
ถ้าจะมีตำราโบราณของปราชญ์จีนสักเล่มที่ได้รับการยอมรับ กว้างขวางในระดับโลก เชื่อว่า ตำราพิชัยสงครามของชุนวู ต้องติด อันดับต้น ๆ หรืออาจเป็นอันดับ ๑ เลยก็เป็นได้
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” เป็นกลยุทธ์หนึ่งของ ซุนวูที่ติดปากกันไปทั่ว
แต่ตัวอักษรตรงตามตำราเขียนว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ไม่มีอันตราย” ไม่ใช่ชนะร้อยครั้ง และขยายความต่อว่า
“ไม่รู้เขา รู้แต่เรา รบแพ้ชนะก้ำกึ่ง, ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา ปราชัย ทุกครั้งในการรบ”
สรุปคือ แม้รู้เขา รู้เรา ก็ใช่ว่าจะชนะเสมอไป รับประกันแต่ ไม่เหลี่ยงพล้ำเสียหาย แต่หากไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้เขาและไม่รู้เรา รับ ประกันว่าแพ้เด็ดขาด
สำนวนนี้มักนำมาปรับใช้กับการแข่งขันในโลกธุรกิจการค้า การเมือง และการสงครามจริง ๆ
“รู้เขา รู้เรา” เน้นความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเราและคู่แข่งหรือคู่รบ เป็นเสมือนเกราะ ป้องกันการ “พ่ายแพ้”
“ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา ปราชัยทุกครั้ง” ตอกย้ำว่าการรู้เขารู้เราเป็น เรื่อง “คอขาดบาดตาย” แต่กลับไม่ค่อยพูดกันเหมือน “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ซึ่งไม่ถูกต้องตามตำรา
แล้วหากต้องการชัยชนะ จริง ๆ ซุนวูบอกไว้อย่างไร
ความข้อนี้ของซุนวูแสดงนัยลึกซึ้ง คือ “การพิชิตนั้นอยู่ที่เรา การชนะได้อยู่ที่ข้าศึก”
อธิบายว่า คือการสร้างความเข้มแข็งของฝ่ายเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ เราควบคุมได้ ขณะที่การชนะคนอื่น เราบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต้อง รอเมื่ออีกฝ่ายมีจุดอ่อนหรือเพลี่ยงพล้ำเอง ซึ่งอาจเทียบได้กับค่ากล่าว ที่ว่า “รู้จักเอาชนะตนเอง ก่อนจะพยายามเอาชนะคนอื่น”
แต่การเอาชนะหักหาญด้วยกำลังทัพ ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ซุนวู ยกย่อง
เขาจัดระดับความสำเร็จไว้ว่า “ชนะโดยไม่ต้องรบเลย ถือว่าประเสริฐสุด” เป็นการชนะด้วยกุศโลบายและการทูต ก่อน จะเลือกใช้กำลังทหาร
กลยุทธ์ทั้งหลายจึงขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ “รู้เขา รู้เรา” และถ้าเช่นนั้นแล้วเราต้องรู้อะไรบ้าง
ซุนวูแจกแจงสิ่งสำคัญที่ต้องรู้สภาวะความจริงไว้ห้า ประการ ซึ่งเปรียบเสมือนการประเมิน ecosystem คือ
หนึ่ง ธรรม (道) ความชอบธรรมของการทำสงคราม ความร่วมจิตร่วมใจของประชาชนกับผู้นำ
สอง ฟ้า (天) สภาพอากาศและช่วงเวลา ฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ความผันแปรของภูมิอากาศ อำนวยประโยชน์อย่างไร
สาม ดิน (地) สภาพภูมิประเทศหรือพื้นที่ ทุรกันดารหรือราบเรียบ กว้างหรือแคบ สูงหรือต่ำ ระยะทางใกล้ไกล
สี่ แม่ทัพ (将) พิสูจน์ด้วยคุณสมบัติ คือ สติปัญญา เที่ยงธรรม เมตตา กล้าหาญ และวินัย
ห้า ระเบียบ (法) ความเข้มแข็งของกฎหมาย ระเบียบ การบัญชาการและการบริหาร การให้รางวัลและลงโทษ
ผู้รู้จริงในทั้งห้าประการนี้ และกระทำด้วยความเที่ยงธรรม จักได้รับชัยชนะ ผู้ไม่รู้จริงจักปราชัย
ตำราพิชัยสงครามของชุนวูได้รับการยอมรับว่าสามารถ นำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต การประกอบกิจการหรือทำธุรกิจ การเมือง การปกครอง จนมีการแปลเป็นหลายภาษาไปทั่วโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เญี่ปุ่น ฯลฯ ฉบับภาษาไทยที่ใช้ อ้างอิงประกอบการเขียนนี้ เสถียร วีรกุล แปลจากต้นฉบับภาษา จีน จัดพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๔๙๕
ปี ๒๕๖๘ เกิดสงครามร้อนระอุไปทั่วโลก ตั้งแต่สงคราม การค้าสหรัฐอเมริกา-จีน มาถึงสงครามอิสราเอล-อิหร่าน และ ล่าสุดกับความขัดแย้งชายแดนไทย-เขมร ซึ่งมีฝ่ายที่อยากกำ ชัยชนะฝ่ายเดียวให้ถึงที่สุด จนลืมนึกถึงความสูญเสียและ หายนะ
แต่ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติทุกฝ่าย เป็นไปได้หรือไม่ ซุนวูมิได้กล่าวไว้
สุวัฒน์ อัศวโชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี suwatasa@gmail.com
- จากบทบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 484 กรกฎาคม 2568
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine