เรื่องและภาพ : สุภัชญา เตชะชูเชิด

พื้นที่ ๓๘๔ ไร่ หรือประมาณห้าสนามหลวง คือเนื้อที่ของป่าพรุตาอ้าย
ถือว่าไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับผืนป่าอีกหลายแห่ง แต่กลับผลิตและอุ้มน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนถึงสามตำบล ได้แก่ ตำบลทะเลทรัพย์ ตำบลบางสน และตำบลชุมโค รวม ๑๑ หมู่บ้าน กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือนในอำเภอทะเลทรัพย์ จังหวัดชุมพร ป่าผืนนี้เต็มไปด้วยพื้นที่แปลกตาและระบบนิเวศหลากหลาย กระทั่งคนที่เคยเดินป่ามาทั่วไทยยังเรียก “ป่ามหัศจรรย์”
เราเริ่มเดินไปตามทางน้ำของห้วยส้มแป้น ลำน้ำกว้างแค่ ๒ วา บีบให้น้ำจากป่าพรุไหลแรงลงไปตามแนวหินตื่นๆ ยิ่งลึกเข้าไปจะเห็นโขดหินปูนสองข้างทางถูกโอบล้อมเกี่ยวรัดด้วยรากไม้เป็นแผ่นหนา ระหว่างทางมีน้ำไหลลงห้วยหลายสิบสาย ทิ้งตะกอนหินปูนเป็นคราบขาว ขณะบางช่วงมีน้ำชโลมแทบทั้งพื้นที่ ก่อนจะเลี้ยวเข้าป่า ต้นเตยปาหนันยืนเด่นเป็นหมุดหมาย เราแหงนมองดูยอดจนคอตั้งบ่า แต่แค่รากของมันก็สูงท่วมหัวเราแล้ว ปรกติต้นเตยปาหนันเป็นพืชริมทะเลที่ชาวบ้านมักตัดยอดให้แตกกิ่งใบนำไปทำเครื่องจักสาน ต้นเตยตามธรรมชาตินี้จึงเป็นภาพไม่ชินตานัก
พอไต่ขึ้นเนิน ผืนดินใต้ฝ่าเท้าเปลี่ยนจากหินปูนเป็นดินนุ่มๆ ซึ่งเกิดจากใบไม้กองทับถมกัน มีน้ำเจิ่งออกมาทุกหนแห่ง แม้ชุมพรช่วงนี้จะไม่มีฝนมาหลายวันก็ตาม รองเท้าผ้าใบของเราจึงเปียกชุ่มและเลอะโคลนตั้งแต่ต้นทาง
“น้ำทำให้รู้สึกว่าที่นี่พิเศษกว่าที่อื่น มีลำคลองสายเล็กๆ ที่เราเดิน มีห้วยเล็กๆ เสมือนเส้นเลือดฝอยภายในพรุ ผืนป่าจะรับน้ำราวกับฟองน้ำแล้วค่อยๆ ระบายออก ต่างจากอ่างเก็บน้ำที่ระบายออกเลย ดินที่นี่มีหินปูนด้วย จึงเหมือนกรวดที่เปลี่ยนให้น้ำขุ่นนั้นใสได้” หาญณรงค์ เยาวเลิศ รองประธานมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติและคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวพร้อมชี้ชวนให้เราเดินตามสายน้ำ



ระหว่างเดินเราพยายามไม่ทิ้งห่างกัน เพราะป่ารกทึบจนแทบมองไม่เห็นคนข้างหน้า มีต้นชมพู่น้ำ เสม็ดแดง และหวายเป็นไม้หลัก ต้องคอยระวังหนามรอบทิศทาง แต่บางช่วงพื้นที่ก็เปิดโล่ง ผืนดินแห้ง มีกล้าไม้ยืนต้นตาย ทีมสำรวจสันนิษฐานว่าพรุแห่งนี้น่าจะเกิดจากภูเขาหินปูนที่ด้านบนทรุดตัวลงเป็นแอ่งกระทะหรืออาจได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ในปี ๒๕๓๒ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่จังหวัดอย่างหนัก รวมถึงยอดเขานี้ด้วย ทำให้เกิดการสะสมของดินพีทบนเนินเขา ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
“พี่เนตร” – เนตรนภา นครด่าน เจ้าของสวนทรัพย์บ้านป่า หนึ่งในแกนนำชุมชนบ้านทะเลทรัพย์ที่เดินสำรวจพื้นที่แห่งนี้หลายครั้ง เล่าว่าที่นี่มีระบบนิเวศแตกต่างกันถึงสี่ประเภท “พื้นที่เล็กๆ แค่นี้แต่พิเศษมากเลยนะ ส่วนใหญ่เป็นพรุ แต่ไม่ได้เกิดหรือไม่มีน้ำใต้ดินติดต่อกับทะเล เลยเดาว่าเกิดจากพายุเกย์ และบางส่วนก็เป็นป่าดิบแล้ง พอไปถึงโซนนั้นคือรู้เลย เพราะยุงเยอะมากและทึบกว่า บางที่เป็นลานหินปูนและมีทุ่งหญ้าบางหย่อมด้วย”
แรกๆ เราเดินอย่างสนุกสนานและใช้เวลาถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าต้นไม้แปลกตา หม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายต้น เอื้องแปรงสีฟัน รูปูที่พบเจอตลอด จนพี่เนตรพยายามขุดหาเจ้าบ้านมาดู เราเจอปูห้วยระนองสีส้มฟ้า หอยทากบก แมงมุมชักใย และเชื้อราอีกหลายชนิด
“เขียวววววว” เสียงพี่เปี๊ยก ชาวบ้านอีกคนตะโกนลั่นป่า พลางชี้ไปที่งูเขียวหางไหม้สีสดทำท่าพร้อมฉกอยู่บนกิ่งไม้ และยังมีนกออกที่บินหนีเพราะตกใจ เราเจอขี้นกเป็นดงน่าจะเป็นที่พักนอนของมันด้วย

หอยทากบกเปลือกสีจางเผยให้เห็นตัวสีเขียวอ่อนผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศ


เราเดินวนอยู่นานเพราะหลงทาง แถมเจอกำแพงหวายใหญ่ที่ไม่สามารถฝ่าออกไปได้ ต้องเสียเวลาเดินอ้อมอีกพักใหญ่
แต่ถัดไปไม่กี่ร้อยเมตรเรามองเห็นปาล์มน้ำมันยืนต้นประชิดหวาย
“ปาล์มน้ำมันเป็นภัยคุกคามหลัก ด้วยมูลค่าสูง คนจึงขยายพื้นที่ปลูกเยอะ แต่ถ้าปลูกเยอะไปเราก็จะไม่มีน้ำ ถึงเวลานั้นปาล์มก็เติบโตไม่ได้” พี่เนตรกล่าว
พี่หาญยังเสริมให้เห็นบทเรียนจากการจัดการบางพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อป่าพรุ
“การปลูกปาล์มน้ำมันจะต้องมีการขุดลอกไม่ให้น้ำท่วมต้นปาล์ม ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่รอบๆ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำไปด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่ควรมีโครงการขุดลอกใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะน้ำจะไหลในอัตราแรงกว่าเดิม และรบกวนกระบวนการธรรมชาติบางส่วนที่เราไม่เข้าใจ เช่น การเชื่อมกันระหว่างน้ำผิวดินกับลำน้ำใต้ดิน อย่างพรุควนเคร็ง เมื่อคนเห็นน้ำท่วมป่าพรุก็ระบายน้ำออก พอเกิดไฟไหม้แล้วเอาไม่อยู่ ไม่สามารถหาน้ำมาดันให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นได้
“พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย ถามว่าสำรวจหมดไหม? ไม่หมดหรอก ต้องมีตกหล่นอยู่แล้ว เพราะหากดูจากภาพถ่ายดาวเทียมเราจะไม่รู้เลยว่ามีน้ำอยู่ข้างล่าง ถ้าชุมชนมีพื้นที่อย่างนี้ บางคนก็จะเปลี่ยนพื้นที่ไปทำการเกษตรเพื่อหวังผลประโยชน์ แทนที่จะอนุรักษ์เป็นแหล่งน้ำ ซึ่งผมคิดว่าอันหลังคุ้มค่ากว่าเพราะต่อไปเราจะมีปัญหาวิกฤตเรื่องน้ำ และการลงทุนเรื่องแหล่งน้ำแพง เขาควรถนอมและรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเองและชุมชน”

ภาพ : เนตรนภา นครด่าน


ก่อนออกจากป่า ฉันเห็นต้นมะฮอกกานีหลายต้นโตรวมอยู่กับต้นหวายจนอดเอ่ยถามไม่ได้ ชาวบ้านจึงเล่าว่าป่าส่วนนี้เคยถูกบุกรุกเพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจ แต่มีชาวบ้านมาเห็นแล้วไปแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ จึงมีการเจรจาขอพื้นที่คืน ทำให้ธรรมชาติของพรุฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง พืชต่างถิ่นนี้เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการถูกบุกรุกและได้รับการปกป้องในเวลาเดียวกัน
ชาวบ้านยังเล่าอีกว่า “นี่เป็นชาวบ้านพอคุยกันได้ แต่ถ้านายทุนหรือรัฐบาลคงคุยยาก ป่าหินปูนที่เรานั่งรถผ่านมา เขากำลังจะสัมปทานให้ทำโรงโม่หิน เขาหินปูนอีกหลายลูกในชุมพรรัฐบาลก็เล็งว่าจะระเบิดไปถมทะเลสำหรับสร้างท่าเรือน้ำลึก ถ้าโครงการ SEC ผ่าน (โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor) ชาวบ้านจึงช่วยกันสู้เต็มที่ เพราะเขาหินปูนมีป่าและทรัพยากรของพวกเราด้วย”
เราเดินอ้อมดงหนาม หลงทางหลายรอบ กลับออกมาได้ก่อนพระอาทิตย์ตก ร่างกายชุ่มเหงื่อ รอยหนามข่วน และยุงกัด แต่นั่นไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของพรุตาอ้ายหายไป สิ่งที่เราค้นพบจากการเดินสำรวจและฟังเสียงจากชุมชน คือคุณค่าทางระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่กว่าขนาดพื้นที่ ดังนั้นการรักษาผืนป่าเล็กๆ เหล่านี้ไว้ ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ แต่เพื่ออนาคตของเราในวันที่ “ธรรมชาติ” กลายเป็นความหวังและความมั่นคงซึ่งไม่มีสิ่งใดทดแทนได้