ครั้งหนึ่งในบราซิล

รีโอเดจาเนโรเมืองสำคัญของบราซิล

ช่วงเวลานี้บราซิลอยู่ในความสนใจของชาวโลก ในฐานะเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลก ๒๐๑๔

คนไทยรู้จักประเทศบราซิลเพราะชื่อเสียงของนักฟุตบอลระดับโลก ดินแดนแห่งกาแฟ และป่าดงดิบแอมะซอน แหล่งฟอกออกซิเจนสำคัญของมนุษยชาติ  แต่หากไม่มีกิจธุระอะไรบราซิลอาจไม่ใช่ประเทศจุดหมายปลายทางของบรรดานักเดินทางท่องเที่ยว ด้วยสาเหตุหลักๆ คือระยะทางไกลร่วม ๒ หมื่นกิโลเมตร

บราซิลและทวีปอเมริกาใต้จึงเป็นดินแดนในฝันของหลายคน แม้ค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางแสนแพงกว่ายุโรปเสียอีก

หลายปีมาแล้วผู้เขียนมีโอกาสไปบราซิลด้วยการเดินทางรวดเดียว ๒๒ ชั่วโมง โดยบินข้ามมหาสมุทรอินเดีย แวะเติมน้ำมันและเปลี่ยนนักบินที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ก่อนจะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก  นับเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินอันทรหดในยุคที่อนุญาตให้สูบบุหรี่บนเครื่องบินโดยสารได้

บริเวณที่สูบบุหรี่คือส่วนท้ายของเครื่องบิน ผู้เขียนนั่งอยู่บริเวณนั้นจึงได้รับควันบุหรี่ตลอดทางจากผู้โดยสารที่ผลัดเปลี่ยนมาใช้บริการ นั่นเป็นประสบการณ์มิรู้ลืมจริงๆ

การเดินทางย้อนไปทางตะวันตกนั้นถือเป็นการบินตามดวงตะวัน ตลอดการเดินทาง ๒๐ กว่าชั่วโมงจึงอยู่ในความมืดของรัตติกาล ก่อนจะสว่างที่เซาเปาลู ศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ

บราซิลเป็นประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่พูดภาษาโปรตุเกส จากอิทธิพลเจ้าอาณานิคมในอดีต  ขณะดินแดนที่เหลือล้วนพูดภาษาสเปน  กระนั้นโปรตุเกสปกครองบราซิลประเทศเดียวก็เพียงพอเพราะมีพื้นที่ ๘,๕๑๕,๗๖๗ ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลก หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ ๑๗ เท่า

เล่ากันว่าเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนตอนโคลัมบัสเดินทางไปทิศตะวันตกแล้วขึ้นฝั่งค้นพบทวีปอเมริกา โดยมีราชินีแห่งสเปนเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่  โปรตุเกสคู่แข่งสำคัญกลับมีความชำนาญในการเดินทางไปทิศตะวันออก  วาสโก ดากามา (Vasco da Gama) นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ชาวโปรตุเกส เป็นคนแรกที่อ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ไปยังอินเดียสำเร็จ  กษัตริย์มานูเอลที่ ๑ จึงคิดจะส่งกองเรือ ๑๓ ลำหวังไปยึดอินเดียเป็นอาณานิคม

นายพลเรือหนุ่มนาม เปโดร อัลวาเรส (Pedro Álvares Cabral)นำเรือออกห่างชายฝั่งเรื่อยๆ  หกสัปดาห์ต่อมาเขาเห็นต้นไม้ต้นเล็กๆ ลอยกลางทะเล  ฝูงนกบินเหนือคลื่นในระยะใกล้เรือทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแผ่นดินอยู่ไม่ไกล  เขาจึงสั่งให้หันหัวเรือมุ่งหน้าไปทางทิศนั้น ด้วยหวังว่าจะพบเส้นทางลัดไปอินเดียโดยไม่ต้องมุ่งไปทางทิศตะวันออก  หลังล่องเรือมา ๕๐ กว่าวัน เขาก็พบแผ่นดินและภูเขา มีชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองรอต้อนรับ  ไม่มีใครคิดว่าที่นี่คือทวีปขนาดใหญ่ที่ขวางกั้น แต่เมื่อเดินเรือเลียบชายฝั่งเพื่ออ้อมเกาะจึงรู้ว่าแผ่นดินนี้มีขนาดใหญ่ ไม่ใช่เกาะเล็กๆ อย่างที่คิดแต่แรก

นายพลหนุ่มสั่งให้สร้างไม้กางเขนขนาดใหญ่ปักไว้บนแผ่นดินนี้ อันเป็นการประกาศศาสนาคริสต์ครั้งแรกพร้อมการยึดดินแดนจากชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง

หากอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก บราซิลก็มีประชากรนับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในโลกเช่นกัน จากร้อยละ ๙๐ ของจำนวนประชากร ๒๐๐ ล้านคน ซึ่งในจำนวนนั้นอยู่ในเมืองเซาเปาลูมากที่สุด คือเกือบ ๒๐ ล้านคน

เซาเปาลูมีความเจริญที่สุด เป็นเมืองธุรกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรป จึงไม่แปลกใจว่ารถที่วิ่งตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นฟอร์ด เฟียต และโฟล์ก  ไม่ค่อยเห็นรถสัญชาติญี่ปุ่น แม้บราซิลจะมีคนญี่ปุ่นอพยพมาอยู่ในประเทศหลายล้านคนก็ตาม (ตามนโยบายของทางการญี่ปุ่นเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ที่แก้ปัญหาความอดอยากและประชากรจำนวนมากด้วยการอพยพชาวญี่ปุ่นมาตั้งหลักแหล่งในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งยังมีผู้คนอาศัยไม่มากนัก)

เวลานั้นบราซิลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้เอทานอลจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมาทำเชื้อเพลิงรถยนต์ทดแทนน้ำมัน สาเหตุเพราะน้ำมันราคาแพงมาก เรียกได้ว่ารายได้จากการส่งออกเท่าไรก็จ่ายเป็นค่าน้ำมันนำเข้าหมด  รถยนต์ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใช้น้ำมันอีกต่อไป และรถยี่ห้ออื่นจึงไม่อาจตีตลาดรถยนต์บราซิลที่ดัดแปลงเครื่องยนต์ให้ใช้เอทานอลได้  กระทั่งทุกวันนี้บราซิลก็เป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก

หลายวันต่อมาผู้เขียนแวะไปรีโอเดจาเนโร เมืองชายหาดที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก คือหาดโคปาคาบานา (Copa Cabana) และเทศกาลคาร์นิวัล ขบวนพาเหรดตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร พร้อมการเต้นแซมบ้าซึ่งเดิมเป็นการเต้นรำของคนดำในแอฟริกา จนเมื่อพวกเขาถูกจับมาเป็นทาสใช้แรงงานในไร่อ้อยบราซิล จังหวะแซมบ้าจึงโด่งดังในดินแดนนี้

ผู้เขียนจำได้ว่าบริเวณชายหาดจะเห็นเด็ก ผู้ใหญ่บราซิล ทั้งผิวดำ ผิวขาว หรือผิวแดง มาเล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน เป็นไปได้ว่าการเล่นฟุตบอลพื้นทรายอาจเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทักษะและความแกร่งในเชิงบอล เพราะรู้ดีว่าเตะบอลบนพื้นทรายยากกว่าเตะบนพื้นดินหรือพื้นหญ้า

บราซิลโชคดีตรงผู้คนหลากเชื้อชาติจากทั่วโลกอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาเหยียดผิวเหมือนหลายประเทศ และรัฐธรรมนูญของประเทศก็มีบทบัญญัติห้ามแบ่งแยกสีผิวโดยเด็ดขาด

ริมหาดยาวเหยียดเกือบ ๒๐ กิโลเมตรที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูง ทำให้เมืองไม่เคยหลับใหล ยิ่งดึกยิ่งคึกคัก  คนบราซิลรักสนุกเหมือนคนไทย ผูกมิตรง่าย ชอบเล่นกีฬา หาความสำราญ แต่ไม่ค่อยกระตือรือร้น เฉื่อยแฉะในการทำงาน  ห้างสรรพสินค้าบางแห่งปิดวันอาทิตย์เพราะลูกจ้างไม่ยอมมาทำงาน แม้จะมีโอทีวันหยุดก็ตาม

ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก เราคงเคยได้ข่าวการปราบปรามเด็กจรจัดในรีโอฯ อย่างเด็ดขาด ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะสลัมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในเมืองนี้ มีคนจน ๒ ล้านกว่าคนอาศัยอยู่ในสลัมจนกลายเป็นอาณาจักรลึกลับที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ค่อยถึง

วันแรกที่ไปถึงบราซิล คนท้องถิ่นจึงเตือนว่าให้ระวังกล้องถ่ายรูปและของมีค่าทุกชนิด เพราะการฉกชิงวิ่งราวเป็นเรื่องปรกติในเมืองใหญ่  การปราบปรามค่อนข้างเด็ดขาด บางครั้งมีข่าวว่าตำรวจไล่ต้อนเด็กจรจัดขึ้นรถตู้และใช้ระบบศาลเตี้ยโดยนำไปยิงทิ้งและผลักลงเหวลึกเป็นประจำ จนถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนประณามอย่างรุนแรง

แต่ดูเหมือนรัฐบาลบราซิลไม่สนใจ เพราะปัญหาใหญ่เวลานั้นคือเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงปีละเกือบ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์

เงินครูเซโรใบละ ๕ แสน สะท้อนปัญหาเงินเฟ้อเมื่อ ๑๐ ปีก่อนของบราซิล
จำได้ว่าในชีวิตผู้เขียนมีโอกาสกินอาหารมื้อละเป็นล้านในประเทศนี้เอง  สิบกว่าปีก่อน ๑ ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ ๔ หมื่นครูเซโร (cruzeiro สกุลเงินบราซิลสมัยนั้น) แต่ ๗ วันต่อมาค่าเงินตกจนแลกได้ ๕ หมื่นครูเซโร  ครั้งหนึ่งผู้เขียนเข้าร้านขายของเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง แต่ไม่มีการติดป้ายราคาเลย  คนขายบอกว่าไม่อาจติดป้ายราคาได้เพราะเงินเฟ้อทุกนาที หากติดป้ายอาจไม่ตรงกับราคาจริงที่ขึ้นตลอด

มนุษย์เงินเดือนบราซิลเมื่อได้เงินจึงไม่เก็บเงินไว้หรือฝากธนาคาร แต่รีบไปซื้อสินค้าทันทีเพราะกลัวราคาขึ้น

ปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าวเกิดจากการกู้เงินต่างประเทศมากเกินไปจนไม่สามารถชำระคืน  บราซิลเป็นหนี้ต่างประเทศอันดับ ๑ ของโลก คือประมาณ ๒๕ ล้านล้านบาท จึงสามารถจ่ายคืนได้เฉพาะดอกเบี้ย

มีเรื่องเล่าว่าธนาคารแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้รับแจ้งจากรัฐบาลบราซิลว่าจะขอชะลอการส่งดอกเบี้ย ๖ เดือนเพราะไม่มีเงิน  ทางธนาคารตอบว่าไม่ได้เด็ดขาด ทว่าบราซิลปฏิเสธยันไม่ส่งดอกเบี้ย ปรากฏว่าธนาคารนั้นเจ๊งทันที

สาเหตุเป็นเพราะ ๕๐ ปีที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละยุคใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินจำนวนมหาศาลมาสร้างระบบสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า  สร้างเขื่อนอีไตปู (Itaipu) ใหญ่ที่สุดในโลก (ขณะนั้น) สร้างสะพานนีเตรอย (Rio-Niterói Bridge) อันเป็นสะพานตั้งยาวที่สุดในซีกโลกใต้ และสร้างบราซิเลียเมืองหลวงใหม่เพื่อชักชวนให้ต่างชาติมาลงทุน  แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันปี ๒๕๑๖ น้ำมันขึ้นราคาจากบาร์เรลละ ๒ ดอลลาร์เป็น ๑๒ ดอลลาร์ ทำให้เศรษฐกิจบราซิลพินาศ คนว่างงานมหาศาล รัฐบาลไม่สามารถคืนเงินกู้ต่างประเทศได้  ผลคือเงินเฟ้อขึ้นทุกปี บรรดาเจ้าหนี้ต่างประเทศก็เร่งรัดให้รัฐบาลขุดทรัพยากรธรรมชาติขาย หรือไม่ก็ให้ต่างชาติเป็นเจ้าของสัมปทาน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ในป่าแอมะซอน การขุดแร่เหล็ก ยูเรเนียม

ทว่า ๑๐ กว่าปีมานี้รัฐบาลบราซิลได้ปฏิรูประบบการเงินและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ดำเนินมาตรการต่างๆ ในชื่อ “Real Plan” เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยสร้างวินัยการเงิน ปล่อยค่าเงินลอยตัวจนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างน่าพอใจเหลือเพียงร้อยละ ๖ ทั้งสามารถใช้หนี้คืนต่างประเทศสำเร็จ และปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต ด้วยข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากรและทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล

ชีวิตมีขึ้นมีลง ประเทศก็มีจุดตกต่ำและจุดสูงสุด เพียงแต่เราจะมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตได้อย่างไร

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.