ครั้งหนึ่งกับเรือบรรทุกเครื่องบิน USS George Washington

ตอนแรกที่ผมได้รับเชิญจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาให้ไปเยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินกลางทะเล ผมยังสงสัยอยู่ว่าจะเดินทางไปอย่างไร–เรือ เฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบิน

หากเป็นประการหลัง คงเป็นการร่อนลงจอดที่ตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตทีเดียว

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  USS George Washington (CVN 73) เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ลำหนึ่งของโลก ระวางขับน้ำแสนตัน มาจอดลอยเรืออยู่กลางอ่าวไทย  มีพลเรือนไทยไม่กี่คนได้รับเชิญไปเยี่ยมเรือลำนี้ ก่อนที่มันจะแล่นเข้าจอดที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบังอันเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

เมื่อถึงเวลานัดหมาย เครื่องบินลำเลียง C-2A Greyhound ใบพัดสองเครื่องยนต์ ที่ใช้เป็นเครื่องบินเมล์ขนส่งระหว่างฐานทัพบนบกกับเรือบรรทุกเครื่องบิน ก็มาจอดรอที่สนามบินดอนเมือง พร้อมกับนักบินฝรั่งร่างสูงใหญ่  พวกเขาแจกเสื้อนิรภัย หมวกนิรภัย ที่ครอบหูป้องกันเสียงดัง พร้อมอธิบายให้เราฟังถึงขั้นตอนการอยู่บนเครื่องบินและการลงจอดบนเครื่องบิน

ซึ่งไม่ใช่การลงจอดบนรันเวย์ยาวหลายกิโลเมตรแบบสนามบินทั่วไป แต่เป็นการลงจอดบนดาดฟ้าเรือที่มีรันเวย์ระยะสั้นไม่ถึง ๑๐๐ เมตร

พอทุกอย่างพร้อม C-2A ก็ทะยานขึ้นจากสนามบินพร้อมผู้โดยสารร่วม ๓๐ ชีวิต หน้าต่างทุกบานถูกปิดด้วยผ้าใบ ผู้โดยสารไม่อาจมองออกไปนอกเครื่องบินได้

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป นักบินคนหนึ่งให้สัญญาณว่าเครื่องกำลังแล่นลงจอดแล้ว เตรียมตัวให้พร้อม  เรารู้สึกได้จากการลดระดับความสูง ทุกคนกระชับสายรัดเข็มขัดให้แน่นเพื่อรอรับประสบการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจ  เครื่องบินลดความเร็วลงต่ำเรื่อย ๆ จนแตะรันเวย์ได้ไม่กี่วินาที เครื่องเกิดอาการกระตุกอย่างแรง เหมือนสะดุดเครื่องมืออะไรบางอย่างที่ช่วยทำให้เครื่องบินลดความเร็วกะทันหันจนจอดได้สนิททันที

ทุกคนสงสัยว่าสิ่งนั้นคืออะไร อะไรที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกกระชากอย่างแรง ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเร็วของเครื่องบินจาก ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เหลือเพียงศูนย์ในเวลาไม่กี่วินาที คำตอบรอเราอยู่อีกไม่นานเกินรอ

พอเราเดินออกมาทางประตูท้ายเครื่องบิน เสียงเครื่องบิน F/A 18 หลายลำบินฉวัดเฉวียนอยู่บนท้องฟ้าเหนือเรือบรรทุกเครื่องบิน  เราอยู่กลางอ่าวไทย มองไปยังทะเล เห็นเรือพิฆาต ๓ ลำคุ้มกันอยู่ห่าง ๆ

เราอยู่บนดาดฟ้าของเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลก  กำลัง ๒๖๐,๐๐๐ แรงม้า  ทำความเร็วได้สูงสุด ๓๐ นอต (๕๖ กม./ชม.)  ออกปฏิบัติการในทะเลได้นานถึง ๓ เดือนโดยไม่ต้องกลับเข้าฝั่ง  เรือลำนี้มีคำขวัญประจำเรือว่า “Spirit of freedom” หรือ “จิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ผู้ส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง  ท่านเคยเขียนไว้ว่า “หากปราศจากกองทัพเรือที่เข้มแข็งเฉียบขาดแล้ว เราจะไม่อาจทำอะไรที่เข้มแข็งเฉียบขาดได้ แต่ถ้าเรามีทุกอย่างจะได้รับเกียรติและเข้มแข็งเฉียบขาด” ข้อความดังกล่าวถูกจารึกไว้บนแผ่นโลหะติดอยู่บนดาดฟ้าเรือลำนี้

USS George Washington เป็นชั้นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีลูกเรือถึง ๖,๒๐๐ คน  เรียกได้ว่าเป็นเมืองกลางทะเล  มูลค่าก่อสร้างประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาท  มีขนาดความยาว ๑,๐๙๒ ฟุต กว้าง ๒๕๒ ฟุต สูง ๒๔๔ ฟุต  รองรับเครื่องบินรบชนิดต่าง ๆ ได้ถึง ๘๐ ลำ

ในแง่ยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐอเมริกา  ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียวที่ประจำการอยู่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ เมืองโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุ่น  คอยดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเขตแปซิฟิก  ก่อนหน้านี้เรือ จอร์จ วอชิงตัน ได้เข้าร่วมปฏิบัติการในหลายสมรภูมิ อาทิ การรักษาสันติภาพในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา สงครามอิรัก  การซ้อมรบร่วมกับมิตรประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในช่วงสถานการณ์ตึงเครียดในเกาหลีเหนือ  และเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น เรือลำนี้เป็นฐานทัพกลางทะเลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสบียงและความช่วยเหลือไปให้ชาวญี่ปุ่น

แต่ช่วงเวลาจากนี้เป็นต้นไป ดูเหมือน ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน อาจจะต้องมีภารกิจแสดงแสนยานุภาพมากขึ้น เมื่อประเทศจีนได้ประกาศความสำเร็จในการปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนออกสู่น่านน้ำในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเช่นกัน

สงครามโลกที่ผ่านมาเป็นบทเรียนชัดเจนว่า การมีกองทัพเรืออันเกรียงไกรไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความได้เปรียบ แต่หากชาติใดครอบครองน่านฟ้าได้เด็ดขาด คือผู้ชนะตัวจริง  และเรือบรรทุกเครื่องบินคือฐานทัพลอยฟ้าเพื่อพาเครื่องบินรบไปครอบครองน่านฟ้าทุกแห่งในโลก

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินมากที่สุดถึง ๑๑ ลำ  ความเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับ ๑ ของโลกอาจจะวัดได้จากจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินที่แล่นออกไปแสดงแสนยานุภาพทางการทหารได้ทั่วโลก

เราทักทายลูกเรือซึ่งดูจะมีหลายชาติผสมปนเปกัน ตั้งแต่ฝรั่งหัวขาว นิโกร ลูกครึ่งสเปน บางคนหน้าตาค่อนไปทางเอเชีย  แต่ละคนดูอารมณ์ดี สบาย ๆ ไม่คร่ำเคร่งมากนัก เพราะอีกไม่กี่วันก็จะได้ขึ้นฝั่งเปลี่ยนบรรยากาศไปตะลอนราตรีแถวพัทยากันแล้ว

ทหารเรือที่คอยดูแลพวกเราบอกให้สวมเสื้อ สวมหมวกนิรภัยพร้อมที่ครอบหูและแว่นตาให้รัดกุมและห้ามถอดออกเด็ดขาด ก่อนจะพาเรามาดูการลงจอดของเครื่องบินรบ  เสียงดังสนั่นแสบแก้วหูของเครื่องบินขณะลงจอดทำให้ไม่มีใครกล้าถอดหมวก  มองไปทางซ้ายเราเห็นเครื่องบิน F/A 18 อยู่ห่างออกไปไม่ไกล และสังเกตเห็นตะขอถูกหย่อนออกมาตรงท้ายเครื่องบิน  พอเครื่องบินลงแตะพื้นรันเวย์ มันได้เกี่ยวเอาสายสลิง กระชากให้เครื่องชะลอความเร็วจนแล่นต่อไปได้ไม่กี่สิบเมตรก็หยุดทันที

วิธีการจอดแบบนี้เรียกว่า Tailhooker คือเครื่องบินจะใช้ตะขอเกี่ยวสายสลิงสายใดสายหนึ่งซึ่งวางอยู่ ๔ สาย ทำให้เครื่องบินจอดสนิทได้ภายในรันเวย์ยาวเพียง ๙๐ เมตร  หากเกี่ยวสายสลิงไม่สำเร็จ นักบินต้องเร่งเครื่องบินให้ทะยานขึ้นเหนือฟ้าอีกครั้ง จึงเป็นสาเหตุทำให้เครื่องบินที่ลงจอดต้องใช้ความเร็วถึง ๒๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อจะเร่งความเร็วขึ้นไปได้ใหม่หากเกิดความผิดพลาด

เราแหงนหน้ามองดูตะขอของเครื่องบิน F/A 18 เกี่ยวลวดสลิงจนจอดสนิทหลายสิบเที่ยว มีเพียงลำเดียวที่เกี่ยวพลาด ต้องทะยานขึ้นท้องฟ้าก่อนลงมาจอดใหม่  เสียงดังสนั่นยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อนักบินเร่งเครื่องยนต์เต็มที่พร้อมจะนำเครื่องบินขึ้นสู่ฟ้า  พอเจ้าหน้าที่โบกมือให้สัญญาณ เครื่องบินก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ทิ้งควันโขมงสีขาวคล้ายไอน้ำอยู่ตรงรันเวย์

เราทราบภายหลังว่าเครื่องบินบินขึ้นจากรันเวย์ได้ด้วยเครื่องดีดพลังไอน้ำ กล่าวคือเมื่อเครื่องบินพร้อมจะบินขึ้น เขาจะเอาห่วงลวดมาคล้องระหว่างล้อหน้าของเครื่องบินกับเครื่องดีดพลังไอน้ำที่อยู่ตรงดาดฟ้าเรือ และจะมีกระบอกสูบไอน้ำยาวประมาณ ๔๕ เมตรซ่อนอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือ

ในการปล่อยเครื่องบินขึ้นจากเรือนั้น พอเครื่องบินเร่งเครื่องยนต์เต็มที่ ห่วงลวดคล้องยังรั้งเครื่องบินเอาไว้  จนเมื่อเครื่องดีดพลังไอน้ำทำงาน แรงผลักจากตัวเครื่องยนต์เองผสมกับแรงมหาศาลจากเครื่องดีดพลังไอน้ำ ทำให้ห่วงลวดคล้องที่รั้งอยู่ขาดออก  เครื่องบินก็จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าด้วยความเร็วถึง ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในระยะทางบนรันเวย์ ๔๕ เมตร

แม้ขั้นตอนดูเหมือนจะซับซ้อน แต่เราก็เห็นเครื่องบินทยอยออกไปอย่างรวดเร็วเพราะเครื่องดีดด้วยพลังไอน้ำปล่อยเครื่องบินได้ ๑ ลำในเวลา ๒ นาทีเท่านั้น  เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันแต่ละลำจะมีเครื่องปล่อยพลังไอน้ำถึง ๔ เครื่อง ทำให้ปล่อยเครื่องบินรบได้ทุก ๆ ๓๐ วินาที

ขากลับเราคงได้ใช้บริการนี้แน่นอน

บนดาดฟ้าเรือ นอกจากเครื่อง F/A 18 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบหลักประจำเรือจอดอยู่หลายลำแล้ว เรายังเห็นเฮลิคอปเตอร์แบบซีฮอว์กซึ่งเป็นรุ่นใกล้เคียงกับรุ่นแบล็กฮอว์กของกองทัพบกไทยแต่ใช้ในภารกิจกู้ภัยและปราบเรือดำน้ำ จอดอยู่ ๔-๕ ลำ

เจ้าหน้าที่พาเราเข้าไปภายในเรือ แบ่งเป็นส่วน ๆ กว่า ๒,๕๐๐ ห้องซับซ้อนมาก มีทางเดินแคบ ๆ พอแค่คนเดินสวนกัน  ทุกส่วนของเรือมีประตูเหล็กฝากั้นน้ำเป็นช่องทางเชื่อมต่อ แต่ละชั้นมีบันไดสูงชันมาก  เราเดินมาสู่โรงจอดและโรงซ่อมบำรุง เครื่องบินส่วนใหญ่หากยังไม่ใช้งานจะจอดอยู่ในส่วนนี้  ปีกของเครื่องบินพับได้เพื่อประหยัดเนื้อที่ โดยจะมีศูนย์ควบคุมคอยดูแลว่าเครื่องบินแต่ละลำจอดอยู่ตรงไหนของเรือ ลำใดกำลังซ่อม หรือลำใดกำลังบินอยู่

ระหว่างทางเราเดินผ่านโรงอาหารขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่บอกว่าเรือผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลได้วันละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ลิตร และพ่อครัวต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนผลิตอาหารวันละ ๑๘,๐๐๐ ชุด รองรับลูกเรือ นายทหาร รวมไปถึงแพทย์ ทันตแพทย์ ทนายความ ช่างประปา ช่างเครื่อง นักเคมี นักพยากรณ์อากาศ ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ยามรักษาความปลอดภัย ช่างภาพ ช่างตัดผม วิศวกร ฯลฯ

เรามีโอกาสเข้าไปในห้องมืดแห่งหนึ่ง มีจอเรดาร์ จอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เต็มไปหมด  เจ้าหน้าที่บอกว่าห้องนี้คือศูนย์บัญชาการรบ คอยตรวจจับความเคลื่อนไหวของเรือที่อยู่ใกล้เคียง  ลูกเรืออธิบายให้เราเห็นถึงเรือสินค้า เรือประมงที่แล่นเข้ามาในระยะใกล้จากจอเรดาร์ แต่บนน่านฟ้าไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่ามีเครื่องบินใด ๆ  หากมีเหตุผิดปรกติหรือวัตถุแปลกปลอมเข้ามาอย่างไม่เป็นมิตร ก็พร้อมจะยิงอาวุธป้องกันตัวเองทันที ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ประจำเรือ หรือจรวดพื้นสู่อากาศ

ห้องสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่พาเข้าไปชมคือ สะพานเดินเรือ ซึ่งถือเป็นหัวใจของเรือบรรทุกเครื่องบิน มีลูกเรือ นายทหารเรือคอยควบคุมการเดินเรือตลอดเวลา  รวมถึงที่นั่งของผู้บังคับการเรือ–กัปตันเดวิด เลาส์แมน ทำหน้าที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง  เขาได้ตอกย้ำถึงภารกิจของเรือบรรทุกเครื่องบินว่า

“สหรัฐฯ ต้องการทำงานด้านทะเลร่วมกับทุกประเทศผ่านทางน่านน้ำสากล น่านน้ำสากลเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกประเทศ เสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ  การลาดตระเวนตลอด ๖ เดือนของเรือ จอร์จ วอชิงตัน ก็เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เพิ่มการสื่อสารระหว่างมิตรประเทศ ก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้”

เรือบรรทุกเครื่องบิน จอร์จ วอชิงตัน มีกำหนดเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยลูกเรือบางส่วนจะทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน แต่เป็นที่รู้กันดีว่าการเดินทางไปแวะจอดตามประเทศต่าง ๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพและอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิกต่อไป

เรากลับมาที่ดาดฟ้าเรืออีกครั้งหนึ่ง เครื่องบิน C-2A ลำเดิมจอดรอเราอยู่  พอทุกชีวิตขึ้นเครื่อง ประจำที่นั่ง รัดเข็มขัดแน่นแล้ว กัปตันเครื่องบินได้กำชับให้ทุกคนเก็บมือแล้วก้มตัวลงต่ำ  เราได้ยินเสียงเครื่องยนต์เร่งเครื่องสูงสุดเป็นเวลาหลายนาที เสียงดังกึกก้องในหูตลอด รู้สึกคล้ายว่าเครื่องบินดั่งลูกศรบนคันธนูที่ถูกง้างเต็มที่ และอึดใจเดียวร่างกายที่ก้มต่ำลงก็ถูกแรงดึงให้กลับมากระแทกเบาะหลังอย่างแรงและต่อเนื่อง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เครื่องบินถูกเครื่องดีดพลังไอน้ำส่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ทุกคนบนเครื่องบินปรบมือด้วยความระทึกใจ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายได้ยาก ในสถานการณ์ที่ถูกพลังมหาศาลถีบด้วยความเร็วกว่า ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเสี้ยววินาที

ชีวิตที่เหลืออยู่คงไม่ถูกใครถีบด้วยความเร็วมหาศาลเช่นนี้อีกเป็นแน่

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.