การปรับตัวครั้งใหญ่

มีคนถามผู้เขียนว่า บทเรียนสำคัญที่สุดของอุทกภัยครั้งนี้ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตหกร้อยกว่าคน มูลค่าความเสียหายถึงหนึ่งล้านล้านบาท คือเรื่องอะไร

ผู้เขียนคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดครั้งใหญ่ เพื่อการอยู่รอดของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และประชาชนทั่วไป
การต่อสู้กับภัยธรรมชาติอันมีผลมาจากปัญหาโลกร้อนที่มนุษย์มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดนั้น  ไม่ใช่ประเด็นทางประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จากการใช้วาทศิลป์หักล้างกันในทางการเมือง การพูดจาเหน็บแนมไปมาระหว่างรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน

แต่เป็นเรื่องของการใช้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง กับการตัดสินใจด้านบริหารอย่างมืออาชีพ เด็ดขาดและฉับไวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติ

เมื่อเร็ว ๆนี้ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตัวเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้มาเมืองไทย พวกเขาเล่าให้ฟังว่า เวลาเกิดวิกฤติการณ์อุทกภัยในประเทศ จะมีคณะกรรมการเพียงสามคน ในการตัดสินใจแก้ปัญหา คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีด้านความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญ  ตามหลักการทำงาน รวดเร็ว กระชับ ข้อมูลแม่นและเด็ดขาด

ภาคธุรกิจที่ถือว่าเป็นภาคที่ปรับตัวเร็วที่สุดในสังคม  ที่ผ่านมาอาจจะมีความชำนาญ ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการทำมาหากิน  ปัญหาภัยพิบัติถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จึงไม่เคยพัฒนาหรือสั่งสมองค์ความรู้ด้านนี้เลย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ที่ภาคธุรกิจเจ๊งไปหลายแสนล้านบาท เป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่า คงต้องพึ่งตัวเองอย่างจริงจัง  หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจกับข้อมูลด้านภัยพิบัติ เริ่มมีการพูดคุยกันว่าจะกดดันรัฐบาลให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน

แต่ที่สำคัญคือภาคธุรกิจเริ่มยอมรับอย่างจริงจังแล้วว่า ปัญหาอุทกภัยนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจเองก็มีส่วนทำลายธรรมชาติ การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จึงดูจะเป็นทิศทางใหม่ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด

มีการพูดกันทีเล่นทีจริงระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจว่าถึงเวลาต้องปรับตัวกันบ้าง คือ หากมีการตั้งงบประมาณหลายหมื่นล้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นโครงการฟลัดเวย์ หรือโครงการอื่น ๆ มีการขอกันว่า  ไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อทำให้โครงการนี้เกิดได้อย่างรวดเร็วและนักลงทุนทั่วไปมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีก

แต่ดูเหมือนฝ่ายที่ปรับตัวเร็วมากที่สุดน่าจะเป็นประชาชนทั่วไป เหตุการณ์ครั้งนี้ หลายชุมชนเอาตัวรอดจากน้ำท่วมได้ เพราะพวกเขาปรับตัวจากที่เคยต่างคนต่างอยู่  หรือหวังพึ่งทางการอย่างลม ๆแล้ง ๆ ได้หันกลับมาร่วมมือกันช่วยกันสู้ภัยน้ำท่วมจนสำเร็จ โดยเฉพาะคนแถวฝั่งตะวันตกหลายชุมชนที่ช่วยดันน้ำออกไปตามคูคลองได้อย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ที่จะไม่หวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยึดแนวทาง “รวมกันเราอยู่ แยกกันต่างคนต่างเจ๊ง”

แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลมากก็คือ พอหลังปีใหม่หลังจากน้ำแห้ง  รัฐบาลก็จะไม่ยอมปรับตัว คือให้ความสนใจกับโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่ยังไม่ขับเคลื่อนออกมา และประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลทางการเมือง และปล่อยให้คณะกรรมการหลายชุดที่ตั้งออกมามากมายเพื่อทำโครงการป้องกันด้านอุทกภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้แต่ประชุมวางแผนไปเรื่อย ๆ  ถูกลดบทบาทลงอย่างไร้อนาคต

ถามว่าปีหน้าจะมีฝนตก มีน้ำท่วมหนักอีกหรือไม่  คำตอบก็คือไม่มีนักวิชาการใดออกมาฟันธง เพราะการพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำเพียงช่วงเวลา 5-7 วันเท่านั้น การเตรียมพร้อม การปรับตัวที่ดีคือคำตอบในความไม่ประมาท

จากนี้ไปเรามีเวลาปรับตัวไม่ถึงหกเดือน ก่อนหน้าฝนจะมาเยือนครั้งใหม่

หากนักการเมืองไม่ยอมปรับตัว คงนึกออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก

กรุงเทพธุรกิจ  15 dec. 11

Comments

  1. สุรีพันธุ์ เสนานุช

    การเมืองที่มีผลประโยชน์ซับซ้อนอย่างนี้ ภาคราชการที่มีกฎ ระเบียบ ขั้นตอนมากมาย คงปรับตัวยาก แต่คนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนตื่นรู้กันบ้างแล้ว ประเทศเราก็เป็นอย่างนี้ ก็คงเช่นเดียวกับประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ ในที่สุดชุมชนต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ ท่านรพินทรนาถ ฐากูร วิเคราะห์ไว้อย่างถูกต้องที่สุดคือการรวมศุนย์อำนาจทางการเมือง การปกครอง ได้ทำลายความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราจะเริ่มต้นกันใหม่ มาเริ่มที่ชุมชนน่าจะมีความหวังกว่า ฝากไว้กับนักการเมือง และระบบราชการนะ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.