โลกวิทยาศาสตร์กับมุสลิม (ตอนที่ ๒)

muslim02

ภายในพิพิธภัณฑ์มีลูกโลกแสดงแผนที่โลกสมัยโบราณและอุปกรณ์การเดินเรือ เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อน

ความเดิมจากตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิสลามแห่งอิสตันบูล ประเทศตุรกี สถานที่รวบรวมผลงานจำลองสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญของนักวิทยาศาสตร์มุสลิมช่วงศตวรรษที่ ๙-๑๖ อันถือเป็นยุคทองของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ของชาวมุสลิม ตั้งแต่เครื่องมือด้านดาราศาสตร์ การเดินเรือ การก่อสร้าง เรขาคณิต เคมี เครื่องมือวัดระยะ อาวุธยุทโธปกรณ์ จนถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ การรักษา การผ่าตัด ซึ่งหลายเรื่องเคยคิดว่าเป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป แต่กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ยุโรปนำไปต่อยอดดัดแปลง

ตัวอย่างเช่น อิบน์ อัลชะติร (Ibn Al-Shatir ค.ศ. ๑๓๐๔-๑๓๗๕) นักปรัชญาและนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวนครดามัสกัส เป็นคนแรกที่พิสูจน์และหาผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งมีหลักฐานการค้นพบเอกสารภาษาอาหรับนี้ใน ค.ศ. ๑๓๙๓ ที่บ้านเกิดของโคเพอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายโปแลนด์ จึงเป็นไปได้ว่าเขาคัดลอกข้อมูลเอกสารภาษาอาหรับและกล่าวอ้างว่าเป็นทฤษฎีที่ตนค้นพบเอง

ภายในพิพิธภัณฑ์ห้องถัดมาแสดงความก้าวหน้าด้านภูมิศาสตร์ การสำรวจทางเรือ การทำแผนที่ อันเป็นช่วงรุ่งเรืองของชาวมุสลิมซึ่งแผ่ขยายอิทธิพลทางทะเลอย่างกว้างขวาง ด้านตะวันออกจดเมืองจีน ขณะด้านตะวันตกเลียบชายฝั่งทวีปยุโรปและแอฟริกา ทั้งยังมีแผนที่โบราณของนักเดินทางชาวมุสลิมซึ่งแสดงดินแดนของพวกรัสเซีย สลาฟ ไปถึงชายฝั่งด้านตะวันตก ด้านใต้ และตะวันออกของทวีปแอฟริกา แถบซูดาน แม่น้ำไนล์ อันเป็นหลักฐานว่าชาวมุสลิมค้นพบแอฟริกาก่อนฝรั่งชาติแรก-โปรตุเกสจะเดินทางมาถึงหลายร้อยปี  นอกจากนี้แผนที่ยังแสดงชายฝั่งและหมู่เกาะของมหาสมุทรอินเดียเรื่อยไปถึงประเทศจีน เกาหลี และหมู่เกาะญี่ปุ่น

น่าสนใจตรงที่ เจิ้งเหอ นักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ (ค.ศ. ๑๓๗๑-๑๔๓๒) ก็เป็นลูกหลานชาวมุสลิมที่เกิดในมณฑลยูนนาน ร่วมสมัยเดียวกับที่อิทธิพลและความรู้การเดินเรือของมุสลิมแผ่ขจายไป  เขาเป็นผู้นำกองเรือขนาด ๓๐๐ ลำ สำรวจทะเลมากกว่า ๕๐,๐๐๐ กิโลเมตรจากเอเชียถึงแอฟริกาตลอดเวลา ๒๘ ปี

เจิ้งเหอ กับความเป็นมุสลิมผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือจะมีความสัมพันธ์อย่างไร คงต้องให้นักประวัติศาสตร์ศึกษาต่อไป

การแผ่ขยายอิทธิพลของชาวมุสลิมนั้นนอกเหนือจากเรื่องการค้าเพื่อหารายได้และการค้นหาทรัพยากรใหม่ๆ ยังเป็นการเผยแผ่ศาสนา จนทำให้ผู้คนในแอฟริกา รวมถึงเอเชียอย่างอินเดีย ชวา มลายู และจีน เปิดใจรับศาสนาอิสลามในเวลาอันรวดเร็วก่อนการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของชาวยุโรป  ผลจากความรุ่งเรืองทางการค้ายิ่งทำให้ชาวมุสลิมมีความชำนาญในการเดินเรือและต่อเรือ

muslim01

แบบจำลองแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ในสมัยศตวรรษที่ ๑๒

เราเห็นเรือโบราณจำลองสมัยศตวรรษที่ ๙ มีใบเรือรูปสามเหลี่ยมซึ่งออกแบบให้สามารถนำเรือฝ่าลมพายุเพื่อออกทะเลลึกได้  มีเข็มทิศโบราณชนิดต่างๆ ที่ใช้แผนที่กลุ่มดาวประกอบการเดินเรือ และแผนที่โบราณหลายแบบอันแสดงภูมิปัญญาของคนมุสลิมสมัยนั้นซึ่งมีความพยายามที่จะผจญภัยกับทะเลในยุคสมัยที่เชื่อว่าโลกแบน  แม้ชาวมุสลิมจะเป็นคนแรกๆ ที่ค้นพบว่าโลกกลมจากการเฝ้าสังเกตการโคจรของดวงอาทิตย์ก็ตาม (ต่อมา คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาใช้แผนที่โลกกลมของมุสลิมช่วยในการเดินเรือข้ามมหาสมุทร) แต่การเดินเรือช่วงแรกมนุษย์มักจะเดินเรือเลียบชายฝั่ง ไม่กล้าออกทะเลลึกเพราะความเชื่อว่าโลกแบนจึงกลัวตกโลก  ขณะความบ้าบิ่นในการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งได้ฉายาว่าท้องทะเลแห่งความมืดมน เป็นสิ่งท้าทายนักเดินเรือยุคนั้นว่าหากสามารถแล่นเรือผ่านไปแล้วจะสุดขอบโลกหรือไม่

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์บางคนมีหลักฐานอ้างว่า นักเดินเรือชาวมุสลิมเคยข้ามมหาสมุทรแห่งความมืดมิดไปขึ้นฝั่งหลายแห่งในทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสจะค้นพบถึง ๓๐๐ ปี เช่นเดียวกับที่มีหลักฐานว่า เจิ้งเหอ เคยไปถึงทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส ซึ่งคงต้องให้นักประวัติศาสตร์หลายสำนักถกเถียงกันต่อ

ข้อน่าสังเกตคือ พวกแขก หรือคนจีนอาจเคยไปเยือนทวีปอเมริกาก่อนใครแต่ไม่คิดจะยึดครอง  ขณะชาวยุโรปอย่างสเปนหรือโปรตุเกสนั้นค้นพบทีหลัง ทว่าสุดท้ายก็เข้ายึดครองพร้อมทำลายอาณาจักรมายา จักรวรรดิอินคา และชาวอินเดียนแดงจนแทบสูญพันธุ์

ต่อมาเป็นห้องการทดลองทางเคมีหลายอย่าง ซึ่งแสดงว่ามุสลิมเป็นผู้นำด้านเคมีมาตั้งแต่โบราณ และผู้เป็นบิดาแห่งเคมีของชาวมุสลิมคือ ยาบิร อิบน์ ฮัยยาน (Jabir Ibn Hayyan ค.ศ. ๗๒๑-๘๑๕) ชาวเปอร์เซีย เขาแต่งตำราทางเคมีมากมาย โดยอาจเป็นคนแรกที่ใช้การทดลอง การรวบรวมสถิติ ความรู้ทางคณิต-ศาสตร์ และค้นคว้าด้วยวิธีการที่พิสูจน์ได้ อันเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านักวิทยาศาสตร์ตะวันตกหลายร้อยปี

ในห้องนี้มีเครื่องมือทดลองทางเคมีโบราณของมุสลิม เช่น การระเหยกลายเป็นไอ การกรอง การละลาย การตกผลึก เป็นต้น  ทั้งยังมีแร่ธาตุสำคัญที่ใช้งานช่วงเวลานั้น ราวกับได้เห็นเครื่องมือเล่นแร่แปรธาตุอันเป็นต้นกำเนิดของวิชาเคมีในเวลาต่อมา

ผู้เขียนเดินผ่านห้องแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิด อาทิ ศตวรรษที่ ๑๕ มุสลิมพัฒนาโพแทสเซียมไนเตรตเพื่อทำดินปืน เราจึงได้เห็นจรวดจำลองสร้างเลียนแบบจรวดโลหะเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนที่สูง ๗-๘ เมตร ตอร์ปิโดทำลายเรือ เครื่องยิงลูกระเบิดขนาดต่างๆ ที่ใช้แรงเหวี่ยงทำลายกำแพงเมือง ธนูยิงได้ทีละหลายดอกคล้ายปืนกล และปืนใหญ่หล่อโลหะที่มีกระสุนเป็นลูกระเบิดและจรวด ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพมุสลิมเอาชนะกองทัพยุโรปในสงครามครูเสดได้

ถัดมาเป็นห้องทางการแพทย์ พบเครื่องมือการแพทย์ยุคพันปีก่อน หน้าตาไม่ผิดเพี้ยนจากสมัยนี้นัก อาทิ มีดผ่าตัด มีดเลื่อยกระดูก กรรไกร คีมหนีบ ฯลฯ

ในศตวรรษที่ ๑๓ อิบน์ อัลนะฟิส (Ibn Al-Nafis ค.ศ. ๑๒๑๓-๑๒๘๘) แพทย์ชาวมุสลิม ได้อธิบายการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นเวลา ๓๐๐ ปีก่อนหน้า วิลเลียม ฮาร์วีย์ (William Harvey) ค้นพบเรื่องนี้

ศตวรรษที่ ๘-๑๑ อัลซาฮ์เราะวี (Al-Zahrawi หรือตะวันตกเรียก Albucasis ค.ศ. ๙๓๖-๑๐๑๓) ศัลยแพทย์ชาวมุสลิม ค้นพบเชือกเหนียวที่ทำจากไส้แห้งของสัตว์ สามารถนำมาเย็บแผลภายใน เพราะละลายตามธรรมชาติเหมือนด้ายผ่าตัดสมัยใหม่

อิบน์ ซีนา (Ibn Sina หรือที่ตะวันตกรู้จักว่า Avicenna ค.ศ. ๙๘๐-๑๐๓๖) แพทย์ผู้ริเริ่มการฉีดยาใต้ผิวหนังและวางยาสลบเพื่อการผ่าตัด ทั้งเป็นคนแรกที่พบความแตกต่างระหว่างนิ่วในกระเพาะปัสสาวะกับนิ่วในไต รวมถึงอธิบายเรื่องพยาธิในลำไส้ใหญ่ เข้าใจระบบทางเดินหายใจ และผ่าตัดก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งเป็นคนแรก

ในบรรดาอุปกรณ์การแพทย์ของมุสลิมโบราณนั้น สิ่งสะดุดตาผู้เขียนมากคือ ภาพวาดเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น อุปกรณ์แว่นขยาย เลนส์เว้า เลนส์นูน ซึ่งเข้าใจภายหลังว่ามุสลิมคือผู้วางพื้นฐานความรู้สำคัญเรื่องแสง ดวงตา  และต้องยกประโยชน์ให้นักฟิสิกส์ชาวแบกแดดนาม อิบน์ อัลฮัยษัม (Ibn Al-Haytham หรือ Alhazen, Alhacen, Al-Basri ค.ศ. ๙๖๕-๑๐๔๐) ผู้ค้นพบทฤษฎีสำคัญของแสงที่ว่า “แสงมิได้เกิดจากตาแล้วกระทบวัตถุ แต่วัตถุต่างหากที่ส่งแสงสู่ตาของคนเรา”

กล่าวโดยสรุป ประมาณ ค.ศ. ๗๐๐-๑๕๐๐ นับเป็นยุคทองของอารยธรรมมุสลิมแทบทุกด้าน และเป็นแหล่งรวมนักปราชญ์สำคัญจากทั่วโลก เช่น กรีก อินเดีย ยุโรป ด้วยเหตุที่ความเชื่อในศาสนาอิสลามสนับสนุนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และไม่เคยจับนักวิทยาศาสตร์มาทรมานหรือประหารชีวิต  ขณะความเชื่อของชาวคริสต์ในสมัยกลางหรือยุคมืดกลับไม่ส่งเสริมให้คนแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพราะไม่มีประโยชน์หรือผลบุญอันใดต่อชีวิต และความรู้นั้นอาจขัดแย้งต่อคำสอนของคริสต์ศาสนา ถึงกับมีการจับคนเผาทั้งเป็น หรือแม้แต่กาลิเลโอนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำยังถูกจับคุมขัง

อย่างไรก็ตามต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการแพทย์ ได้รับการถ่ายทอดจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละตินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญให้ชาวยุโรปต่อยอดความรู้เหล่านั้นมาตลอด  ขณะมุสลิมหยุดการพัฒนาองค์ความรู้ ส่วนหนึ่งมาจากอาณาจักรอิสลามที่เคยเกรียงไกรเข้าสู่ยุคตกต่ำ อ่อนแอ และถูกทำลายจากข้าศึกภายนอก แต่ร่องรอยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ยังคงสืบทอดและเป็นพื้นฐานสำคัญถึงปัจจุบัน

จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเสมือนกันหรือ  แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ. (๓๙:๙) 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.