จากเกอิชา สู่ฮาเร็ม

 

ในบรรดาคำต่างประเทศเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง ที่ฟังแล้วมีเสน่ห์ ชวนให้จินตนาการหรืออยากรู้เรื่องราว ในความรู้สึกของผมมีอยู่สองคำคือ เกอิชา และ ฮาเร็ม

หลายปีก่อน ค่ำคืนหนึ่งในเมืองเกียวโต เคยเห็นเกอิชา เดินข้ามถนนเข้าไปในย่าน กิอง แหล่งที่มีเกอิชา ชื่อดังกลางเมืองและทำให้ผมเข้าใจว่า เกอิชา ไม่ได้มีความหมายถึงหญิงงามเมือง หรือผู้หญิงบาร์คอยชงเหล้าให้กับแขก อย่างที่ผู้ชายไทยเข้าใจ
แต่เกอิชาเป็นอาชีพหนึ่ง มีความหมายว่า ผู้รู้ทางศิลปะการแสดง เจ้าของโรงน้ำชาสมัยก่อนนิยมรับเด็กหญิงวัยห้าหกขวบ มาเลี้ยงให้เป็นเกอิชา เรียกว่า ไมโกะ และฝึกวิชาศิลปะต่าง ๆ อาทิ ดนตรี ฟ้อนรำ แต่งหน้า ทำผม มารยาท การเอาใจแขก จนเมื่อโตเป็นสาวอายุได้ ๑๗-๑๘ ปี จัดเจนศิลปวิทยาการต่าง ๆ

จึงเลื่อนขั้นเป็นเกอิชา คอยต้อนรับแขกที่มาหาความสำราญในโรงน้ำชา หรือสมัยนี้ก็เป็นภัตตาคาร ร้านเหล้าหรู

แต่ไม่มีบริการทางเพศเพราะถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่ง

ปัจจุบันยังมีไมโกะและเกอิชาอยู่ แต่ทางการจำกัดอายุไมโกะ ๑๕ ปีขึ้นไป มีโรงเรียนสอนเกอิชาเป็นเรื่องเป็นราว สอนดนตรี จัดดอกไม้ ร่ายรำ การแต่งโคลงกลอน และมีเด็กสาวไปเรียนพอสมควร เพราะเมื่อจบออกมาแล้วค่าตัวแพงมาก

โดยทั่วไปลูกค้าต้องโทรศัพท์มาสั่งจองเกอิชาล่วงหน้าก่อน เมื่อได้เวลาเกอิชาจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำผม แต่งหน้า ทาปากและแต่งกิโมโนชุดใหญ่น้ำหนักร่วม ๒๐ กิโลกรัม ยาว ๕ เมตร พอเสร็จรูปร่างหน้าตา สวยสง่างามไม่ต่างจากตุ๊กตากิโมโนทีเดียว

ในระหว่างที่บริการแขก หลักสำคัญของเกอิชาคือ รักษาความลับของลูกค้า นักธุรกิจญี่ปุ่น จึงมักเจรจาเรื่องสำคัญในวงเหล้าที่มีเกอิชามาคอยปรนนิบัติ

และเมื่อร้านปิด เกอิชาจะเดินมาส่งแขก วันรุ่งขึ้น ก็จะมีบิลส่งไปที่บริษัทของลูกค้า สนนราคาแพงมากตกประมาณคนละ ๒-๓๐๐,๐๐๐ เยน

แต่ส่วนใหญ่หากบริการดี ลูกค้ากระเป๋าหนักจะกลับมาใช้บริการอีก

ส่วนใครจะปิ๊งกัน หรือมีความสัมพันธ์กันพิเศษ หรือมีลูกค้ามารับเลี้ยงดูในเวลาต่อมา ก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับอาชีพเกอิชา

เกอิชาจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ไม่แปลกใจ ตอนที่ผมเห็นเกอิชาเดินข้ามถนน ตื่นเต้นยิ่งกว่าเห็นดาราเสียอีก

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปชมพระราชวัง Tokkapi ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี

ผมก็เพิ่งทราบว่าคำว่า ฮาเร็ม มีต้นกำเนิดในตุรกี อดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรออตโตมันของชาวมุสลิม

พระราชวังทอปคาปิ สร้างขึ้นในปีค.ศ. ๑๔๕๙ โดยสุลต่านเมห์เมตที่ ๒ ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และเปลี่ยนให้เป็นอิสตันบูล

เมืองหลวงแห่งอาณาจักรออตโตมัน พระราชวังมีอาคารหลายแห่ง แบ่งเป็นสามส่วนใหญ่คือ พระราชวังชั้นนอก พระราชวังชั้นใน และ ฮาเร็ม

ฮาเร็ม เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงบริเวณสำหรับสตรีโดยเฉพาะ ต้องห้ามสำหรับบุรุษ ในบ้านออตโตมันของชาวมุสลิมจึงมีบริเวณที่เรียกว่า ฮาเร็ม

อันเป็นที่อยู่มิดชิดของภรรยา คนภายนอกเข้ามาไม่ได้ และฮาเร็มใหญ่ที่สุดก็คือฮาเร็มของสุลต่านในพระราชวังนั้นเอง

หลายคนเข้าใจว่า ฮาเร็ม คือซ่องโสเภณีหรือที่อาศัยของนางบำเรอ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากความรู้สึกของฝรั่ง เมื่อเห็นภาพวาดบนพรมในพระราชวังที่แสดงให้เห็นถึงสาวงามจำนวนมากอยู่ล้อมรอบสุลต่านในห้องส่วนตัว จึงนึกคิดไปว่า สาวงามเหล่านั้นน่าจะเป็นนางบำเรอของสุลต่าน

เป็นที่อิจฉาของผู้พบเห็น

แต่ความจริงแล้ว ฮาเร็ม คืออาณาจักรของภรรยาหลวงหรือภรรยาคนแรก สามีจะต้องได้รับอนุญาตจากภรรยาคนแรกเสียก่อน

หากจะนำภรรยาใหม่เข้ามาในบ้าน และภรรยาหลวงนี่แหละจะเป็นคนคอยจัดคิวให้ว่า วันไหนสามีจะได้ร่วมเตียงกับใคร

เมื่อเราเดินเข้าไปในบริเวณฮาเร็ม เป็นตำหนักขนาดใหญ่ ตรงกลางเป็นลาน ตัวตึกแบ่งเป็นห้อง ๆ คล้ายที่พักของสตรีนางใน ๒๕๙ ห้องที่กล่าวกันว่าเมื่อเข้ามารับใช้สุลต่านแล้ว ไม่อาจออกไปได้ชั่วชีวิต เราเดินเข้าไปห้องโถงใหญ่ที่สุลต่านจะเข้ามาเพื่อคัดเลือกบรรดานางใน

และยังมีสถานศึกษาสำหรับเด็กเล็กด้วย น่าสังเกตว่าห้องหับต่าง ๆ ภายในฮาเร็ม อาจจะโอ่โถง แต่ดูจะไม่ค่อยมีหน้าต่างให้แสงสว่างลอดเข้ามา

ราวกับจะเป็นที่คุมขังหญิงสาวเหล่านี้ไปตลอด

ว่ากันว่าฮาเร็มแห่งนี้เคยมีหญิงสาวมาคอยบำเรอสุลต่านหลายองค์หลายสมัยประมาณ ๓๐๐-๙๐๐ คน บ้างเป็นสาวงามจากเชลยศึก

บ้างเป็นลูกสาวกษัตริย์แห่งอาณาจักรอื่นนำมาเป็นบรรณาการ หรือขุนนางผู้ใหญ่ส่งลูกหลานเข้าประกวดเอง เพื่อแสดงความจงรักภักดี

หรือหากสุลต่านเกิดต้องตาต้องใจขึ้นมา ได้รับใช้ใกล้ชิดก็จะมีอนาคตไกล

แน่นอนว่าสาวงามมากหน้าหลายตาเหล่านี้จะถูกดูแลใกล้ชิดจากบรรดาพี่เลี้ยง โดยมีพระราชชนนีของสุลต่านเป็นหัวหน้า

รองลงมาคือมเหสีของสุลต่านผู้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก ถัดมาคือบรรดาสนมที่มีลูกกับสุลต่าน คนเหล่านี้จะคอยเข้มงวด กวดขัน

อบรมให้เด็กสาวรู้จักการเอาใจ บำเรอความสุขทุกด้านให้แก่สุลต่าน ตั้งแต่การร่ายรำ ดนตรี การนวดตัว การอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ เอาใจทุกอย่าง

จนสุดท้ายคือการได้ถูกเลือกให้ร่วมเตียง แม้จะได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต หากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ถือว่าโชคดี เตรียมตัวเลื่อนขั้นเป็นชายา

และยังดีกว่าสาวงามหลายคนอยู่ในฮาเร็มมาตลอดชีวิต แต่สุลต่านไม่เคยเรียกให้ไปเป็นนางบำเรอเลย

ฮาเร็มมีนางบำเรอจำนวนมาก การดูแลรุปร่าง ทรวดทรง องค์เองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในเวลาที่สุลต่านเสด็จมาเลือกนางบำเรอที่จะหลับนอนด้วย

นางทุกคนเลยต้องพยายามแต่งตัวยั่วยวน ให้เป็นที่สะดุดตาสุลต่านให้มากที่สุด เผื่อจะมีโอกาสได้ร่วมเตียง เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ผมเดินผ่านห้องที่เรียกว่าเป็นห้องอาบน้ำ หรือ Turkish bath อันเป็นห้องอาบน้ำรวมของบรรดาหญิงสาวในฮาเร็ม เมื่อสุลต่านได้เลือกสาวงามคนใดแล้วก็จะมีที่ห้องนี้เพื่ออาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณผิวและเส้นขนถูกชโลมลูบไล้นวดด้วยน้ำมันจากขี้ผึ้ง เพื่อให้อ่อนนุ่มไปทั่วทุกรูขุมขน ไม่ระคายมือเวลาลูบไล้และพรมด้วยน้ำหอม แต่งกายด้วยผ้าแพรบางเบา ดูแล้วเกิดอารมณ์ขึ้นมา ก่อนจะถูกนำตัวคลานขึ้นไปถวายตัวยังแท่นบรรทม

ไม่แปลกใจเมื่อกิจการ อาบ อบ นวด ในเมืองไทยเริ่มมีขึ้นเมื่อสามสี่สิบปีก่อน จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Turkish bath เพราะมีทั้งการอาบ และนวด โดยมีจุดหมายสุดท้ายคล้ายคลึงกัน

ในฮาเร็มนอกจากหญิงสาวแล้ว ยังมีเหล่าขันที โดยมากเป็นพวกแอฟริกันผิวสีดำคอยทำหน้าที่ดูแลรับใช้ และเป็นที่ประทับของบรรดาโอรส ธิดาของสุลต่าน

โดยเฉพาะโอรสจะถูกเลี้ยงดูในฮาเร็มไม่มีใครเห็น จนอายุครบ ๑๖ ขวบก็จะออกไปประทับ และปรากฎตัวต่อโลกภายนอก

ในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรออตโตมัน ฮาเร็มถือเป็นฐานอำนาจอันแท้จริง เป็นทั้งสถานที่จัดพิธีอภิเษกสมรส การคัดเลือกองค์รัชทายาท

หลายครั้งที่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของพระราชชนนี หรือพระมเหสีบางองค์ ผู้คอยควบคุมสุลต่านอย่างเงียบ ๆ

บางทีมีเรื่องบัลลังก์เลือด การลอบสังหารองค์รัชทายาท เพื่อแย่งชิงราชสมบัติให้ทายาทองค์ถัดมา

อันที่จริงการมีนางบำเรอไว้ในครอบครองก็อยู่ในเกือบทุกวัฒนธรรมบนโลกนี้ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ยุคสมัยฟาโรห์ของอียิปต์ที่สั่งให้หัวเมืองเกณฑ์หญิงสาวมารับใช้ในวัง หรือในเม็กซิโก ผู้ปกครองของพวก Astec ก็มีนางบำเรอไว้เป็นทาสรับใช้ในวังถึง ๔,๐๐๐ คน

ใกล้เข้ามา กษัตริย์สิคิริยะของศรีลังกาผู้สร้างวังบนยอดเขา มีนางสนมห้าร้อยคน และมีภาพวาดเฟรสโก้สวยงามเก่าแก่อายุพันห้าร้อยปี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกปรากฎไว้เป็นหลักฐาน

แต่หากทำสถิติสูงสุดแล้ว คงต้องยกให้ฮาเร็มของกุบไลข่านหลานปู่ของเจงกิสข่าน ในศตวรรษที่ ๑๒

คาดว่าฮาเร็มของยอดนักรบชาวมองโกลผู้นี้มีนางบำเรอ ภายใต้การดูแลของพระมเหสี ที่จะส่งคนออกไปหาหญิงสาวพรหมจรรย์หลายเชื้อชาติ

ทั้งจีน อาหรับ ฝรั่ง เปอร์เซีย ตลอดชีวิตของท่าน ๗๙ ปี น่าจะมีสาว ๆ ในฮาเร็มไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คนที่หมุนเวียนเข้ามาบนเตียง

ทั้งเกอิชา และ ฮาเร็ม ยิ่งศึกษาแล้วรู้สึกได้ถึง พลังและอำนาจของผู้หญิงอย่างลึกลับทีเดียว

สารคดี ตค. 57

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.