โดย ศรัณย์ ทองปาน

seven days buddha

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ทดลองนำเสนอ “คำอธิบาย” หรือความเชื่อมโยง ระหว่างเทวดานพเคราะห์ที่จะเข้ามาเสวยอายุ กับบทสวดคาถาพระปริตรที่ท่านแต่ก่อน เลือกหยิบยกมาใช้ในพิธีรับเทวดา โดยยกตัวอย่าง “อุเทตยัญจักขุมา” หรือ “โมรปริตร” ที่ใช้สวดรับพระอาทิตย์ ซึ่งมีความเหมาะสมสอดคล้อง เพราะเป็นพระปริตรที่พระโพธิสัตว์นกยูงทองกล่าวสรรเสริญความสำคัญของพระอาทิตย์ทุกเช้าเย็น รวมทั้งยังได้เลือกเอาพระพุทธรูปปางถวายเนตร อันมีนัยว่าด้วยเรื่อง “เนตร” หรือดวงตา ให้เป็นพระพุทธรูปในพิธีรับพระอาทิตย์เข้าเสวยอายุด้วย

ข้อเสนอเพิ่มเติมตรงนี้คือ ในสมัยหนึ่ง (ยังไม่พบหลักฐานระบุเวลาที่แน่ชัด เป็นไปได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ ๓ ตามที่ปรากฏภาพพระประจำวันรวมอยู่ใน “ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”) ประเพณีราชสำนักมีการนำเอาพิธีรับเทวดาเสวยอายุตามคติมหาทักษา อันเป็นเรื่องทาง “ไสย” มาแปลงปรับให้เป็นพิธีทางพุทธศาสนา ด้วยการเพิ่มเติมคาถาพระปริตรสำหรับรับเทวดาแต่ละองค์ พร้อมกับเลือกปางพระพุทธรูปที่สอดคล้องกับพระปริตรบทนั้นๆ เพื่อหล่อขึ้นประดิษฐานในมณฑลพิธี พร้อมกับการหล่อรูปเทวดาองค์ดังกล่าว อันปรากฏหลักฐานชัดเจนใน “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน” ในรัชกาลที่ ๕ ดังเคยกล่าวถึงมาแล้ว

เรื่องนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า สาเหตุที่คนไทยโบราณเห็นว่าการรับเทวดาเสวยอายุ และเทวดาที่เข้าแทรก มีความสำคัญ เนื่องจากเชื่อถือกันว่า เมื่อเทวดาแต่ละองค์ผลัดเปลี่ยนเข้ามาเสวยอายุ หากเป็นเทวดาที่ให้โทษ อาจทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบภยันตรายด้วยประการทั้งปวง ดังนั้น การเลือกสรรบทพระปริตรและพระพุทธรูปปางต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อ “บรรเทา” หรือขจัดปัดเป่าเหตุร้ายอันไม่พึงประสงค์เหล่านั้น

ดังเช่นใน “ตำราคัมภีร์มหาทักษาพยากรณ์” ฉบับที่พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองเสวกเอก นายพลพ่าห์ หุ้มแพร (มาศ บุนนาค) และนางประไพ หุตวณิช (ประไพ บุนนาค) เมื่อปี ๒๕๐๖ ท่านผู้รวบรวมคือ คุณประเทือง สีลายงค์ อธิบายไว้ตอนหนึ่งในหัวข้อ “พยากรณ์เทวดาอัฏฐเคราะห์เสวยอายุและแทรก” ว่าระหว่างเมื่อพระอาทิตย์เสวยอายุ ๖ ปี “จะเจ็บนัยน์ตาหรือขอบตา”

คำทำนายนี้ยังตรงกับที่กล่าวถึงใน “ตำรามหาทักษาพยากรณ์” ฉบับของนางวิศาลดรุณกร (ลำยอง สาริกบุตร) พิมพ์รวมอยู่ใน “ปฐมานุสรณ์” หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระครูปฐมเจติยานุรักษ์ (ป่วน กลฺยาณเสวี) เมื่อปี ๒๕๑๕ ด้วย

ว่าที่จริง ในเวลานั้น คุณหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร ๒๔๒๗-๒๔๙๓) ครูใหญ่ในแวดวงวิชาโหราศาสตร์ไทย ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว หากแต่ภริยา คือนางวิศาลดรุณกร (ลำยอง สาริกบุตร) ยังคงจดจำแนวพยากรณ์ของสามีได้ว่า ในช่วง ๖ ปีที่พระอาทิตย์เสวยอายุ “จะต้องเสียเงินตรา ป่วยตา นาภี ไฟไหม้ ให้ระวังตน” พร้อมกันนั้นก็บอกทางแก้ไว้ด้วยว่า “ให้ระวังตน บูชาพระถวายเนตร ถ้าศัตรูทำโทษ ให้ปิดทองที่พระเนตร พระโอษฐ์”

ดังนั้นในเมื่อวิชาฝ่ายโหราศาสตร์ทำนายทายทักว่า ระหว่างที่พระอาทิตย์เสวยอายุ อาจทำให้ “เจ็บนัยน์ตา” หรือ “ป่วยตา” วิธีขจัดปัดเป่า หรือ “ทรมานพระอาทิตย์” จึงให้สวดพระปริตรอันเนื่องด้วยเรื่องดวงตาคือ “อุเทตยัญจักขุมา” จากโมรปริต กับทั้งสร้างพระพุทธรูปปางถวายเนตร อันมีนัยว่าด้วยเรื่องดวงตาเช่นกัน

นี่เองคงเป็นที่มาของสาเหตุว่า ทำไมพระพุทธรูปในพิธีรับพระอาทิตย์เข้าเสวยอายุ จึงต้องเป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร รวมถึงให้ปิดทองที่พระเนตรพระ