ไม่ตกปลา พ่อไม่ให้ตก แต่พอเราอ่านวิถี ชีวิต เราเข้าใจว่าอาจารย์เสกสรรค์กำลังใช้มีดทำอะไร อาจารย์เสกสรรค์ไม่ได้โปรดปรานการไปตกปลาเพื่อให้ได้ปลาหรอก แต่มันเป็นสื่อกลางระหว่างแกกับโลก กับชีวิต
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ พอมีมีดอยู่กับตัวเล่มหนึ่ง ถ้าคุณอยู่ในเมืองอาจจะไม่จำเป็น แต่ในป่า ถ้ามีดอยู่ข้างกาย อย่างน้อยเป็นเขี้ยวเล็บสุดท้ายที่เรามี มันคือชีวิต เอาไว้ใช้ในหน้าที่ ผมคิดว่าอาจารย์เสกสรรค์คิดอย่างนั้น
มีคนเห็นชาวเขาใช้มีดตัดต้นไม้ โดยการปีนขึ้นไปอยู่บนกิ่งไม้กิ่งหนึ่ง จังหวะที่คนกะเหรี่ยงใช้มีดเดินป่าฟันไปบนต้นไม้ อาจารย์เสกสรรค์เป็นคนดูนะ แกอธิบายว่าจังหวะทีคนกะเหรี่ยงฟันกิ่งไม้ แล้วกิ่งไม้โยกพร้อมกับมีดที่สับลงไป แล้วก็ดึงขึ้นมา แล้วก็สับลงไปอีก จังหวะที่มันสอดคล้องประสาน คือความงาม คือชีวิต คือความลงตัว
ครั้งสุดท้ายที่ไปหาอาจารย์เสกสรรค์ก็ยังให้ความรู้ บอกว่าศศิน มีดเนี่ยมันคือตัวแทนของดิน น้ำ ลม ไฟ ผมไม่เคยได้ยิน เป็นเรื่องใหม่ คุณลองนึกถึงสิ ตอนที่ตีมีดขึ้นมา วัตถุธาตุที่เอามา วันที่ตีมัน ดิน น้ำ ลม ไฟ มันคือโลหะที่คนกำลังสูบลมใส่เข้าไป แล้วเอาน้ำราดเพื่อให้เหล็กมันเหนียว แล้วตี น้ำราดลงไป ดินคือตัวโลหะ สิ่งของสารพัดที่ดำรงอยู่ มีดคือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์จากดินน้ำลมไฟ ต้องพอดีกันถึงจะกลายเป็นมีดเล่มหนึ่ง ไปฟังอาจารย์ตอนอายุจะแปดสิบก็ยังรู้เรื่องอาจารย์กับมีดของอาจารย์
แม้ผมจะพยายามทำตัวเป็นผู้ชายเอาต์ดอร์แบบอาจารย์ แต่โดย type ผมไม่ใช่ ผมเป็นคนกลัวมีด ผมพกไว้ แต่ไม่ชอบเห็นมัน มันคม ผมกลัวมัน ผมอยู่นอกวงการ มันราคาแพงมากสำหรับผมนะ แต่พอมาฟังคนเล่นมีดบอกว่าไม่แพงเลยสำหรับมีดเดินป่าที่อาจารย์จะขาย

“มีดเล่มที่ใช้แล้วบอกว่าเจ้าของเป็นนักเดินทางที่มีความรู้”
กาญจนุ ม่วงศิริ
บริษัท โปร ดีซีเอ็ม จำกัด, ผู้ผลิตมีดคุณภาพสูงแบรนด์ไทย KRM Performance
มีดเล่มที่ใช้แล้วบอกว่าเจ้าของเป็นนักเดินทางที่มีความรู้ ที่สำคัญลับมีดเป็น หลายคนใช้มีดเป็นแต่ลับมีดไม่เป็น ซึ่งก็ไม่ได้แปลก ไม่ได้แปลว่าไม่ดี
มีดแบรนด์ L.T.Wright โมเดล Next Gen ของสหรัฐฯ เป็นมีดที่ใช้แร่ หรือใช้ทำงานละเอียด ๆ ได้โดยปลอดภัย กระชับมือ จับสะดวก มีดเล่มนี้เป็นหลักฐานว่าอาจารย์เสกสรรค์เลือกมีดได้อย่างมีความรู้ ใช้มีดได้อย่างมีความรู้ และลับคมมีดได้ดี อยู่ในสภาพที่คมมาก แล้วก็ลับสวย
มีดที่ราคาถูกกว่าไม่ได้แปลว่าเป็นมีดที่ไม่ดี มีดที่ถูกกว่าเป็นมีดที่ในระบบอุตสาหกรรมอย่าง Cold Steel หรือหลายๆ ยี่ห้อมีวิธีผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า แล้วเขาก็ตั้งราคาที่สามารถขายในปริมาณสูงได้ในตลาด นี่คือมีดโดยรวมที่ผมมอง เมื่อมองมีดของอาจารย์เสกสรรค์ แต่ละเล่มอาจารย์จัดราคาที่เหมาะสม ได้ทั้งมีด ได้ทั้งแรงบันดาลใจ
“มีดแต่ละเล่มมีคุณค่าในตัวของมันเอง”
กิตติเชษฐ์ มายะการ
JDT Combative, สถาบันสอนการต่อสู้ป้องกันตัว
อาจารย์เสกสรรค์มีมีดแบบวาไรตี้มาก มีทั้งมีดแคมป์ (camp knife) มีดที่ผมชอบใช้คำว่า camp around knife ห้อยติดเอวไปไหนมาไหนได้ ใช้ทำกับข้าว ตัดสิ่งของจุกจิกภายในแคมป์ มีดสไตล์มาเชเต้ (Machete) ขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ รวมถึงมีดต่อสู้อย่างทันโต (Tanto) มีดสั้นทรงใบแบบญี่ปุ่นของ Cold Steel
มีดแต่ละเล่มมีคุณค่าในตัวของมันเอง และมีดแต่ละเล่มมี story ของมัน สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือมีดที่ผ่านการใช้งานของอาจารย์เสกสรรค์แทบทุกเล่มจะมีลักษณะเป็นมีดเล็ก ๆ สไตล์ utility knife ใช้งานทั่วไปได้ดี ดีถึงดีมาก ใครเป็นนักเดินทางพกติดเอว น้ำหนักไม่เยอะ ใช้งานสะดวก แข็งแรง พกพาไป ยามจำเป็นยามฉุกเฉินสามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างเกินพอ
มีดบางเล่มออกจากร้านก็มีริ้วรอยเลยเพราะต้องผ่านซองของมัน มีดหลายเล่มที่ผมซื้อใหม่ในบ้านผมยังมีริ้วรอยมากกว่านี้ สิ่งที่ผมชอบคือเราได้มีดใช้งาน เป็นมีดที่ดี มีเรื่องราว แล้วก็ได้ทำบุญด้วย
หลายคนบอกว่ามีดราคาแพง ผมบอกแบบนี้ว่ามันเป็นมีดราคาสูง แต่มันไม่แพงเลยถ้าเทียบกับคุณค่าของมัน เพราะตัวของมันเองตอนออกมาก็ราคาโอ้แม่เจ้าอยู่แล้ว
ผมแนะนำว่าประมูลเอาสนุกครับ อย่าเอาเป็นเอาตาย ใครอยากจะ topup ค่อยว่ากันทีหลัง สมมุติตั้งไว้ 12,000 ชนะที่ 16,000 จะให้ 20,000 ก็ได้

ภาณุเดช เกิดมะลิ (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยรัตเวช)
หมายเหตุ
สนับสนุนงานผู้พิทักษ์ป่า
บัญชีธนาคารไทยพาณิย์ เลขที่บัญชี 057-244388-1
ชื่อบัญชี “กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร”
(ใบเสร็จจากการบริจาค สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน)
ผู้ที่ต้องการรับใบเสร็จ สามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน พร้อมทั้ง ชื่อ-ที่อยู่ ในการออกใบเสร็จมาที่ :
E-mail : snf@seub.or.th
กำหนดการกิจกรรม “มีดกับวิถีแห่งพงไพร” :
https://www.seub.or.th/bloging/event/2025-81/
รับชมย้อนหลังที่มาของกิจกรรม ตัวอย่างมีดบางเล่มพร้อมสรรพคุณ :
https://youtu.be/7GZkUYROUAo?si=HtPkFXcOw5UrmNDg